พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ “ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ห้ามประชานิยม”

วันที่ 7 ตุลาคม 2560 พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 หรือ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ประกาศใช้อย่างเป็นทางการ ความสำคัญของกฎหมายฉบับนี้คือ เป็นหนึ่งในสี่กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้ง ตามโรดแมปที่จะเกิดอย่างช้าในเดือนพฤศจิกายน 2561
สาระสำคัญของพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ฉบับนี้คือ การกำหนดสิ่งที่พรรคการเมืองต้องทำก่อนไปสู่การเลือกตั้ง โดยกฎหมายจะกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการจัดตั้งพรรคการเมือง การหาสมาชิกพรรค การหาเสียงเลือกตั้ง รวมไปถึงบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับศาลรัฐธรรมนูญ ในการลงโทษตัดสิทธิเลือกตั้งกรรมการบริหารและยุบพรรคการเมือง
ตั้งพรรคใหม่ต้องใช้อย่างน้อย 500 รายชื่อ บังคับจ่ายคนละ 1,000 บาท รวมกันให้ได้หนึ่งล้าน
สำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ มาตรา 9 กำหนดให้ บุคคลไม่น้อยกว่า 500 คน ซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกันอาจร่วมกันดำเนินการเพื่อจัดตั้งพรรคการเมือง แต่การตั้งพรรคการเมืองใหม่ได้ต้องมีทุนประเดิมไม่น้อยกว่า 1,000,000 บาท โดยผู้ร่วมกันจัดตั้งพรรคการเมืองทุกคนต้องร่วมกันจ่ายเงินเพื่อเป็นทุนประเดิมคนละไม่น้อยกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกินคนละ 50,000 บาท
สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดว่าถ้ายังมีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องดำเนินการให้มีสมาชิกให้ครบ 500 คน ภายใน 180 วันนับแต่วันที่ พ.ร.ป.ฉบับใหม่ใช้บังคับ และจัดให้มีทุนประเดิมจำนวน 1,000,000 บาท เช่นเดียวกับพรรคการเมืองที่ตั้งใหม่ 
ทั้งนี้ หากย้อนกลับไปดู พ.ร.ป.พรรคการเมือง พ.ศ.2550 จะพบว่าการจัดตั้งพรรคการเมืองเป็นไปอย่างง่ายดายมากกว่า เพราะประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 15 คน ก็สามารถตั้งพรรคการเมืองได้ และไม่มีบทบัญญัติให้พรรคการเมืองต้องมีทุนตั้งต้นประเดิมมาก่อน
ตั้งพรรรคหนึ่งปีต้องมีสมาชิก 500 คน สี่ปีต้องเพิ่มเป็น 10,000 คน
เมื่อรวบรวมสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งได้ครบจำนวน 500 คนขึ้นไป และได้ทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อย มาตรา 33 (1) กำหนดให้นับแต่วันที่จดทะเบียนพรรคการเมือง ภายในหนึ่งปีพรรคการเมืองต้องดำเนินการให้มีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5,000 คน และต้องเพิ่มจำนวนสมาชิกให้มีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี
สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดให้สมาชิกพรรคจำนวนไม่น้อยกว่า 500 คน ต้องชำระค่าบำรุงพรรคภายในเวลา 180 และจัดให้สมาชิกพรรคชำระเงินค่าบำรุงพรรคให้ได้จำนวน ไม่น้อยกว่า 5,000 คนภายในหนึ่งปี และให้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คนภายในสี่ปี เมื่อพ้นระยะเวลาสี่ปีแล้ว ให้สมาชิกภาพของสมาชิกที่มิได้ชำระค่าบำรุงพรรค เป็นอันสิ้นสุดลง
พรรคเก่าจัดประชุมใหญ่ภายใน 180 วัน และต้องมีสาขาพรรคอย่างน้อย 4 สาขา
นับตั้งแต่พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ บังคับใช้ภายในเวลา 180 วัน มาตรา 141 (6) กำหนดให้พรรคการเมืองเก่าจัดให้มีการประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและจัดทำคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองและนโยบายของพรรคการเมือง และเลือกหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง การประชุมใหญ่ต้องมีหัวหน้าสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสี่สาขา และมีสมาชิกของพรรคการเมืองซึ่งรวมกันแล้วมีจำนวนไม่น้อยกว่า 250 คน เข้าร่วมประชุม
ตั้งสาขาพรรคอย่างน้อยภาคละ 1 สาขา และต้องมีสมาชิกอย่างน้อย 500 คน ใน 1 ปี
เมื่อพรรคการเมืองทำการจดทะเบียนพรรคการเมืองเรียบร้อย มาตรา 33 (2) กำหนดว่าภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จดทะเบียน พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดให้มีสาขาพรรคในแต่ละภาคตามบัญชีรายชื่อภาคและจังหวัด ที่กกต.กำหนด อย่างน้อยภาคละหนึ่งสาขา โดยสาขาพรรคการเมืองแต่ละสาขาต้องมีสมาชิกที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบของสาขานั้นตั้งแต่ 500 คนขึ้นไป
ทั้งนี้ เขตเลือกตั้งในจังหวัดใดไม่ได้มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่หรือสาขาพรรคการเมือง มาตรา 35 กำหนดว่า ถ้าพรรคการเมืองนั้นมีสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นเกิน 100 คน ให้พรรคการเมืองนั้นแต่งตั้งสมาชิกซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเลือกตั้งในจังหวัดนั้นซึ่งมาจากการเลือกของสมาชิกดังกล่าวเป็นตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดเพื่อดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบนั้น
