พบรายงาน สปท. หลายชิ้น “ลอกข้อสอบ” โจ่งแจ้ง ไม่ต้องอ้อมค้อม

จากการสแกนรายงานข้อเสนอของ สปท. แล้วเปรียบเทียบกับรายงานยุค สปช. ก็ต้องตกใจ เมื่อพบหลายข้อเสนอไม่เพียงแค่ลอก แต่ตัวรายงาน "ก๊อปปี้ เพสต์" กันชัดเจน ไม่ต้องอ้อมค้อม ไม่เพียงเท่านั้น ข้อเสนอหลายอย่างซ้ำกับกฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว หรือซ้ำกับที่หน่วยงานราชการทำอยู่ก่อนแล้วด้วย
รายงานของ สปท. หรือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หลายฉบับ ที่ดูเหมือนผ่านการศึกษา การค้นคว้าข้อมูล อย่างละเอียดลึกซึ้ง และเขียนเป็นรายงานเพื่อนำเสนอวิธีการปฏิรูปออกมาเป็นชุดๆ เมื่อตรวจสอบลงลึกขึ้นแล้วจะพบว่า ข้อเสนอของ สปท. บางส่วนนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่เลย แต่เป็นเรื่องที่มีหน่วยงานราชการ หรือองค์กรต่างๆ จัดทำอยู่ก่อนแล้ว สปท. เพียงแค่หยิบแนวทางนำร่องที่มีอยู่ก่อนแล้วมาศึกษาเพิ่มเติมแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอของตัวเอง เสมือนว่าคิดขึ้นเองทั้งหมด หรือในบางประเด็น ข้อเสนอของ สปท. ออกมาตามหลังจากที่กฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องเดียวกันได้ผ่านการพิจารณาหรือบังคับใช้ไปแล้วเสียอีก
จุดที่สะท้อนความไม่มีประโยชน์ของรายงานของ สปท. ชัดเจนที่สุด คือ ข้อเสนอของ สปท. หลายประเด็น ซ้ำหรือเรียกได้ว่า "ลอกข้อสอบ" มาจากข้อเสนอการปฏิรูปของ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) องค์กรที่เปรียบเสมือนภาคแรกของ สปท. ซึ่งถูกตั้งขึ้นมาและหมดวาระไปก่อนหน้านี้ และรายงานหลายฉบับของ สปท. ไม่เพียงลอกเฉพาะข้อเสนอเท่านั้น แต่เนื้อหาของรายงานทั้งการวิเคราะห์ปัญหา และข้อมูลทางวิชาการที่ทำการศึกษามา เมื่ออ่านดูก็จะเห็นได้ว่า เป็นการ "ตัดแปะ" มาจากรายงานในเรื่องเดียวกันของ สปช. อย่างชัดเจน ซึ่งพอจะจำแนกได้อยู่ 3 แบบคือ
หนึ่ง  ลอกข้อสอบจาก ‘สภาปฏิรูปแห่งชาติ’
ในรายงานของสปท. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง ที่เสนอให้ ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เสียใหม่ โดยย้ายอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากเดิมที่เป็นของ ก.ต.ช. ให้ไปเป็นของ ก.ตร. แทน อีกทั้ง ในรายงานของ สปท. ก็ได้เสนอองค์ประกอบของ ก.ตร. ใหม่ 16 คนกับ ก.ต.ช. ใหม่ 11 คน แต่ปรากฎว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใหม่ เพราะไปคล้ายกับ รายงานของ สปช. วาระที่ 6: การปฏิรูปตำรวจ  ในส่วนข้อเสนอตั้งแต่หน้า 9-13 แทบจะทุกประการ แม้แต่การเรียงลำดับก็ยังเหมือนกัน
ไม่เพียงในแง่เนื้อหา แต่ในแง่รูปแบบการเขียนรายงานก็เห็นได้ชัดว่า การลำดับเนื้อหาและการให้เหตุผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางย่อหน้าของรายงานทั้งสองฉบับเขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร แทบจะเรียกได้ว่า คนที่เขียนรายงานให้ สปท. นำรายงานเก่าของ สปช. มาเป็นร่างแรก แล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปบ้าง รวมทั้งการจัดหน้าเอกสารใหม่ เช่น การย่อหน้า รูปแบบการใช้หมายเลขหัวข้อ ขนาดตัวอักษร เพื่อไม่ให้ดูเหมือนกันมากจนเกินไป
