รัฐธรรมนูญ 2560 ห้าม สนช. ครม. เป็น ส.ส. แต่ไม่ห้ามเป็น ส.ว.

 

คณะรัฐมนตรี (ครม.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ทำงานอยู่ล้วนมาจากการแต่งตั้งของ คสช. และทำงานไปแทบจะเป็นเนื้อเดียวกับ คสช. จนดูเหมือนว่า องค์กรเหล่านี้จะถูกตรวจสอบโดยประชาชนไม่ได้ แต่เมื่อ รัฐธรรมนูญ 2560 มีผลบังคับใช้ ก็มาพร้อมกับกลไกต่างๆ มากมายที่เขียนไว้เพื่อหวังตรวจสอบนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ระหว่างที่ยังไม่มีการเลือกตั้งกลไกทั้งหลายนี้ก็อาจถูกนำมาใช้เพื่อตรวจสอบการอยู่ในตำแหน่งของ ครม. และ สนช. ที่มาจากการแต่งตั้งได้ด้วยเช่นกัน
บทบัญญัติหลักๆ ที่เกี่ยวกับ ครม. และ สนช. อยู่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 263 และ 264 โดยกำหนดให้ ทั้ง ครม. และ สนช. ยังคงอยู่ทำงานต่อไปจนกว่าจะได้ ครม. ชุดใหม่และรัฐสภาชุดใหม่ หลังการเลือกตั้ง และยังกำหนดให้เอามาตราต่างๆ ที่กำหนดคุณสมบัติของ ครม., ส.ส. และ ส.ว. ชุดที่จะมาหลังการเลือกตั้ง มาใช้ตีกรอบให้กับชุดที่อยู่ในตำแหน่งจากการแต่งตั้งของ คสช. พร้อมกับยกเว้นหลายข้อที่ไม่ให้เอามาใช้ด้วย  
คุณสมบัติก่อนมีรัฐธรรมนูญใหม่
ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2560 ครม. และ สนช. ต้องมีคุณสมบัติเพียงเท่าที่รัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ฉบับ 2557 กำหนดไว้เท่านั้น ซึ่งกำหนดเพียงว่า 
มาตรา 8  สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(2) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(3) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
(4) ไม่อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง
(5) เคยถูกไล่ออก ปลดออก หรือให้ออกจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
(6) เคยต้องคำพิพากษาให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ
(7) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือเคยถูกถอดถอนจากตำแหน่ง
(8) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด หรือกฎหมายเกี่ยวกับการพนันในฐานความผิดเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
(9) เคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติหรือรัฐมนตรีในขณะเดียวกันมิได้
มาตรา 20 นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้
(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสี่สิบปี
(3) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า
(4) ไม่เป็นหรือเคยเป็นสมาชิกพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 8
(5) ไม่เป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น
(6) ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาหรือตุลาการ อัยการ กรรมการการเลือกตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ กรรมการตรวจเงินแผ่นดินผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
คุณสมบัติ สนช. ที่เพิ่มขึ้น ตามรัฐธรรมนูญใหม่
หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 สนช. ก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ แทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยมีมาตรา 263 กำหนดให้ สนช. ทำหน้าที่ต่อไปก่อนจนกว่าจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาครั้งแรกภายหลังการเลือกตั้ง แต่มาตรา 263 นี้เองก็กำหนดว่า สมาชิก สนช. ที่ทำหน้าที่อยู่ ไม่เพียงจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดไว้เดิม แต่ต้องเอาคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น ส.ส. และส.ว. มาใช้กับ สมาชิก สนช. ด้วย 
การเขียนมาตรา 263 เขียนโยงและอ้างอิงกับมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา และยังแถมพ่วงข้อยกเว้นไว้มากมาย โดยสรุปเมื่ออ่านมาตรา 263, 98, 101, 108, 184 ประกอบกัน จะพบว่า นอกจากคุณสมบัติที่ต้องมี 9 ข้อ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว สมาชิก สนช. ยังจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ด้วย
1. ไม่ติดยาเสพติด (มาตรา 98 (1))
2. ไม่ถูกคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล (มาตรา 98 (6))
3. ไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะทำความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา 98(9))
3. ไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ, หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต, หรือความผิดตามกฎหมายกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (มาตรา 98 (10))
4. ไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ทุจริตในการเลือกตั้ง (มาตรา 98 (11))
5. ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (มาตรา 98 (16))
6. ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเสนอหรือแปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ หรือเป็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือทุจริต (มาตรา 98(18))
7. ไม่กระทำการที่ต้องห้าม ไม่แทรกแซงการรับสัมปทานจากรัฐ ไม่รับประโยชน์จากหน่วยงานรัฐ ไม่แทรกแซงสื่อมวลชน ไม่แทรกแซงการทำงานของข้าราชการประจำ หรือการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ (มาตรา 101 (7))
8. ไม่ขาดประชุมเกินหนึ่งในสี่ของจำนวนวันประชุม โดยไม่ได้รับอนุญาตจากประธานสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 101 (12))
9. มีสัญชาติไทยโดยการเกิด (มาตรา 108 ก. (1))
10. อายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี (มาตรา 108 ก. (2))
11. ไม่เป็นหรือเคยเป็น ส.ส. เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จนถึงวันสมัครรับเลือก (มาตรา 108 ข. (3))
12. ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมือง มาตรา (108 ข. (4))
13. ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จนถึงวันสมัครรับเลือก (มาตรา 108 ข. (5))
14. ไม่เป็นหรือเคยเป็นรัฐมนตรี  เว้นแต่พ้นจากตำแหน่งมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี จนถึงวันสมัครรับเลือก (มาตรา 108 ข. (6)) 
15. ไม่เป็นบุพการี คู่สมรส หรือบุตรของ ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้ดำรงตำแหน่งในศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระ (มาตรา 108 ข. (8))
คุณสมบัติ ครม. ที่เพิ่มขึ้น ตามรัฐธรรมนูญใหม่
หลังมีรัฐธรรมนูญ 2560 ครม. ชุดเดิมก็ยังคงทำหน้าที่ต่อไปเรื่อยๆ โดยมีมาตรา 264 กำหนดให้ ครม. ทำหน้าที่ต่อไปก่อนจนกว่าคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจะเข้ารับหน้าที่ แต่มาตรา 264 นี้เองก็กำหนดว่า ครม. ที่ทำหน้าที่อยู่ ไม่เพียงจะต้องมีคุณสมบัติเดิมตามที่ รัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดไว้เท่านั้น แต่ต้องเอาคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น ครม. จากการเลือกตั้ง มาใช้กับ ครม. ชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. นี้ด้วย
การเขียนมาตรา 264 เขียนโยงและอ้างอิงกับมาตราอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญอีกหลายมาตรา และยังแถมพ่วงข้อยกเว้นไว้มากมาย โดยสรุปเมื่ออ่านมาตรา 264, 263, 160, 98, 170, 184 ประกอบกัน จะพบว่า นอกจากคุณสมบัติที่ต้องมี 6 ข้อ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวแล้ว ครม. ยังจะต้องมีคุณสมบัติดังนี้ด้วย
1. มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี (มาตรา 160 (2))
2. มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ (มาตรา 160 (4))
3. ไม่มีพฤติกรรมฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง (มาตรา 160 (5))
4. ไม่เคยถูกคำพิพากษาให้จำคุก แม้คดีจะยังไม่ถึงที่สุดก็ตาม เว้นแต่ความผิดที่กระทำโดยประมาท ความผิดลหุโทษ หรือความผิดฐานหมิ่นประมาท (มาตรา 160 (7))
5. ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เพราะการใช้สาถนะแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเป็นหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้น หรือเป็นลูกจ้าง (มาตรา 160 (8))
6. ไม่ติดยาเสพติด (มาตรา 98 (1))
7. ไม่ถูกคำพิพากษาให้จำคุก และถูกคุมขังอยู่โดยหมายศาล (มาตรา 98 (6))
8. ไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกเพราะทำความผิดตามกฎหมายป้งอกันและปราบปรามการทุจริต (มาตรา 98(9))
9. ไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ, หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริต, หรือความผิดตามกฎหมายกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน, หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  (มาตรา 98 (10))
10. ไม่เคยถูกคำพิพากษาถึงที่สุดว่า ทุจริตในการเลือกตั้ง (มาตรา 98 (11))
11. ไม่เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (มาตรา 98 (16))
