เปิดสามเหตุผลศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องประชาชน กรณีถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ

จุดเริ่มต้นของสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่ให้ประชาชนยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญกรณีถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพ บัญญัติขึ้นครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 212 กำหนดว่า บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญรับรองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าบทบัญญัตินั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ แต่ก็กำหนดว่าบุคคลที่จะใช้สิทธินี้จะต้องผ่านกระบวนการอื่นก่อนตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ คือ ร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน, ให้ศาลยุติธรรมเป็นผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ หรือ ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงจะเกิดสิทธิยื่นคำร้องด้วยตนเองโดยตรงได้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
ปัจจุบันรัฐธรรมนญ 2560 มาตรา 213 ก็ยังคงกำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเพื่อวินิจฉัยการกระทำนั้นว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่เช่นกัน แต่ไม่ได้บัญญัติเหมือนรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ให้ใช้สิทธิโดยวิธีอื่นก่อน เพียงแต่กำหนดว่าให้เป็นไปตามเงื่อนที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 มาตรา 212 บัญญัติไว้ว่า
                   "บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญนี้รับรองไว้มีสิทธิ ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคำวินิจฉัยว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญได้
การใช้สิทธิตามวรรคหนึ่งต้องเป็นกรณีที่ไม่อาจใช้สิทธิโดยวิธีการอื่นได้แล้ว ทั้งนี้ ตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ"
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 213 บัญญัติไว้ว่า
                "บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้มีสิทธิยื่นคําร้อง ต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อมีคําวินิจฉัยว่าการกระทํานั้นขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ" 
จากตัวบทข้างต้นจะเห็นความแตกต่างอย่างชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญ 2550 ในมาตรา 212 วรรคสอง นั้นกำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจนว่าต้องใช้สิทธิยื่นคำร้องผ่านทุกวิธีที่เปิดช่องทางไว้ก่อนจึงจะสามารถยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเป็นหนทางสุดท้าย แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 213 ระบุไว้ว่าบุคคลที่ถูกละเมิดมีสิทธิหรือเสรีภาพยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเงื่อนไขในกฎหมายกำหนดว่าต้องยื่นผ่านช่องทางอื่นก่อน อีกทั้งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่มีการบังคับใช้ จึงทำให้ประชาชนใช้สิทธิที่จะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญตามกฎหมายนี้
การเขียนบัญญัติที่ดูเหมือนจะเปิดกว้างของกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งผลให้มีภาคประชาชนหลายกลุ่ม รวมทั้งพรรคการเมืองที่ได้รับการละเมิดสิทธิเสรีภาพ มีความตื่นตัวในการยื่นคำร้องโดยการอาศัยช่องทางตามมาตรา 213 ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรง
ประชาชนยื่นตรงศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำร้องร้อยเปอร์เซนต์ 
จากการสอบถามไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2561 พบว่านับตั้งแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จนถึงวันดังกล่าว มีการยื่นคำร้องตามมาตรา 213 เข้าสู่ศาลธรรมนูญทั้งหมด 73 เรื่อง แบ่งเป็นในปี 2560 จำนวน 67 เรื่อง และในปี 2561 อีกจำนวน 6 เรื่อง โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญพบว่าที่ผ่านศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งออกมาแล้วทั้งหมด 55 ฉบับ ซึ่งทุกฉบับศาลไม่รับพิจารณาคำร้อง (อ้างอิงจาก เว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ)  
ด้วยเหตุนี้คำร้องที่เหลืออีก 18 ฉบับ เช่น คำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 3/25558 ในข้อที่ 6 เกี่ยวกับการจับกุมควบคุมตัวประชาชนได้ไม่เกิน 7 วัน กับ ข้อที่ 12 เกี่ยวกับการห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป รวมไปถึงการกระทำของเจ้าหน้าที่ตามคำสั่งดังกล่าวว่าชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งยื่นโดยภาคประชาชนหลายกลุ่ม  จึงมีแนวโน้มที่ศาลจะไม่รับพิจารณาเช่นกัน
สามเหตุผลของศาลรัฐธรรมนูญไม่พิจารณาคำร้อง
          
จากคำสั่งไม่รับคำร้องทั้ง 55 ฉบับนั้น มีเหตุผล 3 เหตุผลสำคัญที่เขียนประกอบการไม่รับคำร้อง คือ เหตุผลแรก ศาลให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวในรัฐธรรมนูญมีกระบวนการในการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เหตุผลที่สอง ศาลให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวรัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการยื่นคำร้องไว้เฉพาะแล้วให้ไปยื่นตามวิธีการดังกล่าว และเหตุผลที่สาม ศาลให้เหตุผลว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้ร้อง คำสั่งบางฉบับอาจจะมีเหตุผลประกอบถึง 2 เหตุผล เนื่องจากเป็นคำร้องที่ขอให้ศาลพิจารณาหลายเรื่องในคำร้องเดียว มีสองฉบับที่ศาลพิจารณาไม่รับคำร้องแยกออกมาเป็นกรณีเฉพาะ คือ ฉบับแรกไม่รับคำร้องเนื่องจากผู้ร้องได้ถอนคำร้องของตนเอง และอีกฉบับคือไม่รับคำร้องเนื่องจากเป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้วก่อนรัฐธรรมนูญ 2560 ใช้บังคับ สำหรับทั้งสามเหตุผลดังกล่าวมีรายละเอียด ดังนี้
1. รัฐธรรมนูญมีกระบวนการในการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว
กรณีที่ประชาชนยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบร่างกฎหมาย และกระบวนการตรากฎหมาย ศาลจะให้เหตุผลที่ไม่รับคำร้องว่า ตามมาตรา 148 ประกอบมาตรา 263 ได้บัญญัติกระบวนการร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยกำหนดให้สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่เสนอความเห็นดังกล่าวต่อประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อส่งความเห็นนั้นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย หรือให้นายกรัฐมนตรีส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัย ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าว โดยอาศัยช่องทางตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 213 ได้
ในกรณีนี้มีคำสั่งจำนวน 9 ฉบับ เช่น คำสั่งที่ 11/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า ร่างพระราชบัญญัติปิโตรเลียม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่ผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 หรือไม่ 
คำสั่งที่ 27/2560 คำสั่งพิจารณาเรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 5 มาตรา 210 วรรคหนึง (1) ประกอบมาตรา 273 วรรคสาม  ว่า ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. …. มาตรา 26 วรรคหนึ่ง และมาตรา 27 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 
คำสั่งที่ 38/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า พระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 77 และการจัดทำร่างกรอบยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2575) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 75 หรือไม่
2. รัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการยื่นคำร้องไว้เฉพาะแล้วให้ไปยื่นตามวิธีการดังกล่าว
กรณีที่ประชาชนยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบเนื้อหากฎหมาย ศาลจะให้เหตุผลไม่รับคำร้องว่า การตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติให้สิทธิในการยื่นคำร้องเกี่ยวกับการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้เป็นการเฉพาะแล้ว โดยการใช้สิทธิทางศาล ตามมาตรา 212 และการใช้สิทธิทางผู้ตรวจการแผ่นดิน ตามมาตรา 231(1)  
ในกรณีนี้คำสั่งจำนวน 25 ฉบับ เช่น คำสั่งที่ 10/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ว่า พระราชบัญญัติธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ. 2558 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ หรือไม่ 
คำสั่งที่ 29/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
คำสั่งที่ 58/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า การกระทำของหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่จำกัดเสรีภาพของพรรคการเมืองและสมาชิกพรรคการเมืองขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 และมาตรา 45 หรือไม่ 
3. เป็นเรื่องที่ไม่มีการละเมิดสิทธิ เสรีภาพของผู้ร้อง
กรณีที่ประชาชนยื่นคำร้องตรวจสอบการกระทำของภาครัฐ ศาลจะให้เหตุผลไม่รับคำร้องว่า การกระทำขององค์กรต่างๆ ไม่เป็นการละเมิด สิทธิ เสรีภาพ ตามรัฐธรรมนูญคุ้มครอง จึงทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะเป็นผู้ร้องคดีได้ตามมาตรา 213 อย่างเช่น การยื่นคำร้องให้ตรวจสอบกระทำของ ป.ป.ช. และ กกต. ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการกระทำตามอำนาจตามกฎหมาย และ ศาล ก็มักจะถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้พิจารณาคำพิพากษาของศาลว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ แต่ศาลรัฐธรรมนูญก็ให้เหตุผลกับเรื่องนี้ว่าผู้พิพากษามีความเป็นอิสระในการพิจารณาคดีอยู่แล้ว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 188 ทำให้ไม่ถือว่าการตัดสินคดีนั้นละเมิดสิทธิ เสรีภาพ ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ หรืออีกสาเหตุหนึ่งคือผู้ร้องไม่ได้เป็นผู้ถูกละเมิดสิทธิ เสรีภาพตามรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง แต่ต้องการยื่นคำร้องเพื่อเรียกร้องให้บางอย่างให้ศาลออกคำสั่ง ซึ่งถือว่าไม่เข้าตามหลักเกณฑ์ของมาตรา 213
ในกรณีนี้มีคำสั่งจำนวน 31 ฉบับ เช่น คำสั่งที่ 19/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การกระทำของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ 
คำสั่งที่ 32/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า ขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว เพื่อสิทธิในการปลูกพืชกัญชาและกระท่อมในจังหวัดปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส และ 4 อำเภอ ในจังหวัดสงขลา 
คำสั่งที่ 36/2560 คำสั่งพิจารณา เรื่อง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 213 ว่า การพิจารณาพิพากษาคดีของศาลจังหวัดจันทบุรีไม่ชอบด้วยกฎหมาย 
ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยศาลรัฐธรรมนูญฯ  ปิดทางประชาชนยื่นคำร้องโดยตรงตามรัฐธรรมนูญ
ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ มาตรา 45 กำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพมีสิทธิยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง แต่มีข้อยกเว้นตามมาตรา 46 ว่าการใช้สิทธิยื่นคำร้อง หากรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นได้กำหนดกระบวนการ ขั้นตอนหรือวิธีการร้องไว้แล้ว ต้องดำเนินการตามนั้นให้ครบถ้วนเสียก่อนจึงจะมาร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง อีกทั้ง ยังยกเว้นในกรณีที่อำนาจการวินิจฉัยอยู่ใต้อำนาจของศาลอื่น
ส่วนขั้นตอนในการยื่นคำร้องนั้น ให้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน และให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณายื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 60 วัน โดยให้แจ้งผลให้ผู้ร้องทราบภายใน 10 วันหลังครบกำหนดเวลาดังกล่าว ดังนั้น ผู้ร้องจะต้องทราบผลภายใน 70 วัน แต่ถ้าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่ยื่นคำร้องหรือไม่ทำตามเวลาที่กำหนด ผู้ถูกละเมิดถึงจะมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้โดยตรง