สำหรับพรรคการเมืองเก่า มาตรา 141 กำหนดว่าจะต้องจัดตั้งสาขาพรรค และตัวแทนพรรคประจำจังหวัดให้ครบถ้วนภายใน 180 อย่างไรก็ดี พรรคการเมืองอาจทำหนังสือขอขยายเวลาออกไปได้ แต่ต้องไม่เกินสามปี นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลา 180 วัน เมื่อครบระยะเวลาแล้วพรรคการเมืองใดยังไม่ได้ดำเนินการให้เสร็จ ให้พรรคการเมืองนั้นสิ้นสภาพไป
การจัดตั้ง "สาขาพรรค" หรือ "ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด" มีความสำคัญ เพราะจะมีส่วนในการจัดการเลือกผู้สมัครส.ส.ขั้นต้น (primary vote) เพื่อหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งส.ส.ของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งนี้หากพรรคใดไม่มีสาขาพรรค หรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ก็จะไม่มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งในเขตนั้น อย่างไรก็ตาม คำนิยามและวิธีการกำหนดเขตพื่้นที่ของสาขาพรรค และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ยังคงมีความคลุมเคลือว่าจะนำไปสู่การปฏิบัติอย่างไร ซึ่งพรรคเพื่อไทยได้ให้ความเห็นต่อประเด็นดังกล่าวไว้ในจดหมายที่ส่งถึงประธานกรธ.เรื่องให้ทบทวนระบบ primary vote
กำหนดข้อบังคับให้สมาชิกพรรคต้องจ่ายค่าบำรุงอย่างน้อยปีละ 100 บาท
สำหรับบุคคลที่ต้องการเป็นสมาชิกพรรคการเมืองต้องจ่ายค่าบำรุงพรรค โดยมาตรา 15 (15) กำหนดไว้ว่าการจ่ายเงินบำรุงพรรคการเมือง แต่ละพรรคต้องกำหนดลงในข้อบังคับการประชุม โดย “อัตราค่าธรรมเนียมและค่าบำรุงพรรคการเมืองต้องเรียกเก็บจากสมาชิกไม่น้อยกว่าปีละ 100บาท” หรืออาจกำหนดให้เรียกเก็บค่าบำรุงพรรคจากสมาชิก แบบตลอดชีพก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 2,000 บาท
อย่างไรก็ตาม ในบทเฉพาะกาล มาตรา 146 ระบุว่า ในการเรียกเก็บค่าบำรุงพรรคการเมืองสำหรับปีแรกที่พ.ร.บ.พรรคการเมืองบังคับใช้ พรรคจะเรียกเก็บต่ำกว่า 100 บาท ก็ได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่า 50 บาท
ปรับห้าแสนบาท หากเสนอนโยบายไม่ชี้แจงการใช้เงินและความคุ้มค่าของนโยบาย 
อีกสิ่งหนึ่งที่เพิ่มเข้ามาใหม่ในพ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ คือ มาตรา 57 กำหนดให้การโฆษณานโยบายของพรรคการเมืองที่ต้องใช้จ่ายเงิน อย่างน้อยต้องมีการแสดงรายละเอียดดังต่อไปนี้ 1) วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ 2) ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย 3) ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย ในกรณีพรรคการเมืองไม่ได้ดำเนินการตามนี้ ให้กกต.สั่งให้ดำเนินการให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด หากพรรคการเมืองยังไม่ดำเนินการตามคำสั่งกกต. มาตรา 121 กำหนดกกต.ปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง
กกต.สั่งปลดคณะกรรมการบริหารทั้งหมด ห้ามยุ่งเกี่ยวพรรค 20 ปี
บทลงโทษที่ค่อนข้างจะรุนแรงอย่างหนึ่งปรากฎ มาตรา 22 คือ ในระหว่างที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา หากคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่ควบคุมและกำกับดูแลสมาชิกจนกระทำการฝ่าฝืนกฎหมายต่างๆ กกต.สามารถมีคำสั่งให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้นพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะ และห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองจนกว่าจะพ้นเวลา 20 ปี อย่างไรก็ตาม กรรมการบริหารพรรคการเมืองซึ่งพ้นจากตำแหน่งมีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งของกกต. ต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ภายใน 30 วัน
ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรค หากเชื่อได้ว่าให้บุคคลภายนอกชี้นำพรรค
การยุบพรรคการเมืองถูกกำหนดให้เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 92 ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อ กกต.มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำผิด โดยให้ กกต.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญเพื่อสั่งยุบพรรคการเมืองนั้น เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า พรรคการเมืองกระทำผิด ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น การกระทำผิดที่จะนำไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญ เช่น กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ หรือ ให้บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่สมาชิกพรรคกระทำการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำ กิจกรรมของพรรคในลักษณะที่ทำให้พรรคหรือสมาชิกของพรรคขาดความอิสระ ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม เป็นต้น 
ไฟล์แนบ