กรธ.-สนช. เชื่อ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่มีความกล้าหาญและคุณธรรม

สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้จัดงานราชดำเนินเสวนาในหัว “องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ: บทบาทและความท้าทายทางการเมือง โดยมีวิทยากรประกอบด้วย ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) สมชาย แสวงการ เลขานุการคณะกรรมการวิสามัญสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) บรรเจิด สิงคะเนติ นักวิชาการนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์
โดยฝ่าย ตัวแทน กรธ. และ สนช. มีความเชื่อมั่นในการทำงานขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะมีการเพิ่มอำนาจ และการกำหนดที่มาและคุณสมบัติให้เข้มข้นยิ่งขึ้น ส่วนนักวิชาการชี้ว่า ประเด็นการเลือกเซ็ตซีโร่บางองค์กรจะทำให้ถูกครหา และการเขียนคุณสมบัติว่าต้องซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์อาจจะทำให้ตกเป็นเครื่องมือทางการเมือง
กรธ. ชี้ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่ได้มาตรฐาน
ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กล่าวว่า ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ผู้ร่างมองว่า องค์กรอิสระยังไม่ได้ทำหน้าที่ที่ควรจะทำ หรือไม่มีความตรงไปตรงมา และไม่มีมาตรฐาน ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรอิสระไม่เป็นที่ไว้วางใจ ดังนั้น ตอนร่างรัฐธรรมนูญจึงคิดกันว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรอิสระเป็นเหมือนไม้ค้ำยันประชาธิปไตยไทยยุคใหม่ เพื่อปกป้องอิสรภาพของประชาชน สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมไม่เลือกปฏิบัติ ควบคุมตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ให้ถูกต้องตามหลักกฎหมาย เป็นหลักประชาธิปไตยพื้นฐานสากล
ศ.ดร.ชาติชาย กล่าวถึงหลักคิดในการออกแบบองค์กรอิสระไว้ว่า องค์กรอิสระต้องมีความโปร่งใส่ ถูกต้องชอบธรรม เริ่มตั้งแต่คณะกรรมการสรรหา กระบวนการสรรหา และวิธีสรรหา ดังนั้น จึงกำหนดให้ผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ในองค์กรอิสระมีที่มาจากคณะกรรมการสรรหาที่เหมือนกัน
ในขณะเดียวกัน องค์กรต่างๆ ต้องทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ควรทำงานเชิงรุก ทำงานป้องกันการเกิดปัญหา ต้องเข้าไปตรวจสอบดูแล ออกไปรณรงค์ให้ประชาชนเห็นพิษภัยของการทุจริตคอรัปชัน ไม่ใช่รอให้ประชาชนมาร้องเรียน และต้องทำงานด้วยความรวดเร็ว ตรงตามเวลาที่กำหนด จึงออกแบบมาให้องค์กรอิสระร่วมกันทำงาน
นอกจากนี้ ยังกำหนดให้องค์กรอิสระมีหน้าที่ตรวจสอบกันเองผ่านมาตรฐานจริยธรรมและมีกลไกให้สังคมตรวจสอบ หากมีความผิดต้องรับโทษจะลอยนวลไม่ได้
ศ.ดร.ชาติชาย อธิบายด้วยว่า ที่ต้องกำหนดให้คุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระไว้ค่อนข้างสูง เนื่องจาก บทบาทขององค์กรอิสระยุคใหม่ต้องทำงานเชิงรุก จึงต้องการคนที่มีคุณสมบัติ ประสบการณ์ และวิจารณญาณที่ดี ทำงานอย่างกล้าหาญกล้าชี้ถูกชี้ผิด เพราะบางครั้งความไม่กล้าหาญนำมาสู่วิกฤตการเมือง
วิป สนช. เชื่อ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญใหม่มาถูกทาง
