เสียงเกษตรกรต่อ ร่างพ.ร.บ.พันธุ์พืชฯ “ทำไมถึงไม่ให้เราเป็นเจ้าของบ้าง?”

ตามที่กรมวิชาการเกษตรกำลังร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับใหม่ และภาคประชาสังคมที่ติดตามประเด็นดังกล่าวต่างกังวลว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ จะเปิดช่องให้เกิดการละเมิดสิทธิของเกษตรกร ขยายอำนาจการผูกขาดเมล็ดพันธุ์ โดยประเด็นหลักอยู่ที่มาตรา 35 ซึ่งระบุว่า
"เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์ รัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืชมีอำนาจออกประกาศกำหนดพันธุ์พืชใหม่ชนิดใดเป็นพันธุ์พืชที่สามารถจำกัดปริมาณการเพาะปลูกหรือการขยายพันธุ์ทั้งหมดหรือบางส่วนของเกษตรกรได้"
หลายฝ่ายมองว่า การออกประกาศให้จำกัดการปลูกและการขยายพันธุ์พืชชนิดใดจะเป็นการละเมิดสิทธิเกษตรกร กรณีที่เกษตรกรซื้อเมล็ดพันธุ์ที่ถูกออกประกาศไว้มาเพาะปลูก จะไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อเองหรือ แจกจ่าย หรือขายได้ หากฝ่าฝืนจะมีความผิดตามร่าง มาตรา 74 มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 400,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
เดลินิวส์ รายงานข้อมูลจาก สุวิทย์ ชัยเกียรติยศ อธิบดีกรมวิชาการเกษตรว่า ในปัจจุบัน มีพันธุ์พืชคุ้มครอง 455 ทะเบียน โดยแบ่งเป็นพันธุ์พืชคุ้มครองของภาคเอกชน 310 ทะเบียน ภาคราชการ 68 ทะเบียน เกษตรกร 48 ทะเบียน สถาบันการศึกษา 29 ทะเบียน ร่างกฎหมายนี้จะให้โอกาส นักปรับปรุงพันธุ์ ให้มีสิทธิในพันธุ์พืชมากขึ้น จึงขยายเวลาคุ้มครองพันธุ์พืชตามหลักวิชาการให้เหมาะสม หากเกษตรกรรายใด ต้องการขยายพันธุ์ไว้ขายต้องตกลงกับผู้ทรงสิทธิในเมล็ดพันธุ์ นั้นๆ
ไอลอว์ชวนฟังเสียงจากเกษตรกร ที่ไม่ได้เพียงแค่ปลูกพืชเพื่อขายผลเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้ศึกษาและทำงานกับพันธุ์พืชท้องถิ่น และมีรายได้จากการขายต่อเมล็ดพันธุ์ ต่อร่างพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช ฉบับใหม่
ณฐา ชัยเพชร หรือ “แม่จ๋า” อายุ 48 ปี เกษตรกรชาวอำเภอเทพา จังหวัดสงขลา เป็นเกษตรกรที่ทำอาชีพปลูกทั้งข้าว ทั้งยางพารา และยังทำงานเรื่องการอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์ผักพืชบ้าน และข้าวพื้นบ้านด้วย
