มติ สนช. คว่ำสรรหา กสทช. ยกชุด

ผลการประชุมลับเพื่อลงมติเลือก “กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” (กสทช.) ชุดใหม่ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2561 คือ ที่ประชุม สนช. ลงมติไม่เห็นชอบผู้สมัครกรรมการ กสทช. ทั้งหมด 14 คน การลงมติของ สนช. ครั้งนี้เท่ากับเป็นการคว่ำการคัดเลือกของ “คณะกรรมการสรรหา กสทช.” และจะต้องเริ่มกระบวนการสรรหาใหม่
ก่อนหน้านี้คณะกรรมการสรรหา กสทช. ซึ่งประกอบด้วยตัวแทนศาลฎีกา ศาลปกครอง ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน และธนาคารแห่งประเทศไทย คัดเลือกผู้สมัครกรรมการ กสทช. จาก 86 คน เหลือ 14 คน โดยแบ่งเป็นด้านละสองคน เพื่อให้ สนช. ลงมติลับเลือกให้เหลือเจ็ดคน ในเจ็ดด้าน เพื่อนั่งเก้าอี้กรรมการ กสทช. ชุดที่สอง คาดกันว่าเหตุผลที่ทำให้รายชื่อผู้สมัครกรรมการ กสทช. ทั้ง 14 คน ถูก สนช. ตีตกไปมาจากสองเหตุผล
1) มีผู้สมัครเกือบสิบคนเข้าข่ายขัดคุณสมบัติต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด เรื่องการถือหุ้นกิจการสื่อ
2) คณะกรรมการสรรหา กสทช. กำหนดให้ผู้สมัครจำนวน 86 คน แสดงวิสัยทัศน์เพียงคนละห้านาที ทั้งที่กรรมการ กสทช. ต้องคุมธุรกิจทั้งกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่และกิจการโทรทัศน์ที่มีมูลค่านับแสนล้านบาท
1.ด้านกิจการกระจายเสียง
พันเอก กฤษฎา เทอดพงษ์   ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการไซเบอร์ ศูนย์ไซเบอร์ กรมเทคโนโลยีสารสนเทศและอวกาศกลาโหม สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
ธนกร ศรีสุขใส ผู้ปฏิบัติงานประจำ กสทช. พลโท ดร.พีรพงษ์ มานะกิจ อดีตหัวหน้าคณะทำงานโครงการประชาสัมพันธ์เชิงรุกในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กองบัญชาการทหารสูงสุด
2.ด้านกิจการโทรทัศน์
วสันต์ ภัยหลีกลี้  ผู้จัดการกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)
 พลเอก มังกร โกสินทรเสนีย์ อดีตเจ้ากรมสื่อสาร อดีตรองผู้อำนวยการสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
3.ด้านกิจการโทรคมนาคม
อธิคม ฤกษบุตร อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
กิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ  กรรมการบริษัท พรีไซซ ซีสเท็ม แอนด์ โปรเจ็ค จำกัด
4.ด้านวิศวกรรม
พลอากาศตรี ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ 
รองเลขาธิการ กสทช. อดีตผู้ชำนาญการสำนักงานปลักกระทรวงกลาโหม
พันเอกอนุรัตน์ อินกัน
อดีตรองหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการต่อต้านข่าวกรอง ส่วนรักษาความปลอดภัยฝ่ายข่าว ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก
5.ด้านกฎหมาย
มนูภาน ยศธแสนย์
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานภาค 6 สำนักคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม
ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร
 รองเลขาธิการ กสทช.
6.ด้านเศรษฐศาสตร์
ภักดี มะนะเวศ รองเลขาธิการ กสทช.
ณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย
7.ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคหรือส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน
นายแพทย์สุริยเดว ทรีปาตี
 ผู้อำนวยการ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล
วรรณชัย สุวรรณกาญจน์ ปรึกษาของ พ.อ.ดร.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการ กสทช. อดีตผู้ช่วยดำเนินงานสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ 2550
สำหรับผู้สมัครกรรมการ กสทช. ทั้งหมด สุภิญญา กลางณรงค์ อดีตกรรมการ กสทช. แสดงความคิดเห็นในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า จากที่เห็นรายชื่อ 14 คน เป็นคนใน กสทช.ราวร้อยละ 70-80 คือทำงานใน กสทช.อยู่แล้วทั้งแบบประจำ และเป็นที่ปรึกษา หน้าห้อง อนุกรรมการ เป็นต้น นอกจากนี้ รายงานจากฐานเศรษฐกิจ เปิดเผยให้เห็นว่าผู้สมัครชุดนี้มีเครือข่ายความสัมพันธ์กับใครบ้าง เช่น พลเอกมังกร โกสินทรเสนีย์ ที่ว่ากันว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่งเข้าชิงเก้าอี้และยังคาดว่าจะเป็นตัวเต็งนั่งประธาน กสทช. หรือ อธิคม ฤกษบุตร ที่ว่ากันว่า สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีส่งเข้าชิงเก้าอี้เช่นกัน และที่เหลือจำนวนมากก็มีความสัมพันธ์กับกรรมการ กสทช. และเลขาธิการ กสทช.
คสช. เคยใช้ ม.44 ยุติการเลือก กสทช. สองครั้ง
การเลือก กสทช. ในยุคทหาร คสช. ดูจะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นยากลำบาก ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เคย ใช้มาตรา 44 ในการยุติกระบวนการสรรหากรรมการ กสทช. แล้วถึงสองครั้ง
ครั้งแรกเมื่อปี 2558 คณะกรรมการสรรหากรรมการ กสทช. ดำเนินการคัดเลือกผู้สมัครกรรมการ กสทช. คนใหม่ แทน สุทธิพล ทวีชัยการ ที่ลาออกเพื่อไปดำรงตำแหน่งกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน โดยคณะกรรมการสรรหา คัดเลือกผู้สมัครเหลือจำนวน 4 คน อย่างไรก็ตาม สนช. ลงมติไม่รับรองผู้สมัครรายได้เป็นกรรมการ กสทช. ส่งผลให้หัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ไม่ให้มีการแต่งตั้งกรรมการเพิ่มเติม
ครั้งที่สองเมื่อปี 2559 เมื่อมีกรรมการ กสทช. ต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีอายุครบ 70 ปีบริบูรณ์ หัวหน้า คสช. จึงใช้อำนาจตาม มาตรา 44 ระงับการสรรหากรรมการ กสทช. คนใหม่ โดยให้เหตุผลว่า ขณะนั้น สนช. กำลังมีการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับ การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนขององค์ประกอบ คุณสมบัติ และกระบวนการได้มา ของ กสทช. ซึ่งแตกต่างไปจากกฎหมายเดิม
ผลประโยชน์และอำนาจใน กสทช.
กรรมการ กสทช. คงจะเป็นหนึ่งในการองค์อิสระที่หอมหวานที่สุดในยุคนี้ ด้วยเงินเดือนกรรมการที่ตกอยู่คนละ 269,000 บาท และประธานกรรมการอยู่ที่ 335,520 บาท ซึ่งมากกว่านายกรัฐมนตรีที่รับเงินเดือนอยู่ที่ 125,590 บาท เท่านั้น นอกจากเงินเดือนจำนวนมาก กรรมการ กสทช. ยังจะได้รับสิทธิประโยชน์จำนวนมากเช่นกัน  เช่น งบเดินทางต่างประเทศ สิทธินั่งเครื่องบินชั้นเฟิร์สคลาส เป็นต้น
แน่นอนว่าค่าตอบแทนจำนวนมากก็มาพร้อมกับความรับผิดชอบผลประโยชน์ของประเทศชาติจำนวนมหาศาล ดังจะเห็นได้จากการนำเคลื่อนความถี่ทั้ง 3G 4G และทีวีดิจิทัล ออกมาประมูลนำรายได้เข้ารัฐจำนวนกว่าสามแสนล้านบาท และยังรวมถึงอำนาจในการควบคุมให้คุณให้โทษกับบรรดาผู้ประกอบการหรือรวมทั้งประชาชนด้วย ด้วยเหตุนี้แม้อยู่ในยุคที่ทหารมีอำนาจเบ็ดเสร็จ ก็ใช่ว่าการแต่งตั้งกรรมการ กสทช.จะสำเร็จโดยง่าย เพราะหากส่งคนผิดเข้าไปอาจเป็นเสี้ยนกวนใจไปนานอีกหกปี