สมชาย แสวงการ กล่าวว่า บทเรียนจากอดีตทำให้เห็นว่า องค์อิสระที่อยู่ภายใต้ฝ่ายบริหารเป็นแค่เสือกระดาษ แต่ด้วยรัฐธรรมนูญ และกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะทำให้องค์กรอิสระทั้งหมดที่มีอยู่ในขณะนี้ต้องมีความกล้าหาญ มีคุณธรรมและความสุจริต ได้อย่างแน่นอน
สมชาย ยังกล่าวถึงความท้าทายขององค์กรอิสระไว้ด้วยว่า ในอนาคตต้องดูเรื่องการสรรหาให้ดีมันไม่ใช่เรื่องของกฎหมายหรือการบังคับใช้อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของตัวบุคคลด้วย ถ้าเข้าใจวิธีการแยบยลพอสมควรก็ทำให้ฝ่ายองค์กรอิสระอ่อนแอ หากอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายบริหาร
ส่วนข้อครหาเกี่ยวกับการที่องค์กรอิสระบางหน่วยงานถูก ‘เซ็ตซีโร่’ หรือ ให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระบางองค์กรต้องพ้นไปจากตำแหน่งทันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ แต่บางองค์กรก็ไม่ถูกเซ็ตซีโร่นั้น สมชาย อธิบายว่า เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งบางคนไม่เป็นที่ยอมรับ เช่น ที่มาของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติไม่ได้รับการยอมรับจากองค์กรนานาชาติ
ทั้งนี้ สมชาย เชื่อมั่นว่า การดำรงอยู่ขององค์กรอิสระอย่าง 5 องค์กร องค์กรอิสระต่างๆที่วางไว้ในรูปแบบของรัฐธรรมนูญเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหารเป็นหลัก และนิติบัญญัติ อีกทั้งตุลาการให้มีประสิทธิภาพ เป็นโครงสร้างที่ถูกต้อง
 นักวิชาการชี้ เซ็ตซีโร่องค์กรอิสระบางองค์กรเป็นจุดด่างพร้อย
ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ กล่าวว่า ปัญหาองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญในช่วง 2 ทศวรรษ ที่ผ่านมานั้นเจอกับวิกฤตศรัทธาที่เชื่อมโยงมาจากการเมืองและการทำหน้าที่ขององค์กรอิสระเอง เพราะเป็นองค์กรในการตรวจสอบฝ่ายการเมือง
ศ.ดร.บรรเจิด กล่าวว่า บทบาทความท้าทายขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 60 มีสามประเด็น หนึ่ง เรื่องเซ็ตซีโร่องค์กรอิสระ นัยยะสำคัญจะต้องเคลียร์ให้จบ เพราะถ้าไม่จบบางองค์กรไปบางองค์กรอยู่ มองภาพหลังเลือกตั้งถ้าฝ่ายการเมืองเข้ามา อาจมองภาพว่าองค์กรนี้มาด้วยเอื้ออาทร กัลยาณมิตร จะเป็นรอยด่างให้ฝ่ายการเมืองเขาโต้แย้ง จะเป็นประเด็นให้ฝ่ายการเมืองนำไปถล่ม
เรื่องที่สองคือ การเปลี่ยนคณะกรรมการสรรหาองค์กรอิสระ ให้บุคคลซึ่งมาจากองค์กรอิสระ 4-5 มีบทบาทสำคัญ คนเหล่านี้คุณสมบัติเหมือนตุลาการ ถ้าเปรียบเทียบกับคณะกรรมการสรรหาของรัฐธรรมนูญ 2550 ให้ประธานองค์กรอิสระมาเป็นกรรมการสรรหา มีตำแหน่งเป็นหลักประกันความรับผิดชอบ แต่วันนี้ไม่รู้กรรมการสรรหาที่เป็นผู้แทนองค์กรอิสระไม่รู้เป็นใคร และอยู่ต่อเนื่อง มีอำนาจในการชี้ขาดคุณสมบัติของกรรมการองค์กรอิสระ
ประเด็นสุดท้ายคือ การคุณสมบัติกรรมการองค์กรอิสระต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ ประเด็นนี้ถ้าถูกร้องนิดเดียวถ้าซื่อสัตย์สุจริตไม่ประจักษ์แล้วขาดคุณสมบัติ ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะยึดโยงไปสู่ประเด็นหลังเลือกตั้ง เพราะแค่ไหนเพียงใดไม่ประจักษ์ก็อาจถูกถอดได้ จึงเป็นปัญหาในการออกแบบ เหมือนเป็นข้อต่อใส่เกราะแล้วยังมีช่องว่างให้ทวนเข้ามาเสียบได้จะป้องกันอย่างไร