สามปี สนช. อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม เกือบสี่แสนล้านบาท วันเดียวเสร็จ

22 มีนาคม 2561 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2561” เพื่ออนุมัติงบประมาณ 150,000,000,000 บาท ให้รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยใช้เวลาในการพิจารณาไม่ถึงครึ่งวัน แต่ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรก ในรอบสี่ปีของของรัฐบาล คสช. สนช. ได้เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณฯ รวมทั้งสิ้นสามฉบับ ซึ่งเป็นการอนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมรวมเป็นเงินจำนวน 399,000,000,000 บาท โดยการพิจารณาทุกครั้งเป็นไปอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว
งบประมาณเพิ่มเติมปี 2559: ห้าหมื่นเก้าพันล้านบาท 
ในปี 2558 สนช. ผ่านความเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559” เป็นจำนวนเงิน 2,720,000,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2559 สนช. ได้เห็นชอบ "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559" นับเป็นครั้งแรกที่มีการออกกฎหมายของบประมาณเพิ่มเติมในยุครัฐบาล คสช. หลังจากบริหารประเทศมากว่าสองปี โดยครั้งนั้นเป็นการอนุมัติเงินจำนวน 59,000,000,000 บาท
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่มาของร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมว่าฯ “สืบเนื่องจากการเปิดประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม 4G ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในเดือนพฤศจิกายนและเดือนธันวาคม 2558 ทำให้รัฐบาลมีรายได้นอกเหนือจากที่ได้ประมาณการไว้ในพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559”
สำหรับงบประมาณเพิ่มเติมจำนวน 59,000,000,000 บาท รัฐบาล คสช. แบ่งออกเป็นสามส่วน คือ ส่วนที่หนึ่ง “งบประมาณรายจ่ายเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล” จำนวน 15,000 ล้านบาท (ร้อยละ 26.8) ส่วนที่สอง “งบประมาณรายจ่ายเพื่อสร้างสร้างความเข้มแข็งและก้าวหน้าของประเทศตามแนวทางปฏิรูป” จำนวน 32,661 ล้านบาท (ร้อยละ 58.3) และส่วนที่สาม “งบประมาณรายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง” 8,339 ล้านบาท (ร้อยละ 14.9)  
การใช้จ่ายงบประมาณครั้งนี้ รัฐบาล คสช. ให้เหตุผลว่าจะนำเงินไปใช้จ่ายตามโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล เพื่อรองรับการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจที่จะการกระจายความเจริญไปสู่ภูมิภาค เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสร้างความเข้มแข็ง และขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และนำไปเพื่อชดใช้เงินคงคลัง เนื่องจากได้มีการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเงินเบี้ยหวัด บำเหน็จ บำนาญและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ
งบประมาณเพิ่มเติมปี 2560: หนึ่งแสนเก้าหมื่นล้านบาท 
ในปี 2559 สนช. ผ่านความเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560” จำนวน 2,733,000,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 27 มกราคม 2560 สนช. ก็ผ่านความเห็นชอบ "ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560" เป็นครั้งที่สองด้วยวงเงิน จำนวน 190,000,000,000 บาท โดยแบ่งเป็น “ค่าใช้จ่ายราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น” เป็นจำนวนเงินไม่เกิน 162,921,721,300 บาท และ “เพื่อชดใช้เงินคงคลัง” เป็นจำนวน 27,078,278,700 บาท
อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวเหตุผลของ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณเพิ่มเติมฯ ฉบับนี้ว่า รัฐบาลจะนำไปใช้จ่ายในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน เพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจของประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของอุตสาหกรรมศักยภาพ ซึ่งจะสอดคล้องกับนโยบายประเทศไทย 4.0 ของรัฐบาล และเพื่อชดเชยเงินคงคลัง เนื่องจากมีการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเบี้ยหวัด บำนาญและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ
สำหรับการใช้จ่ายเงินงบประมาณในครั้งนี้ “ส่วนราชการจังหวัดและกลุ่มจังหวัด” ได้งบประมาณมากที่สุด เป็นจำนวน 56,238,681,200 บาท (ร้อยละ 29.60) รองลงมาคือ “งบกลาง” 42,864,513,500 บาท (ร้อยละ 22.56) และลำดับที่สามคือ “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ และกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง” 45,000,000,000 บาท (ร้อยละ 23.68)
งบประมาณเพิ่มเติมปี 2561: หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท 
ในปี 2560 สนช. ผ่านความเห็นชอบ “ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561” จำนวน 2,900,000,000,000 บาท อย่างไรก็ตาม ต่อมาวันที่ 22 มีนาคม 2561 สนช. ก็เห็นชอบ "ร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2561" เป็นครั้งที่สามด้วยวงเงิน จำนวน 150,000,000,000 บาท โดยแบ่งเป็น “ค่าใช้จ่ายของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น” เป็นจำนวนไม่เกิน 100,358,077,000 บาท และเพื่อ “ชดใช้เงินคงคลัง” เป็นจำนวน 49,641,923,000 บาท
สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เงินจำนวน 100,358,077,000 บาท รัฐบาลจำเป็นจะต้องนำเงินไปใช้จ่ายในการดำเนินการตามนโยบายเร่งด่วน เพื่อรักษาทิศทางความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นที่เศรษฐกิจระดับฐานราก ให้สามารถเพิ่งตนเองและแข่งขันได้เพื่อสร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศอย่างมั่นคง ยั่งยืน ประชาชนมีรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่วนเงินอีกจำนวน 49,641,923,000 บาท จะนำไปใช้เพื่อชดเชยเงินคงคลัง เนื่องจากมีการจ่ายเงินคงคลังเพื่อเป็นเบี้ยหวัด บำนาญและค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของข้าราชการ ลูกจ้างและพนักงานของรัฐ
สำหรับงบประมาณเพิ่มเติมครั้งนี้ ถูกนำไปใช้เพื่อ "ชดใช้เงินคงคลัง" จำนวนมากสุด คือ  49,641,923,000 บาท (ร้อยละ 33.09) รองลงมาถูกนำไปให้ "กองทุนและเงินทุนหมุนเวียน" เช่น กองทุนหมู่บ้านกับกองทุนประชารัฐ เป็นจำนวน 34,022,513,200 บาท (ร้อยละ 22.68) และลำดับต่อมาคือ "กระทรวงมหาดไทย" ได้งบประมาณจำนวน 31,875,769,000 บาท (ร้อยละ 21.25)