ไม่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะสำหรับการปฏิรูปตำรวจ

เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2560 ไอลอว์ไปสังเกตการณ์เวทีการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจ อันเป็นความฝันครั้งใหญ่ของรัฐธรรมนูญ 2560 ในหมวดการปฏิรูปประเทศ ตามมาตรา 258 (ง) ที่มุ่งเน้นให้เกิดการปฏิรูปการปฏิบัติงานในกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบโดยเฉพาะการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจ ซึ่งงานนี้จัดโดยสถาบันพระปกเกล้าร่วมกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม 
ในการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เรียกว่าการรับฟังความคิดเห็นใน 'ระยะแรก' ซึ่งเป็นการรับฟังเพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอปฏิรูป โดยมีกลุ่มเป้าหมายเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนองค์กรอิสระ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชนสังคม เป็นหลัก และการรับฟังในวันดังกล่าวมีเพียงผู้ทรงคุณวุฒิจากกลุ่มสื่อมวลชน จำนวนประมาณ 10-15 คน
โดยแผนการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการปฏิรูปด้านตำรวจวางไว้ ถูกแบ่งออกเป็นสองรอบ ดังนี้ 
1) การรับฟังความคิดระยะแรก ซึ่งแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม คือ
1.1) การรับฟังความคิดเห็นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายทั้งสิ้น 6 ครั้ง แบ่งตามความเชี่ยวชาญและความถนัด เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้แทนองค์กรอิสระ นักวิชาการ สื่อมวลชน องค์กรภาคประชาชนสังคม เป็นต้น
1.2) การสัมภาษณ์เชิงลึกกับผู้เชี่ยวชาญอีก 15-20 คน 
โดยการรับฟังความคิดเห็นในระยะแรกจะเป็นการรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดทำรายงานข้อเสนอการปฏิรูปตำรวจเบื้องต้น
2) การรับฟังความคิดเห็นระยะที่สองและสาม ซึ่งแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ
2.1) รับฟังความคิดเห็นในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละ 15-20 คน
2.2) รับฟังความคิดเห็นตามภูมิภาค จำนวน 4 ครั้ง ครั้งละ 15-20 คน
2.3) การสัมภาษณ์เชิงลึกประกอบการยกร่างการปฏิรูปเป็นขั้นตอนสุดท้าย อีก 10 คน
จากการรับฟังความคิดเห็นที่ไอลอว์เขาไปสังเกตการณ์ พบว่า กระบวนในการรับฟังความคิดเห็นนั้น ใช้วิธีการแบบสนทนากลุ่ม หรือ Focus Group โดยให้ผู้เข้าร่วมทั้งหมดแบบออกเป็น 3 กลุ่มย่อย มีผู้ดำเนินรายการหารือในกลุ่ม และพูดคุยเพื่อเสนอแนะวิธีการปฏิรูปตำรวจภายใต้กรอบที่คณะกรรมการการปฏิรูปฯ วางไว้ ได้แก่ โครงสร้าง หน้าที่ อำนาจ และภารกิจของตำรวจ, การบังคับใช้กฎหมายและระบบการสอบสวนคดีอาญา และการบริหารงานบุคคล
ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับเชิญมาให้ความเห็นสามารถเสนอประเด็นในการปฏิรูปอย่างไรก็ได้ ภายใต้หัวข้อที่ถูกกำหนดไว้ โดยการหารือนั้น ไม่ปรากฎเอกสารหรือข้อมูลเบื้องต้นที่ระบุประเด็นปัญหา ไม่มีข้อมูลว่าอะไรคือสิ่งที่จำเป็นจะต้องแก้ไข อะไรคือเรื่องเร่งด่วน หรือแม้แต่จำนวนของปัญหาเกี่ยวกับตำรวจในปัจจุบัน
อีกทั้ง บางหัวข้อยังมีลักษณะที่ต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจเฉพาะ เช่น วิธีการสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ การใช้นิติวิทยาศาสตร์ โครงสร้างการบริหารงานของตำรวจ หรือโครงสร้างค่าตอบแทน แต่ทว่า ไม่มีผู้เชี่ยวชาญมาอธิบาย ถึงข้อเท็จจริงในปัจจุบันก่อนว่าใช้รูปแบบอย่างไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร
สุดท้ายการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว ก็ได้ข้อเสนอประมาณ 20-30 ข้อ โดยข้อเสนอที่ได้ก็มีข้อเสนอถึงเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เช่น การยุบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ และหันมาใช้ระบบการรับสมัครเหมือนข้าราชการพลเรือน หรือ การแยกหน่วยงานสอบสวนออกมาจากต่างหากจากตำรวจเพื่อป้องกันการถูกแทรกแซงโดยผู้มีอำนาจ 