12. ไม่เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเสนอหรือแปรญัตติให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ หรือเป็นกรณีผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง หรือทุจริต (มาตรา 98(18))
สนช. ครม. เป็นข้าราชการไปพร้อมกันได้ ไม่ถูกถอดถอนโดยการลงมติไม่ไว้วางใจ
ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 มาตรา (12) – (16) และมาตรา 184 (1) กำหนดว่า ส.ส. และ ครม. ที่มาจากการเลือกตั้ง ต้องไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น ไม่เป็น ส.ว. หรือเพิ่งพ้นตำแหน่ง ส.ว. มาไม่เกินสองปี ไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานรัฐ ฯลฯ เพื่อป้องกันความทับซ้อนกันของผลประโยชน์ แต่ในมาตรา 263, 264 ได้ยกเว้นเอาไว้แล้วว่า สมาชิก สนช. และ ครม. ชุดที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ต้องมีคุณสมบัติเช่นนี้ นั่นหมายความว่า ข้าราชการประจำ หรือสมาชิกสภาท้องถิ่น ก็ยังสามารถนั่งตำแหน่งควบเป็นข้าราชการหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไปพร้อมๆ กับการดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ด้วย
นอกจากนี้ คุณสมบัติของ ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งยังกำหนดไว้ชัดเจนในมาตรา 98 (3) ว่า ต้องไม่เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการสื่อมวลชน แต่มาตรา 263 กำหนดให้ สมาชิก สนช. ได้รับการยกเว้น สามารถเป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในสื่อมวลชน และก็มาดำรงตำแหน่งผู้ใช้อำนาจนิติบัญญัติไปพร้อมกันได้
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 (3) สมาชิกวุฒิสภา ที่จะแต่งตั้งและมาจากการเลือกโดยการแบ่งกลุ่ม ต้องมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ หรือทำงานในด้านที่สมัครไม่น้อยกว่า 10 ปี แต่มาตรา 263 กำหนดให้  สมาชิก สนช. ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบต่างๆ แทนวุฒิสภา ไม่จำเป็นต้องมีคุณสมบัติด้านความรู้ความเชี่ยวชาญเช่นเดียวกัน
ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 (3) ครม. ที่มาจากการเลือกตั้งอาจถูกถอดถอนได้ หากรัฐสภามีมติไม่ไว้วางใจ แต่มาตรา 264 เขียนไว้ชัดว่า ไม่ให้เอาเรื่องการลงมติไม่ไว้วางใจมาใช้กับ ครม. ที่ทำหน้าที่อยู่ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญด้วย เท่ากับ ครม. ชุดที่แต่งตั้งมาโดย คสช. ไม่อาจถูกถอดถอนโดยมติไม่ไว้วางใจของรัฐสภาได้เช่นเดียวกับ ครม. จากการเลือกตั้ง
ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ไม่ได้ แต่กลับมาเป็น ส.ว.แต่งตั้ง และรัฐมนตรีได้
รัฐธรรมนูญ มาตรา 112 บัญญัติไว้ว่า
"มาตรา 112 บุคคลผู้เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงมาแล้วยังไม่เกินสองปี จะเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมิได้ เว้นแต่เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น"
มาตรานี้มีไว้เพื่อควบคุมผู้ที่เป็นสมาชิกวุฒิสภาให้มีระยะห่างกับตำแหน่งทางการเมืองอื่น ไม่ให้ใช้อำนาจของวุฒิสภาเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเองในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น จึงต้องสั่งให้สมาชิกวุฒิสภา "เว้นวรรค" อย่างน้อยสองปี ก่อนที่จะกลับเข้าสู่การเมืองในตำแหน่งอื่นๆ 
แต่ในมาตรา 263 วรรคสาม เขียนชัดเจนว่า หลักการต้องเว้นวรรคนี้ไม่ให้นำมาใช้กับสมาชิก สนช. และมาตรา 264 วรรคแรก ก็เขียนชัดเจนว่า หลักการต้องเว้นวรรคนี้ไม่ให้นำมาใช้กับ ครม. ชุดปัจจุบันด้วย หมายความว่า สมาชิก สนช. และ ครม. ชุดที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. สามารถกลับมาเป็น ส.ว. แต่งตั้งจาก คสช. และเป็นรัฐมนตรีหรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นหลังการเลือกตั้งอีกก็ได้ โดยไม่ต้องเว้นวรรคอย่างน้อยก่อนสองปี 
อย่างไรก็ดี มาตรา 263 และ 264 ยังมีวรรคท้าย ที่กำหนดว่า หากสมาชิก สนช. หรือ ครม. ชุดนี้ต้องการจะลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในสมัยแรก ต้องลาออกภายใน 90 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ หรือลาออกภายในเดือนกรกฎาคม 2560 สำหรับสมาชิก สนช. หรือ ครม. ที่อยู่ในตำแหน่งจนเลยเวลานั้น จะไม่สามารถลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ในสมัยแรกได้ แต่หากจะกลับมาดำรงตำแหน่ง ส.ว. แต่งตั้ง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีหรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นที่ไม่ใช่ ส.ส. รัฐธรรมนูญนี้ก็เปิดช่องไว้ให้สามารถทำได้

