สี่ปี คสช. ปฏิรูปคอร์รัปชั่น ตั้งหลายกลไกแบบ ‘บนลงล่าง’ ทำโดยทหารไม่ตรวจสอบทหารเอง

 

ตลอดการปกครองประเทศเป็นระยะเวลาสี่ปีของ คสช. การปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นในภาครัฐโดยเฉพาะในแวดวงนักการเมือง เป็นเป้าหมายอย่างหนึ่งที่ คสช. ต้องมุ่งทำเพื่อ "คืนความสุข" และเพื่อฉายภาพให้ประชาชนเห็นคุณค่าของรัฐบาลทหารให้ได้ สิ่งหนึ่งที่ทำได้ในยุค คสช. คือ ทำให้นักการเมืองฝั่งเพื่อไทยต้องติดคุกในคดีจำนำข้าว และทำให้อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ มีคดีติดตัวต้องหนีออกนอกประเทศ โดยไม่เห็นอนาคตว่า จะได้กลับเมื่อไร
ในภาพฝัน คสช. เรียกรัฐธรรมนูญใหม่ที่ร่างขึ้นเองว่า รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง โดยมีกลไกใหม่ๆ เพื่อจัดการนักการเมืองใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้หลายประการ เช่น การกำหนดให้มีมาตรฐานจริยธรรม, เพิ่มคุณสมบัติรัฐมนตรีว่า "ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์", ห้ามส.ส.แปรญัตติกฎหมายให้ตัวเองมีส่วนร่วมในการใช้งบประมาณ ฯลฯ แต่เนื่องจากการเลือกตั้งเพื่อจะเข้าสู่ระบบที่มีนักการเมืองเป็นผู้ขับเคลื่อนประเทศยังไม่มีวี่แววว่าจะเกิดขึ้น จึงยังไม่มีโอกาสได้เห็นว่า กลไกเหล่านี้จะถูกใช้ได้ผลจริงหรือไม่ อย่างไร 
นอกเหนือจากการวางโครงสร้างในรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ตลอดระยะเวลาการปกครอง คสช. ยังแก้ไขกฎหมายและกลไกต่างๆ โดยตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาปราบทุจริตโดยตรง 4 องค์กร ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อย 39 ฉบับ ใช้อำนาจผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ออกพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการปราบทุจริตไปแล้วอย่างน้อย 9 ฉบับ ไม่นับรวมกฎหมายลูกเกี่ยวกับองค์กรอิสระอีก 7 ฉบับ 
ต้องยอมรับว่า คสช. ใช้เวลาสี่ปีขยับตัวเรื่องการปราบทุจริตคอร์รัปชั่นไปไม่น้อย แต่ทั้งหมดที่ คสช. ทำไปนั้น ยังเน้นไปที่การตั้งองค์กร, สร้างกลไกลใหม่, เพิ่มอำนาจให้หน่วยงานปราบทุจริต, แต่งตั้งและถอดถอนบุคคล ซึ่งเป็นการทำงานในระดับโครงสร้างส่วนบนกับหน่วยงานราชการเท่านั้น ยังไม่เห็นการทำงานที่เป็นรูปธรรมในระดับฐานล่างกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศจริงๆ และที่สำคัญผลจากการทำงานทั้งหมดนี้ยังไม่ได้แตะต้องการทุจริตคอร์รัปชั่นในสถาบันหลักอีกแห่งหนึ่งเลย คือ สถาบันทหาร
ตั้ง คตร. ตรวจทุจริตโดยมีทหารเป็นใหญ่ สุดท้ายยุบเอง
6 มิถุนายน 2557 หลังยึดอำนาจไม่กี่วัน คสช. ก็ออกคำสั่งฉบับที่ 45/2557 แต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ขึ้นมาชุดหนึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินให้โปร่งใสถูกต้อง และรายงานต่อ คสช. เสนอให้คุณให้โทษแก่เจ้าหน้าที่รัฐได้ แต่ไม่มีอำนาจทำสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลได้เอง และให้สำนักปลัดบัญชีกองทัพบกรับผิดชอบงานด้านธุุรการ โดยกรรมการของ คตร. 18 คน เป็นทหารหรือคนจาก คสช. รวม 11 คน โดยมีปลัดบัญชีทหารบก นั่งเป็นประธาน และผู้แทนจาก คสช. เป็นเลขานุการ
ต่อมามีการแก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการอีกอย่างน้อย 5 ครั้ง ด้วยการออกเป็นคำสั่ง คสช. ที่ 122/2557, 123/2557, 6/2558 และ 10/2558 ซึ่งองค์ประกอบทุกชุดยังมีทหารเป็นส่วนใหญ่ ยกเว้นการแก้ไขตามคำสั่งที่ 10/2558 เป็นคำสั่งที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เพราะไม่สามารถค้นหาได้จากเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา และเว็บไซต์ของคณะกรรมการกฤษฎีกา และแก้ไขครั้งสุุดท้ายเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2559 โดยออกเป็นคำสั่ง คสช. ที่ 4/2559 แต่งตั้งให้พลเอกชาตอุดม ติตถะสิริ เป็นประธาน และให้ประธานอนุกรรมการอีก 9 คณะที่แต่งตั้งขึ้นเข้าเป็นกรรมการด้วย
หลังตั้งขึ้นไม่นาน คตร. เคยแถลงผลงานว่า มีมติสั่งยกเลิกไป 2 โครงการ คือ โครงการจัดหารถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และโครงการแท็บเล็ตเพื่อการศึกษา เนื่องจากมองว่าไม่คุ้มค่า ซึ่งเป็นโครงการที่อนุมัติตั้งแต่รัฐบาลที่แล้ว ส่วนผลงานที่โดดเด่นมีชื่อเสียงของ คตร. ก็คือ การเข้าไปตรวจสอบสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสั่งระงับการเบิกจ่ายเงิน เป็นเหตุให้โครงการในเครือข่ายของ สสส. ต้องหยุดชะงักไปจำนวนมาก และการเข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายเงินของคุรุสภา ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 7/2558