หรืออย่าง รายงานของสปท. เรื่อง การจัดทำ การกำหนด และการขับเคลื่อนกฎหมายว่าด้วย ยุทธศาสตร์ชาติ และร่างพระราชบัญญัติยุทธิศาสตร์ชาติ พ.ศ…. ก็มีความพิถีพิถันกว่าด้วยการ "ลอกอย่างแนบเนียน" กล่าวคือ เมื่ออ่านหัวข้อ "สภาพปัญหา" ในหน้า 1-2 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจาก รายงานของ สปช. วาระปฏิรูปพิเศษ 4 การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ในหัวข้อ "เหตุผลที่ต้องปฏิรูป" หน้า 1-2 แบบยกเนื้อหาทั้งหมดมาจากรายงานของ สปช. แต่ผู้เขียนรายงานได้ แก้ไขแต่งเติม สลับตำแหน่ง หรือเปลี่ยนถ้อยคำเพียงเล็กน้อย โดยอาศัยโครงสร้าง การย่อหน้า การกำหนดเลขข้อตามรายงานของเก่าทั้งหมด
ตัวอย่างเช่น ประโยคที่รายงานของ สปช. เขียนว่า "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้มีความพยายามที่จะกำหนดแผน 20 ปี แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรม" ในรายงานของ สปท. ก็นำมาแก้ไขเล็กน้อยเป็น "กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพยายามจะมีแผน ๒๐ ปี แต่ยังไม่เป็นรูปธรรม มากนัก"
หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ประโยคที่รายงานของ สปช. เขียนว่า "ส่งผลให้แผนพัฒนาเหล่านั้นขาดการบูรณาการเป็นองค์รวมและไม่มีการจัดลำดับความสำคัญในการพัฒนาประเทศ" ในรายงานของ สปท. ก็นำมาแก้ไขเล็กน้อยเป็น "ส่งผลให้แผนพัฒนาเหล่านั้นขาดการบูรณาการและจัดลำดับความสำคัญเป็นองค์รวมของการพัฒนาประเทศ"
นอกจากนี้ ในรายงานฉบับเดียวกันก็มีส่วนที่ลอกแบบไม่เนียนก็คือ หัวข้อ "ประสบการณ์ของนานาประเทศ" ในหน้า 3-7 แล้วจะพบว่า เป็นการคัดลอกเนื้อหาจากรายงานเดิมของ สปช. ในหัวข้อเดียวกัน ตั้งแต่หน้า 5-10 แบบชัดเจน แต่ในส่วนนี้คัดลอกมาแบบไม่แก้ไขตัดทอนอะไรเลย
และสิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ หัวข้อ “สรุปผลการพิจารณาศึกษาและการกำหนดกฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ” ตั้งแต่หน้า 11-21 ก็พบว่า เป็นการคัดลอกมาจากรายงานของสปช. ในหัวข้อ "ข้อเสนอแนะและแนวทางการปฏิรูป" ตั้งแต่หน้า 16-25 แบบตัวต่อตัวชนิดไม่ได้แก้ไขเลย เนื่องจากในรายงานฉบับเดิมมีการทำภาพแผนผัง 4 ภาพ ในรายงานฉบับใหม่ ก็ทำภาพแผนผัง 4 ภาพเช่นเดียวกัน เพียงแค่ลงสีใหม่หรือปรับถ้อยคำใหม่บางส่วนเท่านั้น แต่โดยโครงสร้างของแผนผังเหมือนกันทั้ง 4 ภาพ ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างบ้าง คือ รายงานของ สปท. ได้เอาเนื้อหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่างๆ มาจัดวางใหม่เป็นรูปแบบตาราง แต่เนื้อหาในตารางไม่ได้ต่างไป มีการแก้หัวข้อหนึ่งแห่งจาก "ความสัมพันธ์ระหว่างยุทธศาสตร์ชาติกับยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ" เป็น "การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ" ส่วนเนื้อหาภายใต้หัวข้อนั้นยกจากของเก่ามาเป็นโครงหลัก และมีการเพิ่มประเด็นบทเฉพาะกาลเข้ามาเป็นหัวข้อใหม่เพียงหัวข้อเดียว ทั้งที่ ข้อมูลส่วนนี้ควรจะมีการคิดต่อยอดจากของเดิม
อีกตัวอย่างที่น่าสนใจก็คือ การเสนอร่างพ.ร.บ. การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน หรือ กฎหมายจดทะเบียนสื่อ ซึ่งเป็นข้อถกเถียงกันอย่างมากแถมถูกคัดค้านหนักหนักจากองค์กรวิชาชีพสื่อทุกแห่ง ซึ่งที่จริงแล้ว ข้อเสนอนี้ไม่ใช่นวัตกรรมการปฏิรูปที่ สปท. คิดค้นขึ้นมาใหม่ แต่ร่างกฎหมายชื่อเดียวกัน เคยถูกเสนอไว้แล้วในรายงานวาระปฏิรูปที่ 32-34 ของ สปช.  แม้ร่างกฎหมายที่เสนอโดยสภาทั้งสองแห่งจะไม่ได้มีเนื้อหาเหมือนกันทุกประการ แต่ก็เป็นการร่างที่อยู่ภายใต้หลักการและโครงสร้างเดียวกัน 
และเมื่อพิจารณาในประเด็นที่มีความแตกต่างกัน ตามร่างที่ สปช. เคยเสนอไว้นั้น กำหนดให้ คณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ประกอบด้วยตัวแทนผู้ประกอบวิชาชีพสื่อและผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น แต่ในร่างที่ สปท. เสนอมาใหม่ กำหนดให้มีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม นั่งรวมอยู่ในคณะกรรมการด้วย ซึ่งเป็นจุดที่ถูกองค์กรวิชาชีพคัดค้านอย่างหนักเพราะเกรงว่า จะเปิดช่องให้รัฐบาลเข้าแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อได้ เท่ากับว่า ร่างกฎหมายที่ สปท. เอาแนวคิดมาทำต่อจาก สปช. กลับมีเนื้อหาที่ส่งเสริมสิทธิเสรีภาพน้อยกว่า ข้อเสนอของ สปช. เสียอีก
สอง ลอกข้อสอบจาก ‘กฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว’
ในรายงานของ สปท. เรื่อง การเลือกตั้งที่สุจริตและเที่ยงธรรม หน้า 7 เสนอให้มีระบบคัดกรองผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยให้สมาชิกพรรคการเมืองคัดเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง หรือระบบ Primary Vote เพื่อให้ได้ผู้สมัครรับเลือกตั้งที่เป็นตัวแทนของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งรายงานฉบับนี้เสนอต่อนายกรัฐมนตรี เมื่อ 20 เมษายน 2559 ซึ่งระบบ Primary Vote นั้นไม่ได้ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในรายงานของ สปท. ฉบับนี้ แต่ในรัฐธรรมนูญ 2560 ได้กำหนดเรื่องนี้ไว้ในมาตรา 45, 90 และ 258 ให้เป็นหน้าที่ของพรรคการเมืองต้องจัดทำ 
ทั้งนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้น เปิดเผยต่อสาธารณชนเป็นครั้งแรกตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม 2559 ก่อนที่ สปท. จะมีรายงานออกมาภายหลังเป็นเวลา 1 เดือน และต่อมาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ผ่านการทำประชามติกลายเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศที่บังคับใช้อยู่จนปัจจุบัน ข้อเสนอข้อนี้ของ สปท. จึงไม่ใช่ข้อเสนอที่เกิดขึ้นใหม่ และแม้ว่า สปท. จะไม่ได้เสนอประเด็นนี้ หลักการ Primary Vote ก็ต้องเกิดขึ้นอยู่แล้วภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในฐานะที่ สปท. ทำหน้าที่ศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นนี้อย่างลงลึก ก็กลับไม่ได้นำเสนอวิธีการสร้างระบบ Primary Vote ที่จะสามารถสะท้อนเสียงของประชาชนได้โดยลงรายละเอียดอย่างเป็นรูปธรรมมากไปกว่าหลักการกว้างๆ ที่มีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญ
อีกเรื่องคือ รายงานของ สปท. เรื่อง ระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 มกราคม 2559 หัวข้อ "วิธีการปฏิรูป" ในที่หน้า 7 โดยเสนอให้นำระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้ในการปฏิบัติงานสอบสวนและให้บริการประชาชน เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว ต่อเนื่อง เป็นธรรม ตรวจสอบได้ ทั้งที่ พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) ที่แก้ไขกฎหมายเพื่อเปิดช่องให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวได้ ถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตั้งแต่วันที่ 4 สิงหาคม 2558 และผ่านการพิจารณาจนประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาไปตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2558 แล้ว
