ขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชน

เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 บังคับใช้ เท่ากับเป็นการเริ่มต้นอีกครั้งของ “สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” โดยประชาชน หลังจากสิทธินี้ถูกระงับไปกว่าสามปีที่ คสช. เข้ามาบริหารประเทศ รัฐธรรมนูญกำหนดรายละเอียดให้เปลี่ยนไปเล็กน้อย ส่วนสาระสำคัญยังเหมือนเดิม คือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ต่อรัฐสภาเพื่อให้พิจารณาออกเป็นกฎหมาย ร่างพ.ร.บ. ที่ประชาชนจะเสนอได้ ต้องเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญในหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ
ส่วนขั้นตอนรายละเอียดอื่นๆ รัฐธรรมนูญบัญญัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันมี พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ.2556 กำหนดไว้ ดังนี้
1. การริเริ่มเสนอร่างพ.ร.บ.ใช้คนไม่น้อยกว่า 20 คน
ขั้นตอนแรก ให้มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เป็น “ผู้ริเริ่ม” จำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน ยื่นความประสงค์ต่อประธานรัฐสภา โดยต้องจัดทำร่างพ.ร.บ. พร้อมหลักการและเหตุผลไปเสนอด้วย
2. ประธานฯ ตรวจสอบหลักการและเนื้อหาภายใน 15 วัน
ขั้นตอนที่สอง ประธานรัฐสภาจะตรวจสอบว่าร่างพ.ร.บ.ที่มีผู้ริเริ่มเสนอมานั้นมีหลักการและเนื้อหาเป็นไปตามหมวด 3 สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย และหมวด 5 หน้าที่ของรัฐ หรือไม่ โดยประธานรัฐสภาจะต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 15 วัน
หากเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ที่เสนอมานั้นหลักการและเนื้อหาไม่เป็นไปตามหมวด 3 และหมวด 5 ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งผู้ริเริ่มทราบเป็นหนังสือพร้อมทั้งส่งเรื่องคืน เพื่อประชาชนจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาและเงินทุนในการระดมรายชื่อ
3. ชักชวนประชาชนเข้าชื่อไม่กำหนดระยะเวลา
ขั้นตอนที่สาม เมื่อประธานรัฐสภาพิจารณารตรวจสอบร่างพ.ร.บ.แล้ว ผู้ริเริ่มจึงจะนำร่างพ.ร.บ.นั้นไปชักชวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ลงลายมือชื่อร่วมกันเสนอ โดยเอกสารการลงลายมือชื่อทุกแผ่นจะต้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับ
1) ชื่อตัวและชื่อสกุล
2) หมายเลขประจำตัวประชาชน
3) ข้อความปรากฎเพื่อให้ทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ใด
4) สามารถตรวจสอบร่างพ.ร.บ.ได้ที่ใด
โดยประชาชนที่ร่วมเข้าชื่อ ต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน พร้อมลงชื่อรับรองสำเนาถูกต้องด้วย แต่ไม่ต้องแนบสำเนาทะเบียนบ้าน สำหรับขั้นตอนการชักชวนประชาชนให้ลงลายมือชื่อสนับสนุนร่างพ.ร.บ.ไม่ได้จำกัดระยะเวลาในการดำเนินการ
4. ครบหมื่นชื่อยื่นคำร้องต่อประธานรัฐสภา
ขั้นตอนที่สี่ เมื่อผู้ริเริ่มรวบรวมรายชื่อประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน แล้ว ให้ยื่นคำร้องขอเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ต่อประธานรัฐสภา พร้อมเอกสารดังนี้
1. สำเนาร่างพ.ร.บ.ที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณา พร้อมทั้งบันทึกหลักการและเหตุผลในการเสนอ
2. เอกสารการลงลายมือชื่อของประชาชนจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน พร้อมด้วยสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน
3. บัญชีรายชื่อผู้แทนของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.จำนวนไม่เกิน 60 คน ที่จะทำหน้าที่ชึ้แจงร่างพ.ร.บ. ต่อสภาและเข้าร่วมเป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.นั้น
5. ตรวจสอบไม่ถึงหมื่นชื่อ ต้องหาเพิ่มภายใน 90 วัน
ขั้นตอนที่ห้า เมื่อประธานรัฐสภาได้รับเรื่องแล้ว ต้องตรวจสอบความถูกต้องและครบถ้วนของเอกสารให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน ถ้าเห็นว่าถูกต้องแล้ว ประธานจะจัดให้มีการประกาศรายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนั้นต่อไป
ในกรณีที่ตรวจสอบแล้วเห็นว่า มีรายชื่อประชาชนหรือมีเอกสารไม่ถูกต้องครบถ้วน ทำให้จำนวนผู้เข้าชื่อมีจำนวนไม่ถึง 10,000 คน ให้แจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้ริเริ่มเพื่อให้จัดให้เข้าชื่อเสนอเพิ่มเติมให้ครบ ภายใน 90 วัน
6. ประกาศรายชื่อให้ประชาชนตรวจสอบก่อนเข้าสภา
ขั้นตอนที่หก เมื่อเห็นว่ารายชื่อถูกต้องครบถ้วนแล้ว ถึง 10,000 คน ให้ประธานรัฐสภาประกาศรายชื่อของผู้ที่เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ในช่องทางต่างๆ ดังนี้
1. สื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หรือ เว็บไซต์ www.parliament.go.th
2. จัดทำบัญชีรายชื่อเพื่อให้ประชาชนได้ตรวจสอบ ณ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้สภาผู้แทนราษฎร
3. มีหนังสือแจ้งไปยังผู้มีรายชื่อเป็นผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายทุกคน
หากผู้ใดพบว่า มีรายชื่อของตนเป็นผู้เข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นั้น โดยที่ไม่ได้ร่วมลงชื่อเสนอ ผู้นั้นสามารถยื่นคำร้องคัดค้านต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ขีดฆ่ารายชื่อออกหากพ้นกำหนด 30 วัน ไม่มีผู้ใดคัดค้านให้ถือว่ารายชื่อนั้น เป็นชื่อที่ถูกต้อง
เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการข้างต้นแล้วประธานรัฐสภาจะพิจารณานำร่างพ.ร.บ.นั้นเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมของสภา เพื่อพิจารณาว่าจะออกเป็นกฎหมายหรือไม่ ทั้งนี้หากประธานเห็นว่าร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเกี่ยวกับการเงินจะต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนด้วย