สนช. เห็นชอบเงินงบประมาณ 3 ล้านล้านบาท ให้รัฐบาล คสช. – งบกลาโหมติดท็อป 5

7 มิถุนายน 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนัดพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ซึ่งตั้งวงเงินงบประมาณไว้สูงถึง 3 ล้านล้านบาท และเพิ่มขึ้นจากวงเงินงบประมาณปี 2561 ประมาณ 1 แสนล้านบาท โดย สนช. มีมติรับหลักการ 197 เสียง งดออกเสียง 3 เสียงจากจำนวนผู้ร่วมประชุม 200 คน
โครงสร้างงบปี 62: ขอเพิ่มงบรายจ่ายประจำและลงทุน แต่ลดงบชำระเงินกู้
สำหรับโครงสร้างงบประมาณของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2562 ประกอบไปด้วย
1) รายจ่ายประจำ 2.261 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.08 แสนล้านบาทจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2561,
2) รายจ่ายลงทุน 6.60 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 381 ล้านบาทจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2561
3) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 7.85 หมื่นล้านบาท ลดลง 8.71 พันล้านบาทจากจาก พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 2561
ทั้งนี้ ถ้าจำแนกงบประมาณตามการใช้จ่ายจะพบว่า มีการจัดสรรงบประมาณไปตามหมวดต่างๆ ดังนี้
1) รายจ่ายบุคลากรภาครัฐ จำนวน 1.06 ล้านล้านบาท คิดเป็น 35.4 ของวงเงินงบประมาณ
2) รายจ่ายสำหรับกระทรวง/หน่วยงาน เพื่อดำเนินการตามแผนงานพื้นฐานและแผนงานยุทธศาสตร์ จำนวน 7.64 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของวงเงินงบประมาณ
3) รายจ่ายแบบูรณการสำหรับแผนงาน 21 แผน จำนวน 4.87 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 16.3 ของวงเงินงบประมาณ,
4) รายจ่ายบูรณการเชิงพื้นที่ เช่น เงินอุดหนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 3.25 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 10.8 ของวงเงินงบประมาณ,
5) กลุ่มเงินงบประมาณสำหรับบริหารจัดการหนี้ภาครัฐ จำนวน 2.45 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.6 ของเงินงบประมาณ
6) งบกลาง จำนวน 1.02 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.4 ของวงเงินงบประมาณ
งบกลางสูงขึ้นต่อเนื่อง-กลาโหม ยังติด 5 อันดับ ได้รับงบมากที่สุด
หากจำแนกเงินงบประมาณตามเงินที่จัดสรรให้แต่ละกระทรวงหรือหน่วยงานจะพบว่า วงเงินสูงสุดถูกตั้งเป็นงบของกระทรวงศึกษาธิการ 4.89 แสนล้านบาท อันดับ 2 คือ งบกลางหรืองบที่ไม่ได้มีแผนงานชัดเจนและอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงใดเป็นหลัก เช่น ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเสด็จพระราชดำเนินและต้อนรับประมุขต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง และเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 4.68 แสนล้านบาท อันดับที่ 3 เป็นงบประมาณของกระทรวงมหาดไทย 3.73 แสนล้านบาท อันดับ 4 เป็นงบของกระทรวงการคลัง ได้รับการจัดสรรเงินจำนวน 2.42 ล้านบาท และอันดับสุดท้ายที่ได้รับการจัดสรรงบมากที่สุดคือ กระทรวงกลาโหม ได้รับการจัดสรรเงินจำนวน 2.27 แสนล้านบา
โดยกระทรวงที่ได้รับเงินงบประมาณเพิ่มมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ปี 61 คือ หนึ่ง งบกลาง เพิ่มขึ้นจาก จำนวน 7.4 หมื่นล้านบาท สอง กระทรวงมหาดไทย เพิ่มขึ้นจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท และกระทรวงคมนาคมเพิ่มขึ้นจำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท
จัดงบดันยุทธศาสตร์พัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐ
หากจำแนกเงินงบประมาณตามยุทธศาสตร์ที่รัฐบาลวางแผนไว้จะพบว่า ยุทธศาสตร์ด้านการปรับสมดุลและพัฒนาระบบบริหารจัดการภาครัฐได้รับเงินมากที่สุดจำนวน 8.38 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27.9 ถัดมาเป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพคน ได้รับเงินจำนวน 5.60 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18.7 ถัดมาเป็นยุทธศาสตร์การสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จำนวน 4.06 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.6 ถัดมาเป็นยุทธศาสตร์ด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างการเติบโตจากภายใน จำนวน 3.97 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 13.2 ถัดมาเป็นยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง จำนวน 3.29 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 11 และอันดับสุดท้ายคือ ยุทธศาสตร์ด้านการจัดการน้ำและสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนจำนวน 1.17 แสนล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.9
สี่ปี คสช. งบประมาณเพิ่มต่อเนื่อง
สี่ปี คสช. มีการออกพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณรวมแล้วสี่ฉบับ และกำลังจะมีฉบับที่ห้าซึ่งกำลังอยู่ในการพิจารณาของ สนช. จากการสำรวจ พ.ร.บ.งบประมาณฯ ตั้งแต่ปี 2558 – 2562 พบรัฐบาล คสช. เพิ่มงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มขึ้นทุกปี  
ซึ่งหากรวมยอดงบประมาณตลอดสี่ปีที่ผ่านและงบประมาณปีที่ห้าที่กำลังจะผ่านความเห็นชอบของ สนช. จะพบว่ารัฐบาล คสช. ใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้นจำนวน 13.9 ล้านล้านบาท หากรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพิ่มเติม ปี 2559 – 2561 จำนวน 3.9 แสนล้านบาท เท่ากับว่าตลอดระยะเวลาการอยู่ในอำนาจของ คสช. ใช้เงินงบประมาณไปทั้งสิ้น 14 ล้านล้านบาท