แม่จ๋า เล่าว่า สมัยก่อนในชุมชนของเธอมีข้าวไร่เยอะมาก ประมาณ 20-30 สายพันธุ์ หลังช่วงปี 2530 มีนโยบายจากรัฐสนับสนุนให้ปลูกยางพาราอย่างเดียว ทำให้ข้าวพื้นบ้านและผักพื้นบ้านจำนวนหนึ่งเริ่มหายไป เช่น ข้าวนั่งทิ่ม ข้าวดอกพยอม ข้าวลูกยีน ข้าวยายอ ฯลฯ เธอสนใจและหันมาศึกษาเรื่องข้าวพื้นบ้าน เพื่อต้องการให้ชุมชนมีข้าวที่กินแล้วปลอดภัย ไม่ต้องซื้อข้าวจากข้างนอก
งานของแม่จ๋า นอกจากจะปลูกพืชผลแล้ว ยังทำหน้าที่สำรวจเรื่องข้าวพื้นถิ่น เก็บเมล็ดพันธุ์ขึ้นมาสำรวจคุณค่าของแต่ละสายพันธุ์ และชักชวนให้ชาวบ้านกลับมาปลูกใหม่
แม่จ๋า เล่าว่า เกษตรกรทั่วไป บางคนก็เก็บเมล็ดพันธุ์จากการเพาะปลูกของตัวเองเพื่อเอาไว้ปลูกต่อ แต่บางคนก็ประสบปัญหา เพราะเมล็ดพันธุ์ที่เก็บไว้ปลูกต่อเองให้ผลผลิตต่ำมาก ต้องอาศัยไปซื้อเมล็ดพันธุ์มาใหม่ตลอด ทำให้ต้นทุนการเพาะปลูกสูงขึ้น ตัวอย่างเช่น ถั่วฝักยาว เดี๋ยวนี้ราคาท้องตลาดอยู่ที่ 8 เมล็ด 30 บาท และยิ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ซื้อจากตลาดก็ยิ่งต้องดูแล ต้องใส่ปุ๋ยมากกว่าพันธุ์ผักพื้นบ้านทั่วไป
แม่จ๋า กล่าวว่า ถ้าพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ เกิดขึ้นจริง คงทำให้เก็บเมล็ดพันธุ์ได้ลำบากขึ้น ประเด็นที่รู้สึกกลัวที่สุด คือ กลัวทำผลผลิตออกมาแล้วจะติดคุก เพราะชาวบ้านไม่ได้มีความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์มากพอ ไม่มีปัญญาไปต่อสู้เรื่องคดีความ เราแค่พัฒนาพืชผลไปตามวิถีของเรา โดยไม่ได้เจาะจงว่า จะต้องมีสารพันธุกรรมตัวนั้นเท่าไร ตัวนี้เท่าไร
“เวลาพัฒนาพันธุ์ใหม่ๆ เราก็ไม่เคยรู้ว่า เมื่อไรจะมีคนมาอ้างว่าพันธุ์ไหนเป็นของตัวเอง เราจะรู้ได้ยังไงว่า พันธุ์ที่มีคนอื่นจดสิทธิบัตรไปนั้นในพื้นที่ของเรามันไม่ได้มีอยู่แต่เดิมแล้ว ซึ่งของเดิมก็ไม่รู้ว่า ใครเป็นคนพัฒนาขึ้น อาจจะเป็นของธรรมชาติ เป็นของชุมชน” แม่จ๋ากล่าว
แม่จ๋า อธิบายจากประสบการณ์ของเธอว่า พืชบางอย่างที่จริงๆ แล้วเป็นพันธุ์เดียวกัน แต่เมื่อไปเกิดคนละที่ก็ถูกเรียกคนละชื่อ เช่น ถั่วนั่ง บางพื้นที่เรียกถั่วพุ่ม แต่จริงๆ เป็นถั่วเดียวกัน หรือ น้ำเต้าขาควาย เธอเคยไปเอามาจากภาคอีสาน แต่พ่อของเธอบอกว่า เมื่อก่อนทวดก็เคยปลูก ที่ภาคใต้ก็มีเหมือนกัน แสดงว่า พืชพันธุ์ต่างๆ จะไปเกิดที่ไหนก็ได้อยู่แล้วบนโลกใบนี้ แล้วเราก็ตอบไม่ได้ว่า ใครเป็นคนปลูกคนแรก
“จริงๆ แล้วเมล็ดพันธุ์มันก็เหมือนชีวิต มันก็มีการเกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยธรรมชาติอยู่แล้ว มันก็อาจจะเป็นลูกคนนี้ เป็นหลานคนนี้ ต่อให้พันธุ์ไปผสมกับสายพันธุ์อื่น แต่สายพันธุ์เดิมของตัวเองก็ยังมีอยู่ ชาวบ้านก็น่าจะยังมีสิทธิใช้สายพันธุ์เดิมอยู่”
“ถ้ากฎหมายนี้ผ่าน แปลว่า ชาวบ้านไม่มีโอกาสถือเมล็ดพันธุ์อยู่ในมือตัวเองเลย ไม่สามารถเอาไปปลูกต่อได้ ไม่มีโอกาสพัฒนาพันธุ์เพื่อเพิ่มรายได้ให้ตัวเอง ตรงกันข้ามกฎหมายน่าจะสนับสนุนให้เกษตรกรพัฒนาเมล็ดพันธุ์ และมีรายได้เพิ่ม” เกษตรกรผู้ศึกษาและพัฒนาพันธุ์พืช กล่าว
เมื่อถามแม่จ๋าว่า ในฐานะที่เธอก็เป็นนักพัฒนาพันธุ์พืชชนิดใหม่ๆ ขึ้นมาเองด้วย เธอต้องการให้มีกฎหมายมาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองหรือไม่ แม่จ๋าตอบว่า ต่อให้เราเป็นคนคิดค้นพันธุ์พืชใหม่ขึ้นมาได้ ก็ไม่เคยกลัวว่า ใครจะมาซื้อเมล็ดพันธุ์เราไปปลูกต่อได้ดี แล้วจะเอาเมล็ดพันธุ์นั้นไปขายต่อ เพราะเป้าหมายของเราไม่ใช่จะยึดประเทศ เราต้องการจะขาย แล้วแบ่งปันกัน เอื้อหนุนกัน ถ้าคนอื่นเอาไปขยายต่อได้ เราก็ภูมิใจแล้ว ถ้าของเราดีจริงก็ไม่มีเหตุอะไรต้องหวง
ประสาน พาโคกทม หรือ “แม่นาง” เกษตรกรชาวอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกข้าว และปลูกพืชผักต่างๆ กว่า 90 ชนิด เช่น แตงไทย บวบ ฟักทอง ฟักเขียว ผักชีลาว ฯลฯ และมีรายได้หลักจากการเก็บเมล็ดพันธุ์ขายกว่า 25 สายพันธุ์
แม่นาง เล่าว่า เมื่อก่อนเคยทำพืชเชิงเดี่ยวแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เธอหันมาทำเกษตรอินทรีย์หลังจากที่เธอไม่สบายเมื่อประมาณปี 2540 ไปหาหมอแล้วก็ไม่หาย จึงลองศึกษาเรื่องเกษตรธรรมชาติ และหันมาเปลี่ยนแปลงตัวเองใหม่ ยืนบนทฤษฎีใหม่ที่ว่า ควรจะปลูกสิ่งที่เรากิน แล้วก็กินสิ่งที่เราปลูกด้วย ก็เลยค่อยๆ ปลูกไปเรื่อยๆ ในสวนของตัวเองขนาด 10 ไร่ และนาขนาด 2 ไร่
แม่นาง เล่าประสบการณ์ว่า หลังจากเข้ามาอยู่ในเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ เวลาไปออกร้านขายก็จะเอาเมล็ดพันธุ์ไปออกร้านด้วย เพื่อให้คนอื่นได้เห็นว่า เราสามารถปลูกพืชเหล่านี้ได้โดยไม่ใช้สารเคมี คนอื่นก็สามารถทำได้ และอยากให้คนอื่นลองเอาไปทำต่อ จนถึงประมาณปี 2552 เมล็ดพันธุ์เริ่มขายดีขึ้น ก็เลยมีคนมาเตือนว่า ถ้าหากเมล็ดพันธุ์ที่เราขายไปตรงกับที่มีคนจดสิทธิบัตรไว้ อาจจะถูกจับได้
