คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 2: ทหารและนายทุน ผู้สูงอายุ ผู้วางแผนอนาคตชาติ 20 ปี

แม้จะยังมาไม่ครบหน้าครบตาสำหรับ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ” ที่ตอนนี้มี 29 คน จาก 35 คน แต่ก็ถือเริ่มนับหนึ่งการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีอย่างเป็นทางการ โดยภารกิจแรกของกรรมการชุดนี้คือ การตั้ง “คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ” อีกหกด้าน ซึ่งแต่ละด้านจะมีกรรมการไม่เกิน 15 คน เพื่อเข้ามาจัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติในด้านต่างๆ ภายในระยะ 120 วัน ก่อนส่งให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติพิจารณาอีกครั้ง อีกทั้ง ยังต้องดูแลการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติและแผนการปฏิรูปประเทศ เพื่อที่จะได้เริ่มนำไปสู่การบังคับใช้ภายหลังมีรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้ง 
อย่างไรก็ดี จากการสำรวจที่มาและหน้าตาของบุคคลที่เข้ามาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ที่เข้ามาออกแบบและควบคุมอนาคตประเทศไทยอีก 20 ปี พบว่า ส่วนใหญ่ คือ ชายแก่วัยเกษียณจากกองทัพ นายทุนธุรกิจขนาดใหญ่ ร่วมด้วยกับบุคคลที่มีอิทธิพลในวงการอุดมศึกษาและองค์กรภาคประชาสังคม
คสช.+กองทัพ คุมยุทธศาสตร์ชาติ
คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้การันตีที่นั่งในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ให้กับฝ่ายความมั่นคงถึงเจ็ดที่นั่ง คือ ผู้บัญชาการทหารทุกเหล่าทัพ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติที่กำลังจะเกิดจะเป็นยุทธศาสตร์ที่เน้นการทหารมากกว่าด้านอื่น รวมไปถึงภายหลังการเลือกตั้งจะเป็นการต่อท่ออำนาจ ให้ทหารมีเอี่ยวในการบริการประเทศต่อ ทั้งนี้ ถ้าบวกเพิ่มกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และกรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิอีกสองคนที่เป็นทหารจะทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติชุดนี้มีทหารอยู่ถึง 11 คน และมีนายทหารถึง 10 คน เป็นสมาชิก คสช. ด้วย
พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งได้รับตำแหน่งเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะรองนายกรัฐมนตรี เคยกล่าวถึงการที่มีสัดส่วนผู้บัญชาการเหล่าทัพที่มากในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ ว่า เพราะยุทธศาสตร์ชาติต้องร่วมมือกัน ที่ผ่านมาความไม่เข้าใจกันทำให้เกิดความเสียหาย ถ้ามีผู้บัญชาการเหล่าทัพยังติงได้ และฝ่ายนักวิชาการหรือผู้ทรงคุณวุฒิก็ติงผู้บัญชาการเหล่าทัพได้การมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่า บ้านเมืองเราทหารเขารับรู้รับทราบเดินไปด้วยกันกับฝ่ายประชาชน หรือฝ่ายนักวิชาการ และพล.อ.ประวิตร ย้ำว่าต้องมีผู้บัญชาการเหล่าทัพ “เพราะประเทศเราจะไปเหมือนใครไม่ได้”
สานพลังประชารัฐ รวมทุนใหญ่ขับเคลื่อนประเทศ
ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ สัดส่วนของภาคธุรกิจถูกล็อกไว้ให้ถึงห้าที่นั่ง ประกอบด้วย 1) ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ 2) ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 3) ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย 4) ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และ 5) ประธานสมาคมธนาคารไทย เมื่อรวมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีกสามคนซึ่งมาจากภาคธุรกิจ รวมกับ 'พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา' ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่มีภูมิหลังทางธุรกิจเช่นกัน เท่ากับว่า สัดส่วนของกรรมการชุดนี้จะมีที่มาจากภาคธุรกิจถึง 9 คน
ด้วยสัดส่วนของภาคธุรกิจที่มากเป็นรองเพียงแค่ทหารทำให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ถูกวิจารณ์ว่าเป็นที่รวมตัวกันของบรรดานายทุนชั้นนำ เนื่องจากกรรมการจำนวนห้าคน เกี่ยวข้องกับธุรกิจธนาคารใหญ่ คือ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงทพ กรรมการสองคน เกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรคมนาคม คือ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส กับ บริษัท ไทยคม และมีกรรมการอีกสองคน เกี่ยวข้องกับบริษัทปูนซีเมนต์ไทย หรือ เอซซีจี เป็นต้น
ยกตัวอย่างเช่น กานต์ ตระกูลฮุน กรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งมีวาระห้าปี ก็เกี่ยวพันกับธุรกิจทั้งสามประเภทที่กล่าวมาข้างต้น ขณะที่ ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ กรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ แม้โดยตำแหน่งจะอยู่ในภาคธุรกิจ แต่จากสืบค้นพบว่า ประพัฒน์ มักจะได้รับแต่งตั้งจากภาครัฐเป็นกรรมการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเกษตรกรรม เช่น คณะกรรมการบริหารสินเชื่อเกษตรแห่งชาติ และกรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง เป็นต้น
จากกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่มาจากภาคธุรกิจทั้งหมดเก้าคนมีจำนวนถึงหกคนที่เข้าร่วมในคณะกรรมการและคณะทำงานโครงการประชารัฐ (ถ้ารวมกรรมการยุทธศาสตร์ชาติทั้งหมด 29 คน จะมีกรรมการ 12 คน ที่ร่วมโครงการประชารัฐ) ซึ่งโครงการประชารัฐเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากฐานราก แต่โครงการนี้ถูกวิจารณ์ว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับนักธุรกิจชั้นนำของประเทศมากกว่า อย่างไรก็ตามประเด็นสำคัญในเรื่องนี้คือ ทำให้เราเห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างทหารกับนายทุนที่เข้ามาควบคุมทิศทางของประเทศ  
ยกทีมเศรษฐกิจสมคิดนั่งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลคสช. และเจ้าของแนวคิดประชารัฐ นำโดย สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ และลูกศิษย์สองคน คือ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และอุตตม สาวนายน รมต.อุตสาหกรรม ยกแพ็คทีมเศรษฐกิจของเข้ามาเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิวาระห้าปี
สำหรับ สุวิทย์ เมื่อครั้งเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้ทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย ความสามารถในการใช้คำใหญ่ๆ ทำให้เมื่อเข้ามารับหน้าที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ก็ได้รับงานสำคัญคือ เป็นเลขานุการคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ครั้งหนึ่ง สุวิทย์เคยให้สัมภาษณ์กับมติชนสุดสัปดาห์ว่า “ผมดีใจที่นายกฯ ให้ความไว้วางใจ ให้ทำงานช่วยท่านในเชิงขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 ปฏิรูป ยุทธศาสตร์ ปรองดอง” ดังนั้นจึงไม่ผิดนักถ้าจะกล่าวว่าเขาคือคีย์แมนสำคัญในการออกแบบยุทธศาสตร์ชาติของคสช.คนหนึ่ง
ขณะที่ อุตตม สมัยที่ยังคงดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) มีผลงานที่สร้างเสียงค้ดค้านคือ เรื่อง Single Gateway ซึ่งอุตตมเคยกล่าวว่า การนำ Single Gateway มาใช้เป็นแนวคิดที่ตั้งอยู่บนเหตุผลทางเศรษฐกิจ ไม่ได้ทำเพื่อความมั่นคง ซึ่งขัดแย้งกับเอกสารข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่ระบุเหตุผลว่า ใช้เป็นเครื่องมือควบคุมเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมและการไหลเข้าของข้อมูลข่าวสารจากต่างประเทศผ่านทางอินเทอร์เน็ต
วิษณุ-พรเพชร มือนักกฎหมายรัฐประหาร
