6 เดือน รัฐธรรมนูญใหม่ 6 ประเด็นใหญ่ ที่ต้องติดตาม

หลังรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ผ่านประชามติ เมื่อเดือนสิงหาคม 2559 เราเคยชวนจับตา 6 ประเด็นสำคัญที่จะเป็นผลพวงของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นับตั้งแต่ประกาศลงราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 เวลาผ่านมาประมาณ 6 เดือนเศษ ของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ กลไกหลากหลายที่รัฐธรรมนูญวางหมากเอาไว้เริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น มีอะไรเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง 
หนึ่ง ตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 
ยุทธศาสตร์ชาติเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยปรากฎในรัฐธรรมนูญไทยฉบับใดมาก่อน คสช. ใช้เวลา 110 วัน ทำคลอด พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 พ.ร.บ.ฉบับนี้กำหนดให้จัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 34 คน และคณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ 6 ด้าน ด้านละ 15 คน เพื่อทำหน้าที่จัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ และติดตามตรวจสอบรัฐบาลชุดต่อไปให้บริหารประเทศตามยุทธศาสตร์ชาติ 
  
ทั้งนี้ 1 เดือนให้หลังจากที่พ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ บังคับใช้ มีประกาศจัดตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติออกมาแล้ว โดยกรรมการส่วนใหญ่คือทหารกับนายทุน และทั้งหมดต่างร่วมงานกับคสช.มาแล้วทั้งสิ้น ขณะที่ร่างยุทธศาสตร์ชาติมีการจัดทำไว้ล่วงหน้าแล้วตั้งแต่ ปี 2558 และจะถูกใช้เป็นต้นแบบในการร่างยุทธศาสตร์ชาติฉบับใหม่ โดยภารกิจหลังจากนี้คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ต้องจัดทำให้เสร็จภายในหนึ่งปี ซึ่งอย่างช้าประมาณกลางปี 2561 การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติต้องเสร็จสิ้น
สอง ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ
คสช. กำหนดให้การปฏิรูปประเทศเป็นเรื่องคู่ขนานกับยุทธศาสตร์ชาติ ดังจะเห็นได้ว่า พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ พ.ศ.2560 ถูกจัดทำมาพร้อมๆ กับพ.ร.บ.ยุทธศาสตร์ชาติฯ ขณะเดียวกันเนื้อหาใน พ.ร.บ.การปฏิรูปประเทศฯ ก็กำหนดให้กรรมการยุทธศาสตร์ชาติคนใดคนหนึ่งต้องเป็นประธานในการประชุมร่วมของคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ ด้วย
คสช. แต่งตั้งกรรมการปฏิรูปประเทศแล้ว ทั้งสิ้น 10 ด้าน เพื่อทำหน้าที่ร่างแผนกับปฏิรูปประเทศ อาจกล่าวได้ว่า นี่เป็นความพยายามครั้งที่สาม ของ คสช. ที่แต่งตั้งบุคคลจำนวนมากเข้ามาทำหน้าที่ผลิตข้อเสนอปฏิรูปประเทศ โดยจำนวนหนึ่งเป็นคนหน้าซ้ำ และมาจากระบบราชการเป็นส่วนใหญ่ 
สาม ร่างกฎหมายปฏิรูปสามฉบับ
มีกฎหมายปฏิรูป 3 ฉบับ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องดำเนินการออกให้ได้ภายใน 240 วัน หากหน่วยงานใดไม่ดำเนินการภายในเวลาที่กำหนดให้คณะรัฐมนตรีสั่งให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพ้นจากตำแหน่ง กฎหมาย 3 ฉบับ ประกอบด้วย 
1) ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้จัดทำ
2) ร่าง พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งกระทรวงการคลัง เป็นผู้จัดทำ
3) ร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมและคุ้มครองประชาชนในการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบ ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เป็นผู้จัดทำ
ร่างพ.ร.บ.ทั้ง 3 ฉบับ ยังคงถูกตั้งคำถามว่าจะนำไปสู่การปฏิรูปในด้านนั้นจริงหรือไม่ โดยเฉพาะร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ที่ถูกภาคประชาชนคัดค้านอย่างหนัก เนื่องพยายามสอดไส้คำสั่งคสช.ที่เอื้อให้นักลงทุนไม่ต้องทำผลกระทบสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้หน่วยงานทั้ง 3 ต้องจัดทำร่างพ.ร.บ.ที่รับผิดชอบ ให้เสร็จในช่วงต้นเดือนธันวาคม 2560 และส่งให้สนช.พิจารณาต่อ 
สี่ ร่างมาตรฐานจริยธรรม
