กมธ.ร่วมฯ พิจารณากฎหมายลูก ส.ส. คงกติกาห้ามจัดมหรสพ ผู้สมัครพรรคเดียวกันลงหลายเขตใช้คนละเบอร์

 

หลังจากที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ ในวาระที่สามแล้ว แต่ร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ยังไม่เป็นที่ถูกใจของผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จนนำไปสู่การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญร่วมสามฝ่ายซึ่งประกอบไปด้วยประธาน กกต. กรธ.5 คน และสนช. 5 คน เพื่อพิจารณาแก้ไขร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ให้เป็นที่ยอมรับของทั้งสามฝ่ายอีกครั้งก่อนนำไปให้ที่ประชุม สนช. พิจารณาเห็นชอบกันอีกครั้ง ในวันที่ 8 มีนาคม 2561 
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมในประเด็นต่างๆ มีดังนี้
ประเด็นที่ 1 พรรคเดียวกันส่งผู้สมัครลงหลายเขต ได้เบอร์ไม่เหมือนกัน
จากร่างเดิมที่กำหนดให้กำหนดหมายเลขผู้สมัครรับเลือกตั้งตามลำดับเวลาในการยื่นใบสมัคร มีผลให้ผู้สมัครของพรรคเดียวกันในแต่ละเขตเลือกตั้งจะได้หมายเลขไม่เหมือนกัน กกต. ระบุว่า รัฐธรรมนูญกำหนดที่มาของ ส.ส. เป็นสองประเภท โดยใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวเลือกผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แล้วนำคะแนนมาคำนวณหา ส.ส. บัญชีรายชื่อด้วย ดังนั้น การเลือกตั้งในระบบนี้บัตรเลือกตั้งจึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเป็นการสะท้อนคะแนนนิยมของพรรคการเมืองผ่านทางผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญต้องการให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกผู้แทนโดยพิจารณาสามเรื่อง คือ 1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต 2) นโยบายของพรรคการเมือง ซึ่งเปลี่ยนเป็นผลคะแนนของพรรคการเมืองเพื่อใช้คำนวนหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 3) ผู้ที่ถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคการเมืองเสนอ
ด้วยเหตุนี้การที่หมายเลขของพรรคการเมืองในแต่ละเขตเลือกตั้งกำหนดไว้แตกต่างกันจะสร้างความไม่สะดวกหรือสร้างความยุ่งยากให้กับประชาชน รวมทั้งจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนในการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัครและยังไม่สะท้อนความนิยมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมือง ทั้งยังมีผลกระทบต่อการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งซึ่งมีระยะเวลาที่สั้น ทำให้อาจต้องกระจายการพิมพ์บัตรไปยังโรงพิมพ์ต่างจังหวัดซึ่งจะมีปัญหาในระบบรักษาความปลอดภัย อาจทำให้เกิดการปลอมแปลงบัตรทำได้ง่าย
ส่วน กรธ. เห็นว่า การกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหมายเลขเดียวกันทั้งประเทศจะทำให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ได้เปรียบ เพราะพรรคการเมืองขนาดใหญ่จะมีงบประมาณหาเสียงตามที่กฎหมายกำหนดมากกว่างบประมาณของพรรคเล็ก ทำให้สามารถหาเสียงผ่านสื่อรูปแบบต่างๆ ได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งการกำหนดหมายเลขแบบนี้จะทำให้ผู้สิทธิเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้งให้ความสำคัญกับผู้สมัครในเขตเลือกตั้ง และจะทำให้สามารถป้องกันการซื้อเสียงได้ง่าย
ขณะที่ สนช. เห็นว่าหมายเลขผู้สมัครในแต่ละเขตไม่จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมือง การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งจำนวนเท่ากันทุกเขตเลือกตั้งตามจำนวนพรรค อาจไม่ตรงกับจำนวนผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง เนื่องจากบางพรรคส่งผู้สมัครไม่ครบทุกเขตเลือกตั้ง ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจเลือกพรรคที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครในเขตนั้นจนทำให้เกิดบัตรเสีย และทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณเกินความจำเป็น
ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมฯ ในประเด็นการกำหนดหมายเลขผู้สมัครโดยเรียงตามลำดับการยื่นใบสมัคร ยังคงมาตรา 48 ไว้ตามร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของ สนช. ในวาระที่สาม
ประเด็นที่ 2 ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงของพรรคการเมืองจัดสรรให้ไม่เท่ากัน
กรธ. และ กกต. เห็นตรงกันว่า การกำหนดค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองให้เท่ากัน อาจทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่กับพรรคการเมืองขนาดเล็ก เนื่องจากแต่ละพรรคมีต้นทุนในการดำเนินการหาเสียงไม่เท่ากัน เพราะหากพรรคการเมืองส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อมากก็จะมีต้นทุนในการหาเสียงมากขึ้น และพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อเพียงไม่กี่คนก็อาจได้เปรียบพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครครบทุกเขต
ขณะที่ สนช. ให้เหตุผลว่า ควรกำหนดค่าใช่จ่ายของพรรคการเมืองให้เท่ากัน เนื่องจากระบบเลือกตั้งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวโดยผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงลงคะแนนเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเท่านั้น ถ้าไม่กำหนดให้เท่ากันอาจส่งผลให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อจำนวนมากได้เปรียบ และป้องกันไมให้พรรคการเมืองขนาดใหญ่นำค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคไปใช้จ่ายเพื่อหาเสียงเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขต เพราะจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับพรรคการเมืองขนาดเล็ก
ผลการพิจารณาคณะกรรมาธิการร่วมฯ มีมติแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 62 วรรคสอง เป็น “ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามวรรคหนึ่งต้องเป็นการหาเสียงของพรรคการเมืองตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด โดยจะกำหนดให้ใช้จำนวนสมาชิกของพรรคการเมืองที่ส่งสมัครรับเลือกตั้งเป็นรายบุคคลมาเป็นฐานในการคำนวณมิได้” ซึ่งตัดคำว่า “โดยกำหนดให้เท่ากัน” ออกไป
ประเด็นที่ 3 ห้ามการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
ประเด็นนี้ กรธ. และ กกต. เห็นตรงกัน กรธ. ระบุว่า การที่ สนช. ได้ตัดบทบัญญัติห้ามไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ออกไปอาจเป็นผลให้การดำเนินการเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรมได้ เนื่องจากพรรคการเมืองหรือผู้สมัครที่มีเงินจะได้เปรียบ นอกจากนี้กฎหมายเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีข้อห้ามประเด็นนี้ ส่วน กกต. ระบุเพิ่มเติมว่า การจัดให้มีมหรสพหรืองานรื่นเริงจะนำไปสู่การทะเลาะวิวาทเกิดความวุ่นวาย และอาจขัดกับหมวดปฏิรูปด้านการเมืองของรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนใช้สิทธิเลือกตั้งโดยอิสระปราศจากการครอบงำไม่ว่าด้วยทางใด
สำหรับ สนช. ระบุเหตุผลที่ไม่ได้ห้ามไม่ให้ผู้สมัครหรือผู้ใดทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ ไว้ เนื่องจากต้องการกระตุ้นให้มีบรรยากาศคึกคักในวันเลือกตั้ง ซึ่งอาจจะส่งผลให้เป็นการกระตุ้นให้ประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากยิ่งขี้น
สุดท้าย ผลการพิจารณาของคณะกรรมาธิการร่วมฯ กำหนดห้ามผู้สมัครทำการโฆษณาหาเสียงด้วยการจัดให้มีมหรสพหรือการรื่นเริงต่างๆ
ประเด็นที่ 4 กำหนดเวลาในการออกเสียงลงคะแนนตั้งแต่ 08.00 – 17.00 น.
กกต. ระบุว่า การกำหนดให้เริ่มออกเสียงเลือกตั้งเวลา 07.00 – 17.00 น. ตามร่างที่เสนอไว้เดิม ส่งผลให้ระยะเวลาปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดูแลการเลือกตั้งต้องขยายออกไป มีความเสี่ยงต่อการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริต และถ้าหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยไม่สามารถดำเนินการเลือกตั้งได้ ก็จะส่งผลให้การนับคะแนนเลือกตั้งทั้งประเทศไม่สามารถกระทำได้ นอกจากนี้อาจกระทบต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานเพราะในบางหน่วยเลือกตั้งอยู่ห่างไกลและการคมนาคมไม่สะดวก การเดินทางในช่วงเวลากลางคืนก็อาจส่งผลต่อความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ขณะที่ สนช. ให้เหตุผลว่าการขยายเวลาเพื่อให้มีระยะเวลาในการออกเสียงลงคะแนนที่เพิ่มมากขึ้น
สุดท้ายกรรมาธิการร่วมฯ พิจารณากำหนดเวลาเปิดการออกเสียงลงคะแนนควรเริ่มตั้งแต่เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป เนื่องจากเป็นกำหนดเวลาเดิมที่เคยปฏิบัติกันมาและมีความเห็นร่วมกันว่า ให้กำหนดเวลาปิดการออกเสียงลงคะแนนเวลา 17.00 น. เป็นกำหนดเวลาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้มีเวลาไปใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น
ประเด็นที่ 5 ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งช่วยลงคะแนนแทนคนพิการ หรือผู้สูงอายุได้ 
กรธ. ระบุว่า การที่ สนช. แก้ไขมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ให้มีผลว่า ถ้าลักษณะทางกายภาพทำให้คนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุถ้าไม่สามารถทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งได้ ให้บุคคลอื่นหรือกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งเป็นผู้กระทำแทนได้ โดยให้ถือว่าการออกเสียงลงคะแนนดังกล่าวเป็นโดยตรงและโดยลับ กรธ. เห็นว่าการแก้ไขดังกล่าวขัดรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้การเลือกตั้งต้องเป็นการออกเสียงโดยตรงและโดยลับ ซึ่งในร่างเดิม กรธ. ได้เสนอว่า ให้เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกหรือช่วยเหลือให้บุคคลเหล่านั้นสามารถลงคะแนนด้วยตนเองอยู่แล้ว ขณะที่ สนช. ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก โดยใช้เฉพาะกับคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุเท่านั้น ไม่ได้ใช้กับกรณีทั่วๆ ไป
ซึ่งผลการพิจารณากรรมาธิการร่วมลงมติให้คงมาตรา 92 วรรคหนึ่ง ไว้ตามร่างเดิมที่ผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ในวาระที่สาม