ร่าง ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง: ยุติปัญหาความไม่สงบภาคใต้ภายในปี 2569

แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีทั้งหมดหกด้าน จัดทำโดยคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติทั้งหกด้านที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติเป็นผู้แต่งตั้งขึ้น สำหรับการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง” รัฐบาล คสช. แต่งตั้ง พลเอกวรพงษ์ สง่าเนตร ประธานคณะกรรมการฯ รวมด้วยกรรมการฯ อีกจำนวน 9 คน 
วันที่ 24 มกราคม 2561 ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ด้านความมั่นคง จัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จเรียบร้อย และหลังจากนั้นสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ฯ จัดรับฟังความคิดเห็นประชาชนจำนวนสี่ครั้งในสี่ภาคสี่จังหวัด เป็นที่เรียบร้อยแล้วเช่นกัน และขณะนี้ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้กำลังถูกแก้ไขเพิ่มเติมก่อนจะถูกเสนอต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วันที่ 9 เมษายน 2561
ร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับนี้มีเป้าหมายสำคัญเพื่อบริหารจัดการสภาวะแวดล้อมของประเทศให้มีความมั่นคง ปลอดภัย และมีความสงบเรียบร้อยในทุกระดับและทุกมิติ ควบคู่ไปกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาด้านความมั่นคงที่มีอยู่ในปัจจุบันและอาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยใช้กลไกการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการบนพื้นฐานของหลักธรรมมาภิบาลเพื่อมุ่งที่จะเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อการดำเนินการของยุทธศาสตร์ชาติด้านอื่น ๆ ตลอดถึงการบริหารประเทศของรัฐบาล ให้สามารถขับเคลื่อนไปได้ตามทิศทางและเป้าหมายที่กำหนด จึงมีการกำหนดเป้าหมายที่จะต้องดำเนินการในระยะเวลา 20 ปีแบ่งเป็น 4 ห้วงเวลา ดังนี้
4 ขัั้นตอนสู่ ประเทศชาติมั่งคง ประชาชนมีความสุข
ห้วงเวลาที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 – 2564 : “ปรับสภาพแวดล้อม พร้อมแก้ปัญหา” 
เน้นให้ปัญหาได้รับการแก้ไขแบบบูรณาการ พัฒนาศักยภาพของหน่วยงานด้านความมั่นคงและให้ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน 
ห้วงเวลาที่ 2 ปี พ.ศ. 2565 – 2569 : “ปัญหาเก่าหมดไป ปัญหาใหม่ไม่เกิด” 
เน้นให้ประชนมีความมั่นคงปลอดภัย หน่วยงานด้านความมั่นคงมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นและให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในระดับภูมิภาค
ห้วงเวลาที่ 3 ปี พ.ศ. 2570 – 2574 : “ประเทศชาติพัฒนา ปวงประชาร่วมผลักดัน” 
เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาประเทศ ปัญหาความมั่นคงไม่ส่งผลต่อการบริหารประเทศและบ้านเมืองสงบเรียบร้อยการเมืองมีธรรมมาภิบาล
ห้วงเวลาที่ 4 ปี พ.ศ. 2575 – 2579 : “ประเทศชาติมั่นคง ประชาชนมีความสุข” 
เน้นให้ประชาชนมีความมั่นคงและมีความสุข บ้านเมืองมีความมั่นคงในทุกมิติ และให้ประเทศไทยมีบทบาทเป็นที่ยอมรับโดยประชาคมระหว่างประเทศ
ดัชนีชี้วัดยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง
ในร่างยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคงได้กำหนดตัวชี้วัด ซึ่งตัวชี้วัดต่างๆ จะถูกนำมาวัดความสำเร็จภายใน 20 ปีข้างหน้า โดยตัวชีึ้วัดๆ คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติฯ นำมาจากสถาบันประเมินต่างๆ ในระดับนานาชาติ และตัวชี้วัดบางอันเป็นการประเมินเองภาคในประเทศ 
1) "ระดับความมั่นคงปลอดภัยภายในประเทศและศักยภาพตำรวจระดับสากล" (World Internal Security & Police Index: WISPI) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 69 จาก 127 ประเทศ ต้องการเพิ่มเป็นอันดับ 50 จาก 127 ประเทศ ในห้วงเวลา ที่ 1 (ปี 2560 – 2564)  และขึ้นเป็นอันดับ 40 , 30 และ 20 ตามห้วงเวลา ที่ 2 (ปี 2565 – 2569) , 3 (ปี 2570 – 2574) และ 4 (ปี 2575 – 2579) ซึ่งตัวอย่างกลุ่มประเทศ 20 อันดับแรกในปัจจุบัน เช่น สิงคโปร์ (อันดับ 1) เยอรมันนี (อันดับ 5) เนเธอร์แลนด์ (อันดับ 7) สวิสเซอร์แลนด์ (อันดับ 10) ญี่ปุ่น (อันดับที่ 15) และ สหราชอาณาจักร (อันดับที่ 20)
2) ดัชนีชี้วัดความสุขของประชากร (World Happiness Index) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 32 จาก 155 ประเทศ ต้องการเพิ่มเป็นอันดับ 20 จาก 155 ประเทศ ในห้วงเวลาที่ 1  (ปี 2560 – 2564) ขึ้นเป็นอันดับที่ 10 ในห้วงเวลาที่ 2(ปี 2565 – 2569) และคงไว้ในอันดับที่ 10 ในห้วงเวลาที่ 3 (ปี 2570 – 2574) และ 4 (ปี 2575 – 2579) ซึ่งตัวอย่างกลุ่ม 10 ประเทศแรกที่มีดัชนีความสุขของประชากรสูงสุดในปัจจุบัน เช่น ฟินแลนด์ (อันดับ 1) สวิสเซอร์แลนด์ (อันดับ 5) แคนาดา (อันดับ 7) ออสเตรเลีย (อันดับ 10)
3) ธรรมาภิบาลภาครัฐ (Legatum’s Governance Pillar) ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในอันดับ 98 จาก 149 ประเทศ ต้องการเพิ่มอันดับให้อยู่ในอันดับที่น้อยกว่า 50 ในห้วงเวลาที่ 1 (ปี 2560 – 2564) และน้อยกว่าอันดับที่ 40,30 และ 20 ตามห้วงเวลาที่ 2 (ปี 2565 – 2569), 3 (ปี 2570 – 2574) และ 4  (ปี 2575 – 2579) ซึ่งตัวอย่างกลุ่มประเทศ 20 อันดับแรกในปัจจุบันที่มีดัชนีธรรมาภิบาลภาครัฐสูงสุดในปัจจุบัน เช่น ฟินแลนด์ (อันดับ 1) สวิตเซอร์แลนด์ (อันดับ 5) สหราชอาณาจักร (อันดับ 10) สิงคโปร์ (อันดับ 17) สหรัฐอเมริกา (อันดับที่ 20) 
4) สถิติการก่อความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามเป้าหมายในห้วงเวลาที่ 1 (ปี 2560 – 2564) ต้องการลดสถิติการก่อความไม่สงบลงอย่างต่อเนื่อง และต้องการให้สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้สงบและยุติลงในห้วงเวลาที่ 2 (ปี 2565 – 2569)
5) ความเข้มแข็งทางทหารของไทย (Military Strength Ranking) ปัจจุบันอยู่ในลำดับที่ 20 จาก 133 ประเทศ และเป็นอันดับ 3 ในอาเซียน และต้องการพัฒนากองทัพให้ขึ้นไปอยู่ 2 อันดับแรกในอาเซียนให้ได้ในห้วงเวลาที่ 1  (ปี 2560 – 2564) และรักษาลำดับนั้นไว้ต่อเนื่องในห้วงเวลาที่เหลือ ซึ่ง 2 อันดับแรกในอาเซียนที่มีดัชนีความเข้มแข็งทางทหารสูงสุดในปัจจุบันคือ อินโดนีเซีย (อันดับ 14 ของโลก) และ เวียดนาม (อันดับ 16 ของโลก)
