ถอดบทเรียน คสช. ใช้มาตรา 44 สร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษ ข้ามหัวสิทธิชุมชน กับ เดชรัต สุขกำเนิด

5 กุมภาพันธ์ 2561 เดชรัต สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ในรายการ 101 One-on-One หัวข้อ "การเมือง(ไม่ใช่)เรื่องชาวบ้าน : คุณภาพชีวิตคนไทยในยุค คสช.” เพื่อมองอนาคตการเมืองเรื่องฐานทรัพยากรและสิทธิชุมชนของสังคมไทย 
บางส่วนของบทสัมภาษณ์ เดชรัตพูด การออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยอำนาจตามมาตรา 44 หลายฉบับ เพื่อกำหนดนโยบายที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร เช่น การเร่งรัดเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษสิบจังหวัด การให้ยกเลิกกระบวนการจัดทำผังเมืองในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ข้ามขั้นตอนการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โดยให้ดำเนินโครงการไปก่อนทำอีไอเอเสร็จได้ และการตั้งสำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เพื่อรวมอำนาจการบริหารจัดการน้ำเข้าสู่ราชการส่วนกลาง ฯลฯ
คสช. ใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งรัดโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ วิธีการนี้มีข้อดีข้อเสียอย่างไร?
เรียกได้ว่า เป็นนโยบายของรัฐบาลที่พยายามกระตุ้นการลงทุนจากภาคเอกชน ในขณะที่การส่งออกกลับมาฟื้นตัวแต่การลงทุนภาคเอกชนในตลอด 4 ปีไม่ดีขึ้น การลงทุนจากต่างประเทศยังไม่ดีเท่าไหร่ รัฐบาลจึงพยายามเสนอสิ่งที่เป็นเหมือนโปรโมชั่นสำหรับนักลงทุน เวอร์ชั่นแรกเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัด ก็ดูเหมือนว่าไม่ค่อยเป็นที่ตอบรับเท่าไหร่ ไม่เกิดเป็นรูปธรรม และถ้าดูสัญญาณของโครงการนี้ในช่วงหลังก็แผ่วไปมาก
รัฐบาลมาคิดว่า จะเอาอย่างไรดี ก็ย้อนกลับไปสู่หนังม้วนเก่า คือ ‘อีสเทิร์นซีบอร์ด’ หรือโครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก ในจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา ซึ่งทำตั้งแต่สมัยปี 2524 สมัยโชติช่วงชัชวาล การเอาหนังม้วนเก่ามาฉายใหม่ในด้านหนึ่ง สะดวก ง่าย เพราะพลอตเรื่อง พระเอกและนางเอกมีอยู่แล้ว แค่เอามารีเมค แต่ในอีกด้านหนึ่ง สิ่งที่รัฐบาลควรทำด้วยแต่ไม่ค่อยได้ทำ คือ การทบทวนบทเรียนจากหนังเรื่องก่อนที่เคยทำไปว่า ให้ผลเสียอย่างไรบ้าง ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ และสังคม 
ในประเด็นเศรษฐกิจ การทำอีสเทิร์นซีบอร์ดซึ่งใช้เวลาเกือบๆ 40 ปีที่ผ่านมานั้น ถือว่าประสบความสำเร็จ เพราะมีจีดีพีเกิดขึ้นในบริเวณนั้นถึง 10 เปอร์เซ็นของจีดีพีทั้งประเทศ แต่คำถามที่น่าสนใจคือ เราไม่สามารถส่งผ่านความเจริญหรือโอกาสของอีสเทิร์นซีบอร์ดไปสู่ 73 จังหวัดที่เหลือประเทศได้มากนัก 
ฉะนั้น การที่อยู่ๆ รัฐบาลนำมาปัดฝุ่นใหม่นั้นก็ยังไม่แน่ใจว่าจะตอบโจทย์มากน้อยแค่ไหน แต่รัฐบาลก็เดินหน้าร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) และในขณะเดียวกันก็ออกมาตรา 44 ขึ้นมาในหลายเรื่องๆ 
ใช้มาตรา 44 กับเรื่องอะไรบ้าง และทำไมถึงไม่ออกเป็นกฎหมายปกติ?
การใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ตอนแรกเป็นการกำหนดโครงสร้างว่า มีคณะกรรมการอะไร บริหารอะไร ต่อมาภายหลังเป็นเรื่องพื้นที่ว่า ให้ครอบคลุมพื้นที่อะไรยังไงบ้าง และสุดท้ายที่เป็นห่วงกันมากคือ การยกเลิกกระบวนการผังเมืองเดิมและให้อำนาจกับคณะกรรมการกำหนดผังเมืองใหม่ และเมื่อผังเมืองใหม่เสร็จแล้ว ผังเมืองเดิมจะถูกยกเลิก และผังเมืองใหม่ไม่มีอายุการบังคับใช้ คือ ใช้ได้เรื่อยๆ ไม่มีกำหนด
ผังเมืองมีประโยชน์อะไร ทำไมเราต้องห่วงเรื่องการยกเลิกผังเมือง?
จริงๆ แล้วเขาไม่ได้ยกเลิกผังเมือง แต่เขายกเว้นกระบวนการจัดทำผังเมือง คือ กระบวนการจัดทำผังเมืองต่อจากนี้ไม่ต้องใช้กระบวนการที่มีอยู่ในกฎหมาย ให้ไปใช้ตามของเขา ฉะนั้น ตอนนี้ยังมีผังเมืองอยู่ แต่กระบวนการต่อไปจากนี้ไม่ต้องทำตามกฎหมาย
ผังเมือง คือ การวางเขตการใช้ประโยชน์ดินว่า ควรแบ่งพื้นที่อย่างไร เรื่องนี้รัฐบาลควรเรียนรู้จากอีสเทิร์นซีบอร์ด เพราะเดิมทีพื้นที่อุตสาหกรรมกับพื้นที่ชุมชนแยกออกจากกัน โดยมีพื้นที่บัฟเฟอร์โซนกันเอาไว้ แต่พอเศษฐกิจขยายตัวได้ค่อนข้างดีในยุคของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัน เกิดความต้องการขยายพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมากขึ้น จึงมีการเปลี่ยนผังเมือง เขตที่ทำอุตสาหกรรมไม่ได้ก็ทำได้ จนไปอยู่ติดกับชุมชน แปลว่า ข้างบ้านเราก็กลายเป็นโรงงานอุตสาหกรรมได้ หลังจากนั้นในปี 2546 เศรษฐกิจเติบโตอีกครั้งในยุคของทักษิณ ชินวัตร มีการแก้ไขผังเมืองให้ขยายใหญ่ไปครอบทับพื้นที่ชุมชุน แปลว่า ทั้งหมดที่เป็นชุมชน ตรงไหนที่ว่างและสามารถซื้อได้ ก็ทำโรงงานอุตสาหกรรมได้เลย
เราจะเห็นเช่นพื้นที่บริเวณหนองแฟบ ชุมชนใช้รั้วร่วมกับโรงงาน ผลเสียตามมาหลายข้อไม่ว่าจะเป็น มลพิษ อุบัติภัย ซึ่งกระทบต่อคนในชุมชนโดยตรง แม้กระทั่งเรื่องความปลอดภัยของโรงงานก็ไม่ดีเลยที่มีคนอยู่ใกล้ขนาดนั้น เรียกว่าเป็นการวางผังเมืองที่ผิดพลาด 
ในปี 2552 มีการฟ้องคดีมาบตาพุด และในปีต่อมา ผังเมืองหมดอายุก็มีการทำผังเมืองที่เข้มงวดขึ้น คืนพื้นที่ที่เคยเป็นสีม่วงสำหรับอุตสาหกรรมแต่ยังไม่ได้เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเขียว (ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม) หรือสีขาวแทยงเขียว (ที่ดินประเภทอนุรักษ์ชนบทและเกษตรกรรม) ได้เยอะ แต่ย้ำว่าไม่ได้เรียกคืนพื้นที่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว เราไปเดินสำรวจกันว่า พื้นที่ไหนบ้างที่ยังและไม่ควรเป็นโรงงานอุตสาหกรรมในอนาคต ก็เอาคืนกลับมา แต่ก็มีข้อห่วงใยของฝ่ายโรงงานอุตสาหกรรมว่า จะมีพื้นที่ไม่พอสำหรับการทำนิคมอุตสาหกรรม ประจวบกับรัฐบาลจะทำพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ จึงอยากทำผังเมืองใหม่และมีประกาศออกมา
ที่ผมเล่า คือ มุมของมาบตาพุด แต่คำสั่งของ คสช. พูดถึง 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา
พอกล่าวได้ว่า กฎหมายผังเมืองคือกำแพงคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและชุมชนจากการพัฒนาที่รวดเร็วของนิคมอุตสาหกรรม ใช่หรือไม่?
ใช่ครับ แต่ในอีกแง่หนึ่ง กฎหมายผังเมืองยังมีเพื่อการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ตัวอย่างเช่น จังหวัดระยองและชลบุรีมีศักยภาพนอกเหนือจากอุตสาหกรรมก็เป็นแหล่งพาณิชยกรรม และบางส่วนก็เป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ จะทำอย่างไรให้การใช้ประโยชน์ทั้ง 3 ส่วนเกื้อหนุนกันและไม่ทำลายกัน เราก็ต้องวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ไม่งั้นเราก็จะมีปัญหาเหมือนที่ระยอง หาดแสงจันทร์ถูกกัดเซาะจากการถมทะเลของมาบตาพุด ศักยภาพในการท่องเที่ยวก็หมดไป ฉะนั้น การวางแผนใช้ประโยชน์ที่ดินจะทำให้เกิดผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากที่สุดและยั่งยืนที่สุด
การจัดทำผังเมืองใหม่ ด้วยขั้นตอนพิเศษจากมาตรา 44 กับขั้นตอนปกติให้ผลต่างกันหรือไม่ อย่างไร?
ให้ผลต่างกันแน่ เพราะตามกระบวนการปกติ การมีส่วนร่วมของประชาชนมีอยู่ในหลายขั้นตอน ซึ่งภาคประชาชนก็ยังรู้สึกว่าการมีส่วนร่วมนั้นเหมือนจะน้อยเกินไป ตรงนี้เราไม่ได้หมายความว่ากระบวนการผังเมืองที่มีอยู่จะดีที่สุด ยังแก้ไขปรับปรุงได้อีกมาก
จริงๆ ผู้ที่ต้องเรียนรู้และแก้ไขคือรัฐบาลที่บอกว่าจะเข้ามาปฏิรูป เรามีทั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและสภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ซึ่งผ่านมาแล้ว 3 ปี ก่อนที่จะออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยมาตรา 44 และสุดท้ายสิ่งที่ออกมาก็คือยกเลิกกระบวนการจัดทำผังเมืองและมีกระบวนการจัดทำผังเมืองใหม่ที่คณะกรรรมการจะกำหนด ซึ่งสำหรับผม เราเสียเวลา 3 ปีกว่า และ 2 สภาปฏิรูปไปเพื่ออะไร ถ้ารัฐบาลเชื่อว่ากระบวนการเดิมไม่เวิร์คก็ควรตอบได้ว่ากระบวนการที่ดีกว่าคืออะไร แต่นี้ไม่มีคำตอบใด ตอนทีดีอาร์ไอจัดเวที ผมก็ถามว่า กระบวนการนั้นคืออะไร ก็ไม่ได้รับคำตอบจากวิทยากรของรัฐบาล 
ผมคิดว่า น่าเป็นห่วง เพราะเขาไม่เข้าใจว่าปัญหาคืออะไร เขาคิดว่า ปัญหาคือเรื่องอำนาจ ก็เลยยกเว้นกฎหมายเดิมแล้วดึงอำนาจมาที่คณะกรรมการกำกับนโยบาย ผมว่าตรงนี้เป็นเรื่องใหญ่มาก ไม่ใช่แค่ว่า เรารังเกียจการใช้อำนาจของคณะรัฐประหารหรือ คสช. เท่านั้น แต่ลึกลงไปในเนื้อหา คือ เขาไม่มีการสังเคราะห์ประสบการณ์ การเรียนรู้ต่างๆมาประกอบด้วยเลย
เขาคิดว่าปัญหาคืออำนาจน้อยไป ไม่เด็ดขาดด้วยหรือเปล่า? 
ผมคิดว่า เขากำลังคิดอย่างนั้นอยู่และน่าจะคิดผิด เพราะในความเป็นจริง ปัญหาเรื่องผังเมืองไม่ใช่เรื่องไม่มีอำนาจหรือบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ แต่อยู่ที่ว่ากระบวนการทั้งหมดหรือบางส่วนไม่เป็นที่ยอมรับ และบางครั้งมีกระบวนการผังเมืองที่ดีหรือผังเมืองที่ดีแล้ว ก็มีความพยายามให้หมดอายุไปก่อนเวลาที่ควร
ทางปฏิบัติของการจัดทำอีไอเอที่ผ่านมาก็เหมือนการจัดทำผังเมือง คือ มีปัญหาอยู่แล้ว ใช่หรือเปล่า? 
ผมคิดว่าหนักกว่าผังเมืองอีก ถ้ามองจากมุมการยอมรับของภาคประชาชน ก็จะบอกว่าผังเมืองเดิมยังใช้ได้อยู่อย่าเพิ่งเลิก แต่เรื่องอีไอเอไม่มีใครพูดอย่างนั้น แต่สิ่งที่ คสช. ออกคำสั่งมาใหม่แย่หนักกว่าเดิม
คำถามที่ภาคประชาชนมีต่อกระบวนการจัดทำอีไอเอ อาจแบ่งเป็น 3 เรื่องด้วยกัน หนึ่ง บทบาทหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ฝ่ายที่เป็นเจ้าของโครงการไปจ้างผู้ที่ทำรายงานอีไอเอ ผู้ทำก็ต้องทำตามผู้จ้าง ยิ่งไปกว่านั้น ในคณะกรรมการผู้ชำนาญการบางส่วนยังมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งที่เป็นเจ้าของโครงการเองโดยตรงหรือเป็นสิ่งที่เจ้าของโครงการไปโปรโมต อย่างเช่น ถ้าไปโปรโมตเรื่องการทำทรัพยากรแร่ก็อาจจะมาพิจารณาด้วย เกิดการทับซ้อนกันในแง่ผลประโยชน์หรือไม่ 
สอง การมีส่วนร่วม ภาคประชาชนก็มองการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน ตั้งแต่ตอนกำหนดโจทย์หรือขอบเขต ต้องประเมินกว้างไกลแค่ไหน หัวข้ออะไรบ้าง ดูเหมือนจะไม่ค่อยเปิดโอกาส หลายโครงการกำหนดขอบเขตไว้ว่าประเมินแค่นี้ เช่น รัศมี 5 กิโลเมตร แต่ในความเป็นจริง ผลกระทบอาจจะกว้างมากกว่านั้น บางกรณีผลกระทบอาจยาวไปตามลำน้ำ ซึ่งความยาวมากกว่า 5 กิโลเมตร แต่ความแคบอาจจะไม่ได้ 5 กิโลเมตรก็ได้ รวมถึงเรื่องประเด็นด้วยว่า ต้องประเมินผลกระทบด้านใดบ้าง บางทีก็ไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถเสนอได้ว่าต้องการประเมินเรื่องใด 
สุดท้าย ความน่าเชื่อถือของข้อมูลที่ใช้ ด้วยระยะเวลาจัดทำที่จำกัด อาจมีการถกเถียงกันว่า ข้อมูลเหล่านั้นครอบคลุมผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหรือไม่ รวมถึงการลงไปสำรวจพื้นที่มีการพบสัตว์บางชนิด ไม่พบสัตว์บางชนิด ภาคประชาชนก็สงสัยในความถูกต้องเชิงวิชาการ
คสช. แก้ไขด้วยการอนุมัติให้ง่ายขึ้น ก็เลยกลายเป็นโจทย์ที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเพิ่มขึ้น ซึ่งแย่กว่าเดิมด้วยซ้ำ
คสช. ใช้มาตรา 44 ข้ามขั้นตอนทั้งเรื่องผังเมืองและอีไอเอ คนที่เกี่ยวข้องรู้มาก่อนหรือไม่ และรับมืออย่างไร?
ไม่รู้มาก่อนครับ นอกจากประเด็นที่เขตเศรษฐกิจภาคตะวันออกเนี่ย จริงๆ เศรษฐกิจพิเศษ 10 จังหวัดแรกก็มีเรื่องข้ามอีไอเอและผังเมืองอยู่ คำสั่งที่เกี่ยวกับการจัดการขยะก็ไม่ต้องทำตามผังเมือง ในเรื่องขยะก็ไม่ได้เป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น แต่เป็นเรื่องจัดการขยะทั่วๆ ไป ยังมีบางโรงที่อยู่ข้างๆ บ้านผม ก็ต้องยกเลิกไปเพราะผังเมือง แต่พอออกคำสั่งตามมาตรา 44 ฉบับนี้ ก็กลับมาเปิดใหม่ 
แล้วคำสั่งหัวหน้า คสช. เรื่องการบริหารจัดการน้ำ เรื่องนี้เป็นอย่างไร?
ผมก็ยังไม่เห็นรูปธรรมของการจัดการจริงมากนัก เห็นว่า จัดตั้งสำนักงานแล้ว แต่มีอำนาจหรือมีผลมากน้อยแค่ไหนยังไม่เห็น สิ่งที่เห็นแล้ว คือ การจัดการน้ำในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะพบว่ามีการจัดการที่เด็ดขาดขึ้น คำว่าเด็ดขาดมีทั้งแง่บวกและลบ แง่บวกก็อย่างเช่น มีการจัดการลำดับชัดเจนว่า พื้นที่ใดมีหน้าที่เป็นพื้นที่หน่วงน้ำ จะต้องบริหารจัดการการปลูกพืชตอนไหน ให้แล้วเสร็จก่อนที่น้ำจะท่วม ทำให้พี่น้องในพื้นที่วางแผนได้ 
แต่แง่ที่ไม่ค่อยดี คือ พอท่วมแล้วชีวิตความเป็นอยู่ของเขาจะเป็นอย่างไร และท่วมนานแค่ไหน ซึ่งอันนี้ก็นานมากในหลายพื้นที่ และบวกกับคำขอร้องว่า อย่าให้เป็นข่าว สิ่งที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ เราไม่รู้ว่าพี่น้องจะได้รับค่าชดเชยอย่างไร บางพื้นที่ 3 เดือน หรือมากกว่า 3 เดือนอีก อย่างเช่น พี่น้องที่ อ.บางบาลหรือ อ.บางระกำ หลายพื้นที่ก็คงลำบากไม่น้อย ไม่ว่าเขาจะยินดีหรือไม่ก็ตาม บางคนก็อาจไม่ยินดีที่จะเป็นผู้เสียสละ การบริหารจัดการที่เบ็ดเสร็จและเด็ดขาดก็ไม่ได้หมายความว่ามีแต่ผลดีแต่ด้านเดียว
เห็นอย่างไรเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอ ยกเลิกประกาศ/คำสั่งคสช.ฉบับต่างๆ?
ก่อนที่จะเข้าสู่การเลือกตั้ง เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องทำเดี๋ยวนี้เลย ก็คือ การเอาคำสั่ง คสช. มาอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ปัญหาคือ คำสั่งบางฉบับนั้นขัดกับรัฐธรรมนูญชัดเจน รัฐธรรมนูญได้รับพระราชทานจากพระเจ้าอยู่หัวเป็นเวลาเกือบปีแล้ว ควรจะให้คำสั่ง คสช. ที่ขัดกับรัฐธรรมนูญนั้นเลิกไป ก็เชิญชวนเข้าชื่อในการออกพระราชบัญญัติยกเลิกประกาศคำสั่ง คสช. อย่างเช่น คำสั่งที่ยกเลิกผังเมือง คำสั่งนี้ก็ไม่ควรมีอยู่ ก็ควรยกเลิกไป ถ้าจะมีจริงๆ ก็ควรอยู่ในพระราชบัญญัติว่าด้วยเขตเศรษฐกิจพิเศษที่จะออกมาตามกระบวนการนิติบัญญัติปกติ 
ที่ควรยกเลิกลำดับแรกสุดโดยไม่ต้องรอการออก พ.ร.บ. ซึ่ง คสช. ประกาศยกเลิกเองได้ คือ คำสั่งที่ 3/2558 เรื่องการรักษาความสงบเรียบร้อย ผมขอย้ำว่าการยกเลิกคำสั่งที่ 3/2558 ไม่ใช่การปล่อยให้บ้านเมืองไม่มีการควบคุมดูแล เรามีการควบคุมอยู่แล้วทั้งภายใต้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ และภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธาารณะ, พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ รัฐบาลควรแสดงฝีมือด้วยการใช้กฎหมายปกติในการดูแลบริหารจัดการประเทศ และสิ่งที่จะนำไปสู่ความสงบได้ ก็คือ ความเข้าใจ การป้องปรามแบบนี้จะไม่นำไปสู่ความสงบสุขของประเทศได้ เราควรให้เกียรติกับประชาชนในประเทศมากกว่า
คิดว่าการที่ประชาชนมาเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อยกเลิกประกาศ/คำสั่งต่างๆ  คสช. จะฟังหรือไม่?
ถ้าเข้าชื่อครบถ้วนตามรัฐธรรมนูญก็จะเข้าไปตามกระบวนการนิติบัญญัติ ก็ยังไม่แน่ใจว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแล้วจะฟังเราไหม แต่การเข้าชื่ออีกทางหนึ่งก็คือการส่งสัญญาณถึง คสช. โดยตรง ผมอยากเห็นประชาชนช่วยกันส่งสัญญาณว่าเราเป็นประเทศที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ภายใต้คำสั่ง 
ช่วยประเมินต้นทุนความเสี่ยงในการเข้าชื่อยกเลิกประกาศ คสช. ของประชาชนได้ไหม?
คิดว่ามีความเสี่ยงน้อย คือ ถ้ามีการมายับยั้งการเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ ต้องย้ำว่าตามรัฐธรรมนูญนะครับ คราวนี้ก็เป็นการขัดกับสิ่งที่ตัวเองต้องปกป้องก็คือรัฐธรรมนูญ 
เทียบกับการแสดงออกอย่างการชุมนุม ในแง่ความเสี่ยงก็มีมากกว่าอีกนิดนึง เห็นว่าเป็นภาพคนมารวมตัวกัน มีป้าย แต่การเข้าชื่อเป็นการแสดงเจตจำนง เราก็แค่เซ็นสำเนาบัตรของเราเท่านั้น
ดูประกอบ