มือกฎหมายสองคนสำคัญหลังการรัฐประหารปี 2557 คือ วิษณุ เครืองาม และพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้จัดทำรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 และนำอำนาจเบ็ดเสร็จหรือมาตรา 44 กลับมาใช้อีกครั้ง ได้เข้ามานั่งในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ วิษณุมาในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิมีวาระห้าปี ขณะที่พรเพชรมาในฐานะประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่แทนประธานสภาผู้แทนราษฎร และประธานวุฒิสภา
ภาพรวมกรรมการฯ ล้วนทำงานรับใช้คสช.มาก่อนทั้งสิ้น
เราอาจแบ่งสัดส่วนของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติตามที่มาและภูมิหลังของตัวกรรมการแต่ละคนได้ดังนี้ ทหารและตำรวจ 11 คน ภาคธุรกิจ 9 คน เทคโนแครต 5 คน นักกฎหมาย 2 คน อดีตผู้บริหารมหาวิทยาลัย 1 คน และภาคประชาสังคม 1 คน แต่ไม่ว่าจะแบ่งสัดส่วนอย่างไร ก็สามารถกล่าวภาพรวมของกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 29 คน ได้ว่าเป็นคนที่เข้ามารับใช้คสช. เพราะทุกคนล้วนผ่านการทำงานกับ คสช.มาแล้วทั้งสิ้น
อย่างเช่น เทียนฉาย กีระนันทน์ อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ เคยถูกคสช.แต่งตั้งเป็นประธานสปช. หรือตัวแทนภาคประชาสังคมอย่าง พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา เคยถูก คสช. แต่งตั้งเป็นสมาชิกสปช.และกรรมการปฏิรูปประเทศ หรือศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD) เคยถูก คสช. แต่งตั้งเป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ ในป.ย.ป.
อายุเฉลี่ยกรรมการยุทธศาสตร์ 63 ปี อายุมากสุด 90 ปี
29 คน ในกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เป็นชายล้วน มีการคำนวณกันว่า ทั้งหมดมีอายุรวมกันกว่า 1.8 พันปี คิดอายุเฉลี่ย คือ 63 ปี กรรมการที่มีอายุต่ำกว่า 60 ปี มีจำนวน 9 คน คนที่อายุน้อยที่สุดคือ กลินท์ สารสิน ในฐานะประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อายุ 55 ปี ขณะที่กรรมการส่วนที่เหลืออีก 20 คนมีอายุ 60 ปีขึ้นไป คนที่อายุมากที่สุดคือ พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในฐานะประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อายุ 90 ปี
แม้พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560 จะระบุให้การแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของครม. ต้องคำนึงถึงความหลากหลายของช่วงอายุ แต่การแต่งตั้งครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรี ต้องการให้ผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองมาเป็นกรรมการ โดยวิษณุ รองนายกรัฐมนตรี ผู้มีหน้าที่รวบรวมรายชื่อก็สะท้อนถึงความปัญหาของการนำผู้ใหญ่มาเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ด้วยข้อจำกัดทางกฎหมายที่ผู้ที่จะมาเป็นกรรมการต้องมีอายุไม่เกิน 75 ปี แต่หลายคนที่มีความพร้อมและสังคมยอมรับมีอายุเกินหรือบางคนอายุ 74 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามอายุของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 12 คนที่ได้รับการแต่งตั้งครั้งแรก จะมีอายุระหว่าง 56 – 71 ปี โดยมีเก้าคนที่อายุเกิน 60 ปี
ดังนั้นโควต้ากรรมการยุทธศาสตร์ชาติผู้ทรงคุณวุฒิที่เหลืออีกจำนวนห้าที่นั่ง จะตกเป็นของใคร เพศใด มาจากภาคส่วนไหนของสังคม  หรือจะอายุเท่าไร ก็ไม่จำเป็นต้องจับตาดูกันต่อไป เพราะเป็นอำนาจของคสช.ที่จะเลือกเข้ามาเพิ่มเติม แต่แนวโน้มก็น่าจะเป็นคนที่คุ้นชื่อคุ้นหน้าคุ้นตาและเคยทำงานรับใช้คสช.ต่อเนื่องตลอดสามปี และมีจิตอาสาต่อที่จะรับใช้ไปอีกอย่างน้อยห้าปีข้างหน้า เพื่อให้ประเทศไทยเดินตามเส้นทางที่คสช.กำหนดไว้ถึง 20 ปี
00000
 
