วงวิชาการชี้ อาเซียนต้องร่วมแก้วิกฤตโรฮิงญา

วันที่ 13 กันยายน 2560 สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล จัดวงเสวนา เรื่อง "โรฮิงญา" กับ "สังคมไทย" เกี่ยวกันไหม?….ทำไมเกี่ยวกัน
 

 

เอกพันธุ์ ปิณฑวณิช สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ภาพบริบททางประวัติศาสตร์ว่า ที่ผ่านมาชาวโรฮิงญาพยายามบอกมาตลอดว่า ชาวโรฮิงญาอาศัยที่รัฐอาระกันมานานแล้วตั้งแต่บรรพบุรุษ เหตุการณ์ที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ เมื่อนายพลเน วิน ยึดอำนาจการปกครองของพม่าในปี 2505 หลังจากนั้นในปี 2525 พม่าได้มีการจัดสำรวจสำมะโนประชากรและรับรองความเป็นชาติพันธุ์ จำนวน 135 กลุ่ม แต่กลับปฏิเสธไม่ให้การยอมรับชาวโรฮิงญาในฐานะพลเมือง

 

ทัศนะที่แบ่งแยกความเป็นโรฮิงญาออกจากความเป็นพม่า คือ ความรู้สึกแบ่งแยกว่าโรฮิงญาเป็นอื่น ในอดีตพม่าเคยกำหนดอัตลักษณ์ความเป็นพม่า คือ การต้องพูดภาษาประจำชาติได้, มีบุคลิกที่เหมาะสมในการเป็นชาวพม่า และต้องเป็นบุคคลที่คิดดี ข้อกำหนดนามธรรมดังกล่าวกลายเป็นเงื่อนไขให้บุคคลที่มีลักษณะทางกายภาพ หรือความคิดและพฤติกรรมการดำรงชีวิตที่แตกต่างถูกแบ่งแยกกลายเป็นอื่นในสายตาของชาวพม่า ประกอบกับปัจจัยทางด้านศาสนา ทั้งหมดจึงเป็นเชื้อไฟแห่งความขัดแย้งและความเกลียดชังที่มีต่อโรฮิงญา ผลที่เห็นชัดคือ คลื่นผู้อพยพชาวโรฮิงญาที่ลี้ภัยออกจากพม่าทางทะเลจำนวนมากในปี 2555

 

 

ศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐกล่าวว่า ข้อมูลจาก UNHCR ของบังคลาเทศพบว่า ตั้งแต่วันที่ 25 สิงหาคม-11 กันยายน 2560 มีผู้อพยพชาวโรฮิงญาจำนวนประมาณ 400,000 คน ซึ่งถือเป็นการอพยพครั้งใหญ่ที่สุดของชาวโรฮิงญา ความขัดแย้งระหว่างพม่าและชาวโรฮิงญาในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลายเป็นปัจจัยผลักดันให้เกิดการอพยพมากขึ้น โดยผลกระทบที่เกี่ยวข้องกับไทย คือ การหลั่งไหลของชาวโรฮิงญาเข้ามาในไทยมากขึ้น และพม่า ในฐานะประเทศต้นทางไม่ได้จัดการแก้ไขหรือทุเลาปัญหาใดๆ

 

ความขัดแย้งดังกล่าวหากมองในมุมมองของศาสนา มันกลายเป็นความรู้สึกทับถมที่ไร้ทางออก ทำให้ขบวนการเคลื่อนไหวของโรฮิงญา (กองทัพปลดปล่อยโรฮิงญาแห่งอาระกัน หรืออาร์ซา) มีข้ออ้างมากขึ้นในการเคลื่อนไหว และเมื่อมีศาสนามาเกี่ยวข้องแล้ว มิติของความรุนแรงจะซับซ้อนมากขึ้น กลายเป็นความรุนแรงข้ามพื้นที่ เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในฟิลิปปินส์มาก่อน คำถามสำคัญ คือ การเมืองพม่าเป็นการเมืองที่เต็มไปด้วยความรุนแรงมาโดยตลอด แต่ทำไมเมื่อกลุ่มโรฮิงญามีกองกำลังของตนเองบ้าง จึงกลายเป็นการต่อสู้ที่มีลักษณะของการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เช่นนี้ ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมาก่อน

