3 พ.ค. วันเสรีภาพสื่อโลก ส่วนสื่อไทยยังอยู่ภายใต้ประกาศ คสช.

 

นับเป็นเวลา 25 ปี มาแล้วที่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศให้วันที่ 3 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อโลก หรือ World Press Freedom Day ในวันนี้ประเทศต่างๆทั่วโลกจะมีการจัดกิจกรรมเพื่อสนับสนุนเสรีภาพสื่อ โดยในปี 2561 ประเด็นที่ถูกกำหนดให้เป็นประเด็นร่วมของการจัดงานในระดับสากลคือ  อำนาจต้องถูกตรวจสอบได้: สื่อ, ความยุติธรรม และหลักนิติรัฐ (Keeping Power in Check: Media, Justice and The Rule of Law’) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเสรีภาพสื่อในฐานะเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ
ขณะที่ในระดับสากลกำลังให้ความสำคัญกับเสรีภาพสื่อ ในประเทศไทยกลับยังมีกฎเกณฑ์จำนวนมากที่จำกัดการนำเสนอเนื้อหาของสื่อ ส่งผลให้สื่อไม่สามารถทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจของผู้มีอำนาจในรัฐได้เต็มที่ โดยนอกจากกฎหมายปกติ เช่น กฎหมายหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯแล้ว ในยุคคสช.ยังมีการใช้อำนาจพิเศษออกประกาศและคำสั่ง คสช. จำนวนมากมาจำกัดการนำเสนอเรื่องราวของสื่อเพิ่มเติมด้วย ได้แก่
1. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 ซึ่งใช้มาเกือบสี่ปีเต็มแล้ว กำหนดห้ามสื่อนำเสนอข้อมูลที่อาจก่อให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้ง ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ ห้ามวิจารณ์ คสช. โดยไม่สุจริตด้วยข้อมูลเท็จ ฯลฯ และยังกำหนดให้สื่อทุกแห่งมีหน้าที่เผยแพร่ข้อมูลตามที่ได้รับแจ้งจาก คสช. ด้วย 
2. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 41/2559 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ "มาตรา 44" กำหนดให้ กสทช. เป็นองค์กรที่มีอำนาจตีความและบังคับใช้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 97/2557 และ 103/2557 หากสื่อใดฝ่าฝืนจะมีโทษปรับตั้งแต่ 50,000-500,000 บาท ถูกพักใช้ใบอนุญาต หรือถูกสั่งปิดสถานีได้ โดยเจ้าหน้าที่ กสทช. ที่่ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ได้รับความคุ้มครอง ยกเว้นความผิดเป็นกรณีพิเศษ
3. คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ออกโดยอาศัยอำนาจ "มาตรา 44" เพื่อใช้แทนกฎอัยการศึก มีข้อ 5. กำหนดว่า ในกรณีจําเป็น ให้ทหารยศร้อยตรีขึ้นไปที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งจากหัวหน้าคสช.ให้เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งนี้ มีอํานาจออกคําสั่งห้ามการเสนอข่าว การจําหน่าย หรือทําให้แพร่หลายซึ่งหนังสือ สิ่งพิมพ์ หรือสื่ออื่นใด ที่มีข้อความอันอาจทําให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว หรือเจตนาบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทําให้เกิดความเข้าใจผิดจนกระทบต่อความมั่นคงของชาติหรือความสงบเรียบร้อยของประชาชนได้ โดยการใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ไม่มีหน่วยงานใดที่สามาารถเข้ามาตรวจสอบหรือถ่วงดุลการใช้อำนาจของทหารได้ และผู้ใช้อำนาจตามคำสั่งนี้ก็ได้รับความคุ้มครอง ยกเว้นความผิดเป็นกรณีพิเศษเช่นกัน
4. ประกาศ คสช. ฉบับที่ 26/2557 ให้อำนาจแก่ปลัดกระทรวงไอซีที ซึ่งภายหลังเปลี่ยนเป็นกระทรวงดิจิทัลฯ แต่งตั้งคณะทำงานด้านสื่อสังคมออนไลน์ขึ้นมาชุดหนึ่ง มีอำนาจตรวจสอบและสั่งระงับการเผยแพร่เว็บไซต์ที่มีเนื้อหาปลุกระดม ต่อต้าน คสช. ได้โดยไม่ต้องขอหมายจากศาล และไม่ต้องผ่านคณะกรรมการกลั่นกรองตามขั้นตอนของพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 
ในทางปฏิบัติอำนาจเหล่านี้เคยถูกนำมาใช้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์ที่มีจุดยืนตรงข้ามกับ คสช. เช่น วอยซ์ทีวี พีซทีวี ทีวี24 รวมทั้งสถานีโทรทัศน์ดีเอ็มซี ทีวีธรรมกาย และ คสช. ยังเคยใช้อำนาจพิเศษต่างหากสั่งให้ปิดสถานีฟ้าให้ทีวีอีกแห่งหนึ่งด้วย อำนาจพิเศษเหล่านี้ นอกจากจะใช้เพื่อลงโทษสื่ออย่างเป็นทางการแล้ว ยังมีผลเป็น "อาวุธ" ทางอ้อมที่สร้างความหวาดกลัว ทำให้สื่อจำกัดการเสนอข้อมูลข่าวสารของตัวเอง ส่งผลให้ประชาชนไม่มีโอกาสเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้โดยอิสระเสรีด้วย
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2561 องค์กรผู้สื่อข่าวไร้พรมแดนได้ออกรายงานจัดให้สถานการณ์เสรีภาพสื่อของประเทศไทยอยู่ในประเภทสถานการณ์ยากลำบาก โดยได้คะแนนเป็นลำดับที่ 140 จาก 180 ประเทศทั่วโลก https://rsf.org/en/thailand
นอกจากการควบคุมเนื้อหาโดยอำนาจพิเศษของ คสช. แล้ว ในปี 2561 ก็ยังพบการฟ้องร้องคดีต่อสื่อที่ทำหน้าที่รายงานความเดือดร้อนต่างๆ อีกมาก เช่น กรณี กอ.รมน.ภาค4 ส่วนหน้า ดำเนินคดีต่อผู้จัดการออนไลน์ ฐานเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการซ้อมทรมานในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้, กรณีบริษัท ทุ่งคำ ฟ้องสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ผู้บริหาร และผู้ประกาศข่าว กรณีรายงานเรื่องมลพิษในลำห้วยจากการทำเหมือง, กรณีนักข่าวจากสำนักข่าวอิศราถูกดำเนินคดีฐานบุกรก จากการลงพื้นที่ตรวจสอบข้อมูลหอพักภรรยา อดีต ผบ.ตร. ฯลฯ
สถานการณ์ด้านเสรีภาพสื่อของไทย ในวันเสรีภาพสื่อโลกจึงยังไม่สู้ดีนัก เรายังอยู่ห่างไกลจากความหวังที่สื่อมวลชนจะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงสะท้อนความเดือดร้อนของประชาชนที่มีอำนาจน้อย เพื่อต่อกรกับอำนาจรัฐที่ใหญ่กว่า