สี่ปี คสช. ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น กระจายอำนาจถอยหลัง ราชการแทรกแซงท้องถิ่น

ก่อนจะนำมาสู่การยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หนี่งในข้อเสนอ “ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง” ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) คือ “การกระจายอำนาจ” เพื่อให้อำนาจการบริหารประเทศที่กระจุกอยู่กับราชการส่วนกลางกระจายไปอยู่ที่ท้องถิ่นมากขึ้น ข้อเสนอที่เป็นรูปธรรมที่สุด คือ การให้ประชาชนในแต่ละจังหวัดมีสิทธิเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดของตัวเองได้ รวมถึงการกระจายงบประมาณให้แต่ละจังหวัดสามารถเลี้ยงตนเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาราชการส่วนกลาง
ผ่านมากเกือบห้าปีของวาทกรรม "ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง" ข้อเสนอการกระจายอำนาจจากราชการส่วนกลางสู่ท้องถิ่นเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงน้อยที่สุดในบรรดามรดกความฝันอื่นๆ จากยุค กปปส. ในทางตรงกันข้าม การปกครองแบบ คสช. มีแต่แนวโน้มทำให้การปกครองส่วนท้องถิ่นอ่อนแอลง ราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคกลับเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน ขณะที่แผนการปฏิรูปประเทศก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นอย่างมีนัยยะสำคัญ แน่นอนว่า สี่ปีเต็มของ คสช. การกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นสู่ประชาชนถือว่า ล้มเหลว
ใช้อำนาจพิเศษหยุดการเลือกตั้ง เปิดทางข้าราชการสรรหาคนไปคุมท้องถิ่น
นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 เริ่มต้นการกระจายอำนาจสู่การปกครองท้องถิ่น การเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกสภาท้องถิ่นก็มีความต่อเนื่องเรื่อยมากว่า 17 ปี แม้จะมีการรัฐประหารในปี 2549 การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ไม่ได้สะดุดลงตามการเลือกตั้งทั่วไปในระดับชาติ ข้อมูลจากกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น ณ วันที่ 1 ธันวาคม 2560 ระบุจำนวนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั่วประเทศว่ามีจำนวน 7,852 แห่ง แบ่งเป็น 1) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) 76 แห่ง 2) เทศบาล 2,441 แห่ง 3) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) 5,333 แห่ง และ 4) องค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ (กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา) สองแห่ง การได้มาซึ่งผู้บริหาร อปท. ทุกแห่ง ประชาชนจะต้องเข้าคูหาเลือกผู้แทนของตนเองในทุกๆ สี่ปี
การยึดอำนาจของ คสช. ไม่เพียงทำให้การเลือกตั้งระดับชาติหายไป แต่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นก็ต้องหยุดลงเป็นครั้งแรกในรอบสิบกว่าปี กล่าวคือ วันที่ 21 กรกรฎาคม 2557 หนึ่งเดือนให้หลังจากการรัฐประหาร คสช. ออกประกาศ คสช.ที่ 85/2557 งดการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น และสมาชิกสภาท้องถิ่น รวมทั้งออกประกาศ คสช.ที่ 86/2557 งดการเลือกตั้งท้องถิ่นในกรุงเทพมหานคร คือ สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และสมาชิกสภาเขต (ส.ข.) 
