นักกม.เสนอ ตั้งหลักค่าเสียหายคดีโลกร้อนใหม่

 

 

หน่วยงานรัฐฟ้องชาวบ้านกว่า 500 รายฐานทำให้โลกร้อนขึ้น นักวิชาการเศรษฐศาสตร์เสนอ เลิกคำนวณค่าเสียหายแบบตีขลุม นอกจากไม่แก้ปัญหายังทำชาวบ้านล่มจม ด้านนักวิชาการกฎหมายชี้ เรียกค่าสินไหมจากชาวบ้าน ขัดกับรัฐธรรมนูญที่ให้สิทธิชุมชนมีส่วนร่วมจัดการทรัพยากร
เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2553 เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) จัดเวทีสัมนาวิชาการ “การคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน นัยทางวิชาการและกระบวนการยุติธรรม” ณ ห้องประชุมจุมภฏ – พันธุ์ทิพย์  อาคารประชาธิปก – รำไพพรรณี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สืบเนื่องจากที่ผ่านมา มีชาวบ้านถูกฟ้องร้องทั้งทางแพ่งและทางอาญา ทั้งหมด 131 คดี ต่อชาวบ้านกว่า 500 รายในข้อหาที่ทำให้โลกร้อนขึ้น และถูกเรียกค่าเสียหายจากการที่ทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลายนั้น
ล่าสุด อารีวรรณ  คูสันเทียะ  ตัวแทนจากเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทยได้นำเสนองานวิจัยชุมชน หัวข้อ วิถีชุมชนท้องถิ่น ผู้สร้างภาวะโลกเย็น เขากล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ชุมชนที่อยู่ป่ามักจะถูกเพ่งเล็งกล่าวหาและถูกดำเนินคดีเรียกค่าเสียหาย ซึ่งหากดูที่มาที่ไปแล้ว ชาวบ้านที่ถูกฟ้อง ซึ่งประกอบอาชีพการเกษตร ก็จะไม่ได้มองว่าตนเป็นผู้ทำลายทรัพยากรธรรมชาติดังที่ภาครัฐกล่าวหา
ทั้งนี้ เวลาที่มีการฟ้องร้อง ก็จะมีการคำนวณค่าเสียหาย ซึ่งรัฐใช้วิธีตามหลักแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เรื่องนี้ ดร.เดชรัต สุขกำเนิด จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เห็นว่า การคิดค่าเสียหาย ควรคำนวณจากพื้นฐานการสำรวจพื้นที่จริง มิใช่คิดจากแบบจำลองที่มีการรวบรวมข้อมูลเพียงคร่าวๆ
จากงานวิจัยของเครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย พบว่า เมื่อวิจัยอุณหภูมิในพื้นที่ที่ถูกกล่าวหาว่าชาวบ้านทำให้โลกร้อนขึ้นนั้น พบว่าอุณหภูมิไม่ได้สูงขึ้นเสมอไป บางพื้นที่ที่คิดว่าอุณหภูมิสูงกว่าป่าธรรมชาติ แต่เพียงแค่ไม่กี่ชั่วโมงก็ลดลงมา หรือในช่วงกลางคืนเป็นเวลากว่า 8-10 ชัวโมง อุณหภูมิลดลงไปมาก แต่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชไม่ได้ใส่ใจที่จะเข้ามาตรวจสอบตรงนี้เลย
ดร.เดชรัตกล่าวถึงหลักการการคิดค่าเสียหายที่ว่า ใครเป็นผู้ก่อความเสียหายเป็นผู้จ่ายนั้น จะต้องใช้โดยคำนึงถึงความเป็นธรรมในสังคม และเขาเห็นว่า รัฐบาลควรยกเลิกวิธีคำนวณค่าเสียหายด้วยแบบการใช้จำลองดังกล่าว แต่ควรเน้นมาตรการทางบริหารมาแก้ปัญหา เช่น อาจใช้เรื่องโฉนดชุมชน
การคิดค่าเสียหายไม่ใช่ให้เกิดความล่มจม แต่เป็นการปรับตัวและเข้าสู่กระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การคิดค่าเสียหายนั้นจึงต้องมุ่งให้ถูกว่า จะต้องก่อให้เกิดผลดีต่อธรรมชาติ มิใช่มุ่งเพียงแต่ทำลาย”
งานวิจัยครั้งนี้ชี้ว่า วิถีการผลิตของชาวบ้านไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียหรือภาวะโลกร้อนแต่อย่างไร “ถ้าไม่ให้ชาวบ้านทำการเกษตรแล้วจะให้ชาวบ้านทำอะไร สิทธิชุมชนควรจะมีวิธีการอย่างสร้างสรรค์ สร้างความร่มเย็นให้โลกใบนี้” อารีวรรณกล่าว
ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ จากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงเรื่อง วิถีชุมชนท้องถิ่น กฎหมาย กับกระบวนการยุติธรรม โดยให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนว่ามีลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะชุมชนดั้งเดิมหรือชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิม ซึ่งมีสิทธิเหนือสิทธิชุมชนขึ้น เพราะมีเหตุผลทางประวัติศาสตร์และกฎหมาย
                                 