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอกว้างๆ อีก เช่น การต้องมีเกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจ เช่น ลดการใช้เกณฑ์จากความอาวุโส และเพิ่มเรื่องความสามารถ คุณวุฒิ เข้าไป หรือการเสนอให้ปฏิรูปวิธีคิดตำรวจให้รับใช้ประชาชน ไม่คอร์รัปชั่น ด้วยการจัดหลักสูตรฝึกอบรมคุณธรรม จริยธรรม หรือศาสนาให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี จากการเข้าไปสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดในการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าวเราพบว่า วิธีการรับฟังความคิดเห็นแบบนี้ มีจุดอ่อนอย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่
หนึ่ง ไม่มีช่องทางที่เปิดกว้างสำหรับผู้สนใจ
จากแผนการรับฟังความคิดเห็นที่คณะกรรมการปฏิรูปด้านตำรวจกำหนดไว้ จะเห็นได้ว่า มีบุคคลที่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปจริงๆ ไม่เกิน 350 คน และไม่มีช่องทางอื่นๆ อีกให้ผู้ที่สนใจและติดตามประเด็นสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ อีกทั้ง 350 คน ที่ได้เข้าไปให้ความเห็นก็ล้วนแต่เป็นคนที่คณะกรรมการเลือกมาเองแทบทั้งสิ้น
เมื่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นไม่ได้เป็นไปโดยเปิดกว้าง ปัญหาที่ตามมาก็คือ ข้อเสนอหรือมุมมองต่อปัญหาก็อาจจะขาดความหลากหลาย รอบด้าน รวมไปถึงวิธีการแก้ปัญหาอาจจะไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน 
สอง การกำหนดประเด็นปัญหายังไม่ค่อยชัด
การรับฟังความคิดเห็นที่ดีนั้น ควรจะต้องมีการ ระบุประเด็นปัญหาให้ชัดเจนว่า อะไรคือประเด็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข ทั้งในเชิงปริมาณที่ต้องครบถ้วน และในเชิงคุณภาพ คือ แก้ได้ถึงรากของปัญหา เพื่อที่จะได้กำหนดวิธีแก้ปัญหาได้ตรงจุด และสามารถจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะต้องแก้ไข
เมื่อการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ไม่มีเอกสารหรือข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหาและข้อเท็จจริงพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง ผลที่ตามมาก็คือ ข้อเสนอที่ได้ออกมาจึงมาจากการแสดงความเห็นแบบสะเปะสะปะ ไม่มีลำดับก่อนและหลังว่าสิ่งใดคือสิ่งจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องแก้ไขก่อน 
นอกจากนี้ ข้อเสนอบางอย่างยังเป็นข้อเสนอที่ขาดรายละเอียดในการนำไปใช้ปฏิรูปจริงๆ เช่น เสนอให้มีเกณฑ์มาตรฐานเกี่ยวกับการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ยังไม่มีรายละเอียดว่า เกณฑ์ดังกล่าวจะมีสัดส่วนอย่างไร หรือในข้อเสนอให้แยกงานสอบสวนออกไปต่างหากจากตำรวจ ก็ไม่มีความชัดเจนว่า จะให้ใครเป็นคนรับหน้าที่ดังกล่าวแทน เป็นต้น
สาม บางข้อเสนอขาดข้อมูลหรืองานวิชาการมารองรับ
ข้อเสนอสำหรับการปฏิรูปที่ดี นอกจากจะต้องมีความเป็นรูปธรรมแล้ว ยังต้องมีงานวิจัยหรือข้อมูลสนับสนุนเบื้องหลังว่า วิธีการดังกล่าวจะทำให้เกิดการปฏิรูปได้จริง สัมฤทธิ์ผล มีข้อเท็จจริงรองรับอย่างหนักแน่น มิใช่ข้อเสนอที่เกิดจากการทึกทักหรือใช้ความรู้สึกส่วนตัว
แต่ทว่า ในเวทีการรับฟังความคิดเห็นดังกล่าว บางข้อเสนอที่ได้เป็นข้อเสนอที่ไม่มีงานวิจัยหรือข้อเท็จจริงรองรับ บางส่วนเป็นข้อเสนอที่เกิดจากการคาดเดาเอาว่าจะช่วยในการแก้ปัญหา เช่น ใช้การอบรมด้านจริยธรรมศาสนาเพื่อแก้ปัญหาการขาดจริยธรรมของตำรวจ หรือการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติไปอยู่ใต้สังกัดหน่วยงานอย่างกระทรวงมหาดไทย ซึ่งไม่มีข้อมูลรองรับหรือเปรียบเทียบความแตกต่าง หรือดูกรณีศึกษาประสบการณ์จากต่างประเทศ