รายชื่อสมาชิก สนช. ที่ยังรับราชการ

ชื่อ

ตำแหน่ง

พลเอก เทพพงศ์ ทิพยจันทร์

ปลัดกลาโหม

พลเอก ณัฐ อินทรเจริญ

รองปลัดกลาโหม

พลอากาศเอก สุรศักดิ์ ทุ่งทอง

รองปลัดกระทรวงกลาโหม

พลเอก พิศณุ พุทธวงศ์

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษสํานักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

พลเอก ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ

ผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พลอากาศเอก สุทธิพงษ์ อินทรียงค์

รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด

พลโท ธนเกียรติ ชอบชื่นชม

ผู้บัญชาการศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย

พลเอก เฉลิมชัย สิทธิสาท

ผู้บัญชาการทหารบก

พลเอก สสิน ทองภักดี           

รองบัญชาการทหารบก

พลเอก อภิรัชต์ คงสมพงษ์

ผู้ช่วยบัญชาการทหารบก

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์

เสนาธิการทหารบก

พลโท กนิษฐ์ ชาญปรีชญา

รองเสนาธิการทหารบก

พลโท เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์

เจ้ากรมยุทธการทหารบก

พลโท กู้เกียรติ ศรีนาคา

แม่ทัพภาคที่ 1

พลตรี เจริญชัย หินเธาว์

รองแม่ทัพภาคที่ 1

พลตรี ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้

รองแม่ทัพภาคที่ 1

พลตรี สันติพงศ์ ธรรมปิยะ

รองแม่ทัพภาคที่ 1

พลโท ธรรมนูญ วิถี

แม่ทัพน้อยที่ 1

พลโท วุฒิชัย นาควานิช

แม่ทัพภาคที่ 4

พลตรี พัลลภ เฟื่องฟู

ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน

พลโท สุรใจ จิตต์แจ้ง

ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศกองทัพบก

พลตรี ไพโรจน์ ทองมาเอง

รองหัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจําผู้บังคับบัญชากองทัพบก

พลเอก สรรชัย อจลานนท์

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก

พลโท พงษ์สวัสดิ์ พรรณจิตต์  

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก

พลตรี สมโภชน์ วังแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก

พลเรือเอก นริศ ประทุมสุวรรณ

ผู้บัญชาการทหารเรือ

พลเรือเอก ลือชัย รุดดิษฐ์

รองผู้บัญชาการทหารเรือ

พลเรือโท รัตนะ วงษาโรจน์

ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพเรือ

พลอากาศเอก จอม รุ่งสว่าง

ผู้บัญชาการทหารอากาศ

พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน

ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารอากาศ

พลตํารวจเอก จักรทิพย์ ชัยจินดา

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

พลตำรวจโท ชาญเทพ เสสะเวช

ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ดิสทัต โหตระกิตย์

เลขากฤษฎีกา

สุรางคณา วายุภาพ

ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์

ประดิษฐ์ วรรณรัตน์

อธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

ข้อมูลเมื่อ 14 กรกฎาคม 2561