‘ผู้ตรวจการเลือกตั้ง’ ทำงบ กกต. สูงห้าพันล้าน หวังปราบทุจริต

12 มิถุนายน 2561 ศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า การจัดเลือกตั้งในครั้งหน้า กกต.จะใช้งบประมาณ 5,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 2,800 ล้านบาท จากครั้งก่อน (2 กุมภาพันธ์ 2557)ที่ใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท เหตุผลที่เพิ่มงบประมาณเพราะหลายปัจจัย หนึ่งในนั้นคือ การใช้ผู้ตรวจการเลือกตั้งแทนกกต. จังหวัด ซึ่งมีค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง เบี้ยเลี้ยง ค่าที่พัก เพิ่มเติม

 

 

กกต. ได้เริ่มเปิดรับสมัครผู้ตรวจการเลือกตั้งในวันที่ 13 – 22 มิถุนายน 2561 ซึ่งพอปิดรับสมัคร กกต.รายงานว่ามีผู้สมัครรวม 77 จังหวัด จำนวน 2,811 คน โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งจะทำหน้าที่แทน กกต.จังหวัด ที่ถูกยุบไป เพื่อแก้ปัญหาความสัมพันธ์ส่วนตัวที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างกกต.จังหวัดกับนักการเมืองท้องถิ่น บนฐานคิดที่ว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งซึ่งเป็นคนนอกพื้นที่จะช่วยปราบปรามการทุจริตเลือกตั้งและทำให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรรมได้

 

 

 

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีเงือนเดือน-สวัสดิการ เกือบหกหมื่นบาท

 

เอกสารแนบท้ายของ ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 ระบุว่า เงินเดือนของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเท่ากับ 50,000 บาท และผู้ช่วยปฏิบัติงาน 15,000 บาท (ผู้ตรวจการเลือกตั้งมีผู้ช่วยปฏิบัติงาน 1 คน) และยังสามารถเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน สำหรับผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง 400 บาท/วัน ค่าที่พัก 1,500 บาทต่อวัน และค่าพาหนะ 1,000 บาท/วัน และสำหรับผู้ช่วยปฏิบัติงาน ได้แก่ ค่าเบี้ยเลี้ยง 250 บาท/วัน ค่าที่พัก 750 บาท/วัน ฉะนั้น ค่าใช้จ่ายที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งสามารถเบิกได้ต่อวันเท่ากับ 2,900 บาท/วัน และผู้ช่วยปฏิบัติงานเท่ากับ 950 บาท/วัน ขณะที่อัตราค่าตอบแทนสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่เสี่ยงภัย จังหวัดสงขลา 3,750 บาทต่อเดือน จังหวัดยะลา ปัตตานีและนราธิวาส 5,000 บาทต่อเดือน

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร วิจารณ์ว่า สิทธิสวัสดิการเหล่านั้นสูงเท่าพนักงานระดับสูง และค่าใช้จ่ายอาจสูงถึง 5,000 บาทต่อวัน (ค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าเช่ารถ ค่าที่พัก ฯลฯ) และสำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของคน 400 คน หากคำนวณ 60 วัน ต้องใช้เงินถึง 120 ล้านบาท จะเป็นค่าใช้จ่ายที่คุ้มค่าหรือไม่

 

 

คุณสมบัติผู้ตรวจการเลือกตั้ง เข้าทางข้าราชการวัยเกษียณ

 

ระเบียบกกต.ว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง หรือ “ใบสมัครผู้ตรวจการเลือกตั้ง” กำหนดว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติ ได้แก่ มีสัญชาติไทย อายุ 45-70 ปี สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นสมาชิกพรรคใดในเวลา 5 ปี ที่ผ่านมา และไม่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งระดับชาติหรือท้องถิ่น หรือมีบุพาการี คู่สมรสหรือบุตร เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ฯลฯ

 

 

สมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกกต. วิจารณ์ว่า จากคุณสมบัติดังกล่าวคนที่จะเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งได้เหลือ 1. ข้าราชการเกษียณหรือคนที่เกษียณ 2. นักธุรกิจหรือลูกจ้างเอกชน 3. เอ็นจีโอ 4. คนที่ไม่มีงานทำ ซึ่งลูกจ้างเอกชนและเอ็นจีโอคงไม่สามารถทำงานเต็มเวลาได้ สุดท้ายก็คงหนีไม่พ้นข้าราชการหรือคนที่เกษียณและคนว่างงานเท่านั้น 

 

เมื่อเริ่มรับสมัครผู้ตรวจการเลือกตั้ง ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นข้าราชการเกษียณหรือคนที่เกษียณ ตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ บัญชีรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้ง กรุงเทพมหานคร ระบุว่า จากผู้สมัคร 133 คน คนอายุมากกว่า 60 มีถึง 94 และคนข้าราชการบำนาญ 71 คน 

 

 

มีอำนาจจับกุม สอบสวน-ได้รับการช่วยเหลือถ้าถูกฟ้องดคี

 

ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ได้รับอำนาจตาม มาตรา 38 พ.ร.ป ว่าด้วย กกต.ให้เป็นเจ้าพนักงานประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 24 และ 28 กำหนดหน้าที่ไว้ว่า ผู้ตรวจการเลือกตั้งสามารถเข้าไปในพื้นที่การเลือกตั้งหรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้งได้ และมีหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง ซึ่งมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง ถ้าไม่มีดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานกับกกต. และมีหน้าที่ตรวจสอบการทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมืองหรือการกระทำทุจริตการเลือกตั้ง 