“เราก็ตกใจเพราะไม่รู้เรื่องกฎหมายอะไร รู้สึกสงสัยว่า ในเมื่อเราสามารถทำเองได้ ทำไมถึงไม่ให้เราเป็นเจ้าของบ้าง จะให้นายทุนเป็นเจ้าของพันธุ์พืช ทั้งที่ปลูกก็ไม่เป็น ทำอะไรก็ไม่เป็น ไม่ใช่ตัวเองทำสักอย่าง แต่เราลงมือปฏิบัติจริงๆ ก็รู้สึกว่า น่าจะให้เราเป็นเจ้าของ” แม่นางกล่าว
แม่นาง บอกว่า ถ้ากฎหมายจะห้ามเธอขายเมล็ดพันธุ์ที่เธอผลิตได้ ก็คงต้องกลับไปขายผักสดแทน แต่จะมีปัญหาว่า เวลาไม่พอ เพราะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องทำหลายอย่าง ต้องเลี้ยงสัตว์ด้วยเพื่อให้มีมูลสัตว์ไปใส่เป็นปุ๋ย จึงไม่มีเวลาเหลือมากนัก ทุกวันนี้ไม่มีเวลาไปยืนขายในตลาด ไม่มีแรงงานที่จะขนผักไปขาย จึงหันมาเอาดีทางด้านการขายเมล็ดพันธุ์
เมื่อถามแม่นางว่า ในฐานะที่เธอก็ศึกษาและพัฒนาพันธุ์พืช ต้องการให้มีกฎหมายมาคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของตัวเองหรือไม่ แม่นางตอบว่า คนที่ซื้อเมล็ดพันธุ์จากเราไปแล้วจะเอาไปปลูกแล้วผลิตเมล็ดพันธุ์ขายต่อก็ได้ เราไม่สงวนสิทธิเรื่องนี้ โดยทั่วไปคิดว่า เกษตรกรไม่ค่อยขยันอยากจะทำเมล็ดพันธุ์ เพราะต้องใช้เวลานานกว่าการขายผล ที่ผ่านมาก็โฆษณากับคนมาซื้อด้วยซ้ำว่า สามารถเอาไปปลูกแล้วเก็บเมล็ดพันธุ์ไปใช้ต่อได้ ถึงไม่เอาเมล็ดพันธุ์ไปขาย ก็เอาไปปลูกของตัวเองต่อได้ จะได้ไม่ต้องกลับมาซื้ออีก
แม่นาง เล่าประสบการณ์ของเธอด้วยว่า ก่อนหน้านี้สภาเกษตรกรของจังหวัด จะให้เกษตรกรได้มีโอกาสเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปเป็นคณะกรรมการคุ้มครองพันธุ์พืช ปัญหาที่ผ่านมา คือ เรามีตัวแทนไปเป็นกรรมการน้อยมาก มีตัวแทนภาคละหนึ่งคน ทำให้สื่อสารกับสมาชิกเกษตรกรไม่ทั่วถึง มีอยู่ปีหนึ่งที่แม่นางก็เคยไปช่วยเพื่อนหาเสียงเลือกตั้งด้วย แต่ก็แพ้ และรู้สึกว่า คนที่ไปเป็นกรรมการก็ยังทำหน้าที่ได้ไม่เต็มที่ จึงอยากให้เกษตรกรมีตัวแทนเข้าไปเพิ่มด้วย
“เราก็อยากให้ตัวแทนไปต่อสู้แทนเราเรื่องสิทธิบัตรของเมล็ดพันธุ์ อยากให้เกษตรกรมีสิทธิเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์ด้วย เพราะว่า เราเป็นคนทำได้เองจริง บางอย่างเราก็หัดเรียนรู้ผสมพันธุ์ขึ้นมาเอง ขนาดมีตัวแทนของเราเข้าไปบ้าง ยังไม่ค่อยได้อะไรกลับมาเลย ถ้าไม่มีตัวแทนเลย คงไม่รู้จะทำอะไรได้ คงจะมืดหมดเลย” แม่นางกล่าว
ไฟล์แนบ
  • aa (121 kB)