สถานการณ์การคนจนแย่ลง เเต่ยุทธศาสตร์ชาติไม่พูดถึง

ในงาน ‘รำลึก วนิดา ตันติวิทยาพิทักษ์ : 10 ปีที่จากไป’ จัดโดยสมัชชาคนจนและองค์กรเครือข่าย ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ดร.เดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กับอนาคตคนจน” 
รายได้คนจนลดลง พึ่งพาการสงเคราะห์มากขึ้น
เดชรัตน์ เปรียบเทียบตัวเลขทางเศรษฐกิจของคนจนเมื่อ 15 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน ในปี 2545 รายได้ของคนจนหรือคนที่มีรายได้น้อยที่สุด 20 เปอร์เซ็นสุดท้ายของประเทศ แบ่งเป็น รายได้ที่ไม่เป็นตัวเงินหรือ ‘หาอยู่หากิน’ 37 เปอร์เซ็น รายได้จากค่าจ้าง 25 เปอร์เซ็น รายได้จากการเกษตร 18 เปอร์เซ็น รายได้จากเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลและญาติพี่น้อง 11 เปอร์เซ็น รายได้จากการทำธุรกิจ เช่น หาบเร่แพงลอย 5 เปอร์เซ็น รายได้จากทรัพย์สินน้อยกว่า 1 เปอร์เซ็น เห็นได้ว่า คนจนพึ่งพารายได้จากการหาอยู่หากิน เป็นหลัก รองลงมาคือการรับจ้าง และการเกษตร
ขณะที่ในปี 2558 รายได้จากการหาอยู่หากิน จาก 37 ลดเหลือ 30 เปอร์เซ็น ส่วนนี้เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด เนื่องจากทรัพยากรและระบบนิเวศที่เคยเป็นที่อยู่ที่กินถูกรัฐนำไปใช้ทำอย่างอื่น รายได้จากค่าจ้างเพิ่มเล็กน้อยจาก 25 เป็น 26 เปอร์เซ็น ตัวเลขนี้สะท้อนว่า เพราะรัฐเอาทรัพยากรของคนจนไป แต่ไม่เปิดโอกาสทางเศรษฐกิจอื่นๆ จึงทำงานรับจ้างมากขึ้น และเพิ่มขึ้นจากการเพิ่มค่าเเรงขั้นต่ำเมื่อรัฐบาลที่แล้ว รายได้จากการเกษตร เดิม 18 เปอร์เซ็น แต่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาตลอด เพราะขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ บางปีลดลงเหลือ 14 เปอร์เซ็น บางปีขึ้นไปอีก สรุปว่าพึ่งพาการเกษตรไม่ได้ 
รายได้จากการทำธุรกิจเดิมอยู่ที่ 5 เปอร์เซ็น ปัจจุบันเหลือ 4 เปอร์เซ็น เพราะถูกรายใหญ่คืบเข้ามาเรื่อยๆ ส่วนนี้ที่พึ่งพาได้น้อยอยู่เเล้วก็พึ่งพาได้น้อยลงไปอีก สุดท้ายคนจนก็ต้องไปพึ่งพาการสงเคราะห์ จากเดิม 11 เปอร์เซ็น เพิ่มเป็น 21 เปอร์เซ็น 
ทรัพยากรของคนจนลดลง จากการพัฒนาของ คสช. และทุน
เดชรัตน์ กล่าวว่า ต่อไปการหาอยู่หากินจะลดลงอีก เพราะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) มีแผนการพัฒนาที่จะเข้าไปใช้ทรัพยากรธรรมชาติมากขึ้น และที่พิเศษกว่ารัฐบาลอื่นๆ ก็คือการออกประกาศ คสช. ยกเว้นกฎหมายที่สำคัญ เช่น ยกเว้นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) และการบังคับใช้กฎหมายผังเมือง โดยมีมาตรการที่คลุมเครือว่าจะป้องกันผลกระทบทางสิ่งเเวดล้อมและสุขภาพของคนจนได้ดีเพียงใด 