                      ดร.กิตติศักดิ์ ปรกติ                                      แสงชัย รัตนเสรีวงศ์
คำถามแรกเกี่ยวกับการคิดค่าเสียหายชุมชนเมื่อมีสิทธิในการมีส่วนร่วม รัฐธรรมนูญ มาตรา 66 มันจะมีผลทำให้ชุมชนเหล่านี้เขามีสิทธิร่วมกับกรมป่าไม้ หรือกรมอุทยาน ในการร่วมกันอนุรักษ์ป่าไม้ การคิดโมเดลอนุรักษ์ป่าไม้ เคยถามชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมหรือไม่ หากคิดค่าสินไหม จะเป็นการฝ่าฝืนสิทธิการมีส่วนร่วม”
ดร.กิตติศักดิ์ ได้กล่าวต่อไปว่า วิธีคิดค่าเสียหายต้องสอดคล้องกับหลักความเสมอภาค การคิดค่าเสียหายที่เป็นแบบแนวเดียวและใช้ทั่วไป นอกจากจะขัดต่อกาละเทศะแล้วยังจะขัดต่อหลักเสมอภาค เพราะแต่ละท้องที่ความเสียหายต่างกัน ถ้าจะใช้หลักความเสมอภาคต้องเหมือนกัน อย่างเดียวกัน
เขากล่าวว่า สิทธิชุมชน มาตรา66 ข้อที่สำคัญมากแต่เราสนใจน้อยคือ วิถีชาวบ้าน ซึ่งเป็นเฉพาะทาง แต่คนมักมองว่าเป็นการใช้สอยแสวงหาประโยชน์ทรัพย์สิน การโต้แย้งของผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรมป่าไม้ มองว่าเป็นทรัพย์สินของเขาที่ดูแลรักษา แต่มาตรา66 ชุมชนมีสิทธิ์อนุรักษ์ จารีตประเพณี ซึ่งเป็นแบบแผนทางวัฒนธรรมไม่ใช่การแสวงหาทรัพย์สินแต่อย่างใด
ดร.กิตติศักดิ์ ยังพูดถึง รัฐธรรมนูญมาตรา 290ที่ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นร่วมกับชุมชน และร่วมกันกับหน่วยงานรัฐส่วนกลาง ซึ่งมาตรา 66 ของรัฐธรรมนูญมุ่งการรองรับสิทธิชุมชนซึ่งเป็นสิทธิตามธรรมชาติ
สิทธิชุมชน เป็นสิทธิธรรมชาติในการทำกิน ไม่ใช่ทำทุนแสวงประโยชน์ในเชิงพาณิชย์” ดร.กิตติศักดิ์กล่าว
แสงชัย รัตนเสรีวงษ์ ทนายความอิสระ กล่าวถึงการคิดค่าเสียหายคดีความโลกร้อน กับกฎหมายสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเรื่องชาวบ้านถูกดำเนินคดีทางแพ่ง สิ่งที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำกฎหมายมาอ้างคือ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.. 2535
แสงชัยกล่าวว่าในความเสียหายที่เกิดขึ้นจะต้องเชื่อมโยงเป็นเหตุเป็นผลโดยตรง ถ้าไม่เชื่อมโยงจะเรียกค่าเสียหายไม่ได้ แต่ที่ผ่านมา ไม่มีกระบวนการพิสูจน์ผลกระทบที่เกิดกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง แต่มีสูตรเฉพาะ เช่น การคำนวณปัญหาการดูดซับน้ำฝน ปริมาณน้ำฝน ที่รัฐมักกล่าวอ้างว่ามีปริมาณน้อยลง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่ไม่เป็นจริง และรัฐมักตีขลุมไปว่าทรัพย์ที่เกิดความเสียหายขึ้นนั้น เป็นทรัพย์ที่รัฐเสียหายเอง
ทนายคนดังกล่าว เล่าตัวอย่างที่เคยเกิดขึ้นว่า กรมอุทยานฯได้ฟ้องชาวบ้าน และศาลได้ให้ชาวบ้านใช้ค่าเสียหายจำนวนห้าหมื่นบาท แต่ค่าเสียหายจำนวนดังกล่าวไม่ได้อธิบายที่มาว่ามาจากการคำนวณตามหลักเกณฑ์อย่างไร