เลือกตั้งเร็วสุด ก.ย. 61 ก็ยังได้ ถ้า คสช. ปลดล็อกพรรคการเมือง

ตอนนี้เหลือกฎหมายลูกอีกเพียงแค่สองฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. ถ้ากฎหมายบังคับใช้แล้วจะนำไปสู่การเลือกตั้งทันที ถึงแม้ว่าร่างกฎหมายทั้งสองฉบับจะผ่านการเห็นชอบจาก สนช.แล้ว เมื่อวันที่ 25-26 มกราคม 2561 แต่ต้องถูกส่งต่อให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาก่อนว่าตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งขั้นตอนนี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 
ผลของการส่งร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่าง พ.ร.ป.ด้วยที่มา ส.ว. ปรากฎว่า กกต. และกรธ.เห็นว่ามีเนื้อหาบางประเด็นในร่าง พ.ร.ป.ทั้งสองฉบับที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ  ส่งผลให้วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ประชุม สนช.จึงตั้งคณะกรรมมาธิร่วมสามฝ่ายที่ประกอบด้วย สนช. กรธ.และ กกต. เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.ป.ทั้งสองอีกครั้ง ซึ่งแต่เดิมเมื่อเกิดขั้นตอนนี้การเลือกตั้งตามโรดแมปของรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้นอย่างช้าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2561 ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศไว้
อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งจากเดิมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าสุดในเดือนพฤศจิกายน 2561 อาจถูกเลื่อนออกไปอีก 90 วัน เพราะเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 สภานิติบัญญัติเเห่งชาติ(สนช.) เห็นชอบร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งมีการเเก้ไขมาตรา 2 ให้บังคับใช้เป็นกฎหมายภายหลัง 90 วัน นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ด้วยเหตุนี้ทำให้การเลือกตั้งอาจถูกเลื่อนไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ถึงเดือนมีนาคม 2562 
4 ขั้นตอน ตามโรดแมปที่จะทำให้เกิดเลือกตั้งกลาง ก.ย. 61  
ว่ากันตามโรดแมปแล้ว ถ้าอยากให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงๆ คสช. สามารถย่นระยะเวลาเข้ามาให้เร็วกว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 ได้ เพราะเมื่อคำนวณระยะเวลาตั้งต้นจากวันที่ สนช.มีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามฝ่ายเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์  ขั้นตอนหลังจากนี้ หาก คสช.บริหารเวลาให้ดีการเลือกตั้งสามารถเกิดขึ้นได้อย่างเร็วสุดในกลางเดือนกันยายน 2561 
ขั้นตอนที่ 1 ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ประชุม สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมสามฝ่าย ประกอบด้วย สนช. กกต.และ กรธ. ซึ่งหลังจากนี้คณะกรรมาธิการร่วมจะต้องพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้งสองแล้วส่งให้สนช.พิจารณาภายใน 15 วัน หรือ ภายในวันที่ 1 มีนาคม 2561 
ขั้นตอนที่ 2 เมื่อ สนช.เห็นชอบร่างกฎหมายลูกทั้งสอบฉบับ ให้ส่งต่อให้นายกรัฐมนตรี ซึ่งขั้นตอนนี้น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 10 วัน เมื่อร่างกฎหมายลูกถึงนายกฯ ให้รอไว้อีก 5 วัน และให้นำขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน จากนั้นพระมหากษัตริย์ต้องเห็นชอบภายใน 90 วันจึงประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ โดยปกติขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณสองเดือน ซึ่งหากเป็นไปตามที่ผ่านมาร่างกฎหมายลูกทั้งสองฉบับน่าจะถูกประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายในต้นเดือนพฤษภาคม 2561
ขั้นตอนที่ 3 หลังประกาศในราชกิจจาฯ กฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จะถูกบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจาฯ 90 วัน ซึ่งระยะเวลานี้จะอยู่ภายในต้นเดือนสิงหาคม 2561
ขั้นตอนที่ 4 หลังจากกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. บังคับใช้แล้ว เท่ากับว่าการเลือกตั้งส.ส.จะต้องเกิดขึ้น โดยตามมาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่าให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน แต่ถ้า คสช.ต้องการจัดการเลือกตั้งให้เร็วขึ้นก็สามารถจัดทำได้ภายใน 45 วัน (ใช้เกณฑ์เมื่อยุบสภาจะจัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน) ฉะนั้น การเลือกตั้งก็สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุด ในกลางเดือนกันยายน 2561 
จากขั้นตอนตามโรดแมปรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกที่กล่าวมาตอนต้น จากขั้นตอนที่ 1 ถึงขั้นตอนที่ 4 ใช้เวลาอย่างเร็วที่สุดประมาณ 210 วัน หรือ 7 เดือน เท่านั้น 
ปลดล็อกพรรคการเมืองตอนนี้ ทำไพรมารีโหวตทัน
ข้ออ้างสำคัญในการเลื่อนการเลือกตั้งไปอย่างช้าเดือนกุมภาพันธ์ ถึงต้นมีนาคมปี 2562 คือปัญหาของ พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ที่กำหนดให้มีการดำเนินงานธุรการและการให้สมาชิกพรรคคัดเลือกผู้แทนแบบระบบไพรมารีโหวต ดังที่ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ให้เหตุผลการยืดเวลาบังคับใช้ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ไปอีก 90 วัน ว่าถ้าปล่อยให้การเลือกตั้งเดินหน้า อาจเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง อาจอ้างว่าเตรียมตัวไม่ทันหรือทำไพรมารีโหวตไม่ทัน 
สำหรับสิ่งที่ พ.ร.ป พรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองดำเนินการให้เสร็จก่อนเลือกตั้ง ตัวอย่างเช่น 
๐ แจ้งจำนวนสมาชิกพรรค ยืนยันตัวตนของผู้เป็นสมาชิกพรรค และเช็คคุณสมบัติสมาชิกให้ตรงตามรัฐธรรมนูญ 
๐ จัดตั้งพรรค ไม่ว่าจะเป็นพรรคเก่าหรือพรรคใหม่ต้องมีสมาชิก 500 คน และมีทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท 
๐ จัดประชุมใหญ่ โดยต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 4 สาขา และมีสมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 250 คนเข้าร่วมประชุม
๐ ตั้งสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัดให้ครบ
๐ จัดการเลือกผู้สมัครส.ส.ขั้นต้น (primary vote)
สิ่งต่างๆ ที่กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องทำข้างต้นจะต้องใช้เวลาดำเนินการให้เสร็จภายใน 90-180 วัน หรือประมาณ 6 เดือน คือหากพรรคการเมืองสามารถเริ่มดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้ตอนนี้ภายในกลางเดือนสิงหาคม 2561 หรือเร็วกว่านั้น การเตรียมตัวของพรรคการเมืองก็จะทำได้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้ง ซึ่งหากเราได้เลือกตั้งอย่างเร็วที่สุดภายในกลางเดือนกันยายน 2561 พรรคการเมืองก็จะมีเวลาเหลือในหาเสียงเต็มตัวอย่างน้อย 1 เดือน
ด้วยเหตุนี้ สนช. ก็ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาเพิ่มเติมให้พรรคการเมืองเตรียมพร้อมก่อนเลือกตั้งก็ได้ เพียงแค่ให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 ทันที พรรคการเมืองก็จะเตรียมตัวทัน และการเลือกตั้งอาจเกิดได้อย่างเร็วภายในกลางเดือนกันยายนปีนี้ หรืออย่างช้าก็เดือนพฤศจิกายนตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ก็ยังสามารถทำได้