พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง บังคับใช้เป็นกฎหมายแล้ว สั่งห้ามรัฐบาลทำประชานิยม

19 เมษายน 2561 ราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เป็นกฎหมายแล้ว ซึ่งจะผลต่อการจัดทำงบประมาณรายจ่ายปี 2562 โดยกฎหมายฉบับนี้มีหลักการสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
1) ห้ามประชานิยม
การห้ามรัฐบาลทำประชานิยม บัญญัติไว้ใน มาตรา 9 กำหนดไม่ให้คณะรัฐมนตรีบริหารราชการแผ่นดินโดยมุ่งสร้าง “ความนิยมทางการเมืองที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศและประชาชนในระยะยาว” 
นอกจากนี้ ในมาตราดังกล่าว คณะรัฐมนตรียังต้องรักษาวินัยการเงินการคลังตามกฎหมายนี้อย่างเคร่งครัด ไม่ว่าจะเป็น การจัดทำงบประมาณ การก่อหนี้ และอื่นๆ รวมถึงต้องพิจารณาประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ความคุ้มค่า ความเสี่ยง และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ
2) ให้รัฐบาลและราชการจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางร่วมกัน
มาตรา 13 ของกฎหมายฉบับนี้กำหนดให้มีแผนการคลังระยะปานกลางไม่น้อยว่า 3 ปี ซึ่งแผนต้องมีเป้าหมายและนโยบายการคลัง สถานะและประมาณการเศรษฐกิจและการคลัง สถานะหนี้สาธารณะของรัฐบาล และภาระผูกพันทางการเงินและการคลังของรัฐบาล
แผนการคลังระยะปานกลาง เป็นหน้าที่จัดทำของ "คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐ” ซึ่งกฎหมายฉบับนี้บัญญัติให้ตั้งขึ้น ประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงการคลัง เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อํานวยการสํานักงบประมาณ และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย 
คณะกรรมการฯ ต้องจัดทำแผนการคลังระยะปานกลาง ให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือนนับแต่วันสิ้นปีงบประมาณของทุกปี แต่ในบทเฉพาะกาลกำหนดว่า ภายหลังกฎหมายฉบับนี้บังคับใช้ 90 วัน คณะกรรมการฯ ต้องจัดทำแผนการคลังระยะปานกลางให้เสร็จ เท่ากับว่า ภายในกรกฎาคม 2561 จะมีแผนการคลังระยะปานกลางฉบับแรกเกิดขึ้น
 3) ร้อยละ 20 ของเงินงบประมาณต้องตั้งเป็นงบลงทุนภาครัฐ
หลักเกณฑ์การตั้งงบประมาณร่ายจ่ายประจำปี บัญญัติไว้ใน มาตรา 20 ข้อแรกกำหนดว่า งบประมาณรายจ่ายลงทุนต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีและต้องไม่น้อยกว่าวงเงินขาดดุลของงบประมาณประจำปี 
นอกจากนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปีต้องตั้งไว้อย่างเพียงพอต่อ 1.รายจ่ายบุคคลากรรัฐและสวัสดิการของบุคคากรของรัฐ 2.การชำระหนี้ของภาครัฐ 3.ภาระการเงินที่กฎหมายกำหนดให้รัฐบาลสมทบหรือชดเชย 4.ภาระการเงินเพื่อชดเชยต้นทุนทางการเงินและการบริหารจัดการ และ 5.งบประมาณรายจ่ายงบกลางและรายการเงินสำรองฉุกเฉิน 
ถ้ารัฐบาลไม่สามารถตั้งงบประมาณได้ตามหลักเกณฑ์นี้ให้แสดงเหตุผลและมาตรการแก้ไขต่อรัฐสภา พร้อมเสนอ พ.ร.บ งบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย
หากไม่ปฏิบัติตามมีบทลงโทษตั้งแต่โทษทางปกครองถึงส่ง ปปช. วินิจฉัย
ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินจะทำหน้าที่ตรวจสอบให้หน่วยงานของรัฐปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ โดยหากพบข้อบกพร่องที่ไม่เป็นการทุจริต ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ก็จะทำการกำกับดูแลไม่ให้เกิดข้อบกพร่องนั้นอีก 
หากพบข้อบกพร่องที่เป็นการทุจริตและก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ ผู้ว่าการฯ ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และดำเนินการให้มีการชดเชยค่าเสียหายต่อไป
นอกไปจาก 2 กรณีนี้แล้ว หากเจ้าหน้ารัฐไม่ปฏิบัติตามหรือจงใจไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ  มีโทษทางปกครองตั้งแต่ ภาคทัณฑ์ ตำหนิโดยเปิดเผยต่อสาธารณชน และปรับทางปกครองโดยจะปรับเงินไม่เกินเงินเดือน 1 ปีของของผู้ถูกลงโทษ