คุณสมบัติสมาชิกพรรคต้องมีอะไรบ้าง?

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ) ทำให้การที่ประชาชนเข้ามาเป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีความสำคัญมาก เนื่องจาก สมาชิกพรรคการเมืองมีภารกิจต่อพรรคการเมืองหลายอย่าง เช่น เข้าร่วมประชุมเพื่อตั้งพรรค จัดตั้งสาขาพรรค และลงคะแนนคัดเลือกผู้สมัครส.ส.ขั้นต้น (primary vote) เป็นต้น 
โดย พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ กำหนดให้การจัดตั้งพรรคให้เสร็จสมบูรณ์จะต้องหาสมาชิกพรรคให้ได้ 500 คน และต้องให้สมาชิกออกเงินคนละ 1,000 – 50,000 บาท เป็นเงินประทุนเดิมซึ่งรวมแล้วต้องไม่ต่ำกว่า 1,000,000 บาท ภายในเวลา 180 วัน หรือ 6 เดือน หลังจากได้ไปจดจองชื่อพรรคกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) หากไม่สามารถปฏิบัติตามได้ก็เท่ากับตั้งเป็นพรรคการเมืองไม่สำเร็จ 
อีกทั้ง เมื่อตั้งพรรคเสร็จแล้วก็ต้องหาสมาชิกเพิ่มอีกให้ครบ 5,000 คน ภายใน 1 ปี และ 10,000 คน ภายใน 4 ปี โดยสมาชิกแต่ละคนต้องจ่ายค่าบำรุงพรรคไม่น้อยกว่า 100 บาท ต่อปี หรือ พรรคอาจกำหนดจ่ายค่าบำรุงพรรคจากสมาชิกแบบตลอดชีพก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท แต่สำหรับปีแรกพรรคจะเรียกเก็บต่ำกว่า 100 บาท ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท
หากพรรคการเมืองใดไม่สามารถปฏิบัติตามได้ สามารถขอขยายเวลาได้ไม่เกิน 3 ปี แต่เมื่อครบระยะเวลานี้แล้ว ยังทำไม่สำเร็จ บทลงโทษก็คือพรรคการเมืองนั้นก็จะสิ้นสภาพไป
แต่ทว่าการจะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบุคคลที่จะเข้ามาสมัครเป็นสมาชิกพรรคจำเป็นจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ (และรัฐธรรมนูญ) กำหนดด้วย ดังนี้
คุณสมบัติทั่วไป
  • สัญชาติไทยโดยกำเนิด 
  • กรณีแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาไม่น้อยกว่า 5 ปี 
  • อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี 
  • ไม่เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
  • ไม่วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
  • ไม่ติดยาเสพติดให้โทษ
  • ไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองอื่น
  • ไม่เป็นผู้ยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือ ผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น
คุณสมบัติต้องห้ามในกรณีดำรงตำแหน่งทางสาธารณะ
  • เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดยังไม่เกิน 2 ปี
  • เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
  • อยู่ระหว่างห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
  • อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง
  • อยู่ระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพ.ร.ป. พรรคการเมือง
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือ กรรมาธิการมีส่วนไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่าย
  • เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะต้องคำพิพากษาศาลฎีกาหรือศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คุณสมบัติต้องห้ามในกรณีโดนคดีความ
  • เป็นบุคคลล้มละลาย
  • เคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต
  • ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล
  • เคยได้รับโทษจำคุก โดยพ้นโทษมาไม่ถึง 10 ปี นับถึงวันเลือกตั้ง เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
  • เคยถูกสั่งให้พ้นราชการ หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือหรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ
  • เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะรำ่รวยผิดปกติ 
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยป้องกันและปราบปราบการทุจริต
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการทุจริตในการเลือกตั้ง
  • เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดเพราะกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการหรือหน้าที่ในการยุติธรรม 
ไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดเพราะกระทำความผิดดังต่อไปนี้
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ
  • ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญา 
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก
  • ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
  • ความผิดตามกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินในความผิดฐานฟอกเงิน