แถลงค้าน ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ ไม่แก้ปัญหาและขัดจุดประสงค์การทำ EIA

ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำร่างแก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 หรือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่เสร็จสิ้น และส่งต่อให้เข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ไปแล้วนั้น วันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่ศูนย์ประชุมพญาไทพลาซ่า จึงมีการจัดเสวนาเรื่อง “วิเคราะห์ ร่าง พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม กับ เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560” โดยมีผู้ร่วมพูดคุยประกอบด้วย ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมติ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต, ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พมิล เครือข่ายนักวิชาการ EHIA อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร 
++ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ ไม่ได้แก้ไขฉบับเดิมให้สมบูรณ์ ซ้ำยังเพิ่มช่องว่าง ++
ดร.สมิทธ์ ตุงคะสมติ อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังไว้กับ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ มาจากการที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 58 กำหนดห้ามดำเนินการใดใดก็ตามโดยไม่ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและด้านสุขภาพ และมาตรา 278 สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องจัดทำกฎหมายเรื่องการจัดทำอีไอเอ ให้เสร็จภายใน 240 วัน นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ หรือประมาณช่วงเดือนธันวาคม 2560
อีกมาตราหนึ่ง คือ มาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้การออกกฎหมายทุกฉบับจะต้องจัดรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวางจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หมายความว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมใหม่ฯ ก่อนที่จะออกมานั้นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ซึ่งทั้งสองมาตรานี้ขัดแย้งกันเอง เพราะมาตรา 278 เร่งรัดให้จัดทำร่างกฎหมายโดยเร็ว แต่มาตรา 77 บอกให้ทำด้วยความรอบคอบด้วย 
ดร.สมิทธ์ เล่าวว่า ในเดือน กันยายน 2560 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้จัดทำร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ขึ้นมาและนำไว้บนเว็บไซต์ โดยเสนอร่างกฎหมายใหม่ยาว 130 มาตรา จากเดิมที่กฎหมายปี 2535 มี 115 มาตรา แต่ร่าง ฉบับที่ต่อมาส่งให้ สนช. พิจารณา กลับมีเพียง 17 มาตรา เท่านั้น โดยให้เหตุผลว่า ให้ใช้ กฎหมายฉบับปี 2535 เป็นบรรทัดฐาน แล้วเน้นแก้ไขเฉพาะ หมวด 3 ในเรื่องการทำรายงานผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม หรือ อีไอเอ เท่านั้น 
โดยเฉพาะเรื่องหลักที่จะแก้ไขคือ ยอมให้โครงการใดก็ตามที่ส่งผลกระทบรุนแรงแต่มีความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นสาธารณูประโภคจำเป็นสามารถประมูลโครงการไปก่อนได้ แล้วให้ทำการทำรายงานผลกระทบเกี่ยวกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม (EHIA) ควบคู่กันไปโดย ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ไม่มีการแก้ไขในหมวดอื่นเลย อีกทั้งยังมีการอ้าง คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 9/2559 ไว้ในการแก้ไขครั้งนี้ด้วย 
ดร.สมิทธ์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ประเด็นเรื่องเหมืองแร่ทองคำ ในระดับสากลจะทำเหมืองแร่ทองคำในพื้นที่ห่างไกลมากๆ เช่น ทะเลทรายหรือไกลชุมชน มีเพียงประเทศไทยประเทศเดียว ที่มีเหมืองแร่ทองคำอยู่ใกล้ชุมชนและพื้นที่ทำการเกษตร กฎหมายไทยปล่อยให้คนตัวเล็กๆถูกรุกรานตลอดจากกลุ่มทุนต่างๆ จนมีโรงงานหรือบ่อสารพิษขึ้นมาโผล่ใกล้ๆบ้านของชาวบ้านแล้ว ซึ่งรัฐบาลไทยไม่เคยประเมินการใช้ประโยชน์ของพื้นที่ในประเทศเลย ดร.สมิทธ์ จึงเสนอว่า การแก้ไขกฎหมายสิ่งแวดล้อมควรระบุถึงการประเมินด้านสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) ด้วย
++ ต้องตัดวงจรอุบาทว์ในกระบวนการทำ EIA โดยให้รัฐแยกออกจากกระบวนการจัดทำอย่างชัดเจน ++
ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ปี 2535 ของไทยนั้น จัดทำขึ้นโดยนำกฎหมายสิ่งแวดล้อมของแคนนาดา นิวซีแลนด์ และออสเตรเลีย ซึ่งเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มาเป็นแม่แบบของกฎหมายไทย ในประเด็นการบังคับให้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งการทำ EIA ต้องตั้งอยู่บนเจตนารมณ์ 2 อย่าง คือ มีการประเมินผลกระทบที่เป็นวิชาการอย่างรอบด้านและต้องประเมินความมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย 
ดร.ไชยณรงค์ กล่าวว่า การทำรายงาน EIA ของไทยที่ผ่านมายังมีปัญฆา เช่น ความสัมพันธ์แบบนายจ้าง-ลูกจ้างระหว่างเจ้าของโครงการและบริษัทผู้รับจ้างทำรายงาน ซึ่งทำให้เกิดการฮั้วกันได้ ระบบนี้ทำให้เกิดเกิดธุรกิจใหม่คือ ธุรกิจที่ปรึกษา ของบริษัทต่างๆ โดยมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งเข้าทำธุรกิจที่ปรึกษานี้ด้วย การจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชนไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการรับฟังความคิดเห็น มีการแจกสิ่งของในเวทีรับฟังความคิดเห็นโดยเจ้าของโครงการ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ไม่ต่างจากการซื้อเสียง
จากมุมมองของ ดร.ไชยณรงค์ เห็นว่า ประเด็นปัญหาที่ต้องแก้ไขในพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่ มีดังนี้ 
1) มาตรา 48 ระบุว่า หากทำ EIA ในพื้นที่หนึ่งแล้ว ในพื้นที่อื่นที่เป็นโครงการลักษณะเดียวกันไม่ต้องทำ EIA ใหม่ ให้ใช้ EIA ที่ทำจากโครงการแรกได้เลย ซึ่งเกิดช่องให้เกิดการคัดลอก EIA คือ ถ้ามีการทำ EIA ในโครงการลักษณะเดียวกันแล้ว ในโครงการต่อไปก็ให้ใช้โครงการก่อนหน้าได้ 
2) มาตรา 58 วรรค 4 มีการอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2557 ให้ทำการประมูลโครงการไปก่อนได้ ระหว่างการจัดทำทำและอนุมัติรายงาน EIA EHIA ซึ่งขัดต่อเจตนารมณ์ของการทำรายงาน EIA EHIA อย่างยิ่ง
3) ผู้จัดทำรายงาน EIA เมื่อมีข้อบกพร่องไม่เคยต้องรับผิดชอบหรือต้องรับผิดในการจัดทำรายงานที่เป็นเท็จ ซึ่งตาม กฎหมายเดิมไม่มีบทลงโทษที่ชัดเจน ตัวอย่างเช่น พื้นที่ที่เคยจะสร้างโรงไฟฟ้า ในตำบลบ่อนอก อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ รายงาน EIA บอกว่า เป็นทะเลไม่มีปะการัง ทั้งที่จริงมีให้เห็นอยู่อย่างชัดเจน ซึ่งภายหลังผู้จัดทำรายงานถูกลงโทษโดยการพักใบอนุญาต 6 เดือน แล้วหลังจากนั้นก็กลับไปทำรายงานให้พื้นที่อื่นๆ ต่อ การแก้ไขกฎหมายใหม่จึงควรจะมีบทลงโทษผู้จัดทำรายงานที่เข้มงวดกว่านี้ด้วย
ดร.ไชยณรงค์ เสนอว่า ในการแก้ไขกฎหมายใหม่สิ่งที่ควรทำ คือ ต้องตัดวงจรอุบาทว์ในการทำ EIA ให้ได้ โดย 1.ไม่ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เป็นผู้จัดทำ EIA ควรจะให้องค์กรอิสระที่จัดตั้งขึ้นมาใหม่เป็นผู้จัดทำเพื่อไม่ให้รายงานเหล่านี้ถูกควบคุมโดยระบบราชการ  2. ตัดความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทที่รับจัดจ้างในการทำรายงานประเมินผลกระทบกับเจ้าของโครงการให้ได้  3. ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการพิจาณา EIA ต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับเจ้าของโครงการทางใดทั้งสิ้น เช่น เจ้าของโครงการเชิญเจ้าหน้าที่ไปดูงานที่ต่างประเทศ เป็นต้น 
และเนื่องจาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ยังขาดมิติในเรื่องความหลากหลายในด้านความรู้ เพราะระบบปัจจุบันศาสตร์ที่เป็นหลักในการทำ EIA คือ วิทยาศาสตร์ ซึ่งชาวบ้านจะสู้กับผู้จัดทำรายงานไม่ได้ เนื่องจากฝ่ายผู้จัดทำเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่แล้ว เถียงกันคนละความรู้ และความรู้เป็นอำนาจในการจัดทำ จึงเสนอให้มีสักมาตราหนึ่งที่ยอมรับความรู้พื้นบ้านจากฝั่งชาวบ้านหรือชุมชนด้วย
ดร.ไชยณรงค์ ยังเสนอวิธีการทำ EIA อีกแบบหนึ่ง คือ ให้ชาวบ้านที่อาจจะได้ัรับผิดกระทบเป็นผู้เลือกผู้มาทำ EIA เอง หรือ อีกระบบหนึ่ง คือ ให้ทำแบบคู่ขนาน ฃให้เอกชนทำวิจัยของฝ่ายตนเอง และให้ชาวบ้านทำวิจัยของตนเองและต่อสู้กันด้วยข้อมูลที่ทำวิจัยของแต่ละฝ่ายก่อน 