แต่การทำงานของ คตร. ก็ไม่ได้มีผลยาวนานนัก เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2559 หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 70/2559 สั่งยุบ คตร. และยกเลิกคำสั่งที่เกี่ยวข้องทั้งหมด โดยให้เหตุผลว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานที่มีอํานาจหน้าที่ตามกฎหมายในลักษณะเดียวกับ คตร. อีกหลายแห่ง จึงสมควรลดความซ้ำซ้อน เท่ากับเป็นการปิดฉากการทำงานของ คตร. ด้วยอายุงาน 2 ปี 6 เดือน ขณะเดียวกัน คสช. ก็ยังออกคำสั่งตั้งกลไกลอื่นๆ ขึ้นมาทำหน้าที่คล้ายกับ คตร. อีกหลายประการ
ยังไม่สะใจ ตั้ง คตช. ขึ้นใหม่ ประยุทธ์-ประวิตร นั่งหัวโต๊ะเอง
ปลายปี 2557 ออกคำสั่งที่ 127/2557 แต่งตั้งอีกหน่วยงานหนึ่งขึ้นเพื่อต่อต้านการทุจริต ชื่อว่า “คณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ" (คตช.) มีอำนาจหน้าที่ในระดับนโยบาย จัดทำแนวทาง ประสานความร่วมมือ จัดทำข้อเสนอ สั่งการให้หน่วยงานของรัฐไปดำเนินการ โดยมีหัวหน้า คสช. นั่งเป็นประธานเอง และให้หัวหน้า คสช. แต่งตั้งสมาชิกจาก คสช. และผู้ทรงคุณวฺุฒิเข้ามาเป็นกรรมการ 
ต่อมา 5 มกราคม 2558 คสช. ก็อกคำสั่งที่ 1/2558 แต่งตั้งกรรมการให้ครบ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงศ์สุวรรณ และวิษณุ เครืองาม เป็นที่ปรึกษา พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร, พลเรือเอก ไกรสร จันทร์สุวานิชย์, พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง, สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นกรรมการ และยังมีภาคประชาชนอย่าง ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น, บรรยง พงษ์พานิช และดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ เป็นกรรมการด้วย ต่อมามีคำสั่งที่ 14/2558 เพิ่มพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้บัญชาการทหารบก เข้ามาอีกหนึ่งคน ส่วนพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่ีกลายเป็นอดีตผู้บัญชาการทหารบกก็ยังอยู่ในกรรมการ แต่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือและทหารอากาศถูกเปลี่ยนเอาคนเก่าออกและเอาคนใหม่เข้ามาแทนที่ ต่อมา คสช. ยังออกคำสั่งที่ 6/2559 เปลี่ยนตัวกรรมการอีกครั้ง ตามการเปลี่ยนแปลงตัวผู้บัญชาการทหารบก และทหารอากาศ และเปลี่ยนกรรมการอีกครั้งด้วยคำสั่งที่ 3/2560 เมื่อ คตร. ถูกยุบไป ก็เอาเลขาธิการ ป.ป.ท. มานั่งเป็นกรรมการแทน
สำนักข่าวอิสรารายงานว่า ในการประชุม คตช. เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 คตช. แต่งตั้งคณะอนุกรรมการอีก 4 คณะ ได้แก่ 1) คณะอนุกรรมการด้านการปลูกฝังจิตสำนึกและสร้างการรับรู้ 2) คณะอนุกรรมการด้านการป้องกันการทุจริต 3) คณะอนุกรรมการด้านการประชาสัมพันธ์ 4) คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือข้อตกลงคุณธรรม (Integrity Pact) ซึ่งพอจะเห็นได้ว่า คณะอนุกรรมการทั้งสี่ชุดทำงานในเชิงรุกด้านป้องกัน ไม่ได้เน้นการปราบปรามหรือการเอาผิดกับการทุจริตที่เกิดขึ้นแล้ว
ผลงานของ คตช. ที่มีชื่อเสียง เช่น การชงเรื่องเสนอให้ข้าราชการทุกคนต้องแจงบัญชีทรัพย์สิน หรือการเสนอให้ปี 2560 เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ แต่เมื่อผ่านมาหลายปี ผลงานของ คตช. มีน้อยลงเรื่อยๆ และไม่ได้ประชุมกันนานกว่า 8 เดือน จนมานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นออกมาโพสต์เฟซบุ๊กทวงถามความจริงจังในการแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของรัฐบาล
ตั้ง ศอตช. มาอีก เร่งรัดติดตามการแก้ปัญหา
นอกจากการตั้งคณะกรรมการสองชุดแล้ว วันที่ 27 มิถุนายน 2557 คสช. ออกคำสั่งที่ 69/2557 กำหนดมาตรการแก้ปัญหาทุจริตไว้แบบกว้างๆ ให้หน่วยงานของรัฐทุกแห่งกำหนดมาตรการแก้ไขปัญหา หากพบการทุจริตให้หัวหน้าหน่วยงานลงโทษ และถ้าหัวหน้าหน่วยงานปล่อยปละละเลยจะถือเป็นความผิด 
และต่อมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็เป็นผู้ลงนามในคำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 226/2557 โดยอ้างอิง คำสั่ง คสช. 69/2557 ตั้งศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ขึ้น เป็นหน่วยงานภายใน ป.ป.ท. ทำหน้าที่เป็นองค์กรอำนวยการระดับชาติ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธาน มีอำนาจหน้าที่อำนวยการ เร่งรัด ติดตาม ประเมินผล การแก้ปัญหาทุจริต และเพิ่มเติม คือ มีอำนาจรับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนด้วย และสั่งให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบข้อเท็จจริงแก้ปัญหา