 

นอกจากนี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ยังได้รับการปกป้องจากพ.ร.ป. ว่าด้วยกกต. ทั้งการให้ความช่วยเหลือด้านคดีความและลงโทษผู้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ โดย มาตรา 45 ระบุว่า ถ้าถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง คดีอาญา หรือคดีปกครอง ไม่ว่าขณะดำรงตำแหน่งหรือพ้นจากตำแหน่งแล้ว ให้กกต. ช่วยเหลือการต่อสู้คดี และมาตร 66 กำหนดบทลงโทษไว้ว่า ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้ง มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือปรับไม่เกิน 20,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้ใดขัดขวางโดยใช้กำลังหรือขู่เข็ญจะใช้กำลังประทุษร้าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

 

 

ใช้วิธี 'จับฉลาก' คัดลือกคนนอกพื้นที่มาตรวจการเลือกตั้ง

 

วิธีการคัดเลือกและแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งอยู่ในมาตรา 29 และ 30 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ซึ่งกำหนดว่า กกต. จะคัดเลือกบุคคลซึ่งมีภูมิลำเนาในแต่ละจังหวัด จังหวัดละ 5-8 และจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อไว้และประกาศรายชื่อให้ประชาชนทราบเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 15 วัน และต้องพิจารณาข้อมูลที่ได้รับจากประชาชนด้วย ทั้งนี้ กกต.จะมีคำสั่ง แต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งโดยจัดทำเป็นบัญชีรายชื่อเสร็จประมาณวันที่ 3 – 7 กันยายน 2561 

 

เมื่อได้บัญชีรายชื่อแล้ว กกต.จะแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดด้วยการจับฉลาก โดยแบ่งเป็น หนึ่ง ผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัด หรือ “คนในพื้นที่” จำนวน  2 คน และสอง ผู้ที่ไม่มีภูมิลำเนาในจังหวัด หรือ “คนนอกพื้นที่” ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่อาจแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้ง “คนในพื้นที่” ได้ ให้กกต.แต่งตั้ง “คนนอกพื้นที่” แทนได้ โดย กกต.จะต้องมีคำสั่งแต่งตั้งเสร็จไม่ช้ากว่า 10 วัน แต่ไม่เร็วกว่า 30 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับ และทำหน้าที่จนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้ง

 

อย่างไรก็ดี ผู้ตรวจการเลือกตั้ง เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่คล้ายกับ กกต. จังหวัดที่ถูกยุบไปตามพ.ร.ป ว่าด้วย กกต. พ.ศ 2560 เพราะแต่เดิม กกต.จังหวัด มาจากการแต่งตั้งจากคนที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดเท่านั้นและไม่ห้ามให้ข้าราชการประจำมาดำรงตำแหน่ง โดยมีวาระ 4 ปี

 

นอกจากนี้ พ.ร.ป. ว่าด้วยกกต. ยังเปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ มีส่วนร่วมในการดำเนินการเลือกตั้ง ด้วย มาตรา 35 ของพ.ร.ป. ดังกล่าวระบุว่า กกต. สามารถแต่งตั้งบุคคล กลุ่มบุคคล องค์กรชุมชน หรือสถาบันการศึกษาซึ่งสมัครใจเป็นผู้ช่วยเหลือการปฏิบัติงานหรือเป็นผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและรายงานต่อกกต. เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการเลือกตั้งให้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือชอบด้วยกฎหมาย

 

 

นักวิชาการวิจารณ์ ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม ผูกติดกับระบบราชการ

 

โอฬาร ถิ่นบางเตียว อาจารย์คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายส่วนผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เพิ่มขึ้นสะท้อนวิธีคิดของกกต. ที่ไร้เดียงสา ล้าหลัง และผูกติดกับราชการ การทำเช่นนี้คนกลุ่มเดียวได้ประโยชน์ ได้ค่าตอบแทน และก็ไม่สามารถมั่นใจได้ว่าประสิทธิภาพหรือคุณภาพการเลือกตั้งจะดีหรือไม่

 

โอฬาร เสนอว่า กกต. ควรส่งเสริมให้หน่วยงานอื่นร่วมตรวจการเลือกตั้ง เช่น เอ็นจีโอ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น และสร้างภาคีเครือข่ายในการจัดการเลือกตั้งให้ได้ ทุกคนควรมีส่วนร่วมเพราะในการเลือกตั้งทุกคนเป็นเจ้าของประชาธิปไตย และคนในท้องถิ่นจำนวนมากเข้าใจพฤติกรรมและการเมืองระดับพื้นที่ก็ควรดึงเขาเข้าไปมีส่วนร่วม ที่ผ่านมากกต.ล้มเหลวเพราะทำงานแบบกลไกราชการเกินไป ไม่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมจริงๆ การมีส่วนร่วมที่ทำมาก็มีลักษณะผักชีโรยหน้า เช่น ลูกเสือ กกต. อาชีวะ กกต. ซึ่งล้มเหลวไม่เป็นท่า