"หาก พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับนี้ผ่านไป ไม่ใช่เพียงประชาชนที่จะเดือดร้อน แต่รัฐบาลต่อไปก็จะลำบากในการบริหารจัดการบ้านเมือง และมีปัญหาตามมาอีกมากมาย ไม่อยากให้กฎหมายสิ่งแวดล้อม มาเป็นตัวกลางของความขัดแย้งของชาวบ้านกับนายทุน" ดร.ไชยณรงค์กล่าว
++ ต้องระบุการทำรายงานผลกระทบให้ชัดเจนในกฎหมายและถอดกฎหมายที่สอดแทรก คำสั่ง หัวหน้า คสช. ++
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อดีตอาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ชี้ช่องว่างของร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ เป็นรายมาตรา ดังนี้ 
1. มาตรา 47 ของงพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ ไม่มีคำว่า รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) มีเพียงให้ทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งก็ระบุไม่ชัดเจนว่า หมายถึง EIA หรือไม่ ทั้งที่ ตามมาตรา 58 ในรัฐธรรมนูญ บังคับให้ต้องเป็นการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งทำให้เกิดความไม่ชัดเจนและเกิดช่องว่างทางกฎหมายขึ้น จึงเสนอว่าในมาตรานี้กฎหมายต้องระบุให้ชัดว่ากรณีไหนต้องทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และ กรณีไหนต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
2. มาตรา 47 วรรค 4  ของพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ กำหนดให้ต้องทำ EIA และ EHIA ตามบัญชีโครงการ 12 ประเภท และระบุว่าต้องให้ทำบัญชีและพิจารณาใหม่ทุก 5 ปี แต่ปัญหาที่ผ่านมาคือไม่มีการบังคับใช้จริงและเกิดช่องว่างที่แยกประเภทโครงการและโรงงานได้ ซึ่งกฎหมายใหม่ก็ยังไม่อุดช่องว่างช่องนี้ 
3. ประเด็นการจัดทำรายงานการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) ซึ่ง คสช. ควรจะควบคุมให้การทำ EIA หรือ EHIA ให้สอดคล้องกับรายงาน SEA ที่ต้องจัดทำขึ้นก่อนที่จะเริ่มโครงการทั้งหมด ระบบ SEA มีเขียนอยู่ในร่างที่เคยเผยแพร่ทางเว็บไซต์ แต่ร่างที่ส่งไปให้ สนช. ไม่มีเรื่อง SEA อยู่ในร่างเลย ทั้งที่เป็นเรื่องที่ควรจะนำไปใส่ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่ เป็นอย่างยิ่ง
ช่วงท้ายของการเสวนา มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนของการเสวนา "วิเคราะห์ ร่าง พรบ. สิ่งแวดล้อม กับ เจตนารมณ์ตามรัฐธรรมนูญ 2560" นำโดย อาจารย์สัญชัย สูติพันธ์วิหาร อาจารยค์ณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์มหาวทิยาลัยมหิดล และคณะนักวิชาการที่ร่วมเสวนา โดยมีข้อเสนอดังนี้
1. ร่างพ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่นี้มีข้อความที่ปรากฎอยู่ยังไม่ครบถ้วนตาม มาตรา 58 ของรัฐธรรมนูญ ปี 2560
2. ร่างพ.ร.บ. ฉบับนี้ ขาดความชัดเจนว่า ส่วนใดเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และส่วนใดเป็นการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA)
3. มีการนำข้อความในคำสั่งหัวหน้า คสช. เข้ามาสอดแทรกใน ร่าง พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่นี้ด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ขัดหลักการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับชาติและระดับสากล
4. บางมาตราให้ยกเลิก ไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเนื่องจากจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งถือว่าเป็นการเพิ่มความขัดแย้งและไม่สามารถคุ้มครองสิ่งแวดล้อมได้จริง
5. ปัจจุบันยังไม่เห็นว่า ร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่ จะช่วยแก้ไขช่องว่างให้การทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมมีคุณภาพมากขึ้น แต่กลับไปเน้นให้กระบวนการพิจารณารายงานผลกระทบเร่งรีบมากขึ้น และข้อความในเรื่องของการชดเชยเยียวยาประชาชนก็กลับไม่ระบุไว้ใน พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฉบับใหม่นี้
ดังนั้นจึงขอให้มีการพิจารณาการจัดทำ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมฯ ฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เสนอร่างกฎหมายฉบับประชาชนเข้าไปพิจารณาร่วมด้วย