6) เสถียรภาพทางการเมืองและการปลอดจากความรุนแรง/การก่อการร้ายของไทย ตามฐานข้อมูลของธนาคารโลก ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 15.71 จาก 100 โดยยุทธศาสตร์ชาติฯ มีแผนที่จะพัฒนาให้อยู่ในระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90 จาก 100 ในห้วงเวลาที่ 1 (ปี 2560 – 2564) และคงรักษาระดับต่อเนื่องในห้วงเวลาที่เหลือ ซึ่งประเทศที่อยู่ในกลุ่มระดับเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 90 จาก 100 ในปัจจุบัน เช่น นิวซีแลนด์ (เปอร์เซนต์ไทล์ที่ 100 จาก 100)  สวิตเซอร์แลนด์ (95.60 จาก 100) แคนาดา (94 จาก 100) บรูไน (93.10 จาก 100) นอร์เวย์ (91.70 จาก 100)
7) ดัชนีความเจริญรุ่งเรืองของประเทศ ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 67 จาก 188 ประเทศ ต้องการเพิ่มอันดับเป็นอันดับที่ 50 ในห้วงเวลาที่ 1 (ปี 2560 – 2564) และอันดับ 40 , 30 และ 20 ตามห้วงเวลา ที่ 2 (ปี 2565 – 2569), 3 (ปี 2570 – 2574)และ 4 (ปี 2575 – 2579) ซึ่งตัวอย่างกลุ่มประเทศ 20 อันดับแรกที่มีดัชนีความเจริญรุ่งเรืองของประเทศสูงสุดในปัจจุบัน เช่น นอร์เวย์ (อันดับ 1) สวีเดน(อันดับ 5) แคนาดา (อันดับ 8) เยอรมนี (อันดับ 11) สิงคโปร์ (อันดับ 17) สหรัฐอเมริกา (อันดับ 18) สเปน (อันดับ 20)
แนวความคิดทางยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง ทั้งหมด 5 เรื่อง
1. การรักษาความสงบภายในประเทศ เพื่อสร้างเสริมความสงบเรียบร้อยและสันติสุขให้เกิดขึ้นกับประเทศชาติบ้านเมือง ให้สถาบันหลักมีความมั่นคง เป็นจุดศูนย์รวมจิตใจอย่างยั่งยืน ประชาชนอยู่ดีมีสุข มีความมั่นคงปลอดภัยทั้งในชีวิตและทรัพย์สิน สังคมมีความเข้มแข็ง สามัคคีปรองดอง และเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันพร้อมที่จะร่วมแก้ไขปัญหาของชาติ
2. ป้องกันและแก้ไขปัญหาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง เพื่อแก้ไขปัญหาเดิม ที่มีอยู่อย่างตรงประเด็น จนหมดไปอย่างรวดเร็ว และป้องกันไม่ให้ปัญหาใหม่เกิดขึ้น อันจะส่งผลให้การบริหารจัดการและการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่องและราบรื่นตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ
3. การพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ เพื่อยกระดับขีดความสามารถของกองทัพและหน่วยงานด้านความมั่นคงทั้งระบบของประเทศ ให้มีความพร้อมในการป้องกันและรักษาอธิปไตยของประเทศ รวมทั้งสามารถติดตาม ป้องกัน แก้ไข และรับมือกับปัญหาความมั่นคงทุกมิติทุกรูปแบบและทุกระดับแบบบูรณาการ (ทั้งคน วัสดุอุปกรณ์ ระบบ เทคโนโลยี และงบประมาณ)
4. การบูรณาการความร่วมมือด้านความมั่นคงกับอาเซียนและนานาชาติ รวมถึงองค์กรภาครัฐและที่มิใช่ภาครัฐ เพื่อสร้างเสริมความสงบ สันติสุข ความมั่นคง และความเจริญก้าวหน้า ให้กับประเทศชาติ ภูมิภาค และโลก อย่างยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศที่จะรองรับปัญหาร่วมกันได้
5. การพัฒนากลไกการบริหารจัดการความมั่นคงแบบบูรณาการ เพื่อให้กลไกสำคัญต่าง ๆ ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถส่งเสริมและสนับสนุนการบริหารประเทศและยุทธศาสตร์ชาติด้านต่าง ๆ ได้อย่างแท้จริงและเป็นรูปธรรม ใช้หลักธรรมาภิบาล และการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและมีประสิทธิภาพ ขจัดปัญหาการทุจริตและประพฤติมิชอบอย่างจริงจัง รวมทั้งทำให้เกิดความมั่นใจว่าหน่วยงานรับผิดชอบทั้งหลักและรองพร้อมรับมือกับภัยคุกคามทุกรูปแบบ ทั้งในปัจจุบันและอนาคตได้ 
ไฟล์แนบ