องค์กรอย่างน้อยสามแห่งที่ตั้งขึ้นมาใหม่ด้วยอำนาจพิเศษของ คสช. เช่นนี้ ทั้งการเกิดขึ้นขององค์กร การคัดเลือกบุคคลมาทำงาน การกำหนดขอบเขตอำนาจหน้าที่ ล้วนดำเนินไปแบบการใช้อำนาจจาก "บนลงล่าง" คือ ให้คนที่มีอำนาจสูงสุดอย่าง คสช. เป็นผู้ตัดสินใจและสั่งการแต่เพียงผู้เดียวโดยขาดการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนอื่นๆ ของสังคม ซึ่งก็เป็นวัฒนธรรมการใช้อำนาจของหน่วยงานรัฐที่เป็นที่มาของการทุจริตได้โดยง่ายนั่นเอง องค์กรทั้งสามนี้ไม่มีทั้งสถานที่ตั้งสำนักงานให้ประชาชนไปติดต่อสอบถาม ไม่มีเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูล ไม่มีการเปิดเผยวาระการประชุมหรือการใช้จ่ายงบประมาณ แม้กระทั่งผลลัพธ์ที่ได้จากการทำงานขององค์กรเหล่านี้ก็ไม่มีปรากฎเพื่อให้ตรวจสอบได้ว่า ทำงานคุ้มค่ากับการถือกำเนิดขึ้นมาและใช้งบประมาณของรัฐหรือไม่ เพียงใด
ใช้ 'มาตรา 44' ระงับการปฏิบัติหน้าที่ 403 ตำแหน่ง เพื่อตรวจสอบทุจริต
หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่รัฐถูกตรวจสอบประเด็นการทุจริต รวม 10 ฉบับ สั่งให้เจ้าหน้าที่รัฐรวม 403 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว หรือย้ายไปปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย หรือย้ายไปช่วยราชการส่วนกลาง หรือให้หยุดปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน ดังนี้
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 16/2558 เป็นฉบับแรกที่ออกมา กำหนดให้มีอัตรากำลังพิเศษชั่วคราว เพื่อรองรับการโยกย้ายเจ้าหน้าที่ของรัฐ และประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 45 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ข้าราชการ 24 คน หน่วยงานอื่นของรัฐ 1 คน นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 14 คน นายกเทศมนตรี 3 คน ปลัดและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 3 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 19/2558 ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 70 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ข้าราชการ 21 คน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด 7 คน นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล 17 คน  นายกเทศมนตรีและสมาชิกสภาเทศบาล 18 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 คน และให้ย้ายปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาไปปฏิบัติหน้าที่ที่สำนักนายกรัฐมนตรี
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 1/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตวรจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 3 ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 59 คน หยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน ข้าราชการพลเรือน 2 คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 44 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 4 คน กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 7 คน และยังสั่งให้หน่วยงานต้นสังกัดเร่งตั้งกรรมการสอบวินัย หากไม่ผิดให้แจ้งนายกรัฐมนตรี
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 43/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 4 ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 60 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน ข้าราชการพลเรือน 8 คน ผู้บริหารและผู้มีตําแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 40 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 10 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 44/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 5 ให้นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงคําสั่งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 50/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 ให้หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน และให้นายเปรมศักดิ์ เพียยุระ นายกเทศมนตรีเมืองบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น ระงับการปฏิบัติราชการชั่วคราว โดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 52/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 7 ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 21 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน 13 คน ข้าราชการตำรวจ 6 คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน โดยคำสั่งฉบับนี้เพิ่มขั้นตอนในทางปฏิบัติต่อด้วยว่า ให้ ศอตช. ส่งข้อเท็จจริงในผู้บังคับบัญชาของหน่วยงานทราบ และแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงภายใน 30 วัน หากพบว่า ไม่ผิดให้กลับไปดำรงตำแหน่งระดับเดิมแต่นอกพื้นที่ หากพบว่า ผิดให้ประธาน ศอตช. แต่งตั้งผู้ตรวจสอบเรื่อง 3-5 คน ภายใน 30 วัน มาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่ง 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 59/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตวรจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 8 ให้พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ รองผบ.ตร. พ้นจากตำแหน่ง และให้โอนไปเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ให้พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด ผู้ชำนาญการกองทัพบก ไปเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 72 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ข้าราชการพลเรือน 1 คน ข้าราชการตำรวจ 2 คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 7 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 55 คน กรรมการพนักงานส่วนตำบล 7 คน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 35/2560 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตวรจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 9 ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 70 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา 1 คน ข้าราชการพลเรือน 6 คน พนักงานอื่นของรัฐ 2 คน ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 37 คน ข้าราชการองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 24 คน 
คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 39/2559 ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตวรจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 10 ประกาศให้เจ้าหน้าที่รัฐ 3 คนหยุดปฏิบัติหน้าที่ ประกอบด้วย นายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง รองนายกเทศมนตรีเมืองบางบัวทอง และรองปลัดเทศบาลเมืองบางบัวทอง
โดยรวมแล้วจากคำสั่งทั้ง 10 ฉบับ มีเจ้าหน้าที่รัฐต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ 403 คน แบ่งเป็น ข้าราชการ 75 คน ผู้บริหารองค์กรส่วนท้องถิ่น 196 คน ข้าราชการองค์กรส่วนท้องถิ่น 102 คน ตำรวจ 8 คน ผู้บริหารสถานศึกษา 5 คน และเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ อีก 17 คน ไม่มีทหารเลย
การใช้อำนาจพิเศษออกคำสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปจำนวนมากเช่นนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่ได้รับผลกระทบก็ย่อมต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบ และมีสิทธิพิสูจน์ตัวเองหากว่า ไม่ได้กระทำความผิด แต่หลังจากมีคำสั่งตามมาตรา 44 ออกมามากมายเช่นนี้ ผลการตรวจสอบว่า ใครทำผิดจริงหรือไม่อย่างไร กลับไม่ได้เผยแพร่ต่อสาธารณะ
สร้างกลไกลใหม่ One Stop Service ขออนุญาตราชการยื่นจุดเดียว
กฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันทุจริตฉบับแรกที่ คสช. ออกมาโดยกลไกของ สนช. คือ พ.ร.บ.การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558  มีวัตถุประสงค์เพื่อจะแก้ไขปัญหาการคอร์รัปชั่นของราชการจากระบบการขออนุญาตที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณา และอาจใช้เทคนิคถ่วงเวลาการพิจารณาเพื่อเรียกรับผลประโยชน์
กฎหมายนี้กำหนดให้ตั้งศูนย์รับคําขออนุญาตขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่เพื่ออํานวยความสะดวกแก่ประชาชน ทําหน้าที่คล้ายตัวกลางระหว่างประชาชนผู้ขออนุญาตกับหน่วยงานรัฐผู้พิจารณาเรื่องต่างๆ ศูนย์รับคำขออนุญาตมีหน้าที่รับคําขออนุญาตและค่าธรรมเนียม ให้ข้อมูล และแนะนําเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการอนุญาต แทนหน่วยงานรัฐได้ทุกประเภท 
แก้กฎหมาย ป.ป.ช. สามรอบ สุดท้ายก็เขียนใหม่ทั้งฉบับ
ในความพยายามปราบทุจริต คสช. แสดงออกโดยการแก้กฎหมาย "ตัวแม่" สำหรับการปราบทุจริต คือ พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ พ.ร.ป.ป.ป.ช. สามครั้ง ครั้งแรกเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 คสช. ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ ฉบับที่ 72/2557 เปลี่ยนกลไกการสรรหา ป.ป.ช. จังหวัด ครั้งที่สองเป็นการแก้ไขกฎหมายโดย สนช. เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 กำหนดให้คดีทุจริตมีโทษประหารชีวิต และไม่มีอายุความ และครั้งที่สามเป็นการแก้ไขกฎหมายโดย สนช. เมื่อวันที่3 พฤศจิกายน 2559 เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับการตั้งพนักงานไต่สวนมาช่วย ป.ป.ช. ทำงาน
อย่างไรก็ดี กลไกใหม่ที่ คสช. ใส่เข้ามาในระบบกฎหมายยังไม่ทันได้ทำงานอย่างเต็มที่นัก เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ พ.ร.บ.ป.ป.ช. ก็ต้องร่างขึ้นใหม่ทั้งฉบับโดย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำโดยมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นผู้จัดทำ ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ก็ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้วเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2560 โดยมีสาระสำคัญที่เปลี่ยนไป เช่น ให้กรรมการ ป.ป.ช. มีวาระลดลงจาก 9 ปี เหลือ 7 ปี ให้ระบบการสรรหาเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ และเพิ่มหน้าที่ให้ ป.ป.ช. ต้องจัดทำและบังคับใช้ "มาตรฐานทางจริยธรรม" เป็นกลไกใหม่ในการควบคุมผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วย
แต่น่าแปลกที่ความพยายามแก้ไขกฎหมายสามครั้งก่อนหน้านี้ของ คสช. กลับถูกลบล้างไปกับการออกกฎหมายฉบับใหม่ เช่น การกำหนดโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดฐานทุจริต ก็เหลือโทษสูงสุดเป็นจำคุกตลอดชีวิต หรือการออกแบบกลไกสรรหา ป.ป.ช. จังหวัด ก็เปลี่ยนเป็นยกเลิกกลไกล ป.ป.ช. จังหวัดไปเลย เหลือเพียงสำนักงาน ป.ป.ช. ประจำจังหวัดทำหน้าที่ธุรการเท่านั้น
แก้กฎหมาย ป.ป.ท. เพิ่มความเป็นอิสระ ส่วนคดีทหารทุจริตต้องให้อัยการทหารฟ้อง
นอกจากการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับ ป.ป.ช. แล้ว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 สนช. ยังผ่านร่างแก้ไข พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือ กฎหมาย ป.ป.ท. โดยเปลี่ยนสถานะของ ป.ป.ท. จากเดิมมีฐานะเป็นกรมภายใต้กระทรวงยุติธรรม ให้เป็นขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี และเปลี่ยนวิธีการได้มาซึ่งกรรมการ ป.ป.ท. จากเดิมให้คณะรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชนอยู่บ้าง เปลี่ยนเป็น ให้คณะรัฐมนตรี, ป.ป.ช. และ คตง. เสนอชื่อองค์กรละห้าคน ให้มีคณะกรรมการคัดเลือกประกอบด้วยประธานศาลฎีกา ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานศาลรัฐธรรมนูญ และประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้กรรมการป.ป.ท. อยู่ในตำแหน่งได้ถึงอายุ 75 ปี
การแก้ไขในปี 2559 เพิ่มหมวดใหม่ให้ ป.ป.ท. มีบทบาททำงานเชิงป้องกันมากขึ้นกว่าเดิม แถม "ติดดาบ" เพิ่มอำนาจให้พนักงานของ ป.ป.ท. เข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกกล่าวหาหรือบุคคลอื่นเพื่อไต่สวนข้อเท็จจริงได้ ซึ่งเดิมเป็นอำนาจของกรรมการ ป.ป.ท. และอนุกรรมการเท่านั้น และยังเพิ่มข้อกำหนดเพื่อเร่งรัดคดีด้วยว่า เมื่อได้รับข้อร้องเรียนแล้ว ป.ป.ท. ต้องสั่งว่าจะรับหรือไม่รับคดีภายในสามเดือน
กรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเป็นทหาร กฎหมายเดิมกำหนดให้อัยการของพลเรือนเป็นผู้ฟ้องคดี (ฟ้องต่อศาลทหาร) แต่จะมอบหมายให้อัยการทหารฟ้องแทนก็ได้ แต่การแก้ไขในปี 2559 เปลี่ยนเป็นให้อัยการทหารเป็นผู้ฟ้องคดีเท่านั้น ซึ่งอัยการทหารก็เป็นข้าราชการทหารสังกัดกรมพระธรรมนูญ ที่อาจมีประสบการณ์ทำงานส่วนใหญ่ด้านคดีวินัยทหาร ไม่ได้เชี่ยวชาญคดีที่มีความซับซ้อนมากๆ
นอกจากนี้ ยังไม่ลืมแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท. ให้สอดคล้องและไล่ตามทันกับการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ช. คือ กำหนดให้คดีที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนี ไม่มีอายุความ
