ร่างมาตรฐานทางจริยธรรรม: ส.ส.ฝ่าฝืนห้ามลงเลือกตั้ง 10 ปี

หลังจากรัฐธรรมนูญ ฉบับ 2560 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จัดทำ "ร่างมาตรฐานทางจริยธรรมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ รวมทั้งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและหัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ พ.ศ…. " หรือ "ร่างมาตรฐานทางจริยธรรม" ตามมาตรา 219 เพื่อบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้การจัดทำร่างมาตรฐานทางจริยธรรมต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. จึงต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) แทน ขณะที่การจัดทำร่างเบื้องต้นเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของ สนช. และเมื่อ สนช.ให้ความเห็นเสร็จแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญก็จะประกาศลงราชกิจจานุเบกษาและบังคับใช้ในวันถัดไป ทั้งนี้ร่างข้างยึดแบบตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกสนช.และกรรมาธการ พ.ศ.2558 เป็นหลัก  
ศาลรัฐธรรมนูญ ร่างเอง ใช้เอง และควบคุม ส.ส.
ร่างมาตรฐานทางจริยธรรมเป็นการร่างร่วมกันของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งจะบังคับใช้กับบุคคลที่ดำรงตำแหน่งดังต่อไปนี้ 
1. ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  และเลขาธิการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 
2. ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการ กตต. และเลขาธิการ กกต.
3. ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ผู้ตรวจการแผ่นดิน และเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน
4. ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรรมการ ป.ป.ช.  และเลขาธิการ ป.ป.ช.
5. ประธานกรรมตรวจเงินแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และผู้ว่าตรวจเงินแผ่นดิน
6. ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรรมการ กสม. และเลขาธิการ กสม.
7. สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
8. สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)
9. คณะรัฐมนตรี (ครม.)
จากตำแหน่งทั้งหมดที่จะต้องถูกกำกับโดยร่างมาตรฐานทางจริยธรรม จะพบว่าผู้ร่างคือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระจะต้องปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมนี้ด้วย รวมทั้ง ส.ส. ส.ว. และครม. ทั้งนี้แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดให้การจัดทำมาตรฐานจริยธรรม ต้องรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส.และส.ว. แต่ขณะนี้มีแต่สนช. การรับฟังความคิดเห็นต่อร่างฉบับนี้จึงไม่มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ถูกบังคับใช้ โดยเฉพาะอย่าง ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง 
ส.ส.ไม่ปกป้องความมั่่นคงของชาติ ผิดจริยธรรมร้ายแรง
ข้อบังคับของร่างมาตรฐานฉบับนี้แบ่งออกเป็นทั้งหมด 4 หมวดด้วยกัน โดยหมวดที่ 1-3 ว่าด้วยเรื่องมาตรฐานจริยธรรมที่ต้องปฏิบัติตาม คือ 
"หมวดที่ 1 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นอุดมการณ์ ตัวอย่าง 
1) ต้องยึดมั่น และธำรงไว้ซึ่งการปกครองประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
2) ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ เอกราช อธิปไตย บูรภาพแห่งอาณาเขตและเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย เกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติ และความมั่นคงของรัฐ
3) ต้องถือผลประโยขน์ของประเทศชาติเหนือกว่าประโยชน์ส่วนตน
4) ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบเพื่อตนเองหรือผู้อื่น หรือมีพฤติกรรมที่รู้เห็นยินยอมให้ผู้อื่นใช้ตำแหน่งหน้าที่ของตนแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ
5) ต้องไม่ขอ ไม่เรียก ไม่รับ หรือยอมรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดในประการที่อาจทำให้กระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติหน้าที่ 
ถ้าหากใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ในหมวดที่ 1 ให้ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง 
"หมวดที่ 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก" ตัวอย่าง
1) ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมทั้งนี้ ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม
2) ยึดมั่นหลักนิติธรรม และประพฤติตนอยู่ในกรอบศีลธรรมอันดีของประชาชน
3) รักษาไว้ซึ่งความลับในการประชุม การพิจาณาวินิจฉัย รวมทั้งเคารพต่อมติของที่ประชุมฝ่ายข้างมาก และเหตุผลของทุกฝ่ายอย่างเคร่งครัด