โดยกฎหมายที่ผ่าน สนช. ไปก่อนหน้านั้น มีรายละเอียดและหลักเกณฑ์การใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ต้องหาที่ลงลึกและชัดเจนกว่ารายงานของ สปท. เสียอีก
อย่างไรก็ดี เกือบหนึ่งปีต่อมา เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 สปท. ได้นำเสนอรายงานอีกหนึ่งฉบับ โดยเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา แก้ไขพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการกักขังตามประมวลกฎหมายอาญา และเสนอกฎหมายใหม่ คือ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยระบบการติดตามตัวโดยการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา พร้อมทั้งเสนอเทคโนโลยีที่แนะนำให้ใช้เพื่อทำให้ระบบติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ใช้งานได้จริงมากยิ่งขึ้น แต่นับถึงวันที่ สปท. หมดวาระ กฎหมายทั้งสามฉบับก็ยังไม่ถูกบรรจุเข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช.
สาม ลอกข้อสอบจาก ‘ผลงานที่หน่วยงานอื่นทำอยู่ก่อนแล้ว’
ใน รายงานของ สปท. เรื่อง ระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 29 มกราคม 2559 หัวข้อ "วิธีการปฏิรูป" หน้า 7 เสนอให้มีการไกล่เกลี่ยคดีอาญาในชั้นสอบสวน ได้นำแนวคิด “กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)” มาใช้เพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้ที่ได้รับผลกระทบ แต่ทว่าข้อเสนอนี้ดันไปสอดคล้องกับข้อเสนอของกระทรวงยุติธรรมที่จัดทำและพยายามผลักดันร่างพ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหา คือ ให้อำนาจตำรวจไกล่เกลี่ยคดีอาญาได้ และให้อำนาจอัยการสั่งชะลอการฟ้องคดีได้ 
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างกฎหมายของกระทรวงยุติธรรมไปก่อนแล้วตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2557 และร่างกฎหมายนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคมอยู่พักใหญ่ก่อนที่ สปท. จะหยิบยกขึ้นมาเป็นข้อเสนอเสียอีก จนกระทั่งเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 คณะรัฐมนตรีลงมติใหม่ ให้ชะลอร่างกฎหมายนี้ออกไปก่อน เท่ากับว่า ข้อเสนอชิ้นนี้ของ สปท. นอกจากจะเป็นข้อเสนอที่ "ลอกข้อสอบ" ของกระทรวงยุติธรรมมาแล้ว ยังเป็นข้อเสนอที่สุดท้ายคณะรัฐมนตรีก็ไม่ได้เอาด้วยเสียอีก
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ รายงานของ สปท. เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 มกราคม 2559 หน้า 8 เสนอให้กำหนดแนวทางหรือสร้างช่องทางการรับการแจ้งความ แจ้งเบาะแส และให้คำปรึกษาคดีความผิดทางเทคโนโลยีทางออนไลนเพื่อเอื้อประโยชน์และปกป้องผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อศึกษาดูก็จะพบว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หน่วยงานของตำรวจที่รับผิดชอบคดีความผิดบนโลกออนไลน์ เปิดช่องทางบนเว็บไซต์ของหน่วยงานให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสและแจ้งความผ่านทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว