ทำความเข้าใจวิกฤติการณ์คาตาลันฉบับย่นย่อ

ช่วงเดือนตุลาคม 2560 วิกฤติการณ์ทางการเมืองในสเปนคือข่าวใหญ่ที่ครองหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์หลายๆฉบับ วิกฤตการณ์ดังกล่าวเกิดจากกรณีที่รัฐบาลท้องถิ่นของแคว้นคาตาลันจัดการลงประชามติเพื่อแยกตัวออกจากการปกครองของสเปน แม้ศาลรัฐธรรมนูญของสเปนจะมีคำสั่งให้การทำประชามติดังกล่าวไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่รัฐบาลท้องถิ่นก็ผลักดันการลงประชามติต่อไป ส่งผลให้ในวันลงประชามติ 1 ตุลาคม 2560 มีการปะทะระหว่างชาวคาตาลันที่มาออกเสียงกับเจ้าหน้าที่ที่พยายามขัดขวาง จนมีผู้บาดเจ็บเกือบ 900 คนตามรายงานของดิ อินดีเพนเดนท์ 

ผลของการลงประชามติปรากฎว่า 90% ของผู้มาออกเสียง(ซึ่งคดิเป็น 42.3% ของผู้มีสิทธิทั้งหมดตามรายงานของบีบีซี)เห็นชอบให้คาตาลันแยกตัวออกจากสเปน แม้การลงประชามติจะผ่านไปแล้วตั้งแต่เดือนตุลาคมทางการสเปนก็ไม่ยอมรับสถานะของการประชามติครั้งนี้แต่อย่างใด ทั้งยังดำเนินคดีกับผู้นำชาวคาตาลันที่ผลักดันให้มีการทำประชามติด้วยข้อหากบฎและยุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวายจนต้องลี้ภัยไปที่เบลเยียมและมีแกนนำขบวนการเคลื่อนไหวเอกราชคาตาลันอย่างน้อยสองคนที่ถูกคุมขังก่อนการพิจารณาคดียุยงปลุกปั่นและปลุกระดมประชาชน 

ศาลรัฐธรรมนูญสเปนสั่งลดอำนาจการปกครองตัวเองของแคว้น ชนวนเหตุความไม่พอใจครั้งใหม่
ปัญหาเรื่องสถานะหรือแนวคิดเรื่องความเป็นอิสระของแคว้นคาตาลันที่ทำให้รัฐบาลสเปนที่มาดริดเป็นไม้เบื่อไม้เมากับรัฐบาลท้องถิ่นหรือชาวคาตาลันส่วนหนึ่งเป็นปัญหาที่มียาวนานและย้อนกลับไปได้ถึงช่วงก่อนศตวรรษที่ยี่สิบ แต่ชนวนเหตุที่ทำให้เกิดวิกฤติเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาอาจไม่ต้องย้อนกลับไปไกลขนาดนั้น 
ย้อนกลับไปในปี 2549 สภาแห่งแคว้นคาตาลันออกกฎหมายโดยความเห็นชอบของรัฐสภาสเปนผ่านกฎหมายระดับพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารตัวเองของแคว้นคาตาลัน (Statute of Autonomy of Catalonia) ซึ่งมีเนื้อหาขยายขอบเขตอำนาจการปกครองตนเองของแคว้นเช่น การให้ภาษาคาตาลันเป็นภาษาที่ใช้ในหน่วยงานภาครัฐของแคว้นหรือใช้ในสื่อและการเรียนการสอน (ดูมาตรา 6) และการใช้คำว่าชาติ(nation) เป็นคำเรียกแคว้นคาตาลันในส่วนบทเจตนารมณ์ (preamble) ของกฎหมายดังกล่าวเป็นต้น
กฎหมายฉบับดังกล่าวถูกคัดค้านโดยพรรคปอปปูลิสต์(พรรคต้นสังกัดของมาเรียนา มาฮอย นายกรัฐมนตรีสเปนคนปัจจุบัน) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านในขณะนั้น ในปี  2553 ศาลรัฐธรรมนูญสเปนมีคำสั่งให้ระงับการใช้บทบัญญัติตามการกฎหมายการบริหารตัวเองของแคว้นคาตาลัน 14 ข้อซึ่งรวมถึงการใช้คำว่าชาติ (nation) ในบทบัญญัติเจตนารมณ์ของกฎหมายและการใช้ภาษาคาตาลันเป็นภาษาที่ใช้ในหน่วยงานของรัฐหรือในการเรียนการสอน นอกจากนี้ยังให้ปรับเปลี่ยนบทบัญญัติอีก 27 ข้อซึ่งมีผลทำให้อำนาจในการบริหารตัวเองของแคว้นลดลง
การจำกัดอำนาจการบริหารตัวเองของแคว้นโดยศาลรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความไม่พอใจและเกิดการประท้วง อาร์เธอร์ มาส (Artus Mas) นักการเมืองคนสำคัญของแคว้นคาตาลันประกาศว่าหากพรรคของเขาชนะการเลือกตั้งของแคว้น เขาจะจัดให้มีการทำประชามติเรื่องการแยกตัวจากสเปน มาสชนะการเลือกตั้งในปี 2555 และได้จัดทำประชามติในเดือนพฤศจิกายน ปี 2557 ครั้งนั้นมีผู้มาออกเสียงประมาณ 37-41 เปอร์เซ็นต์ และมีผู้ลงคะแนนเห็นชอบให้คาตาลันแยกตัวออกจากสเปนประมาณร้อยละแปดสิบของผู้มาลงคะแนนทั้งหมด
ภาพบรรยากาศในหน่วยออกเสียงประชามติแห่งหนึ่ง ถ่ายโดย Jordi Calvet ในปี 2557
แม้ว่าการลงประชามติครั้งนั้นจะเป็นเพียงการแสดงออกทางการเมืองโดยไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย แต่ก็ทำให้มาสถูกดำเนินคดีฐานกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญของสเปนเนื่องจากในวันที่ 25 มีนาคม 2557 ศาลรัฐธรรมนูญสเปนเคยมีคำสั่งให้คำประกาศแห่งอธิปไตยและสิทธิในการกำหนดอนาคตของชาวคาตาลัน (Declaració de sobirania i el dret a decidir del poble de Catalunya) ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปแล้ว แต่มาสและพวกกลับจัดให้มาการทำประชามติเรื่องการแยกตัวซึ่งถือว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในเดือนมีนาคม 2560 ศาลสเปนสั่งลงโทษปรับมาสเป็นเงิน 36500 ยูโร(ประมาณ 1,400,000 บาท) และถูกสั่งห้ามดำรงตำแหน่งในหน่วยงานภาครัฐเป็นเวลาสองปี 
ข้อหากบฎและยุยงปลุกปั่นคือราคาของการประชามติปี 60
ต้นเดือนตุลาคม 2560 รัฐบาลท้องถิ่นแคว้นคาตาลันนำโดยคาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ จัดให้มีการออกเสียงประชามติอีกครั้ง ครั้งนี้นอกจากการประกาศว่าการลงประชามติเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญแล้วรัฐบาลมาดริดยังเตรียมมาตรการอื่นๆเพื่อยับยั้งการประชามติที่จะเกิดขึ้นด้วย ในวันที่ 1 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันออกเสียงประชามติ ตำรวจปราบจลาจลของสเปนทำการยึดหีบบัตรและบัตรออกเสียงประชามติในหลายๆพื้นที่ของแคว้นคาตาลัน นอกจากนี้ยังได้ทำการปิดกั้นหน่วยออกเสียงบางหน่วยและมีการยิงกระสุนยางใส่ผู้ที่พยายามจะลงคะแนนหรือประท้วงด้วย
เจ้าหน้าที่ตำรวจตรึงกำลังบริเวณที่ทำการของตำรวจแห่งหนึ่งในเมืองบาร์เซโลนาระหว่างที่มีผู้มาประท้วงการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 (ภาพของ Sasha Popovic ถ่ายเมื่อ 3 ตุลาคม 2560)
 