4) ไม่คบค้าสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือมีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย อันอาจจะกระทบกระเทีอนต่อความเชื่อศรัทธาของประชาชนในการปฏิบัติหน้าที่
5) ไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ จนเป็นเหตุทำให้ผู้ถูกกระทำได้รับความเดือดร้อนเสียหายหรือกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ โดยผู้ถูกกระทำอยู่ในภาวะจำต้องยอมรับในการกระทำนั้น  
"หมวดที่ 3 จริยธรรมทั่วไป" ตัวอย่าง
1) ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ 
2) อุทิศเวลาแก่ทางราชการ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจ หรือเพื่อประโยชน์ส่วนตัวหรือผู้อื่น
3) ปฏิบัติต่อประชาชนด้วยความเต็มใจ ให้บริการด้วยความรวดเร็ว เสมอภาค ถูกต้อง โปร่งใส ปราศจากอคติ และเคารพศักด์ศรีของความเป็นมนุษย์
4) ดูแลรักษาและใช้ทรัพย์สินของทางราชการอย่างประหยัด คุ้มค่า โดยระมัดระวังมีให้เสียหายหรือสิ้นเปลืองโดยไม่จำเป็น  
5) รักษาความลับของทางราชการตามกฎหมาย และระเบียบแผนของราชการ
ถ้าหากใครฝ่าฝืนฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรม ในหมวดที่ 2 และ 3 ให้พิจารณาจากเจตนา พฤติกรรม ความเสียหายก่อน ว่ามีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ 
ฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ต้องหยุดทำหน้าที่ และเพิกถอนสิทธิรับเลือกตั้ง 10 ปี 
ส่วน "หมวด 4 การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรม" โดยกำหนดว่าหากใครฝ่าฝืนมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงให้ดำเนินตามที่บทบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ คณะกรรมการป.ป.ช.  เป็นผู้มีอำนาจในการไต่สวนข้อเท็จจริง และมีความเห็นต่อผู้กระทำผิดทางจริยธรรม ถ้าหากผลการไต่สวนพบว่าผู้ถูกกล่าวหากระทำผิดตามมาตรฐานทางจริยธรรม ป.ป.ช. ก็จะดำเนินการส่งเรื่องให้ศาลฎีกา หากศาลฎีการับฟ้อง ผู้ถูกกล่าวหาต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และถ้าหากศาลฎีกาตัดสินว่ามีความผิดจริง ต้องหยุดทำหน้าที่ และอาจถูกเพิกถอนสิทธิการรับเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปีด้วย 
ขอเพิ่ม นายกฯ และประธานสภาฯ เป็นผู้รักษาการร่วม
หลังจากประธานศาลรัฐธรรมนูญได้ส่งร่างมาตรฐานทางจริยธรรมต่อประธาน สนช. ที่ประชุมคณะกรรมการวิสามัญกิจการของ สนช.ได้มอบหมายให้ "คณะกรรมการจริยธรรมสภานิติบัญญัติ" เป็นผู้ศึกษาพิจารณา ก่อนเสนอให้ สนช.พิจารณา ซึ่งคณะกรรมการจริยธรรมฯ มีความเห็นใน 2 ประเด็นคือ  เรื่องผู้รักษาการตามมาตรฐานทางจริยธรรม และ เรื่องมาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก เกี่ยวกับการห้ามคบหาสมาคมกับคู่กรณี หรือผู้ประพฤติผิดกฎหมาย 
ประเด็นที่ 1 ในร่างที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระร่วมกันร่างนั้น กำหนดให้ "ผู้รักษาการตามมาตรฐานทางจริยธรรม" คือ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  ประธานกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) และประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แต่มาตรฐานจริยธรรมนั้นบังคับใช้ครอบคลุมถึง ส.ส. ส.ว. และครม. ด้วย คณะกรรมการฯ จึงเห็นว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมให้นายกรัฐมนตรีและประธานรัฐสภาเข้ามาเป็นผู้รักษาการร่วมด้วย เพื่อให้ครอบคลุมทุกกลุ่มที่ถูกบังคับใช้ 
ห่วงตีความแคบ "ไม่คบผู้มีอิทธิิพล" กระทบการทำงานส.ส.
ประเด็นที่ 2 ในหมวด 2 มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก ข้อ 19 ที่ระบุว่า "ไม่คบค้าสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฎหมาย ผู้มีอิทธิพล หรือผู้มีความประพฤติหรือผู้มีชื่อเสียงในทางเสื่อมเสีย" คณะกรรมการจริยธรรมฯ เห็นว่าเป็นข้อกำหนดที่เคร่งครัดจนเกินไป อาจมีการตีความหมายผิดไป เพราะส.ส. เป็นผู้แทนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาเดือดร้อนของประชาชน อาจมีการพบปะชาวบ้านในบางครั้งอาจทำให้เกิดการเข้าใจผิด ดังนั้นจึงกำหนดให้แก้ไขจากคำว่า "ไม่" คบค้าสมาคมกับคู่ผู้มีอิทธิพล เป็น "พึงระวัง"การคบค้าสมาคมกับผู้มีอิทธิพล
จากที่กล่าวมาข้างต้นของบทความทั้งหมด จะพบว่า ร่างมาตรฐานทางจริยธรรมที่ศาลรัฐธรรมนูญ และองค์กรอิสระร่วมกันร่างนั้นมีความเป็นนามธรรมสูง ตีความยาก เช่น พฤติกรรมใดที่แสดงออกว่าไม่ปกป้องระบอบประชาธิปไตย หรือปกป้องความมั่นคงของชาติ อีกทั้งการให้คำนิยามและระดับของมาตรฐานทางจริยธรรมของแต่ละคนย่อมไม่เหมือนกัน ด้วยเหตุนี้ มาตรฐานทางจริยธรรมจึงไม่มีตัวชี้วัดที่แน่นอนหรือจับต้องได้ในการประเมินว่า ใครฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตาม ดังนั้นการลงโทษว่าบุคคลใดฝ่าฝืนจริยธรรมจึงอยู่ที่ดุลยพินิจของป.ป.ช.และศาลฎีกาเป็นหลัก 
ไฟล์แนบ