‘การสรรหา กกต.’ บทเรียนแรกหลังใช้กฎหมายลูกฉบับใหม่

พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 แค่เริ่มประกาศใช้ไม่ถึง 3 เดือน ก็มีปัญหา ไล่ตั้งแต่การหาคนมาเป็นคณะกรรมการสรรหา กกต. ที่ไม่สามารถหาผู้มีคุณสมบัติได้ทันตามกรอบเวลา ไปจนถึงสัดส่วนของผู้สมัครเป็น กกต. ที่ค่อนข้างกระจุกอยู่ในกลุ่มข้าราชการและนักกฎหมาย
นับถึง 23 พฤศจิกายน 2560 พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้มาแล้ว 68 วัน หลังประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2560 เป็นต้นมา แต่ทว่ากว่ากฎหมายจะผ่านการพิจารณาจากสภาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะเจ้าของกฎหมายอย่าง กกต. มีความเห็นแย้งกับบทบัญญัติบางมาตรา โดยเฉพาะเรื่อง 'คุณสมบัติ' ของคณะกรรมการสรรหา และคุณสมบัติผู้ที่จะมาเป็น กกต. เพราะมองว่ามันจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติเมื่อมีการประกาศใช้
รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดว่า ถ้าหน่วยงานเจ้าของกฎหมายเห็นแย้ง ก็จำเป็นจะต้องตั้งกรรมาธิการสามฝ่าย อันประกอบด้วย กกต. ตัวแทนจากสนช. และตัวแทนจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณาอีกครั้ง ก่อนจะส่งให้ที่ประชุม สนช. ลงมติอีกรอบ แต่ดูเหมือน ความเห็นแย้งของ กกต. จะไม่มีน้ำหนักพอ เพราะท้ายที่สุด ที่ประชุม สนช. ก็ลงมติเอกฉันท์ให้ผ่านกฎหมายฉบับนี้
จนกระทั่ง เริ่มมีการตั้งคณะกรรมการสรรหา กกต. ตามกฎหมาย สิ่งที่ กกต. เคยท้วงติงไว้ ดูเหมือนจะเริ่มมีน้ำหนัก เพราะการหาคนเป็นกรรมการสรรหายาก บางองค์กรไม่สามารถหาได้ทันตามกรอบเวลา และได้คนที่ขาดความรู้ความเชี่ยวชาญจริงๆ มาคัดเลือก กกต. ส่วนด้านผู้สมัคร กกต. ก็ไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่มาจากสายนักกฎหมายและข้าราชการ
'คณะกรรมการสรรหา กกต.' หาไม่ได้-ส่งไม่ทัน
ตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ.2560 ในหมวดบทเฉพาะกาล กำหนดให้ กกต. ชุดปัจจุบัน ต้องพ้นไปจากตำแหน่งหลังกฎหมายประกาศใช้ และให้ตั้งคณะกรรมการสรรหาเพื่อดำเนินการคัดเลือกผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กกต. ชุดใหม่ ภายใน 20 วัน
โดยคณะกรรมการสรรหาจะประกอบไปด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานศาลปกครองสูงสุด และบุคคลที่องค์กรอิสระแต่งตั้งที่ไม่เคยเป็นศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระมาก่อน แต่เนื่องจากยังไม่มีสภาผู้แทนราษฎร จึงไม่มีกรรมการที่มาจากผู้นำฝ่ายค้าน และให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร
อย่างไรก็ดี ปรากฎว่า บางองค์กรเกิดปัญหาเพราะไม่สามารถส่งรายชื่อคนที่มีคุณสมบัติไม่ทันตรงตามเวลา อย่างเช่น คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ที่กว่าจะหาบุคคลที่เหมาะสมได้ ก็ล่วงเลยเวลาส่งรายชื่อไปแล้ว หรือ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ส่งรายชื่อไปแล้วแต่บุคคลดังกล่าวไม่ผ่านคุณสมบัติและไม่สามารถหาคนใหม่ได้ทันตามกรอบเวลา
เท่ากับว่า คณะกรรมการสรรหา ที่ควรมีทั้งหมด 9 คน จึงมีเพียงแค่ 6 คน ได้แก่ ชีพ จุมนต์ ประธานศาลฎีกา, ปิยะ ปะตังทา ประธานศาลปกครองสูงสุด, ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ 
ส่วนคณะกรรมการสรรหาที่มาจากการแต่งตั้งโดยองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ มี 3 คน ได้แก่ ศาสตราจารย์เจริญศักดิ์ โรจนฤทธิ์พิเชษฐ์ อดีตรองอธิการบดี และอดีตคณบดีคณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศาสตราจารย์ไพโรจน์ กัมพูสิริ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชี่ยวชาญด้านกฎหมายครอบครัว และ ประเสริฐ โกศัลวิตร อดีตอธิบดีกรมหม่อนไหม และกรมการข้าวฯ
คุณสมบัติใหม่ ซื้อใจบรรดาข้าราชการและนักกฎหมายมากที่สุด
คุณสมบัติของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่ง กกต. ตามกฎหมายลูกฉบับใหม่ เรียกได้ว่า 'สูงกว่าเดิมมาก' เนื่องจากมีการเพิ่มคุณสมบัติเฉพาะสำหรับผู้สมัครลงไปว่า ต้องมีคุณสมบัติในข้อใดข้อหนึ่ง ดังต่อไปนี้
  • ต้องรับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการ หรือตำแหน่งผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจ ไม่น้อยกว่า 5 ปี 
  • ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ 
  • เป็นหรือเคยเป็นผู้ประกอบวิชาชีพที่มีกฎหมายรับรองการประกอบวิชาชีพ ไม่น้อยกว่า 20 ปี 
  • เป็นผู้มีความรู้ความชำนาญและประสบการณ์ทางด้านการบริหารในระดับไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดมาแล้วไม่น้อยกว่า 10 ปี 
  • เคยเป็นผู้ดำรงตำแหน่งตามที่กล่าวมาข้างต้นรวมกันไม่น้อยกว่า 10 ปี
  • เป็นผู้ทำงานหรือเคยทำงานในภาคประชาสังคมมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี 
แม้การกำหนดคุณสมบัติข้างต้นนี้จะดูเป็นการยกระดับมาตรฐานของคนที่จะมาสมัคร แต่ทว่า ในทางปฏิบัติ คุณสมบัติเช่นนี้กลับเป็นที่ล่อต่าล่อใจของกลุ่มข้าราชการและนักกฎหมายมากที่สุด 
จะเห็นได้ว่า หลังเปิดรับสมัครไประหว่างวันที่ 19 ตุลาคม ถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ก็มีผู้สมัครมาทั้งสิ้น 41 คน หากดูจากคุณสมบัติแต่ละคนแล้ว จะพบว่า กลุ่มข้าราชการเป็นผู้สมัครมากที่สุด จำนวน 19 คน ได้แก่ ข้าราชการพลเรือน 16 คน ข้าราชการทหาร 2 คน และตำรวจ 1 คน ถัดมาเป็น กลุ่มวิชาชีพ 13 คน ได้แก่ ทนายและนักกฎหมาย 11 คน นักธุรกิจ นักบัญชี การเงินการคลัง 2 คน กลุ่มภาคประชาสังคม 5 คน และกลุ่มนักวิชาการ 4 คน นอกจากนี้ ถ้าดูจำนวนอายุุของผู้สมัครจะพบว่า อายุของผู้สมัครกระจุกตัวอยู่ที่ช่วง 50-60 ปี โดยมีอายุต่ำสุด 45 ปี และสูงสุด 66 ปี
อย่างไรก็ดี ขั้นตอนหลังจากนี้เหลือเวลาอีก 58 วัน ก่อนที่คณะกรรมการสรรหาจะต้องส่งรายชื่อ 'ว่าที่ กกต.' ให้สนช. พิจารณา (สนช. ทำหน้าที่แต่งตั้งแทนวุฒิสภา) เพราะกรอบเวลาตามกฎหมายกำหนดให้กระบวนการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาและกระบวนการสรรหาผู้สมควรดำรงตำแหน่ง กกต. ต้องแล้วเสร็จใน 120 วัน 
ทั้งนี้ จึงต้องคอยจับตาดูต่อไปว่า หน้าตาของคณะกรรมการการเลือกตั้งชุดใหมจะเป็นใครและมีความเหมาะสมมากน้อยแค่ไหนในการจัดการเลือกตั้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2561 ตามโรดแมปของ คสช.