ภาคธุรกิจก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรของของคนจนน้อยลง ตัวอย่างเช่น ในปี 2536 ตัวเลขของการเลี้ยงหมูในฟาร์มเล็กน้อยกว่า 10 ตัว คิดเป็น 21 เปอร์เซ็นจาดทั้งประเทศ แต่ปัจจุบันเหลือ 5 เปอร์เซ็น ขณะที่ การเลี้ยงหมูในฟาร์มใหญ่มากกว่า 500 ตัว ในปี 2536 คิดเป็น 27 เปอร์เซ็น แต่ปัจจุบันเพิ่มเป็น 67 เปอร์เซ็น เท่ากับสองในสามของทั้งประเทศ และในอดีตประเทศไทยมีจำนวนผู้เลี้ยงหมูกว่า 600,000 ราย แต่ปัจจุบันเหลือ 150,00 ราย คนจำนวน 450,000 ที่หายไป คือ ผู้ที่ต้องไปทำอาชีพอื่น การพัฒนาของรัฐเพื่อการรองรับการขยายตัวของทุนนิยมและการเข้ามาเเย่งชิงทรัพยากรของทุนนิยม ทำให้การหาอยู่หากินของคนจนยากขึ้น
ตัวเลขของผู้เลี้ยงไก่ก็เช่นเดียวกัน เมื่อปี 2536 มีผู้เลี้ยงไก่อยู่ประมาณ 2.6 ล้านรายทั่วประเทศ แต่ล่าสุดผู้เลี้ยงไก่เหลือ 600,000 ราย แปลว่า 2 ล้านรายที่มีไก่และไข่ไว้ทานเองหายไปจากธุรกิจ ที่เหลืออยู่ คือ รายใหญ่ทั้งสิ้น ปัญหาต่อมาคือเรื่องราคาสินค้าเกษตร ตั้งเเต่ คสช. เข้ามาราคาสินค้าเกษตรลดลงเหลือ 20 เปอร์เซ็น และรายได้ของภาคเกษตรเทียบกับก่อนคสช. รับตำแหน่งก็หายไปประมาณ 10 เปอร์เซ็น 
ยุทธศาตร์ชาติไม่พูดถึงการพัฒนาด้านการเกษตร
เดชรัตน์ ชี้ว่า ในร่างยุทธศาสตร์ชาติ ไม่เห็นทิศทางการพัฒนาด้านการเกษตรอย่างเป็นรูปธรรมเลยว่า คนจนจะอยู่รอดได้อย่างไร รัฐบาลมักพูดว่าทุกอย่างเป็นไปตามกลไกตลาด แต่ปัญหาคือ คนจนมีรายได้ลดลง ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถแก้ไขปัญหาราคาสินค้าการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่างเช่น ราคาปาล์มน้ำมัน จริงๆ มีวิธีการจัดการอยู่หลายวิธี ทั้งการทำเป็นไบโอดีเซล หรือ เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้า แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ดูแลใกล้ชิดทำให้สต็อกปาล์มล้นและราคาต่ำลงอย่างที่เป็นอยู่ 
นอกจากนี้ ราคาสินค้าและอาหารยังเเพงขึ้น ในปี 2545 ราคาสินค้าโดยทั่วไปอยู่ที่ 100 บาท ปัจจุบันขึ้นมาเป็น 150 บาท แต่ราคาอาหารแพงขึ้นกว่าราคาสินค้าทั่วไปมาก จากเดิม 100 บาทเป็น 190 บาท ปรากฏการณ์เช่นนี้เกษตรกรน่าจะมีรายได้ดีขึ้นแต่ปรากฎว่า เงินที่จ่ายแพงขึ้นไม่ได้ไปที่คนปลูกแต่ไปที่คนกลาง ซึ่งไม่ใช่คนกลางที่รับซื้อข้าวซื้อผักจากเกษตรกร แต่เป็นคนกลางที่ทำหน้าที่ขายสินค้า เช่น ห้าง ร้านค้า ที่อยู่ในวงจรการค้าขายสมัยใหม่ (โมเดิร์นเทรด)
เดชรัตน์ เล่าว่า ตนเคยไปติดตามราคากล้วยน้ำหว้า เมื่อส่งมาจากเกษตรกรในจังหวัดน่านราคาหวีละ 5 บาท ถึงตัวเมืองน่าน 15 บาท ถึงตลาดไทย กรุงเทพฯ 20 บาท แต่พอไปถึงที่ร้านขายกลายเป็น 45-55 บาท ราคาที่ต่างกันมาก ผู้บริโภคที่กรุงเทพฯ จ่ายหวีละ 50 บาทไปถึงผู้ปลูก 5 บาท วิธีที่ทำได้ คือ การเปิดตลาดให้เกษตรกรมาขายโดยตรงมากขึ้น ผู้บริโภคก็จะจ่ายไม่แพงเหมือนร้านค้าปลีกสมัยใหม่ และเกษตรกรก็จะได้ราคาที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น 
ยุทธศาตร์ชาติไม่เสริมความเข้มเเข็งของเศรษฐกิจฐานราก
เดชรัตน์ กล่าวว่า อีกหนึ่งปัญหาคือ ค่าจ้างที่แท้จริงไม่เพิ่มขึ้นเลยหลัง คสช. เข้ามา เพราะทัศนคติที่มองว่าการขึ้นค่าเเรงเป็นปัญหาเศรษฐกิจของชาติ และในปีที่ผ่านมาค่าแรงที่แท้จริงติดลบ หรือ รายได้เท่าเดิมแต่ราคาสินค้าเเพงขึ้น อำนาจซื้อของคนจนในเศรษฐกิจฐานรากก็หายไป แต่รัฐบาลกลับกระตุ้นด้วยโครงการ ‘ช็อปช่วยชาติ’ ซึ่งความจริงควรเรียกว่า ‘ชาติช่วยช็อป’ มากกว่า เพราะคนที่รัฐบาลช่วยคือคนรวย ซึ่งก็ไปช็อปสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ที่นิยมสุดก็คือ เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ทำให้เงินไหลออกไปนอกประเทศ แต่ถ้ารัฐบาลเพิ่มอำนาจซื้อของคนจน รายได้ของเศรษฐกิจก็จะหมุนเวียนอยู่ภายในประเทศ เพราะรายจ่ายมากที่สุดของคนจน คือ อาหาร
เดชรัตน์ เล่าว่า ในช่วงเวลา 2-3 ปี ที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพิ่มขึ้นเป็น 300 บาท แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้น 23 เปอร์เซ็น คนที่ทำงานอยู่ตามบ้านหรือสำนักงานมีรายได้เพิ่ม 13 เปอร์เซ็น และจากเดิมแรงงานมีความยากจน 15 เปอร์เซ็น ลดลงเหลือ 9 เปอร์เซ็น คนที่ทำงานอยู่ตามบ้านมีความยากจน 25 เปอร์เซ็น ลดเหลือ 17 เปอร์เซ็น เห็นได้ว่าความยากจนลดลงอย่างชัดเจน และตัวเลขยังชี้ว่า ผู้ประกอบการเองก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน แม้จะจ่ายค่าจ้างเพิ่มแต่คนก็ไปซื้อของมากขึ้นด้วย เศรษฐกิจหมุนเวียนของคนจนหรือเศรษฐกิจฐานรากเป็นกลไกที่สำคัญ​ เเต่รัฐบาลมองข้ามไปและยุทธศาสตร์ชาติก็ไม่ได้เสริมความเข้มเเข็งตรงนี้
คนจนพึ่งพาสวัสดิการได้น้อยลง ปัญหาอยู่ที่การจัดสรรงบประมาณ
เดชรัตน์ ชี้ว่า สวัสดิการรัฐมีพัฒนาการที่ดีมากใน 20 ปีหลังการใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ในอดีตคนจนมีโอกาสเข้าเรียนในมัธยมปลายไม่ถึง 10 เปอร์เซ็น แต่หลังรัฐธรรมนูญปี 2540 มีเรื่องการเรียนฟรี 12 ปี ลูกหลานของคนจนมีโอกาสได้เรียนถึง 40 เปอร์เซ็น แต่ในรัฐธรรมนูญปี 2560 กลับลดการเรียนฟรีจากถึงมัธยมปลายเหลือแค่มัธยม 3 เท่านั้นเอง
ในอดีตคนจนเสียค่าใช้จ่ายกับสุขภาพ 10 เปอร์เซ็นจากรายได้แต่เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพ หรือ บัตรทอง คนจนเสียค่าใช้จ่ายกับสุขภาพเพียง 1 เปอร์เซ็น แต่ตอนนี้ รัฐบาลกังวลว่าจะจ่ายสวัสดิการให้ประชาชนมากเกินไป ก็เลยจะลดส่วนนี้และเกิดความคิดเรื่องให้ผู้ป่วยร่วมจ่าย
เดชรัตน์ ตั้งคำถามว่า เงินของรัฐบาลไม่มีจริงหรือไม่? ในปีงบประมาณ 2561 รัฐบาลให้เงินกับบำนาญกับข้าราชการ 700,000 คน ไป 190,000 ล้านบาท ขณะที่ รัฐบาลให้เงินผู้รับเบี้ยผู้สูงอายุ 8,000,000 คน ไป 64,000 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าเงินที่ช่วยผู้สูงอายุส่วนใหญ่อยู่ที่งบบำนาญ การจัดสรรงบประมาณที่ไม่สมดุลกันเป็นปัญหาสำคัญ ไม่ใช่เงินไม่มี แต่ต้องพูดถึงการกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน
“อ้างว่าข้าราชการคือลูกจ้างของรัฐบาลจึงจำเป็นต้องดูแลให้ดี แล้วประชาชนคือใคร? ถ้าประเทศนี้เป็นบริษัท ประชาชนน่าจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือเจ้าของบริษัท แต่เราอาจไม่ได้รวมตัวกันติดนัก เราปล่อยปะละเลย จนสุดท้าย สวัสดิการเอาไปให้ข้าราชการก่อน พอเราไปขอเพิ่ม ก็บอกว่าไม่มีเงิน” เดชรัตน์ กล่าว
เดชรัตน์ กล่าวว่า ข้าราชการเป็นคนหยิบมือเดียว รวมกันประมาณ 5 ล้าน ใช้เงินสวัสดิการทั้งหมด 51 เปอร์เซ็นของค่าใช้จ่ายเรื่องสวัสดิการทั้งหมดของประเทศ ขณะคนที่เหลืออีกประมาณ 60 ล้านคน ใช้เงินสวัสดิการอีก 49 เปอร์เซ็น นอกจากนี้ รัฐบาลยังลดหย่อนภาษีให้กับคนรวยและบริษัทต่างชาติ ให้สิทธิพิเศษกับบริษัทที่มาลงทุนประมาณ 220,000 ล้านบาท ในแต่ละปี
เดชรัตน์ กล่าวว่า ในปี 2559 คนจนเพิ่มขึ้น 1 ล้านคน จากปี 2558 ที่มี 4.8 เป็น 5.8 ล้านคน เหตุการณ์นี้ไม่ปกตินัก แม้เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ปี 2540 แต่ปัจจุบันไม่ใช่วิกฤติในแง่เศรษฐกิจภาพรวม รัฐบาลยังคุยอยู่ว่า มูลค่าการผลิตโดยรวม (จีดีพี) เพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับจำนวนคนจนที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และรายได้ของคนจน 20 เปอร์เซ็นสุดท้าย ในปี 2558 อยู่ที่ 2,574 บาท ต่อคนต่อเดือน แต่ในปี 2560 เหลือ 2,496 บาท รายได้คนจนลดลงขณะที่รายได้ของคนรวยเพิ่มขึ้น
“ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เราถูกเเย่งชิงทรัพยากร หาอยู่หากินได้น้อยลง อาชีพเกษตรก็ไม่แน่นอน ทำงานรับจ้างก็ได้ค่าจ้างน้อยมาก ต้องพึ่งพิงกับระบบสวัสดิการ แต่รัฐบาลก็พยายามจำกัดระบบสวัสดิการ เรายังไม่เห็นเส้นทางแก้ปัญหาที่ชัดเจน เห็นแต่ว่าจะมีการยกเว้นกฎหมายที่จะทำให้การพัฒนาของรัฐและของทุนทำได้ง่ายขึ้น แต่ถ้าเราไม่สู้ อีก 20 ปีข้างหน้าเราก็จะหายไปเหมือนผู้เลี้ยงหมูหรือผู้เลี้ยงไก่” เดชรัตน์ กล่าวทิ้งทาย