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ
กรรมการโดยตำแหน่ง
ตำแหน่ง (ชื่อ-สกุล) ภูมิหลัง บทบาทหลังรัฐประหาร อายุ (ปีเกิด)
1.นายกรัฐมนตรี
(พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)
อดีตผู้บัญชาการทหารบก
-หัวหน้าคสช.
-ประธานป.ย.ป.
63 (2497)

2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร
(พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ทำหน้าที่แทน)

อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานสนช. 69 (2491)
3.ประธานวุฒิสภา      

4.รองนายกฯ ที่นายกฯมอบหมาย
(พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ)

-อดีตผู้บัญชาการทหารบก
-รมว.กลาโหม ในรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

 

-รมว.กลาโหม
-ประธานคณะที่ปรึกษาคสช.
-รองประธานกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)
72 (2488)
5.ปลัดกระทรวงกลาโหม
(พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล)
ข้าราชการทหาร
-สมาชิกคสช.
-สมาชิกสนช.
-อดีตสมาชิกสปท.
60 (2500)
6.ผู้บัญชาการทหารสูงสุด
(พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์)
ข้าราชการทหาร
-สมาชิกคสช.
-สมาชิกสนช.
61 (2499)
7.ผู้บัญชาการทหารบก
(พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท)
ข้าราชการทหาร
-เลขาธิการคสช.
-สมาชิกสนช.
60 (2500)
8.ผู้บัญชาการทหารเรือ
(พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ)
ข้าราชการทหาร
-สมาชิกคสช.
-สมาชิกสนช.
61 (2499)
9.ผู้บัญชาการทหารอากาศ
(พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง)
ข้าราชการทหาร
-สมาชิกคสช.
-สมาชิกสนช.
59 (2501)
10.ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
(พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา)
ข้าราชการตำรวจ
-สมาชิกคสช.
-สมาชิกสนช.
58 (2502)
11.เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ
(พล.อ.ทวีป เนตรนิยม)
ข้าราชการทหาร สมาชิกสนช. 60 (2500)
12.ประธานกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา)
-อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย (SCG)
-กรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS)
อดีตสมาชิกสปช.
90 (2470)
13.ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ
(ประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์)
-อดีตรมช.เกษตรและสหกรณ์ ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
-อดีตรมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
-กรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ ตามมติครม.30 มิ.ย.58
-ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ (ป.ย.ป.)
-กรรมการนโยบายและบริหารจัดการมันสำปะหลัง
65 (2495)
14.ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
(กลินท์ สารสิน)
-กรรมการอิสระ ธนาคารกสิกรไทย
-ตำแหน่ง Director-Government Liaisons & Public Affairs ที่บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย
-อดีตสมาชิกสปท.
-คณะทำงานประชารัฐ
55 (2504)

15.ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
(เจน นำชัยศิริ)

กรรมการและผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอเซียไฟเบอร์
-สมาชิกสนช.
-อดีตสมาชิกสปช.
-คณะทำงานประชารัฐ
61 (2499)
16.ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
(อิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก)
อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.กระบี่ คณะทำงานประชารัฐ 58 (2502)
17.ประธานสมาคมธนาคารไทย
(ปรีดี ดาวฉาย)
กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย
-สมาชิกสนช.
-คณะทำงานประชารัฐ
59 (2501)
18.เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(ปรเมธี วิมลศิริ)
ข้าราชการ   57
กรรมการโดยการแต่งตั้งของครม. (วาระ 5 ปี)
ตำแหน่ง (ชื่อ-สกุล) ภูมิหลัง บทบาทหลังรัฐประหาร อายุ (ปีเกิด)
1.กานต์ ตระกูลฮุน
-ประธานกรรมการบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส
-กรรมการอิสระ และกรรมการสรรหาค่าตอบแทน และบรรษัทภิบาล ธนาคารไทยพาณิชย์ 
-กรรมการกิจการสังคมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย หรือ เอซีจี
-ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (ป.ย.ป.)
-กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน  
-คณะทำงานประชารัฐ
62 (2498)

2.ชาติศิริ โสภณพนิช

กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ
-ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการบริหารราชแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (ป.ย.ป.)
-กรรมการปฏิรูปประเทศด้านเศษฐกิจ
-คณะทำงานประชารัฐ
58 (2502)
3.เทียนฉาย กีระนันทน์
-อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
-กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในสภานโยบายวิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ
-อดีตประธานสปช.
-ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ (ป.ย.ป.)
71 (2488) 

4.บัณฑูร ล่ำซำ

ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย
-ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ (ป.ย.ป.)
-กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการบริหารราชการแผ่นดิน
64 (2496)
5.พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ
-รองหัวหน้าคสช.
-รองนายกรัฐมนตรี
-รองประธานกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ(ป.ย.ป.)
63 (2497)
6.พลเดช ปิ่นประทีป
– เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
-อดีตรมช.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์
-ประธานมูลนิธิชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
-อดีตสมาชิกสปช.
-กรรมการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข
-คณะทำงานประชารัฐ
62 (2498)
7.วิษณุ เครืองาม อดีตรองนายกรัฐมนตรี รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
-ที่ปรึกษาคสช.
-รองนายกรัฐมนตรี
-รองประธานกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (ป.ย.ป)
-คณะทำงานประชารัฐ
65 (2494)
8.ศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา หรือ อังก์ถัด (UNCTAD)
ที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ (ป.ย.ป.)
71 (2489)
9.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ -อดีตรมว.คลัง รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร
-สมาชิกคสช.
-รองนายกรัฐมนตรี
-รองประธานกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (ป.ย.ป)
-คณะทำงานประชารัฐ
64 (2496)
10.สุวิทย์ เมษินทรีย์
-อดีตที่ปรึกษารองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
-อดีตรมช.พาณิชย์
– รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
-อดีตสมาชิกสปช.
-เลขานุการป.ย.ป.
-คณะทำงานประชารัฐ
56 (2504)
11.พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก
-สมาชิกคสช.
-รมว.มหาดไทย
-กรรมการป.ย.ป.
-คณะทำงานประชารัฐ
67 (2492)
12.อุตตม สาวนายน
-อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
-อดีตที่ปรึกษารองนายกฯสมคิด จาตุศรีพิทักษ์
-อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 
-รมว.อุตสาหกรรม
-คณะทำงานประชารัฐ
57 (2503)
13.ยังไม่ได้แต่งตั้ง      
14.ยังไม่ได้แต่งตั้ง      
15.ยังไม่ได้แต่งตั้ง      
16.ยังไม่ได้แต่งตั้ง      
17.ยังไม่ได้แต่งตั้ง      
*11 พฤศจิกายน 2560 บทความมีการแก้ไขจำนวนตัวเลขกรรมการยุทธศาสตร์จากเดิม 34 เป็น 35 คน และแก้ไขจำนวนกรรมการยุทธศาสตร์ชาติปัจจุบัน จากเดิม 28 เป็น 29 คน