ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา การปล่อยตัวชั่วคราว “เพิ่มโทษซ้ำ หากหนีประกัน”

วันที่ 19 ตุลาคม 2560 ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (แก้ไขเพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราว และการใช้สิทธิฟ้องร้องดำเนินคดีหรือการดำเนินกระบวนพิจารณาในคดีอาญา) หรือ "ร่าง พ.ร.บ.แก้ไข ป.วิอาญา การปล่อยตัวชั่วคราว" ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรก โดยสมาชิกสนช.ได้ร่วมกันเสนอ ซึ่งให้เหตุผลว่า บทบัญญัติของกฎหมายที่เกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาและการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่มีอยู่ไม่เหมาะสมกับสังคมปัจจุบันและไม่สามารถคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม โดยมีสาระสำคัญดังนี้
ตัดการประเมินความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักประกัน ออกจากหลักการพิจารณาปล่อยตัวชั่วคราว 
เดิมตาม มาตรา 108 วรรคแรก และมาตรา 108/1 กำหนดปัจจัยในการพิจารณาคำร้องขอให้ปล่อยตัวชั่วคราวไว้ โดยให้พิจารณาจาก ความหนักเบาแห่งข้อหา, พยานหลักฐานที่ปรากฏแล้วในคดี, พฤติการณ์ต่างๆ ในคดีเป็นอย่างไร, ความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน, โอกาสหลบหนีของผู้ต้องหาหรือจำเลย, คำร้องขอคัดค้านการปล่อยตัวจากพนักงานสอบสวน อัยการ ฝ่ายโจทก์ หรือผู้เสียหายในคดี, ความอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นหากปล่อยตัวชั่วคราว เช่น ผู้ต้องหาหรือจำเลยจะเข้าไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ไปก่อเหตุอันตรายอื่นๆ หรือเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพนักสอบสวนและการดำเนินคดีในศาล ซึ่งการพิจารณาเป็นหน้าที่ของผู้พิพากษาในคดีที่ต้องใช้ดุลพินิจพิจารณาปัจจัยในแต่ละข้อประกอบกัน 
ในร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ได้ตัดในส่วนของ “ความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันหรือหลักทรัพย์ที่ใช้ประกัน” ออกไป โดยให้เหตุผลว่า การให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือของผู้ร้องขอประกันและหลักประกันเป็นปัจจัยในการปล่อยตัวชั่วคราวนั้น ส่งผลให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่มีฐานะยากจนที่ไม่สามารถหาหลักประกันซึ่งต้องเป็นทรัพย์สิน อาจต้องกู้ยืมเงินหรือเช่าหลักประกันจากนายประกันอาชีพเพื่อใช้เป็นหลักประกันซึ่งทำให้เกิดภาระหนี้สินตามมาอย่างมากมายในระหว่างสู้คดี ทั้งที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยดังกล่าวอาจจะไม่มีพฤติกรรมที่หลบหนี ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานหรือละเมิดต่อปัจจัยในการพิจารณาในข้ออื่น
เปิดช่องคดีโทษสูงประกันไม่ต้องใช้หลักทรัพย์
เดิมในมาตรา 110 กำหนดให้คดีที่มีโทษจำคุกอย่างสูงเกินห้าปีขึ้นไป การจะขอปล่อยตัวชั่วคราวนั้นต้องมีประกันและจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้ ซึ่งการพิจารณาว่าจะให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวหรือไม่ก็เป็นดุลพินิจของผู้พิพากษาในคดีเท่านั้น แต่ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ได้ยกเลิกกฎหมายในส่วนนี้ไป โดยให้เหตุผลว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ยากจนอาจไม่มีหลักทรัพย์ประกันตัวพอทำให้ไม่ได้รับโอกาสที่จะปล่อยตัวชั่วคราวและทำให้ต้องสูญเสียอิสรภาพไปโดยปริยาย
เพิ่มความเห็นเจ้าพนักงานประเมินความเสี่ยงเป็นปัจจัยในการพิจารณาการปล่อยตัวชั่วคราว
ในร่างพ.ร.บ.ฉบับแก้ไข มีการเพิ่ม มาตรา 108 วรรคสอง ให้ศาล และตำรวจ สามารถฟังข้อเท็จจากเจ้าพนักงานซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการประเมินความเสี่ยง เพื่อพิจารณาความสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว จากงานเสวนา “ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา” มุขเมธิน กลั่นนุรักษ์ ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลประจำสำนักประธานศาลฎีกา ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า
จากการวิจัย การประกันตัวด้วยหลักทรัพย์จำนวนน้อยหรือมากก็มีอัตราหนีเช่นกัน อัตราโทษสูงหรือต่ำไม่ได้สัมพันธ์กับการหนีคดี ศาลยุติธรรมได้นำแบบประเมินความเสี่ยงมาทดลองใช้ในศาลยุติธรรมบ้างแห่ง เจ้าหน้าที่ศาลที่มีหน้าที่ประเมินความเสี่ยงจะถามผู้ต้องหาเกี่ยวกับปัจจัยความเสี่ยงของผู้หลบหนีและเสนอคะแนนความเสี่ยงต่อผู้พิพากษา แม้คุณจะยากจนแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีความเสี่ยงเราจะปล่อยตัวไป ผู้พิพากษาสามารถใช้ดุลพินิจประกอบการการพิจารณาได้ หากขยายผลได้ก็จะทำให้คนได้รับความเป็นธรรมมากขึ้น
เพิ่มข้อหาใหม่หากหลบหนีขณะปล่อยตัวชั่วคราว
ในร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม ได้เพิ่มบทบัญญัติโทษใหม่ มาตรา 117/1  หากผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนีในระหว่างได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว โดยมีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้แยกเป็นความผิดข้อหาใหม่  ต้องรับโทษแม้คดีเดิมจะสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้องแม้คดีจะมีการสั่งไม่ฟ้อง ยกฟ้อง จำหน่ายคดี หรือถอนฟ้อง อีกทั้งร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมยังเพิ่มอำนาจให้ศาลแต่งตั้งเจ้าพนักงานศาลให้มีอำนาจดำเนินการแจ้งฝ่ายปกครอง หรือตำรวจจับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่หลบหนี หรือถ้ามีเหตุจำเป็นก็สามารถจับเองได้ ซึ่งการเพิ่มโทษและความเข้มงวดเกี่ยวกับการปล่อยตัวชั่วคราวมากขึ้นเพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในอดีตที่การปล่อยตัวชั่วคราวไม่มีมาตรการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพทำให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวหลบหนีและเกิดความเสียหายต่อกระบวนการยุติธรรม
หากฟ้องคดีเพื่อกลั่นแกล้ง ให้ศาลไม่ประทับรับฟ้องคดีนั้นก็ได้
ในร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้ ยังมีเรื่องสำคัญอีกเรื่องที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือ มาตรา 161/1 ในการฟ้องคดีที่ประชาชนเป็นโจทก์หรือผู้ฟ้องคดีนั้น หากเป็นการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลย หรือฟ้องโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึ่งได้ตามปกติ เช่น การยื่นฟ้องต่อศาลในพื้นที่ห่างไกลเพื่อให้จำเลยเดินทางลำบากในการต่อสู้คดี หรือการฟ้องคดีในข้อหาที่หนักกว่าความเป็นจริงเพื่อให้จำเลยยอมอะไรบางอย่าง โดยเฉพาะคดีที่ฟ้องเพื่อคุกคามการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานของจำเลยเพื่อปกป้องประโยชน์สาธารณะ ให้ศาลมีคำสั่งไม่ประทับรับฟ้องคดีเหล่านั้นก็ได้ และห้ามโจทก์ฟ้องคดีดังกล่าวซ้ำ แต่ไม่ตัดอำนาจพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นแทนได้ สำหรับเหตุผลในการเพิ่มมาตรานี้คือ เพื่อให้กฎหมายมีความเหมาะสมกับปัจจุบันและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
แก้กฎหมายใหม่แก้ไขเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวได้จริงหรือไม่
ประเด็นการแก้ไขป.วิอาญา เรื่องการปล่อยตัวชั่วคราว ยังคงมีที่ถกเถียงว่าการแก้กฎหมายจะช่วยให้สิทธิในการประกันตัวของผู้ต้องหาเกิดขึ้นจริงในทางปฏิบัติได้หรือไม่ ในงานเสวนา “ปฏิรูปการประกันตัวเพื่อความเสมอภาคในสังคม: ร่วมกันแสวงหามาตรการทดแทนการขังระหว่างพิจารณา” มีความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า
ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่บัญญัติ เรื่อง การปล่อยตัวชั่วคราวมีความล้าหลังกว่าหลักสิทธิมนุษยชนในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายดังกล่าวไม่เคยถูกทบทวนหรือนำมาใช้ให้สอดคล้องกับหลักในรัฐธรรมนูญ การปล่อยตัวชั่วคราวของไทยเป็นเรื่องทวนกระแสกับหลักสิทธิมนุษยชน กล่าวคือ ตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล แม้ว่าจะมีการกล่าวหาผู้ต้องหาว่ามีความผิด แต่ศาลจะต้องปล่อยตัวจนกว่าจะพิสูจน์ความผิดได้ หากมีเหตุต้องขังไว้ ศาลจะต้องรับภาระการพิสูจน์เหตุในการขัง กลับกันในกรณีของไทยเมื่อกล่าวหาแล้วจะต้องขังไว้ทันที หากไม่มีการประกันตัว ผู้ต้องหาก็ถูกขังไปจนกว่าคดีจะสิ้นสุด
นอกจากนี้ผู้บังคับใช้กฎหมายไม่กล้าใช้ดุลพินิจที่ประมวลวิธีพิจารณาความอาญาเปิดช่องไว้ให้ ที่จะสั่งปล่อยตัวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน เพราะกลัวเดือดร้อน และผู้พิพากษาจำนวนมากเหมือนไม่ทราบด้วยซ้ำว่าสามารถใช้ดุลพินิจได้
บุญรอด ตันประเสริฐ ผู้พิพากษาอาวุโส ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กล่าวในงานเดียวกันว่า ที่ผ่านมาพัฒนาการเรื่องหลักประกันมีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เดิมทีผู้ต้องหาจะต้องเขียนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวเอง หลังจากนั้นศาลมีพัฒนาการจัดหาบุคลากรให้คำแนะนำในการขอปล่อยตัวชั่วคราว ในปัจจุบันขยายขอบเขตการใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้บริษัทประกันภัย และกองทุนยุติธรรม แม้ว่าศาลจะมีความยืดหยุ่นที่สูง แต่สถิติการขอปล่อยตัวชั่วคราวมีผู้ต้องหาเพียงร้อยละ 40 เท่านั้นที่ได้ปล่อยตัว อีกร้อยละ 60  ต้องถูกขัง ซึ่งบางส่วนเป็นผู้ต้องหาที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ประกอบกับการทำงานเรื่องการปล่อยตัวชั่วคราวของศาลยังเป็นการทำงานเชิงรับที่หากผู้ต้องหาไม่ร้องขอการปล่อยตัวชั่วคราว ศาลจะมีหมายขังต่อไปจนกว่าคดีจะเสร็จสิ้น ทำให้แต่ละปีมีผู้ต้องหาจำนวนมากต้องถูกขังไว้ระหว่างการพิจารณา
การทำงานเชิงรับเช่นนี้ ทำให้ผู้ต้องหาร้อยละ 60 ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ซึ่งการที่ศาลจะทำงานเชิงรุกได้จะต้องมีข้อมูลที่เพียงพอสำหรับการพิจารณาว่า ผู้ต้องหาแต่ละคนมีความเสี่ยงจะหลบหนีหรือไม่ ดังนั้น การพัฒนาเครื่องมือขึ้นมาใหม่ จะทำให้ศาลมีดุลพินิจสั่งปล่อยตัวผู้ต้องหาได้มากกว่าการใช้เงิน ซึ่งจริงๆ แล้วก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี
ไฟล์แนบ