พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ไม่แจ้ง-ไม่เชื่อฟัง เตรียมโดนข้อหา

ในช่วง 10 ปี ของความขัดแย้งทางการเมือง ภาพคุ้นชินของประชาชนคือคนจำนวนมากรวมตัวกันเดินขบวนปิดถนนกลางเมืองหลวง ปิดย่านศูนย์การค้า และตั้งเวทีปราศรัยตั้งแต่เช้าจรดค่ำ คนที่เบื่อหน่ายบรรยกาศการชุมนุมต่างเรียร้องให้มีกฎหมายเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะโดยเฉพาะ แต่ในรายละเอียดเมื่อลงมือร่างกันแล้วก็ถูกคัดค้านอย่างหนักในยุครัฐบาลปกติ ทำให้รัฐบาล คสช. สบโอกาสผลักดันให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยกมือเห็นชอบให้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 บังคับใช้เป็นกฎหมาย 
ภายใต้กฎหมายฉบับนี้มีเงื่อนไขว่า ผู้จัดการชุมนุมสาธารณะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ให้ทราบล่วงหน้า 24 ชั่วโมง ก่อนการชุมนุม ทั้งยังกำหนดพื้นที่ต้องห้ามและข้อควรระวังระหว่างการชุมนุม มิเช่นนั้นจะถือว่า เป็นการชุมนุมที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และเจ้าหน้าที่สามารถเข้าสลายพร้อมทั้งจับกุมดำเนินคดีได้ทันที
ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ประชาชนพยายามจะใช้สิทธิตามกฎหมาย แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่เข้ามาแทรกแซงการชุมนุม รวมถึงถ้าไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ก็มีสิทธิถูกเจ้าหน้าที่รวบรัดขั้นตอนจับกุมตั้งข้อหาอีกต่างหาก
อยากชุมนุมต้องแจ้ง เปิดช่องรัฐแทรกแซงการชุมนุม
มาตรา 10 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดว่า ผู้ใดจะจัดการชุมนุมสาธารณะ ให้แจ้งการชุมนุมต่อหัวหน้าสถานีตํารวจแห่งท้องที่ก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง พร้อมกับต้องระบุวัตถุประสงค์ วันที่ ระยะเวลา สถานที่ชุมนุม จำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุม การขอใช้เครื่องขยายเสียงที่ต้องระบุกำลังขยายและระดับเสียงที่จะใช้สำหรับการชุมนุมให้ชัดเจน
เมื่อได้แจ้งแล้ว อำนาจจะเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจตามมาตรา 11 ที่จะพิจารณาว่า การจัดการชุมนุมดังกล่าวขัดต่อเงื่อนไขตามมาตรา 7 เรื่องการห้ามชุมนุมสาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง หรือชุมนุมภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทําเนียบรัฐบาล และศาล รวมถึงพิจารณาว่าขัดต่อมาตรา 8 เรื่องห้ามการชุมนุมสาธารณะที่กีดขวางทางเข้าออก หรือรบกวนการปฏิบัติงานหรือการใช้บริการสถานที่อย่างหน่วยงานของรัฐ สถานศึกษา หรือสถานทูต หรือไม่
ซึ่งถ้าเห็นว่าการชุมนุมจะมีลักษณะขัดต่อเงื่อนไขข้อใดข้อหนึ่ง กลไกนี้ได้ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ตำรวจสำหรับ 'ออกคําสั่ง' เพื่อให้ผู้จัดการชุมนุมแก้ไขภายในเวลาที่กําหนด หากไม่ปฏิบัติตามคําสั่ง ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีคําสั่งห้ามชุมนุมได้
ที่ผ่านมามีกรณีที่เห็นการกระทำลักษณะนี้ได้ชัด อย่างเช่น การชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ที่แจ้งต่อสถานีตำรวจนครบาลดุสิตว่าจะจัดการชุมนุม แต่ทว่า ทาง สน.ดุสิต ได้สั่งไม่ให้ชุมนุมในสถานที่ที่ขอไว้ และให้เปลี่ยนรูปแบบการชุมนุมเป็นการส่งคนไปยื่นหนังสือแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อยุทธวิธีในการสร้างอำนาจต่อรองของประชาชน
กฎหมายเขียน สิ่งแรกที่ตำรวจต้องทำคือ 'เจรจา' ไม่ใช่จับ
มาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ กำหนดขั้นตอนก่อนยุติการชุมนุมไว้สองกรณี คือ
หนึ่ง กรณีการชุมนุมสาธารณะที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา 14 เช่น ไม่แจ้งการชุมนุม ไม่เชื่อฟังเจ้าหน้าที่ หรือไม่เลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 18 ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประกาศให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมภายในระยะเวลาที่กําหนด
สอง กรณีผู้จัดการชุมนุมหรือผู้ชุมนุมฝ่าฝืนมาตรา 7 หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรา 8 เรื่องพื้นที่ที่ห้ามการชุมนุม หรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ดูแลผู้ชุมนุมตามมาตรา 15 มาตรา 16 หรือมาตรา 17 ให้ประกาศให้ผู้ชุมนุมแก้ไขภายในระยะเวลาที่กําหนด 
จะเห็นได้ว่าทั้งสองกรณี มีจุดมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ 'เจรจา' กับผู้ชุมนุมก่อน หากทำผิดเงื่อนไขก็ให้แก้ไข ถ้าไม่สามารถปฏิบัติตามก็ให้กำหนดเวลาเลิกการชุมนุมให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตาม 
จนเมื่อเห็นแล้วว่า ผู้ชุมนุมไม่ปฏิบัติตาม ถึงให้เจ้าหน้าที่ตำรวจร้องขอต่อศาลแพ่งหรือศาลจังหวัดที่มีเขตอํานาจเหนือสถานที่ที่มีการชุมนุมสาธารณะเพื่อมีคําสั่งให้ผู้ชุมนุมเลิกการชุมนุมสาธารณะนั้น 
หลังจากที่ศาลมีคำสั่งให้ยุติการชุมนุมแล้ว หากผู้ชุมนุมไม่ยุติการชุมนุมภายในระยะเวลากำหนดตามคำสั่งศาล และเมื่อพ้นระยะเวลาที่ประกาศให้ผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่ควบคุมตามที่ประกาศแล้ว ให้ถือว่าผู้ชุมนุมที่ยังอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวโดยมิได้รับอนุญาตได้กระทำความผิดซึ่งหน้า  เจ้าหน้าที่สามารถจับกุม  ค้น  ยึด  รื้อถอนทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อการชุมนุม รวมถึงสลายการชุมนุมได้
ทั้งนี้ เห็นได้ชัดเจนว่า พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ วางขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้การเรื่อง 'จับ' เป็นมาตรการที่เก็บไว้หลังสุด แต่ในทางปฏิบัติ มักจะไม่ค่อยเห็นว่าเจ้าหน้าที่มีการเจรจาก่อน ยกตัวอย่างเช่น คดีทนายอานนท์ นำภา จัดกิจกรรมยืนเฉยๆ บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ในคดีนี้ ตำรวจปราบจลาจลเข้าควบคุมสถานการณ์ โดยเข้าล้อมกลุ่มผู้ชุมนุม ได้แก่ อานนท์ นำภา สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือ จ่านิว ณัทพัช อัคฮาด และ วรรณเกียรติ ชูสุวรรณ ก่อนจะควบคุมผู้จัดการชุมนุมสี่คนไปที่สถานีตำรวจนครบาลพญาไท และปล่อยตัวออกมา ทั้งที่ไม่มีการดำเนินการเจรจาตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ อย่างการแจ้งให้แก้ไข การกำหนดเวลาเลิกการชุมนุม หรือแม้แต่ขออำนาจศาลให้สั่งยุติการชุมนุมด้วยซ้ำ
แม้เลิกการชุมนุมแล้ว แต่ยังต้องรับโทษอยู่ดี
ทั้งการแจ้งการชุมนุมก่อนก็ดี หรือการกำหนดวิธีปฏิบัติให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเจรจาก่อนจับ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เจ้าหน้าที่เตรียมตัวเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ชุมนุมและผู้ที่ไมเ่กี่ยวข้อง ให้การใช้สิทธิของประชาชนดำเนินไปได้ตามกรอบของกฎหมาย โดยไม่ต้องแบกภาระอะไรทั้งสิ้น
แต่ทว่า ด้วยการกำหนดบทลงโทษไว้สำหรับแต่ละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่ผู้ใดฝ่าฝืนไม่แจ้งการชุมนุมทางการเมือง ไม่แจ้งขอผ่อนผันต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือ ผู้ที่ไม่ดำเนินการแก้ไขการชุมนุมให้ออกไปจากพื้นที่การชุมนุมต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ ทำให้ผู้จัดการชุมนุมที่จัดการชุมนุมลุล่วงผ่านไปด้วยดีแล้ว ต้องมาโดนคดีย้อนหลัง
และในกรณีล่าสุด เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2561 ประชาชนจำนวนหนึ่งนัดรวมตัวต้าน คสช. หลังไม่มีความชัดเจนเรื่องการตรวจสอบที่มานาฬิกาหรูของพลเอกประวิตร และการใช้เทคนิคเลื่อนเลือกตั้งผ่านการออกกฎหมายการเลือกตั้ง ส.ส. โดยมีประชาชนหลายร้อยร่วมแสดงจุดยืนไม่เอาการสืบทอดอำนาจของ คสช.
ทั้งนี้ ระหว่างจัดกิจกรรมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่รอบบริเวณ และมีเจ้าหน้าที่ของบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTS) ได้เข้ามาเจรจาขอให้ยุติการใช้สถานที่ และผู้กำกับสถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน มาแจ้งต่อผู้จัดกิจกรรมว่า ให้กิจกรรมจบที่เวลา 19.00 และเตือนเรื่องการใช้เครื่องกระจายเสียงแต่เพียงเท่านั้น
แต่ทว่า 30 มกราคม 2561 พ.ต.ท.สมัคร ปัญญาวงค์ รองผกก.(สอบสวน) หัวหน้างานสอบสวน สน.ปทุมวัน ได้ร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกับกลุ่มผู้ชุมนุม 39 คน ในความผิดฐาน ร่วมกันชุมนุมในที่สาธารณะในรัศมี 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 7 วรรคแรก ทั้งที่ก่อนและระหว่างการจัดกิจกรรมไม่มีการเจรจา ไม่มีการเตือน หรือออกคำสั่งให้แก้ไขตำแหน่งที่จัดการชุมนุม
กรณีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า แทนที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะจะถูกใช้เพื่อเอื้ออำนวยเสรีภาพในการชุมนุมให้เกิดขึ้นได้จริง แต่กลับเป็นเครื่องมือแวดล้อมที่ใช้ดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม โดยเฉพาะเมื่อการชุมนุมได้ผ่านพ้นไปแล้ว ไม่มีการกระทบสิทธิของบุคคลอื่นเกิดขึ้นอีกแล้ว เจ้าหน้าที่ก็ยังย้อนกลับมาใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการผู้ชุมนุมในภายหลังอีก