ยังไม่หมดแค่นั้น 15 มีนาคม 2561 สนช. ลงมติเห็นชอบการเสนอแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท. อีกเป็นครั้งที่สอง เพิ่มอำนาจหน้าที่ให้ ป.ป.ท. ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนรวมตัวกันต่อต้านการทุจริต เพิ่มการคุ้มครองสำหรับบุคคลผู้เกี่ยวข้องกับการทุจริตและยอมเป็นผู้แจ้งเบาะแส โดยให้กันไว้เป็นพยานและไม่ดำเนินคดีกับผู้นั้น และยังแก้มาตรา 58/2 ซ้ำอีครั้งต่อจากการแก้ไขในปี 2559 ให้ ป.ป.ท. มีอำนาจแจ้งไปยังคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการด้วยหากหน่วยงานรัฐใดไม่ทำตามกฎหมายว่าด้วยการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ
แก้กฎหมายอาญา ความผิดฐานทุจริตเพิ่มค่าปรับสูงสุด 10 เท่า ค่าปรับต่ำสุด 50 เท่า
26 มกราคม 2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติเห็นชอบพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) เพื่อเพิ่มโทษปรับในความผิดต่างๆ ให้สูงขึ้น เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาใช้มาตั้งแต่ปี 2499 เป็นเวลา 60 ปีแล้ว สภาพเศรษฐกิจและค่าเงินบาทได้เปลี่ยนไปมาก ค่าปรับที่เคยเขียนไว้ในกฎหมายเดิมจึงอาจล้าสมัย โดยเพิ่มโทษปรับในฐานความผิดส่วนใหญ่ขึ้นสิบเท่า
แต่สำหรับความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ ทั้งหมด 10 มาตรา คือ มาตรา 147-151 มาตรา 154-156 และมาตรา 201-202 ไม่เพียงแต่จะเพิ่มโทษปรับในอัตราสูงสุดขึ้น 10 เท่า แต่ยังเพิ่มโทษปรับในอัตราต่ำสุดขึ้น 50 เท่าด้วย 
ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานเจ้าพนักงานเรียกรับสินบน ตามมาตรา 149 จากเดิมมีโทษจำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท หรือประหารชีวิต เปลี่ยนเป็น จำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท หรือประหารชีวิต หรือความผิดฐานเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบบัญชี ทำบัญชีเท็จ จากเดิมมีโทษจำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 2,000-40,000 บาท เปลี่ยนเป็น จำคุก 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต และปรับตั้งแต่ 100,000-400,000 บาท
ตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ เอาผิดข้าราชการ ไม่รวมคดีทหารและนักการเมือง
วันที่ 16 มิถุนายน 2559 สนช. ลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เพื่อจัดตั้งศาลแห่งใหม่ขึ้นมารับผิดชอบคดีอาญาเพื่อเอาผิดเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตต่อหน้าที่ ชื่อเต็มๆ ว่า ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ เรียกชื่อย่อว่า ศาลอาญาคดีทุจริตฯ โดยมีพระราชกฤษฎีกา ให้ศาลแห่งใหม่ที่ส่วนกลางเปิดทำการตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2559 และยังตั้งศาลอาญาคดีทุจริตฯ ตามภาคต่างๆ รวม 9 ภาค แต่ละแห่งเปิดทำการไม่พร้อมกัน เริ่มช้าสุดวันที่ 3 เมษายน 2560
วันที่ 24 สิงหาคม 2559 สนช. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ตามมาอีกฉบับ ซึ่งกำหนดให้ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ พิจารณาคดีโดยใช้ระบบไต่สวน หมายความว่า ศาลจะมีบทบาทค้นหาความจริงด้วยตัวเอง ศาลอาจเรียกพยานบุคคลหรือเอกสารเข้ามาในคดีเอง และถามพยานบุคคลเองได้แม้จะไม่มีคู่ความฝ่ายใดนำเสนอเข้ามา ศาลมีอำนาจสั่งให้ ป.ป.ช. ไปหาพยานหลักฐานเพิ่มเติม หรือตั้งบุคคลไปทำงานตามที่ศาลมอบหมายได้ ให้มีเจ้าพนักงานคดีทำหน้าที่ช่วยเหลือศาลในการตรวจสอบหลักฐาน รวบรวมพยานหลักฐาน บันทึกคำพยาน ฯลฯ กรณีที่จำเลยหลบหนีไม่ให้นับอายุความ และอาจพิจารณาคดีลับหลังจำเลยไปได้ ส่วนจำเลยที่หนีระหว่างประกันตัว ให้มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 10,000 บาท เมื่อพิพากษาว่า มีความผิดแล้วให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินที่ได้มาจากการทุจริต หรือถ้าทรัพย์สินนั้นเปลี่ยนเป็นอย่างอื่นแล้วให้สั่งชำระเป็นเงินแทน
