เลือกตั้งมีสิทธิ์เลื่อน ถ้า สนช. ยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กฎหมาย ส.ว.

แม้ สนช. จะลงมติเห็นชอบร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. … ไปแบบเอกฉันท์ แต่ทว่าการเลือกตั้งตามโรดแมปก็ยังไม่นิ่ง และมีเหตุให้ต้องเลื่อนหากสนช. ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมาย ส.ว. ทั้งฉบับขัดต่อรัฐธรรมนูญ รวมถึงหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้กฎหมาย ส.ว. มีอันต้องตกไปทั้งฉบับ ก็มีแนวโน้มที่จะต้องร่างกฎหมาย ส.ว. กันใหม่อีกครั้ง
8 มีนาคม 2561 ที่ประชุมสนช. เสียงข้างมากมีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. … ที่เพิ่งได้รับการแก้ไขปรับปรุงมาจากกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่าย อันได้แก่ กรธ. กกต. และสนช. โดยร่างกฎหมายที่ผ่านการเห็นชอบนั้น ส่งผลให้การได้มาซึ่ง ส.ว. แบ่งออกเป็นสอบแบบสองช่วงด้วยกัน
โดยในช่วงแรก หรือระยะ 5 ปีแรก จะมี ส.ว. จำนวน 250 คน มาจาก 3 ทางด้วยกัน ได้แก่
  • หนึ่ง มาจากการสรรหาโดยคณะกรรมการที่ คสช. แต่งตั้ง จำนวนไม่เกิน 400 คน จากนั้น ให้ คสช. คัดเลือกให้เหลือ 194 คน และคัดชื่อสำรองอีก 50 คน
     
  • สอง มาจากผู้ที่เป็น ส.ว.โดยตำแหน่ง 6 คน ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
     
  • สาม มาจากคณะกรรมการการเลือกตั้งจัดให้มีการเลือกกันเองของผู้สมัคร ส.ว. ตามกลุ่มอาชีพที่กฎหมายกำหนดไว้ 10 กลุ่ม และมาจากการเสนอชื่อโดยองค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่ไม่แสวงหาผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งรวมแล้วได้ 200 คน จากนั้นให้ คสช. เลือกให้เหลือ 50 คน และคัดชื่อสำรองไว้อีก 50 คน
เมื่อพ้นระยะ 5 ปีแรกแล้ว ถึงจะคัดเลือก ส.ว. ในแบบที่สอง คือ ใช้การเลือกกันเองและเลือกไขว้ระหว่างกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ซึ่งสามารถสรุปขั้นตอนได้ ดังนี้
  1. ประชาชนทั่วไปสามารถสมัครเข้าคัดเลือกเป็น ส.ว. ได้ในอำเภอที่ตนเองมีสิทธิลงสมัคร โดยต้องมีคุณสมบัติตามกลุ่มอาชีพที่กฎหมายกำหนดไว้ ทั้ง 20 อาชีพ
     
  2. เมื่อได้ผู้สมัครในระดับอำเภอแล้ว ให้ผู้สมัครแต่ละกลุ่มอาชีพในแต่ละอำเภอเลือกกันเองให้เหลือ 5 คน จากนั้นก็ใช้วิธีการเลือกไขว้ หรือ ให้แต่ละกลุ่มอาชีพไปคัดเลือกผู้สมัครในกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ใช่ของตน คัดเลือกให้เหลือ 3 คน
     
  3. เมื่อได้ผู้ผ่านการคัดเลือกในแต่ละอำเภอแล้ว ก็มาคัดเลือกกันต่อในระดับจังหวัด โดยให้รวมผู้ผ่านคัดเลือกในกลุ่มอาชีพในแต่ละอำเภอเข้าด้วยกัน จากนั้นก็ใช้วิธีการ 'เลือกไขว้' อีกครั้ง ให้เหลือตัวแทนระดับจังหวัดละ 1 คนต่อ 1 กลุ่ม
     
  4. จากนั้นให้ผู้ผ่านการคัดเลือกในแต่ละจังหวัดมารวมกันเป็นกลุ่มอาชีพในระดับประเทศ และใช้วิธีการ "เลือกไขว้" อีกครั้ง เพื่อหาผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 10 อันดับแรกจากแต่ละกลุ่มอาชีพทั้ง 20 กลุ่ม ทุกจังหวัด รวมเป็น 200 คน ที่จะได้เป็น ส.ว.
อย่างไรก็ดี เนื่องจากในช่วงแรกของกฎหมายฉบับนี้ กำหนดช่องทางผู้สมัคร ส.ว. แบบใหม่ที่นอกเหนือจากรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ นั้นก็คือ การเสนอชื่อโดยองค์กรซึ่งเป็นนิติบุคคลฯ ทำให้ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. ห่วงว่า กฎหมายฉบับนี้จะชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 148 ได้กำหนดช่องทางให้ สนช. ซึ่งทำหน้าที่แทนวุฒิสภามีอำนาจยื่นร่างกฎหมาย ส.ว. ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยต้องใช้ สมาชิก สนช. จำนวน 1 ใน 10 หรือประมาณ 25 คน 
ทั้งนี้ หากศาลรัฐธรรมนูญรับไว้วินิจฉัย นายกรัฐมนตรีจะไม่สามารถทูลเกล้าฯ กฎหมายเพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยได้ ทำให้โรดแมปเดิมมีเหตุต้องเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนดจนกว่าการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุด
สมชาย แสวงการ เลขานุการวิป สนช. วิเคราะห์ผลหลังการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกฎหมาย ส.ว. ไว้ว่า ถ้าหากมีการยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ “ชะตากรรมโรดแมป” ก็จะถูกโยนไปให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินทันทีและ “ทิศทาง” ในศาลรัฐธรรมนูญ จะออกได้ 3 หน้า ได้แก่ หนึ่ง ศาลรับคำร้อง แต่วินิจฉัยว่าไม่ขัดรัฐธรรมนูญ หน้าที่สอง ศาลวินิจฉัยให้บาง “ข้อความ” ขัดกับรัฐธรรมนูญ โดยข้อความดังกล่าวจะตกไป แล้วนายกฯนำขึ้นทูลเกล้าฯ และหน้าที่สาม ศาลฟันว่าขัดรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งจะทำให้กฎหมายทั้งฉบับตกไป และต้องร่างใหม่ 6 เดือน