We walk เสวนา: รัฐสวัสดิการและหลักประกันสุขภาพ เป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพการคิด พูด เขียน

27 มกราคม 2561 เป็นการเดินทางครบหนึ่งสัปดาห์ของกลุ่ม People Go Network ในกิจกรรม "We walk…เดินมิตรภาพ เดินไปหาเพื่อน เดินไปหาอนาคต" ทีมเดินหยุดพักปักหลักที่จังหวัดนครราชสีมา และกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเป็นแกนหลัก จัดเสวนา “บัตรทองสิทธิขั้นพื้นฐาน เบิกทางสู่รัฐสวัสดิการ”
นิติรัฐ ทรัพย์สมบูรณ์ หรือ ไผ่ เริ่มเล่าแบบรวบรัดถึง ระบบสวัสดิการโดยรัฐมี 4 ประเภท 
ประเภทแรก เช่น การวิ่งของพี่ตูน คือ เมื่อเงินไม่พอก็ใช้วิธีบริจาค เอาเข้าจริงๆ เงินมันก็ไม่ได้พอ รัฐบาลไม่ได้มองเรื่องนี้ ความสำคัญไม่ได้ถูกจัดวางมากนัก รัฐบาลไปจัดเรื่องอาวุธเพิ่มขึ้นสูงมาก แถมยังบอนไซ(ลดทอน) สปสช. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสาธารณสุขของประชาชน 
“การบริจาคไม่สามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ไผ่พูดไว้ตอนหนึ่ง 
ประเภทที่สอง คือ ไปโรงพยาบาลเอกชน มีประกันชีวิต เป็นไปตามระบบทุนระบบตลาด ให้เอกชนจัดการเอง ประเภทที่สาม การจัดสวัสดิการแบบบัตรทองเป็นเรื่องสวัสดิการถ้วนหน้า ประเภทสุดท้าย เป็นเรื่องเฉพาะกลุ่ม คือ จัดสวัสดิการให้คนบางกลุ่มแบบสังคมสงเคราะห์ 
การทำแต่ละวิธีจะสะท้อนวิธีคิดของรัฐบาล ซึ่งทุกวันนี้ตรงข้ามกับจัดสวัสดิการประกันสุขภาพแบบถ้วนหน้า เป็นลักษณะแบบสังคมสงเคราะห์ ซึ่งเป็นระบบสวัสดิการที่ถดถอยมาก ในสังคมไทย 
ความแตกต่างระหว่างคนรวยกับคนจนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลก็เป็นช่องว่างที่ห่างกันเรื่อยๆ ทุกวันนี้มีการโยงไปถึงเรื่องบัตรอนาถา ซึ่งค่อนข้างถดถอยมาก 
ส่วนข้อสังเกตที่รัฐบาลนี้พยายามจำกัดเรื่องรัฐสวัสดิการ เรื่องแรก คือ การให้มี บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ #บัตรคนจน เป็นสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ เรื่องที่สอง ความพยายามที่จะบอนไซ(ลดทอน) ระบบประกันสุขภาพ นำเอา #บัตรทอง มาลดรูปลงไปเหลือเป็นบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อันที่สาม การแก้ไขเรื่องสิทธิประโยชน์ของผู้ประกันตนยังไม่เป็นที่พอใจนัก เพราะจ่ายไปเยอะ จ่ายไปหลายกองทุน 
อย่างที่สี่ คือ สวัสดิการข้าราชการที่เยอะกว่าสิทธิของพลเมืองทั่วไป และอย่างที่ห้า การยกเลิกสาธารณูปโภค เช่น รถไฟฟรี และสุดท้ายการเรียนฟรีและโอกาสการเข้าถึงการศึกษา 
นิติรัตย์ ทิ้งท้ายว่า รัฐสวัสดิการ ไม่สามารถสร้างได้จากรัฐที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 
ส่วนข้อโต้แย้งที่บอกว่ารัฐสวัสดิการจะทำให้คนขี้เกียจ ฟังไม่ขึ้น เพราะประเด็นหลักอยู่ที่รัฐต้องทำให้คนไม่ต้องกังวลเวลาเจ็บป่วย และควรเอาเวลาเหล่านั้นไปเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ 
มีนา ดวงราษี กลุ่มคนรักประกันสุขภาพจังหวัดสุรินทร์ ขยายความว่า จากงานวิจัยศึกษาระบุว่า ถ้าไม่มีระบบหลักประกันสุขภาพจะมีคนล้มละลายไปกว่าแสนครอบครัว มีสองสามประเด็นที่ทำให้กฎหมายหลักประกันสุขภาพมีความเป็นรัฐสวัสดิการ เริ่มจากกฎหมายฉบับนี้สร้างการมีส่วนร่วมมากที่สุด ผ่านการคุยจากหลายแวดวง ทั้งฝ่ายการเมือง ฝ่ายวิชาการผลิตงานวิชาการมารองรับ และการเคลื่อนไหวทางสังคม 
พอมีส่วนร่วมจากหลายฝ่ายทำให้เกิดมาตราที่ว่า “รัฐต้องจัดสรรสวัสดิการการดูแลหลักประกันสุขภาพทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย” 
มีนา เล่าถึงที่มาของระบบบัตรทองเริ่มจากกลุ่มแพทย์ชนบทที่มองเห็นปัญหาค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของคนไทย ขอทุนศึกษาเรื่องเศรษฐศาสตร์สุขภาพจากยุโรป กระทั่งเกิดเป็นการผลักดันร่างพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มีเจตนาที่ค่อนข้างชัดเจน คือ ให้สวัสดิการทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย มีคุณภาพ มีความโปร่งใส ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมช่วยกันมองช่วยกันดู ทำให้ระบบประกันสุขภาพมีประสิทธิภาพมากขึ้น 
เมื่อภาคประชาสังคมสามารถช่วยกันคิดช่วยกันออกแบบได้ จากเดิมเป็นผู้รับบริการอย่างเดียว ก็ขยับมาเป็นผู้ร่วมจัดการในพื้นที่ และพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ ยังเปิดโอกาสให้เยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากสาธารณสุข 
มีนาทิ้งท้ายโดยชวนว่า ให้ทุกคนมาสร้างสังคม ถกเถียงเรียนรู้เรื่องรัฐสวัสดิการกัน
 
 
นิมิตร์ เทียนอุดม ผอ.มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า หนึ่งในสี่ประเด็นของกิจกรรม We Walk เดินมิตรภาพ คือ การชูประเด็นรัฐสวัสดิการ 
ประเทศไทยมีหลักประกันสุขภาพขึ้นมาได้ เพราะถูกนำไปเขียนใน มาตรา 52 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2540 หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์โดยเฉพาะกลุ่ม "ธงเขียว" ตอนที่มีปัญหากับ รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) ตอนนั้นกลุ่มประชาชนอยากร่างรัฐธรรมนูญ จึงเกิดกลุ่มธงเขียวและผลักดัน มาตรา 52 ว่าด้วยเรื่องสุขภาพเป็นสิทธิของประชาชนที่ต้องได้รับการดูแล นำทางไปสู่รัฐสวัสดิการที่เป็นจริงและจับต้องได้ครั้งแรกในประเทศไทย 
นิมิตร์ตั้งคำถามว่า เราเคยคิดหรือไม่ว่า ก่อนปี 2545 มันจะเกิดอะไรแบบนี้ได้? เพราะในสังคมไทยสมัยก่อนความเจ็บป่วยมันเป็นเรื่องหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะค่ารักษาพยาบาล ประชาชนที่ต้องขายที่ดิน เพื่อมารักษาพยาบาล 
ในเบื้องต้นรัฐจะต้องเชื่อก่อนว่า ต้องดูแลคนในรัฐนี้ ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่การรับผิดชอบชีวิต การรักษาพยาบาล การศึกษา การอยู่การกิน ถูกมองว่าเป็นภาระของรัฐ เมื่อนั้นก็คงพึ่งพาอะไรรัฐแบบนั้นไม่ได้ 
ทั้งนี้นิมิตร์กล่าวย้ำว่า รัฐสวัสดิการมันไม่เกิดจากรัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร ระบบประกันสังคมในปี 2533 ก็เป็นกึ่งๆ ของระบบรัฐสวัสดิการ ตอนนั้นมีระบบการเมืองที่เริ่มเสถียร ขบวนการแรงงานแข็งขัน และผลักดันกฎหมายประกันสังคม และเริ่มอีกครั้งตอนปี 2540 จากระบบหลักประกันสุขภาพ
“เพราะฉะนั้น เราจึงต้องสร้างสังคมที่เน้นเคารพการมีส่วนร่วมของประชาชน คุณจะหวังให้ผู้มีอำนาจและคนรวยมาจัดให้ ประเทศนี้ได้รับบทเรียนมาพอแล้วว่าวิธีนั้นใช้ไม่ได้” 
นิมิตร์กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีรายได้เหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเฉพาะหลักประกันเรื่องรายได้หลังเกษียณ เพราะฉะนั้นประเทศไทยจึงเกิดภาวะ "จนเรื้อรัง" หรือจนดักดาน เราจึงต้องหันหน้ามาคุยกันเรื่องรัฐสวัสดิการ ครั้งนี้เราจะเดินเพื่อที่จะชวนเพื่อนคุย เรื่องหลักประกันในชีวิต จะถูกยกขึ้นมาคุย เราจะมีการพัฒนาที่ยั่งยืน และต้องเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย 
อยากชวนให้คิดว่า เรื่องรัฐสวัสดิการ และหลักประกันสุขภาพ เป็นเรื่องเดียวกับเสรีภาพการคิด พูด เขียน หากเราทำเรื่องเหล่านี้ไม่ได้ เรียกร้องไม่ได้ รัฐสวัสดิการก็จะเกิดไม่ได้ สังคมที่จะเป็นรัฐสวัสดิการต้องเป็นสังคมที่เป็นประชาธิปไตย และสังคมที่มีส่วนร่วม