สนช. ออกกฎหมายพลาดไม่เป็นไร ใช้ ม.44 แก้ตัวได้เสมอ

 

รัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ พ.ศ.2557 และรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 265 ได้มอบอำนาจพิเศษให้ หัวหน้าคสช. ในการออกคำสั่งใดๆ ก็ได้ และคำสั่งนั้นมีผลโดยชอบด้วยหมาย ไม่ว่าจะมีผลในทางอำนาจบริหาร ตุลาการ หรือนิติบัญญัติ อำนาจพิเศษนั้นชื่อว่า 'มาตรา 44' ส่วนคำสั่งที่ออกนั้นเรียกว่า "คำสั่ง หัวหน้า คสช."
หลายคนเชื่อว่า อำนาจแบบนี้รวดเร็วดี เป็นยาวิเศษ เมื่อมีปัญหาก็สามารถสั่งแก้ได้ทันที ไม่ล่าช้าเหมือนการออกเป็นพระราชกำหนดที่ต้องผ่านมติคณะรัฐมนตรี หรือพระราชบัญญัติที่ต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา แค่คนเพียงคนเดียวสั่งการก็ให้มีผลทางกฎหมายได้เลย
แต่ดูเหมือนกลุ่มคนที่ได้รับประโยชน์จากอำนาจดังกล่าวจะไม่ได้มีเพียงประชาชนเท่านั้น แต่ก็มี 'สภานิติบัญญัติแห่งชาติ' หรือ สนช. ร่วมอยู่ด้วยเช่นกัน เนื่องจาก บางครั้งกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ สนช. แล้วถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคมและอาจสร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวง หัวหน้าคสช. จึงจำเป็นต้องใช้อำนาจพิเศษนี้ออกคำสั่งมาแก้ไขปัญหาจากกฎหมายที่สนช. เป็นคนออก เฉลี่ยปีละ 1 ครั้ง 
ในปี 2559 เมื่อ พ.ร.บ.ธุรกิจรักษาความปลอดภัย พ.ศ.2558 กำลังจะมีผลบังคับใช้ กลุ่มผู้ประกอบการและคนทำงานต่างก็ออกมาคัดค้าน โดยเฉพาะมาตรา 34 ก. (3) ที่กำหนดว่าผู้จะทำอาชีพ รปภ. ต้องสําเร็จการศึกษาภาคบังคับตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาภาคบังคับ ซึ่งก็คือ ต้องมีวุฒิมัธยมศึกษาตอนต้นขึ้นไป เนื่องจากเห็นว่ามาตราดังกล่าวจะทำให้มีผู้ที่ประกอบอาชีพดังกล่าวต้องตกงานและกีดกันโอกาสสำหรับคนที่มีการศึกษาน้อย
สุดท้าย หัวหน้า คสช. ต้องออกคำสั่งฉบับที่ ที่ 67/2559 เรื่อง การแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยธุรกิจรักษาความปลอดภัย เพื่อแก้ไขมาตราดังกล่าวว่า เป็นว่า คนที่สำเร็จการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาภาคบังคับที่ใช้อยู่ขณะนั้น แม้จะไม่ถึงการศึกษาระดับที่กฎหมายปัจจุบันยังคับก็สามารถทำงานเป็น รปภ. ได้ 
หรือในปี 2560 เมื่อ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำฯ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ มาตรา 118 กำหนดให้ ผู้ที่ปลูกสร้างสิ่งล่วงล้ำลำน้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษปรับตารางเมตรละ 1,000-20,000 บาท และโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ถ้ายังไม่รื้อถอนหรือแก้ไขให้ปรับอีกวันละ 20,000 บาท/ตารางเมตร
หลังประกาศใช้ส่งผลให้ชุมชนริมน้ำได้รับผลกระทบอย่างมาก ทั้งที่กลุ่มคนเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ร่วมกับพื้นที่มาอย่างยาวนาน ยกตัวอย่างเช่น ประชาชนหมู่บ้านปันหยี จังหวัดพังงา ที่เป็นหมู่บ้านกลางน้ำ และดำเนินการใช้ชีวิตมากว่า 300 ปีแล้ว บ้านเรือนของชาวบ้านได้ปลูกสร้างอยู่กลางน้ำต้องได้รับผลกระทบ
ท้ายที่สุด หัวหน้าคสช. ต้องใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 32/2560 เรื่อง การบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชนในกรณีปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ โดยให้ชะลอการเก็บค่าปรับเพื่อการบรรเทาความเสียหายให้แก่ประชาชน ที่ปลูกสร้างอาคารหรือสิ่งอื่นใดล่วงล้ำลำน้ำ โดยกำหนดให้การบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ชะลอออกไป และผู้ที่เข้าข่ายว่ามีความผิดในการสร้างสิ่งปลูกสร้างหรืออาคารที่ล่วงล้ำลำน้ำ ถ้าได้แจ้งต่อเจ้าท่าภายใน 60 วัน จะได้ยกเว้นโทษปรับและโทษจำคุก
ทั้งหมดนี้เป็นตัวอย่าง ของการใช้ มาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหาจากสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. เอง ส่วนสถานการณ์ปีหน้า ก็ยังไม่รู้ว่า หัวหน้าคสช. ยังต้องใช้ 'ม.44' แก้ตัวให้สนช. อีกหรือไม่ เป็นสิ่งที่ประชาชนต้องเฝ้าติดตามต่อไป จนกว่าผู้มีอำนาจในทุกวันนี้จะเรียนรู้และปรับปรุงตัว…