แม้จะถูกปิดกั้นโดยเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางแต่สุดท้ายการลงประชามติก็จบลงด้วยชัยชนะของผู้ที่เห็นด้วยกับการแยกตัว โดยร้อยละเก้าสิบของผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเห็นชอบให้แคว้นคาตาลันแยกตัวออกจากสเปน (การออกเสียงประชามติครั้งนี้มีผู้ออกมาใช้สิทธิคิดเป็นร้อยละ 42 ของผู้มีสิทธิทั้งหมด) การลงประชามติอาจจะจบลงด้วยชัยชนะของฝ่ายเห็นด้วยกับการแยกตัว แต่การแยกตัวจากสเปนอย่างแท้จริงก็ยังไม่เกิดขึ้น 
ภาพการประท้วงในเมืองบาร์เซโลนาหลังเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นบางส่วนถูกเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางคุมตัวกรณีเตรียมจัดให้มีการลงประชามติในวันที่ 1 ตุลาคม 2560 (ภาพโดย Toshiko Sakurai )
 
ในวันที่ 10 ตุลาคม 2560 คาร์เลส ปุยจ์เดอมองต์ ผู้นำรัฐบาลคาตาลันลงนามในคำประกาศแยกตัวจากสเปนเพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของผู้มีสิทธิชาวคาตาลันที่ออกเสียงให้แยกตัวจากสเปน อย่างไรผู้นำรัฐบาลคาตาลันก็ระงับผลของคำประกาศแยกตัวไว้ก่อนเพื่อรอการเจรจากับรัฐบาลสเปน  ขณะที่ทางการสเปนก็มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการลงประชามติครั้งนี้โดยวุฒิสมาชิกของสเปนลงมติเห็นชอบให้รัฐบาลกลางใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญมาตรา 155 เข้าควบคุมการบริหารของแคว้นคาตาลัน  พร้อมทั้งเตรียมงัดมาตรการทางกฎหมายทั้งข้อหากบฎและข้อหายุยงปลุกปั่นให้เกิดความวุ่นวาย (sedition) มาดำเนินคดีกับผู้นำแค้วนคาตาลัน ส่งผลให้ผู้นำบางส่วนเช่นปุยจ์เดอมองต์ต้องออกนอกประเทศ  ด้านแกนนำขบวนการแยกตัวคาตาลันสองคนได้แก่ จอร์ดี คุยซาร์ตและจอร์ดี ซานเชซก็ถูกศาลสเปนสั่งคมขังระหว่างสอบสวนคดีในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นและปลุกระดมประชาชน ขณะที่ผู้บัญชาการตำรวจแคว้นคาตาลันก็ถูกสอบสวนในความผิดฐานยุยงปลุกปั่นด้วยการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ปล่อยให้มีการจัดประชามติที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย