คสช. ใช้ ม.44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ระบุปลดล็อคเมื่อประกาศกฎหมายลูก ส.ว.-ส.ส.

วันที่ 22 ธันวาคม 2560 หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สาระสำคัญของคำสั่งฉบับนี้ คือ การแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ  (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อเพิ่มเติมเงื่อนไขกับสมาชิกพรรคการเมืองเก่าให้ต้องดำเนินการแจ้งแสดงตัวเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรค และขยายกรอบเวลาให้พรรคการเมืองดำเนินงานธุรการโดยการต้องขออนุญาตจาก คสช. ก่อน และกำหนดเงื่อนไขปลดล็อคพรรคการเมือง เมื่อกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประกาศใช้
พรรคการเมืองขยับไม่ได้ ติดเงื่อนไขประกาศ-คำสั่งคสช.
ตามโรดแมปตามรัฐธรรมนูญ 2560 รวมทั้งคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่กำหนดว่าจะต้องมีการเลือกตั้งทั่วไปไม่เกินเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่กำลังบีบเข้ามาใกล้ขึ้นทุกที่ ส่งผลให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ ที่ต้องเตรียมตัวสำหรับการเลือกตั้งตามเงื่อนไขใน พ.ร.ป.พรรคการมืองฯ ออกมาเรียกร้องกดดันให้ คสช. ดำเนินการปลดล็อคพรรคการเมืองให้เร็วที่สุด เพื่อจะได้ไม่เสียสิทธิในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง
พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ที่เพิ่งบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2560 กำหนดเงื่อนไขให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการต่างๆ ให้ทันตามกรอบเวลา อาทิ ประชุมพรรค เลือกกรรมการพรรค ซึ่งกฎหมายกำหนดให้แต่ละพรรคต้องดำเนินการต่างๆ ให้เสร็จภายใน 90-180 วัน แล้วแต่กรณี กล่าวคือ ภายในวันที่ 5 มกราคม 2561 จะครบกำหนด 90 วัน และภายในวันที่ 4 เมษายน 2561 จะครบกำหนด 180 วัน 
แม้ว่า พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ จะบังคับใช้ไปกว่าสามเดือนแล้ว แต่พรรคการเมืองก็ยังไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตามที่กฎหมายกำหนด เนื่องจากติดล็อค ประกาศ คสช.ที่ 57/2557 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมืองใดๆ เรื่อง และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งห้ามชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป
สี่เหตุผล คสช.ไม่ปลดล็อคพรรคการเมือง
อย่างไรก็ตาม คสช. เลือกที่จะไม่ปลดล็อคด้วยการยกเลิกประกาศและคำสั่งก่อนหน้า แต่เลือกใช้อำนาจมาตรา 44 แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ด้วยการออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560  โดยให้เหตุว่า
1) เนื่องจากประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไป และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ ยังมีผลใช้บังคับ การดําเนินกิจกรรมทางการเมืองจึงยังไม่อาจกระทําได้
2) เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสอ้างการดําเนินการตามกฎหมายไปกระทํากิจกรรมทางการเมืองอื่น อันกระทบกระเทือนต่อความสงบเรียบร้อยและความปกติสุขในบ้านเมืองซึ่งกําลังดําเนินมาด้วยดี ตลอดจนกระทบต่อบรรยากาศความสามัคคีปรองดอง
3) อยู่ระหว่างการจัดทําแผนการปฏิรูปประเทศ และการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ
4) สภานิติบัญญัติแห่งชาติยังพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่แล้วเสร็จ
 
ใช้ ม.44 แก้ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ สอดคล้องข้อเสนอ ไพบูลย์ – สุเทพ
กระบวนการจัดทำ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ผ่านขั้นตอนตั้งแต่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นับเวลาในการจัดทำอย่างต่ำไม่น่าจะน้อยกว่า 11 เดือน ใช้ทรัพยากรไปจำนวนมาก แต่หลักจากบังคับใช้เพียงสามเดือนกว่ากฎหมายฉบับนี้ก็ดูจะไร้ความหมาย ตัวบทในกฎหมายไม่สามารถบังคับใช้ได้จริง
ส่งผลให้นำมาสู่การแก้ไขอีกรอบโดยใช้ มาตรา 44 โดยมีการแก้ไขที่น่าสนใจดังนี้
จัดทุนประเดิม 1 ล้านบาท และแจ้งประสงค์เป็นสมาชิกพรรคการเมืองต่อ เริ่ม 1 เมษายน 2561
๐ พรรคการเมืองเก่ายังคงดำรงอยู่ แต่ให้สมาชิกที่ประสงค์จะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้นต่อไปมีหนังสือยืนยันการเป็นสมาชิกต่อหัวหน้าพรรคการเมือง และชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าวให้พ้นจากการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองนั้น (มาตรา 140)
๐ จัดให้มีทุนประเดิมจํานวนหนึ่งล้านบาท และแจ้งให้นายทะเบียนทราบภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 (มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (1))
๐ จัดให้สมาชิกชําระเงินค่าบํารุงพรรคการเมืองให้ได้จํานวนไม่น้อยกว่า 500 คน ภายใน 180 วัน นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 (มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (2))
๐ จัดให้สมาชิกชําระเงินค่าบํารุงพรรคการเมืองให้ได้จํานวนไม่น้อยกว่า 5,000 คน ภายในหนึ่งปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 และให้ได้จํานวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี นับแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 (มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (3))
 
ประชุมพรรค ตั้งสาขาพรรค เริ่มเมื่อยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.
๐ จัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทําคําประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมืองให้ถูกต้อง และเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง ตามข้อบังคับของพรรคการเมืองที่แก้ไขใหม่ ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 (มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (4))
๐ จัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัดให้ครบถ้วน ภายใน 90 วัน นับแต่วันที่มีการยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 และคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 หากดำเนินการไม่ทันระยะเวลาที่กำหนดอาจขอขยายเวลาได้อีกหนึ่งเท่าของระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละะเรื่อง เมื่อครบเวลาที่กำหนดให้ขยายหากพรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ให้สิ้นสภาพลง (มาตรา 141 วรรคหนึ่ง (5))
๐ ในระหว่างที่พรรคการเมืองใดยังดําเนินการตามมาตรา 141 วรรคหนึ่ง (1) (2) (4) และ (5) ไม่ครบถ้วน ห้ามมิให้จัดสรรเงินสนับสนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองให้แก่พรรคการเมืองนั้น
๐ ห้ามไม่ให้พรรคการเมืองเก่า จัดการประชุมใหญ่ รวมทั้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจําจังหวัด การประชุมสมาชิกพรรคการเมือง หรือการดําเนินการอื่นใดในทางการเมืองนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในคําสั่งนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก คสช.
ตั้งพรรคการเมืองใหม่เริ่ม 1 มีนาคม 2561
๐ การจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่สามารถดําเนินการทางธุรการ ตั้งแต่ วันที่ 1 มีนาคม 2561 แต่การประชุมเพื่อยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมือง ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. และให้ดําเนินกิจกรรมได้เท่าที่ได้รับอนุญาตหรือตามเงื่อนไขที่ คสช. กําหนด
ประกาศกฎหมายลูก ส.ว. – ส.ส. ให้ยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช.
๐ เมื่อมีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. …. แล้วให้ คสช. เพื่อพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมหรือยกเลิกกฎหมาย ประกาศ คสช. หรือคําสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นอุปสรรคต่อการดําเนินการของพรรคการเมือง และจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมืองเพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไป
 
8 ธันวาคม 2560 สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส.
เสนอให้ สนช. แก้ไข พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ 
การแก้ไขครั้งนี้สอดคล้องกับข้อเสนอของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป ที่เสนอให้แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 140 และ 141 เพื่อขจัดความเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรมระหว่างสมาชิกพรรคและพรรค และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ที่เสนอให้แก้ไขพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและความเท่าเทียมทางการเมืองเก่าและพรรคการเมืองใหม่
ไฟล์แนบ
  • 7 (56 kB)