เส้นทางพรรคการเมืองไม่เอาทหาร ยังไม่ง่าย! คสช. วางกลไกขวางไว้เพียบ

 

เดือนมีนาคม 2561 เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดให้คนที่อยากจัดตั้งพรรคการเมืองเริ่มไป "จองชื่อ" กันได้ ทำให้บรรยากาศทางการเมืองเริ่มคึกคักขึ้น เพราะผู้เล่นหน้าใหม่ๆ ที่ประกาศตัวลงสนามการเมืองเริ่มทยอยเปิดหน้าและความฝันกันออกมาให้เห็น ทำให้บรรยากาศที่ซบเซาไปหลายปีดูกลับมามีความหวังอีกครั้ง และคำถามถึงช่วงเวลาที่จะจัดการเลือกตั้งได้จริงก็เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ 
ในบรรดากว่า 60 กลุ่มที่ไปจองชื่อสำหรับพรรคการเมือง มีไม่กี่คนทีประกาศตัวชัดเจนว่า เป็นกลุ่มการเมืองที่ไม่เอาระบอบการปกครองแบบทหารในยุคที่ผ่านมา และสนับสนุนระบอบประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น พรรคอนาคตใหม่ นำโดยธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และอ.ปิยบุตรแสงกนกกุล, พรรคเสรีนำไทย นำโดยพล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวช, พรรคเกรียน นำโดยสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ พรรคสามัญชน นำโดยเอ็นจีโอ และนักกิจกรรมหลากหลายกลุ่ม 
อย่างไรก็ดีเส้นทางของพรรคการเมืองที่ประกาศตัวเป็นปฏิปักษ์กับ คสช. นั้นไม่ง่าย เพราะกลไกการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองผ่านการเลือกตั้งนั้น ยังต้องเป็นไปตามกติกาในรัฐธรรมนูญ 2560 และกฎหมายลูกอีกหลายฉบับ รวมทั้งประกาศ และคำสั่งของ คสช. ที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่ง คสช. วางกลไกกับดักเอาไว้มากมายให้พรรคการเมืองใหม่ๆ เกิดขึ้นและเติบโตได้ยาก โดยเฉพาะหากเป็นพรรคการเมืองที่แสดงท่าทีจะสั่นคลอนอำนาจของ คสช. อย่างชัดเจน ก็อาจต้องเจอกับอุปสรรค "เทคนิคทางกฎหมาย" ได้หลากหลายรูปแบบ
1. กติกาตามกฎหมายพรรคการเมืองใหม่ ทำให้พรรคเล็กเกิดยาก
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 กลายเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการตั้งพรรคการเมืองเพราะกำหนดเงื่อนไขไว้มากมาย เช่น ต้องมีสมาชิกก่อตั้ง 500 คน ภายใน 1 ปีต้องมีสมาชิกเป็น 5,000 คน และภายใน 4 ปี ต้องมี 10,000 คน ต้องมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ภายใน 1 ปี ต้องมีสาขาพรรคทุกภาคและมีสมาชิกสาขาละ 500 คน โดยสมาชิกทุกคนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินบำรุงพรรคปีละ 100 บาท หรือจ่ายแบบตลอดชีพไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ก็ได้ 
2. จะทำอะไรต้องขออนุญาต คสช. ก่อนทุกครั้ง
เนื่องจากทุกพรรคการเมืองยังถูกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 สั่งห้ามประชุมและดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด แต่ก็มีการผ่อนผันบ้างเล็กน้อยตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. 53/2560 ที่กำหนดให้ผู้ที่จะจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถจัดประชุมเพื่อก่อตั้งพรรค เลือกหัวหน้าพรรค กรรมการพรรค และจัดเตรียมเอกสารต่างๆ ได้ แต่การประชุมเพื่อยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. และให้ดําเนินกิจกรรมได้ตามเงื่อนไขที่ คสช. กําหนด 
3. ต้องอายุ 25 ปี ถึงสมัครรับเลือกตั้งได้
พรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่อาจชูภาพให้โอกาส "คนรุ่นใหม่" เข้ามาทำงานการเมือง แต่คนรุ่นที่ใหม่มากจริงๆ ก็อาจจะยังเข้าสู่พื้นที่นี้ไม่ได้ เพราะมีกฎหมายกำหนดคุณสมบัติของผู้สมัครเอาไว้ ดังนี้ ผู้จัดตั้งพรรคการเมืองต้องอายุไม่น้อยกว่า 20 ปี ผู้สมัครรับเลือกตั้งต้องอายุไม่น้อยกว่า 25 ปี ส่วนผู้ที่จะเป็นรัฐมนตรีได้ต้องอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี ต้องไม่ติดยาเสพติด ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย ไม่ถือหุ้นในสื่อมวลชน ไม่เป็นนักบวชในศาสนา ไม่เคยได้รับโทษจำคุก หรือพ้นโทษมาต้องเกินสิบปี ไม่เคยถูกตัดสินในคดีทุจริต หรือถูกไล่ออกจากราชการเพราะทุจริต
4. เลือกตั้งใช้บัตรใบเดียว ทำให้ต้องส่งผู้สมัครทุกเขต
การเลือกตั้ง ส.ส. ตามระบบเดิมประชาชนแต่ละคนต้องกากบาทในบัตรสองใบ ใบแรกเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขต หรือ "เลือกคน" ใบที่สองเลือกผู้สมัครแบบบัญชีรายช่ื่อ หรือ "เลือกพรรค" แต่ตามระบบใหม่ทุกคนจะกากบาทในบัตรใบเดียว ซึ่งหมายความประชาชนจะต้องเลือกทั้งผู้สมัครแบบแบ่งเขตและผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อไปด้วยพร้อมกัน ด้วยเหตุนี้ หากประชาชนในเขตเลือกตั้งใด อยากลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครแบบแบ่งเขตลงแข่งขันในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ประชาชนก็จะไม่สิทธิ์ลงคะแนนให้กับพรรคที่ชื่นชอบได้ และพรรคการเมืองเองที่หวังจะขายนโยบายเพื่อเอาคะแนนรวมทั้งประเทศมาเพื่อให้ได้ที่นั่ง ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อจำนวนหนึ่ง ก็ต้องส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งลงทุกเขต หรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กการส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง 350 เขต และต้องแข่งกับเจ้าถิ่นในแต่ละท้องที่ ย่อมเป็นเรื่องที่ยากลำบากมาก
5. ผู้สมัครแต่ละเขตของพรรคเดียวกันจะได้เบอร์ไม่ซ้ำกัน
ตาม ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 48 กำหนดไว้ว่า หมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตให้เรียงตามลำดับการยื่นใบสมัคร หากมีผู้สมัครมาพร้อมกันหลายคน ให้ใช้วิธีการจับสลาก ซึ่งส่งผลให้ผู้สมัครจากพรรคเดียวกัน ที่ลงสมัครในเขตต่างกัน มีโอกาสมากที่จะได้หมายเลขแตกต่างกัน และอาจจะสร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้ไปใช้สิทธิ ที่จะจำหมายเลขผู้ที่อยากเลือกไม่ได้ และพรรคการเมืองขนาดเล็กไม่สามารถช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครจากส่วนกลาง โดยใช้หมายเลขของพรรคหมายเลขเดียวได้ง่ายๆ แต่ต้องให้ผู้สมัครทุกเขตต่างคนต่างประชาสัมพันธ์หมายเลขของตัวเอง ซึ่งจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก 
6. วิธีนับที่นั่งปาร์ตี้ลิสต์แบบใหม่ อาจจะทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวนมาก
ระบบเลือกตั้งใหม่ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่เรียกว่า "ระบบจัดสรรปันส่วนผสม" มีวิธีการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. โดยนำคะแนนที่แต่ละพรรคการเมืองได้รับจากทั้งประเทศคำนวณเพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ที่พรรคนั้นควรจะมี และเมื่อได้จำนวน ส.ส.ที่แต่ละพรรคควรจะได้แล้ว ให้นำมาหักลบกับจำนวน ส.ส.แบบแบ่งเขต ก็จะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค วิธีการนี้จะทำให้พรรคขนาดใหญ่มีโอกาสได้ที่นั่ง ส.ส. น้อยลง เพราะหากได้ ส.ส.แบบแบ่งเขตจำนวนมาก ก็จะทำให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อลดลง พรรคขนาดกลางมีโอกาสได้ที่นั่งมากขึ้น แม้แพ้เลือกตั้งในแบบแบ่งเขต แต่คะแนนที่ได้จากทุกๆ เขตประกอบกันก็อาจจะทำให้ได้จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อเป็นกอบเป็นกำ ส่วนชะตากรรมของพรรคขนาดเล็กอาจจะหวังยากที่จะได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ถ้าหวังจะได้ที่นั่งจากระบบบัญชีรายชื่อบ้าง ก็ต้องใช้ทุนและคนจำนวนมากเพื่อนำคะแนนในแต่ละเขตมาเก็บเล็กผสมน้อยเพื่อให้ได้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อสักหนึ่งคน ด้วยเหตุนี้ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจำนวน 150 คน อาจถูกแบ่งปันไปให้กับพรรคการเมืองจำนวนมาก ซึ่งพรรคทหารโดยการสนับสนุนของ คสช.ก็คือหนึ่งในคู๋แข่งนั้น  
7. ไม่ว่าพรรคใหญ่เล็กแค่ไหน ก็ต้องทำ Primary Vote
Primary Vote หมายถึงระบบที่ให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการคัดเลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ระบบนี้มีขึ้นเพื่อไม่ให้พรรคการเมืองถูกผูกขาดโดนนายทุนคนใดคนหนึ่งเท่านั้น ซึ่งการทำ Primary Vote กำหนดไว้ทั้งในรัฐธรรมนูญ และกำหนดรายละเอียดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 47-51 กำหนดให้ แต่ละพรรคการเมืองต้องมี "คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง" ขึ้นมาดำเนินการตรวจสอบคุณสมบัติและส่งรายชื่อผู้สมัครให้ "สาขาพรรค" หรือ "ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด" จัดประชุมสมาชิกเพื่อลงคะแนนเลือกผู้สมัครในนามพรรค โดยต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ซึ่งการบังคับให้ต้องทำตามขั้นตอนเหล่านี้สำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีงบประมาณในการจัดการทางธุรการน้อย และมีจำนวนสมาชิกน้อย จะต้องพบความยากลำบากอย่างมาก 
8. เตรียมเจอมาตรฐานทางจริยธรรม กับถ้อยคำกว้างขวาง  
มาตรฐานทางจริยธรรม เป็นกลไกใหม่ที่รัฐธรรมนูญมาตรา 219 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่างขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อจัดทำเสร็จแล้วจะใช้บังคับกับนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งด้วย จากร่างมาตรฐานทางจริยธรรมฉบับที่เผยแพร่แล้ว พอจะเห็นแนวคิดของร่างนี้ คือ การกำหนดกรอบการทำหน้าที่ และการวางตัวของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ให้ทำตัวเป็น "คนดี" โดยใช้คำกว้างๆ ที่มีความหมายครอบคลุมได้หลากหลาย เช่น ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน, ประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน, อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ฯลฯ การฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม จะถูกดำเนินคดี โดย ป.ป.ช. และส่งเรื่องให้ ศาลฎีกานักการเมืองฯ วินิจฉัย หากเห็นว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม "อย่างร้ายแรง" ให้ผู้นั้นพ้นจากตำแหน่ง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี 
9. เสนอนโยบายใหม่ต้องแจงวงเงินให้ กกต. ทราบ
ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 มาตรา 57 กำหนดว่า การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน ต้องแสดงวงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ ความคุ้มค่า ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย หากพรรคการเมืองโฆษณานโยบายโดยไม่อาจชี้แจงรายละเอียดเหล่านี้ ให้ กกต. สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้อง หากยังไม่ดำเนินการอาจถูกปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง เท่ากับว่า พรรคการเมืองที่มาพร้อมกับแนวคิดใหม่ๆ จะเสนอเพียงไอเดียที่อยากเห็นเป็นภาพฝันอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้อง "ทำการบ้าน" อย่างหนักเพื่อตอบคำถามในทางปฏิบัติให้ได้ด้วย มิเช่นนั้นอาจะถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากซึ่งพรรคขนาดเล็กอาจไม่มีกำลังจ่ายไหว
10. แม้จะได้รับเลือกตั้งแล้ว จะดำเนินนโยบายอะไรยังต้องอยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
รัฐธรรมนูญ มาตรา 142 กำหนดให้ การเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และมาตรา 162 กำหนดให้ รัฐบาลต้องแถลงนโยบายที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังนั้น ไม่ว่าพรรคการเมืองที่ลงสนามเลือกตั้งจะเสนอนโยบายแข่งขันกันอย่างไร สุดท้ายเมื่อจะทำจริงก็ยังต้องอยู่ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ชาติที่ร่างขึ้นโดยคนของ คสช. โดยมี ส.ว. ชุดแรก 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ทำหน้าที่ติดตามตรวจสอบการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติอีกชั้นหนึ่งด้วย