 

อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ กล่าวว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสถานการณ์การอพยพของโรฮิงญากับไทย คือ การหลั่งไหลเข้ามาในไทยของชาวโรฮิงญา ที่ผ่านมาสังคมไทยมีชาวโรฮิงญาอยู่ด้วยมาตลอด ชาวโรฮิงญาเข้ามาในไทยตั้งแต่สมัยการปกครองของนายพลเน วิน แล้ว และต่อมากลุ่มที่สองคือ ช่วงปี 2531 ณ วันนั้นประเด็นโรฮิงญาไม่ใช่เป็นเป็นประเด็นใหญ่  ขณะที่กลุ่มนักศึกษาพม่าที่ถูกกวาดล้าง โดยกลุ่มเหล่านี้กำลังรอสถานะผู้ลี้ภัยในประเทศที่สาม และกลุ่มที่สุดท้าย คือ ผู้อพยพโรฮิงญาล่าสุดนับตั้งแต่ปี 2555 จนกระทั่งปัจจุบัน

 

ที่ผ่านมาไทยมีนโยบายการแก้ปัญหาโรฮิงญาที่ชัดเจนด้วยการเปลี่ยนชื่อเรียกชาติพันธุ์จากโรฮิงญาเป็นเบงกาลี ดังนั้นโดยทางการไทยจึงไม่มีผู้อพยพโรฮิงญา ไทยควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการจัดการกลุ่มผู้ลี้ภัย ให้โอกาสบางอย่างในการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพและการศึกษาที่นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิต อีกสิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ การเป็นตัวกลางในการเจรจาหาทางออกร่วมกัน บทบาทในฐานะประเทศสมาชิกอาเซียน แม้ว่าในอดีตไทยจะมีประสบการณ์ในการจัดการปัญหาผู้ลี้ภัยและมีบทบาทนำในอาเซียนได้ดี แต่ในช่วงที่ผ่านมาไทยขาดบทบาทดังกล่าว

 

 

 

สักกรินทร์ นิยมศิลป์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดลมองว่า ปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญาในพม่าเป็นปัญหาโดยรวมของอาเซียน เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขัดต่อหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนที่ประกันไว้ชัดเจนในธรรมนูญอาเซียน อย่างไรก็ดีหากย้อนไปเมื่อประมาณปี 2557 มีการอพยพทางเรือของชาวโรฮิงญา อาเซียนก็ไม่มีท่าทีอย่างชัดเจน และให้แต่ละประเทศแก้ไขปัญหากันเอง ทั้งที่ปัญหาดังกล่าวไม่ควรให้เป็นการแก้ไขปัญหาของแต่ละประเทศ

 

ในส่วนของไทยเอง ประชาชนจำเป็นต้องเรียกร้องให้รัฐบาลวางมาตรฐานในเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจน ขณะที่ภาคประชาสังคมไทยอาจจะต้องช่วยสื่อสารในการสร้างทัศนคติทางสังคมที่ถูกต้องเกี่ยวกับเรื่องชาติพันธุ์ โดยต้องชี้ให้เห็นว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของสิทธิของความเป็นมนุษย์ไม่ใช่เรื่องศาสนา อาเซียนเองก็มีประชาคมวัฒนธรรมอาเซียนเป็นหนึ่งในเสาหลักของอาเซียนและมีเวทีระหว่างประเทศในการพูดคุย ภาคประชาสังคมควรใช้เวทีดังกล่าวในการสร้างกระแสกดดันให้ผู้นำอาเซียนแสดงท่าทีในเรื่องดังกล่าว