การออกประกาศทั้งสองฉบับ เนื่องมาจาก ช่วงตั้งแต่วันที่ 28 พฤษภาคม – 31 ธันวาคม 2557 จะมี อปท. ทั้งหมด 255 แห่งครบวาระ และต้องจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ได้ปรึกษากับทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จึงมีความเห็นให้งดการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะเกรงว่า การจัดเลือกตั้งจะทำให้ได้ผู้บริหารที่เป็นฐานเสียงของพรรคการเมืองระดับชาติ
จากประกาศ คสช. ทั้งสองฉบับส่งผลให้ อปท. ทุกแห่งที่ทำงานครบวาระสิ้นสุดการทำหน้าที่ลง และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นมาจากการสรรหาแทนการเลือกตั้ง  โดยคณะกรรมการสรรหาที่ประกอบด้วย 1) ผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานกรรมการ 2) อัยการจังหวัด 3) ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจําจังหวัด 4) ผู้อํานวยการสํานักงานตรวจเงินแผ่นดินจังหวัด 5) ผู้อํานวยการสํานักงาน ป.ป.ช. ประจําจังหวัด 6) รองผู้อํานวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ฝ่ายทหาร) และ 7) ประธานสภาหอการค้าจังหวัดหรือประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด หรือประธานสภาทนายความประจําจังหวัดซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ ทั้งนี้ คสช. กำหนดให้ในสภาท้องถิ่นต้องมีข้าราชการหรืออดีตข้าราชการ ระดับชํานาญการพิเศษ หรือระดับ 8 หรือเทียบเท่าขึ้นไป อย่างน้อยสองในสามของจํานวนสมาชิกสภาท้องถิ่นทั้งหมด ส่วนผู้บริหารท้องถิ่นให้ปลัดของท้องถิ่นนั้น ซึ่งเป็นข้าราชการประจำทำหน้าที่แทนไปก่อน 
สำหรับการสรรหา ส.ก. ในกรุงเทพมหานครนั้น คสช. กำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ารับการสรรหาต้องเคยหรือรับราชการในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครตําแหน่งตั้งแต่นักบริหารระดับสูงหรือระดับ 10 หรือเทียบเท่าขึ้นไป สำหรับคณะกรรมการสรรหาประกอบด้วย 1) ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นประธาน 2) กรรมการผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินหรือผู้แทน 3) เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือผู้แทน 4) เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. หรือผู้แทน 5) เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือผู้แทน 6) อัยการสูงสุดหรือผู้แทน 7) เลขาธิการกองอํานวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักรหรือผู้แทน 8) ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย หรือนายกสภาทนายความแห่งประเทศไทยซึ่งคัดเลือกกันเองให้เหลือหนึ่งคน เป็นกรรมการ และ 9) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นเป็นกรรมการและเลขานุการ
ทั้งนี้ ประกาศ คสช. ยังกำหนดข้อยกเว้นให้ข้าราชการที่ถูกแต่งตั้งเข้ามาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่นไม่ต้องลาออกจากตำแหน่งราชการ ไม่ให้ถือว่าการเข้ามาเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นของข้าราชการเป็นการดําเนินกิจการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม หรือเป็นการกระทําอันอาจถูกกล่าวหาได้ตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และกฎหมายว่าด้วยมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
กลับลำ! ใช้ 'มาตรา 44' ให้ผู้บริหารท้องถิ่นอยู่ยาวไป ยกเว้น กทม. – พัทยา ตั้งใหม่
ผ่านไปห้าเดือนหลังจาก คสช. ประกาศให้สมาชิก อปท. มาจากการแต่งตั้ง วันที่ 25 ธันวาคม 2557 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็ใช้อำนาจมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) ฉบับปี 2557 เป็นครั้งแรกของตัวเอง โดยการออกคำสั่ง หัวหน้า 1/2557 ให้ผู้บริหารและสมาชิก อปท. ที่หมดวาระรักษาการในตำแหน่งต่อ พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กล่าวว่า ในปี 2558 จะมี อปท. หมดวาระลงและจะมีการเลือกตั้งประมาณกว่า 1,000 ตำแหน่ง โดยหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ให้ผู้ที่หมดวาระรักษาการในตำแหน่งเดิมต่อไป จะไม่สรรหาคนนอกเข้าไปทำหน้าที่ เหมือนที่เคยมีประกาศ คสช. ออกมาก่อนหน้า เพราะเกรงว่าจะเกิดความขัดแย้ง
นอกจากนี้ คสช. ยังกำหนดให้ผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่นชุดสุดท้ายที่พ้นจากตําแหน่งเนื่องจากครบวาระก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 สามารถกลับเข้าดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาท้องถิ่น โดยต้องมารายงานตัวต่อผู้ว่าราชการจังหวัดที่ท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่ และให้สมาชิกสภาท้องถิ่นที่เคยได้รับการประกาศแต่งตั้งตามประกาศ คสช. พ้นจากตําแหน่ง ยกเว้นหากสมาชิกสภาท้องถิ่นนั้นมีจำนวนไม่ถึงกึ่งหนึ่งก็ให้สมาชิกสภาท้องถิ่นนั้นมาจากแต่งตั้งได้ 
ด้าน อปท. รูปแบบพิเศษ คือ กรุงเทพมหานครและเมืองพัทยา ไม่ได้รับการยืดวาระการดำรงตำแหน่งด้วย โดย คสช. สั่งให้ดำเนินการแตกต่างจาก อปท. อื่นๆ กล่าวคือ หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจ 'มาตรา 44' แยกต่างหาก ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 64/2559 ปลดหม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร พ้นจากตําแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และแต่งตั้งพลตํารวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง เป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เช่นเดียวกับเมืองพัทยาที่อิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา หมดวาระ จึงออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 6/2560 แต่งตั้งพลตํารวจตรีอนันต์ เจริญชาศรี เป็นนายกเมืองพัทยาแทน
ไม่ไว้ใจท้องถิ่น ตั้งทหาร – ข้าราชการ คุมเข้มงบประมาณ
แม้ก่อนหน้านี้ อปท. จะมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แต่ปัญหาอย่างหนึ่ง คือ อำนาจจากส่วนกลางยังคงมีอิทธิพลต่อการจัดบริการสาธารณะของ อปท. ทั้งในแง่งบประมาณและการให้โทษ อย่างไรก็ตามในยุค คสช. ความไม่ไว้ใจการบริหารงานของผู้แทนท้องถิ่นปรากฎชัดเจนตั้งแต่ต้นของการยึดอำนาจ
วันที่ 30 กรกฎาคม 2557 คสช. ออกประกาศ คสช. ที่ 104/2557 ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของ อปท. ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบแบบแผนของทางราชการ นโยบาย ประกาศและคําสั่งของ คสช. อย่างเคร่งครัด และกํากับดูแลและตรวจสอบการจัดซื้อจัดจ้างของ อปท. อย่างเข้มงวด ซึ่งหากผู้ว่าราชการจังหวัดและนายอําเภอ ตรวจสอบพบว่า อปท. แห่งใดมีการใช้จ่ายงบประมาณไปในทางที่ผิดกฎหมายจนเป็นเหตุให้ทางราชการได้รับความเสียหาย หรือมีการทุจริตการจัดซื้อจัดจ้าง ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอําเภอดําเนินการตามกฎหมายแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างเฉียบขาดและรวดเร็ว
นอกจากนี้ ในวันเดียวกัน คสช. ยังออกคำสั่ง คสช. ที่ 88/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรเงินอุดหนุนให้ อปท. ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 โดยคณะกรรมการประกอบด้วย 1) เสนาธิการทหาร เป็นประธานกรรมการ 2) รองเสนาธิการทหาร เป็นรองประธานกรรมการ 3) ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา เป็นรองประธานกรรมการ 4) อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นกรรมการ 5) ผู้อํานวยการสํานักจัดทํางบประมาณด้านความมั่นคง สํานักงบประมาณ เป็นกรรมการ 6) ผู้อํานวยการสํานักกฎหมาย กรมบัญชีกลาง เป็นกรรมการ 7) หัวหน้าสํานักงานคณะกรรมการกระจายอํานาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เป็นกรรมการ และ 8) ปลัดบัญชีทหาร เป็นกรรมการและเลขานุการ
คณะกรรมการชุดนี้มีอํานาจหน้าที่ 1) พิจารณาความเหมาะสมการจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนให้ อปท. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 2) กํากับดูแลการดําเนินการ การจัดทํา และบริหารงบประมาณของ อปท. ประจําปีงบประมาณ พ.ศ. 2558 ให้เป็นไปตามนโยบาย คสช. 3) รายงานผลการดําเนินการ และเสนอแนะความเห็นให้หัวหน้า คสช. ทราบโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดําเนินการตามขั้นตอนต่อไป จากตำแหน่งของกรรมการทั้งแปดคนไม่มีตัวแทนของ อปท. เข้าไปมีส่วนจัดสรรงบประมาณ ทั้งหมด คือ ข้าราชการ โดยมีทหารถึงห้าจากแปดคนในคณะกรรมการ
รัฐธรรมนูญ ทำกระจายอำนาจถอยหลัง เปิดช่องบางท้องถิ่นไม่ต้องเลือกตั้ง
แม้ คสช. จะตั้งฉายาของรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 “รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป” กล่าวคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนคำว่า “ปฏิรูป” ไว้ถึง 30 คำ มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ที่รวมกันแล้วมีแค่เก้าคำ และยังมีหมวดปฏิรูปประเทศ ที่ไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนในประเทศไทยมีมาก่อน แต่ในหมวดการปฏิรูปกลับไม่พบว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้กล่าวถึงการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นและให้ประชาชนจัดการตนเอง 
ยิ่งไปกว่านั้น ในหมวดว่าการปกครองท้องถิ่น ยังแสดงให้เห็นถึงความพยายามทำให้การกระจายอำนาจถดถอยเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550  กล่าวคือ รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 เปิดช่องให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งก็ได้ ทั้งนี้ ยังไม่ได้กำหนดห้ามข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่รัฐดำรงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น และไม่มีการกำหนดวาระของผู้บริหารท้องถิ่นด้วย การเปิดช่องเช่นนี้ส่งผลให้ในอนาคตเรามีโอกาสได้เห็นกรุงเทพมหานครหรือเมืองพัทยา มีผู้บริหารที่เป็นข้าราชการซึ่งสามารถอยู่ตำแหน่งไปได้เรื่อยๆ เพราะไม่ได้กำหนดวาระเอาไว้ 
ทั้งการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่ง รวมถึงการวางแนวทางสำหรับอนาคตในรัฐธรรมนูญ เห็นภาพรวมได้ว่า ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา คสช. ใช้อำนาจในระบบไม่ปกติ เพื่อสร้างช่องทางให้ระบบราชการเข้าไปควบคุมและทำหน้าที่แทน อปท. ได้  
แผนปฏิรูปประเทศ มองท้องถิ่นแค่แขนขาของส่วนกลาง เลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่พูดถึง
วันที่ 6 เมษายน 2561 แผนปฏิรูปประเทศฯ ที่ร่างขึ้นตามกลไกของ คสช. ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ประเด็นการกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นรวมอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ ด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ตัวหนังสือที่ปรากฎบนแผนปฏิรูปฯ ชิ้นนี้ คือ รูปธรรมที่สุดของปฏิรูปการปกครองท้องถิ่นตลอดสี่ปีที่ผ่านมา สำหรับเป้าหมายของการปฏิรูปประเด็นนี้ คือ การโอนถ่ายภารกิจภาครัฐที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินการเองให้กับภาคส่วนอื่น เช่น ภาคเอกชน ภาคประชาขน และท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาขีดความสามารถในการจัดบริการสาธารณะของ อปท.
ทั้งที่โดยหลักการแล้ว การปกครองส่วนท้องถิ่น มีความสำคัญในฐานะที่เป็นรูปแบบการปกครองที่ความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีอำนาจและประชาชนมีความใกล้ชิดกันมากที่สุด และเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองได้มากที่สุด ดังนั้นการที่โอนอำนาจภารกิจจากส่วนกลางให้ท้องถิ่นคือการส่งเสริมให้อำนาจประชาชนปกครองตนเองมากขึ้น ด้วยเหตุนี้ในแง่งบประมาณถ้าท้องถิ่นมีอำนาจจัดเก็บเองได้มากขึ้นก็จะช่วยลดอิทธิพลจากส่วนกลางและทำให้ผู้บริหารท้องถิ่นต้องรับผิดชอบกับประชาชนผู้เสียภาษีมากขึ้น ในแง่งานบริหารบุคคลกรถ้าท้องถิ่นมีอำนาจในการคัดสรรบุคลากรเองก็จะเปิดโอกาสให้คนในท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นและอาจได้บุคลากรที่ตรงกับความต้องการของท้องถิ่นจริงๆ และหากยกเลิกการปกครองส่วนภูมิภาคก็จะให้ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ต้องขึ้นตรงกับการบังคับบัญชาของผู้ว่าราชการจังหวัดหรือนายอำนาจจะส่งผลให้ท้องถิ่นมีอำนาจในการกำหนดนโยบายและการตัดสินใจมากขึ้น
เแผนปฏิรูปประเทศฯ ด้านนี้ มีจุดตั้งต้นมองการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐส่วนกลางเป็นหลัก โดยตั้งเป้าหมายว่า จะทำอย่างไรให้ระบบราชการมีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ ส่วนการปกครองส่วนท้องถิ่นถูกมองเป็นเพียงกลไกแขนขาในการทำงานให้กับราชการส่วนกลางเท่านั้น ซึ่งแผนฉบับนี้กล่าวถึงการปกครองท้องถิ่นในหลักการกว้างๆ เช่น จะทำให้บริการสาธารณะมีประสิทธิภาพ จะทำให้มีอิสระด้านงบประมาณ ฯลฯ แต่ขาดรายละเอียดว่า จะมีภารกิจใดบ้างที่ควรจะโอนกับให้ท้องถิ่นและจะมีขั้นตอนอย่างไร แน่นอนว่า ในแผนปฏิรูปฉบับนี้ไม่ได้กล่าวถึงการได้มาซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดโดยการเลือกตั้งทางตรงจากประชาชนในจังหวัดนั้นๆ 
ปฏิรูปกระจายอำนาจล้มเหลว เหตุมองประชาชนไม่พร้อม
เหตุการณฺ์ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า การทุจริตเงินช่วยเหลือคนไร้ที่พึ่ง และการโกงเงินกองทุนเสมา เป็นบทพิสูจน์แล้วว่า แนวทางการบริหารประเทศที่เน้นการรวมศูนย์ไว้ที่ราชการส่วนกลางเป็นการทางที่ผิดพลาดและไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนอย่างทันทีและทั่วถึง หากท้องถิ่นมีอำนาจในการตัดสินใจอยู่เต็มมือ เรื่องง่ายๆ อย่างการฉีดยากันโรคพิษสุนัขบ้าคงไม่จำเป็นต้องขอความเห็นจากส่วนกลางให้ล่าช้า หากกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นจัดการแจกจ่ายเงินช่วยเหลือต่างๆ เงินก็จะถึงมือประชาชนผู้เป็นเจ้าของสิทธิได้ทั่วถึงกว่า เพราะท้องถิ่นย่อมรู้ดีว่าใครในพื้นที่ควรจะได้รับเงินช่วยเหลือนั้น หรือหากมีการทุจริตก็มีแน้วโน้มจะเกิดในวงแคบตามแต่ละท้องที่มากกว่าจะเกิดกระจายไปทีเดียวทั่วทั้งประเทศ
สี่ปีของ คสช. การปฏฺิรูปกระจายอำนาจการปกครองสู่ท้องถิ่นล้มเหลว ทุกเสียงจากพรรคการเมืองเก่า ว่าที่พรรคการเมืองใหม่ หรือแม้กระทั่งแกนนำ กปปส. ยังออกมาวิจารณ์ว่า การกระจายอำนาจล้มเหลว ทั้งในทางปฏฺิบัติที่ คสช. ใช้อำนาจพิเศษหยุดการเลือกตั้งท้องถิ่น และเปิดโอกาสให้ข้าราชการเข้ามามีบทบาทในสภาท้องถิ่นได้ และในแง่เนื้อหาตามรัฐธรรมนูญที่ถดถอยกว่ารัฐธรรมนูญในอดีต และแผนปฏิรูปประเทศฯ ที่มองว่า ท้องถิ่นเป็นแค่แขนขาของราชการส่วนกลางเท่านั้น 
แนวคิดเรื่องกระจายอำนาจฝังอยู่ในการเมืองไทยมากว่าสองทศวรรษ ดังนั้นความล้มเหลวของการกระจายอำนาจจึงไม่ได้เกิดจากการไม่มีความรู้หรือไม่มีความสามารถของ คสช. แต่เกิดจากความตั้งใจที่จะไม่ให้มีการกระจายอำนาจไปสู่การปกครองท้องถิ่นมากเกินไป ซึ่งสะท้อนผ่านคำบอกเล่าของสาธิต ปิตุเตชะ อดีต ส.ส.จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ถึงความชัดเจนของการกระจายอำนาจ ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ตอบลักษณะว่า คุณคิดว่าประชาชนมีความพร้อมแล้วหรอ ซึ่งคำตอบดังกล่าวสะท้อนภาพกระจายอำนาจในยุค คสช. ได้ชัดเจน 
You May Also Like
อ่าน

ส่องวาระศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ สว. 67 เคาะเลือกคนใหม่ได้เกินครึ่ง

พฤษภาคม 2567 สว. ชุดพิเศษ จะหมดอายุแล้ว แต่ สว. ชุดใหม่ ยังคงมีอำนาจสำคัญในการเห็นชอบตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ภายใต้วาระการดำรงตำแหน่งของ สว. ชุดใหม่ จะมีอำนาจได้ “เกินครึ่ง” ของจำนวนตำแหน่งทั้งหมด
อ่าน

กรธ. ชุดมีชัย ออกแบบระบบ สว. “แบ่งกลุ่มอาชีพ”-“เลือกกันเอง” สุดซับซ้อน!

ระบบ “เลือกกันเอง” สว. 67 ที่ให้เฉพาะผู้สมัคร ซึ่งต้องจ่ายค่าธรรมเนียม 2,500 บาท มีสิทธิโหวต คิดค้นโดยคนเขียนรัฐธรรมนูญ 2560 นำโดยมีชัย ฤชุพันธุ์