มาตรจริยธรรม เป็นเรื่องใหม่ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งเริ่มลงมือทำกันไปบ้างแล้ว แต่ยังไม่มีการพูดถึงกันมากนัก รัฐธรรมนูญกำหนดเวลาให้ 1 ปี ให้ศาลรัฐธรรมนูญกับองค์กรอิสระจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระ รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และ ครม. โดยผู้ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมต้องพ้นจากตำแหน่ง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี 
ผ่านมาประมาณ 6 เดือน ศาลรัฐธรรมนูญและองค์อิสระจัดทำร่างมาตรฐานจริยธรรมเสร็จแล้ว ซึ่งร่างดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความเห็นจาก สนช. ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะบังคับใช้ ทั้งนี้ เนื้อหาในร่างมีความเป็นนามธรรมสูง ตีความยาก เช่น พฤติกรรมใดที่แสดงออกว่าไม่ปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือไม่ปกป้องความมั่นคงของชาติ ดังนั้นอำนาจการตีความว่าบุคคลใดจะผิดจริยธรรมหรือไม่จึงอยู่ที่ ป.ป.ช. และศาลฎีกา
ห้า กฎหมายลูก 10 ฉบับ
พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือ "กฎหมายลูก" จำนวน 10 ฉบับ ที่รัฐธรรมนูญกำหนดกำลังอยู่ในช่วงการจัดทำ  
ขณะนี้ กฎหมายลูก จำนวน 3 ฉบับ บังคับใช้แล้ว คือ 
มีกฎหมายลูก จำนวน 2 ฉบับ กำลังรอลงพระปรมาภิไธยและประกาศใช้อย่างเป็นทางการ คือ 
1) พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ 
2) พ.ร.ป.ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน    
มีกฎหมายลูก จำนวน 2 ฉบับ กำลังอยู่ในพิจารณาของ สนช. คือ 
1) พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ  
2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน 
และมีกฎหมายลูก จำนวน 3 ฉบับ กำลังอยู่ระหว่างการร่างโดย กรธ. ก่อนส่งให้ สนช. ต่อ คือ 
1) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 
2) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา 
3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต
จากระยะเวลา 240 วัน หรือ 8 เดือน ตอนนี้เหลือเวลาประมาณ 2 เดือน กรธ.ต้องจัดทำร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับที่เหลือให้เสร็จภายในต้นเดือนธันวาคม 2560 และในช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 สนช.ก็ต้องพิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จ เว้นแต่กรณีที่ กรธ. องค์กรอิสระ หรือ ศาลรัฐธรรมนูญ พบว่า กฎหมายลูกขัดเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ก็จะต้องตั้ง กมธ. ร่วมขึ้นมาพิจารณาใหม่ แล้วให้ สนช.เห็นชอบอีกครั้งภายใน 30 วัน ซึ่งเวลาก็จะเลื่อนอีกไปอีกประมาณ 1 เดือน อย่างช้าสุดในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2561 สนช. ต้องพิจารณากฎหมายลูกทุกฉบับเสร็จสิ้น
หก เลือกตั้งอย่างช้า พฤศจิกายน 2561  
ประเทศไทยจะเลือกตั้งเมื่อไรขึ้นอยู่กับกฎหมายลูก 4 ฉบับ คือ 1) พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง 2) พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง 3) พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ 4) พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา ขณะนี้เหลืออีกเพียงสองฉบับหลังที่ยังไม่เสร็จ หากไม่เสร็จตามกำหนด การเลือกตั้งก็อาจจะไม่เกิิดขึ้นตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญ หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป คาดว่ากฎหมายลูกทุกฉบับจะสามารถประกาศใช้อย่างช้าปลายเดือนมิถุนายน 2561 แต่อาจเร็วกว่านั้นได้หากขั้นตอนทูลเกล้าฯ ใช้เวลาไม่นาน  
เมื่อกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งประกาศใช้ครบทุกฉบับ จากนั้นภายใน 150 วัน ต้องจัดให้มีการเลือกตั้ง ฉะนั้นอย่างช้าที่สุดการเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายในเดือนพฤศจิกายน 2561 สอดคล้องกับที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. แถลงว่าจะประกาศวันเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน และการเลือกตั้งจะเกิดในเดือนพฤศจิกายน 2560