กระบวนการพิจารณาคดีแบบพิเศษของ ศาลอาญาคดีทุจริตฯ นั้นใช้ในศาลชั้นต้นเท่านั้น เมื่อขึ้นสู่ชั้นศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาก็จะใช้กระบวนการปกติของศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาเช่นเดียวกับคดีอื่น สำหรับคดีที่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองถูกกล่าวหาว่าทุจริต ก็ไม่ได้ดำเนินคดีที่ศาลที่ตั้งขึ้นใหม่นี้ ยังคงดำเนินคดีที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำหนดวิธีพิจารณาคดีไว้อยู่แล้ว สำหรับกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าทุจริตเป็นทหาร การดำเนินคดีอาญาก็ยังต้องขึ้นศาลทหาร ตามพ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหาร ที่ซึ่งมีผู้พิพากษาเป็นทหาร ไม่ต้องมาเข้าสู่กระบวนการของศาลอาญาคดีทุจริตฯ นี้
จากรายงานสถิติประจำปีของสำนักงานศาลยุติธรรมปี 2559 ระบุว่า จำนวนคดีของศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคดีรับโอนมา 65 คดี มีคดีรับใหม่ 198 คดี รวม 263 คดีและพิจารณาเสร็จไป 56 คดี ในจำนวน 56 คดีนี้เป็นคดีที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะ 13 คดีเท่านั้น ด้านสำนักข่าวไทยพับลิก้ารายงานว่า สถิติคดีนับถึงสิ้นปี 2560 มีคดีมาที่ศาลทุจริต 1,178 คดี มีคำพิพากษาไปแล้ว 762 คดี มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเป็นจำเลยในคดีทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งสิ้น 2,727 คน อันดับที่ 1 สังกัดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) 402 คน อันดับที่ 2 สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำนวน 368 คน อันดับที่ 3 องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จำนวน 351 คน ในจำนวนนี้ ศาลทุจริตฯ ได้สั่งจำคุกไปแล้วทั้งสิ้น 119 คน คิดเป็นร้อยละ 4.3 ของเจ้าหน้าที่ที่ถูกฟ้องทั้งหมด โดยสั่งจำคุกไม่เกิน 3 เดือน จำนวน 71 คน, จำคุก 3-6 เดือน จำนวน 34 คน และจำคุกเกิน 6 เดือนขึ้นไป จำนวน 14 คน
ออกเครื่องมือใหม่ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง ห้ามรัฐบาลทำประชานิยม
19 เมษายน 2561 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งเป็นการออกกฎหมายตามที่รัฐธรรมนูญสั่งเอาไว้ให้ต้องทำ โดยมีมาตรา 9 เขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้าง “ความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” หรือเป็นที่เข้าใจได้ว่า ห้ามทำนโยบายประชานิยม 
กฎหมายนี้ยังกำหนดให้มีแผนการคลังระยะปานกลางไม่น้อยว่า 3 ปี ที่จะเขียนขึ้นภายใน 90 วัน โดย "คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พร้อมด้วยคนของราชการทั้งหมดเป็นกรรมการ
หากรัฐบาลใดไม่ทำตามข้อกำหนดของกฎหมายวินัยการเงินการคลัง ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน (ที่ตั้งมาตามระบบของ คสช.) จะทำหน้าที่ตรวจสอบ หากพบข้อบกพร่องที่ไม่เป็นการทุจริต ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก็จะกำกับดูแลไม่ให้เกิดข้อบกพร่องนั้นอีก หากพบข้อบกพร่องที่เป็นการทุจริตและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก็จะส่งเรื่องให้ ป.ป.ช. (ที่ตั้งมาตามระบบของ คสช.) ดำเนินการ มีโทษตั้งแต่การให้ชดเชยค่าเสียหาย ภาคทัณฑ์ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และปรับทางปกครอง 
ใช้มาตรา44 + สนช. เข้ายึดองค์กรอิสระได้เบ็ดเสร็จตามใจ 
รัฐธรรมนูญทั้งฉบับปี 2550 และ 2560 ให้มีองค์กรอิิสระที่ตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐอยู่อย่างน้อยเจ็ดแห่ง ได้แก่ ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.), ศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.), คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) องค์กรเหล่านี้ต้องมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในภาครัฐ นอกจากการแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจหน้าที่ให้บางองค์กรแล้ว คสช. ยังจัดการหาคนที่ตัวเองไว้ใจเข้าไปอยู่ในองค์กรเหล่านี้ทุกแห่งด้วย
ตามรัฐธรรมนูญ 2550 องค์กรที่มีอำนาจให้ความเห็นชอบผู้จะมาเป็นกรรมการในองค์กรอิสระ คือ วุฒิสภา (ส.ว.) แต่ในยุคสมัยของ คสช. วุฒิสภาไม่มีอยู่ จึงเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ใช้อำนาจแทน ด้วยความที่สมาชิก สนช. ทุกคนมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ดังนั้น สนช. จึงกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของ คสช. ที่จะคัดเลือกให้คนของ คสช. เข้าไปอยู่ในองค์กรอิสระได้ โดยนับถึงวันที่ คสช. อยู่มาครบ 4 ปีเต็ม สนช. ลงมติเห็นชอบและไม่เห็นชอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระมาแล้ว 14 ครั้ง มีเพียง กกต. เท่านั้นที่ปัจจุบันไม่มีกรรมการที่มาจากความเห็นชอบของ สนช. 
ไม่เพียงเท่านี้ คสช. ยังใช้อำนาจพิเศษออกประกาศ คสช. และใช้อำนาจตาม "มาตรา 44" ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. อีกรวมกันแล้ว 14 ฉบับ เพื่อเข้าไปออกแบบการสรรหาองค์กรกรรมการอิสระโดยตรง เช่น คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 40/2559 ออกมาสั่งระงับการสรรหาองค์กรอิสระทุกแห่ง เพื่อรอให้รัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ก่อน, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 13/2558 เปิดช่องให้วิษณุ เครืองาม เป็นกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ด้วย, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 12/2558 และ 28/2558 ยืดอายุให้ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ เป็นประธานป.ป.ช. ต่อไปหลังอายุ 70 ปี, คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 24/2560 ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 5 คนที่หมดวาระทำงานต่อไปได้ โดยไม่ต้องสรรหาใหม่ หรือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 4/2561 สั่งให้สมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการ กกต. หยุดปฏิบัติหน้าที่ 
และไม้ตายสุดท้าย หากองค์กรอิสระใดยังไม่ได้คนที่ คสช. พอใจเข้าไปนั่งอยู่ เมื่อใช้รัฐธรรมนูญใหม่ และต้องเขียนกฎหมายลูกเกี่ยวกับองค์กรอิสระใหม่ทั้งหมด คสช. ก็จัดการ "เซ็ตซีโร่" คือ กำหนดในบทเฉพาะกาลของกฎหมายลูกให้กรรมการทุกคนพ้นจากตำแหน่งและเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่ทั้งหมด โดยใช้เครื่องมือนี้กับสององค์กร คือ กกต. และ กสม. ส่วนอีกห้าองค์กรไม่ได้ "เซ็ตซีโร่" โดยไม่มีคำอธิบายที่เป็นเหตุเป็นผลว่า ทำไมถึงปฏิบัติไม่เหมือนกัน 
ไม่ตรวจสอบสถาบันทหาร ไม่ส่งเสริมประชาชนให้แก้ปัญหาระยะยาว
จากผลงานเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า เกือบทุกประการ คสช. ยังคงเดินหน้าไปในทิศทางที่เน้นการ "ปราบปราม" เพื่อเอาตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษ ยกเว้นการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท. ในปี 2561 ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวครั้งเดียวที่เน้นไปในทางส่งเสริมป้องกันมากกว่า 
ท่ามกลางข่าวลือและข้อสงสัยเกี่ยวกับการทุจริตครั้งใหญ่ๆ มากมายในยุคของ คสช. เช่น การทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์, การทุจริตโครงการจัดซื้อเรือเหาะ, การตั้งบริษัทในค่ายทหารของลูกชายพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา, พฤติกรรมไม่แจ้งบัญชีทรัพย์สินของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ฯลฯ กลับเห็นได้ว่า ทุกความพยายามปราบคอร์รัปชั่นของรัฐบาล คสช. ไม่แตะต้องสถาบันทหารเลย ไม่เคยมีปรากฏว่า มีคำสั่งให้ตรวจสอบการทุจริตของข้าราชการทหาร เข้าทำนอง "แมลงวันไม่ตอมแมลงวัน" 
ในทางตรงกันข้าม การปฏิรูปคอร์รัปชั่นในยุค คสช. มีแต่การเอาคนจากสถาบันทหารเข้าไปนั่งในองค์กรปราบทุจริต ทั้ง คตร., คตช., ศอตช., คตง.และ ป.ป.ช. และการแก้ไขกฎหมาย ป.ป.ท. ในปี 2559 ยังกำหนดให้อัยการทหารเป็นผู้ดำเนินคดีทุจริตกับทหารเองเท่านั้น ยิ่งเป็นการปกป้องคนจากสถาบันทหารที่ชัดเจนขึ้นไปอีก
ท่ามกลางกฎหมายมากมายที่ คสช. ออกมาอย่างรวดเร็วตามที่กล่าวไปแล้วข้างต้น ทั้งหมดยังเป็นเพียงการออกกฎหมายปรับโครงสร้างอำนาจของหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ข้อเสนอที่จะแก้ไขกฎหมาย หรือออกกฎหมายใหม่เพื่อช่วยส่งเสริมให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตรวจสอบการทุจริตคอร์รัปชั่นได้กลับไม่ถูกผลักดันอย่างเร่งรีบเช่นเดียวกันและยังคงค้างอยู่ในรัฐบาลนี้ เช่น ข้อเสนอการปรับปรุงพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ เพื่อให้หน่วยงานรัฐเปิดเผยข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น, ข้อเสนอกฎหมายต่อต้านการฟ้องคดีปิดปาก (Anti-SLAPP Law) เพื่อให้ประชาชนที่วิจารณ์การทำงานของรัฐไม่ต้องถูกฟ้องหมิ่นประมาท หรือการออกกฎหมายคุ้มครองผู้ชี้เบาะแสการทุจริตฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญสั่งให้รัฐบาลต้องรีบผลักดันออกมาโดยเร็วเช่นเดียวกับ กฎหมายวินัยการเงินการคลัง แต่ถึงวันนี้ก็ยังเดินหน้าไปไม่ถึงไหน ที่สำคัญกลไกการเข้าชื่อของประชาชนเพื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ทุจริตก็ถูกตัดออกไปจากรัฐธรรมนูญใหม่นี้อีก
ทั้งที่การแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นให้สำเร็จได้จริงในระยะยาวต้องอาศัยประชาชนที่เข้มแข็ง ตื่นตัว และต้องคาดหวังกับภาครัฐที่ทำงานอย่างโปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยให้การตัดสินใจผูกพันกับความรับรู้และการมีส่วนร่วมของประชาชน ความพยายามอย่างมากมายของ คสช. ที่ผ่านมากลับเป็นการใช้อำนาจแบบ "บนลงล่าง" ผูกขาดการแก้ไขปัญหาและสร้างกลไกใหม่ๆ ไว้ที่ คสช. แต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้สร้างวัฒนธรรมแบบ "ล่างขึ้นบน" เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการแก้ไขปัญหา และดึงให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมกันทำงานในระยะยาวได้