สแกน สปท. มีงบปฏิรูปพันล้าน แต่ได้ข้อเสนอซ้ำ นามธรรม แถมถูกสังคมคัดค้าน

หลายคนอาจจะเคยได้ยินผลงานของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปหรือสปท. มาบ้าง ไม่ว่าจะเป็น “กฎหมายตีทะเบียนสื่อ” หรือข้อเสนอเล่นเฟซบุ๊กต้องใช้สแกนลายนิ้วมือ ใบหน้า หรือเลขบัตรประชาชน แต่น้อยคนนักที่จะรู้จักหน้าค่าตาของนักปฏิรูปในสภาแห่งนี้ว่า พวกเขาเป็นใครมาจากไหน แล้วพวกเขาปฏิรูปสังคมไทยด้วยเงินภาษีประชาชนอย่างไรบ้างตลอดการทำงาน 1 ปี 10 เดือน
โฉมหน้าสภาปฏิรูป: แต่งตั้งคนหน้าซ้ำมาทำงาน มีสัดส่วนข้าราชการเป็นเสียงข้างมากเด็ดขาด
สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. เป็นสภาที่มาจากการ ‘แต่งตั้ง’ โดย คสช. ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่สิ้นสภาพไปตามโรดแมปในรัฐธรรมนูญชั่วคราวฯ พ.ศ.2557 พอจะกล่าวได้ว่า ซึ่งสภาแห่งนี้ สืบทอดอำนาจและภารกิจจากสปช. ที่เคยทิ้งข้อเสนอการปฏิรูปไว้ถึง 505 ข้อ ให้สภาชุดใหม่สานต่อ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสมาชิก สปช. บางคนก็ขออยู่เพื่อปฏิรูปต่อ จากสมาชิก สปท. ทั้งหมด 200 คน มีอดีตสมาชิกสปช. กลับมานั่งต่อ ถึง 61 คน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 30.5 ของสมาชิกทั้งหมด
นอกจากนี้ เมื่อดู ‘สัดส่วนสาขาอาชีพ’ ของ สปท. จะพบว่า สัดส่วนที่มากที่สุดคือ ข้าราชการและอดีตข้าราชการที่มีจำนวน 115 คน รองลงมาเป็น ทหารและอดีตทหาร 31   คน ตามมาด้วยนักธุรกิจ 19 คน กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ-นักวิชาการ-สื่อ 18 คน และนักการเมืองหรืออดีตนักการเมือง 17 คน รวมเป็น 200 คน ซึ่งตัวเลขดังกล่าวหากนำมาเปรียบเทียบกับ สปช. จะพบอีกว่า ตัวเลขของสัดส่วนของข้าราชการเพิ่มมากขึ้นมาก และคิดเป็นเกือบ 3 ใน 4 ของทั้งสภา
ข้อเสนอการปฏิรูป: เกินครึ่งเป็นนามธรรม ไม่มีงานวิชาการรองรับ ไม่มีข้อสรุป
คำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) แถลงสรุปผลการดำเนินงานของ สปท. ว่า ได้ดำเนินการประชุมไปทั้งหมด 70 ครั้ง พิจารณาให้ความห็นชอบรายงานการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการทั้ง 12 คณะ และกมธ.วิสามัญ รวม 190 เรื่อง แต่ทว่า เมื่อส่องดูข้อเสนอจากรายงานตามแผนการปฏิรูปของคณะกรรมาธิการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีกลับปรากฎรายงานอยู่ทั้งหมด 131 ฉบับ  (ข้อมูลเผยแพร่เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2560)
นอกจากนี้ จากการศึกษาข้อเสนอที่อยู่ในรายงานทั้ง 131 ฉบับ ทำให้พบอีกว่า มีข้อเสนอและวิธีการปฏิรูปนับได้อย่างน้อย 1,342 ข้อ แต่มีข้อเสนอที่เป็นรูปธรรม ชัดเจนสำหรับการนำไปปฏิบัติได้ทันทีเพียง 329 ข้อ หรือคิดเป็นร้อยละ 24.5 เท่านั้นเอง
โดยตัวอย่าง ข้อเสนอที่เป็นนามธรรม เช่น ข้อเสนอการให้การศึกษาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน ซึ่งอยู่ในรายงานการเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ในหน้าที่ 18 เสนอให้จัดทำหลักสูตรการศึกษาสร้างประชาชนวัฒนธรรมประชาธิปไตย (Civic Education) ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายประเทศใช้เป็นกลไกในการส่งเสริมระบอบประชาธิปไตย แต่ทว่า ในข้อเสนอดังกล่าวของ สปท. กลับมีรายละเอียดเพียงว่า จะจัดทำหลักสูตรในช่วงใด มีใครเป็นผู้รับผิดชอบ แต่ไม่ปรากฎสาระสำคัญของเนื้อหาหลักสูตรอย่างชัดเจนว่า วัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ต้องการสร้าง เป็นอย่างไร
หรือในรายงานการวางแผนกำลังคนภาครัฐเชิงยุทธศาสตร์ พบว่า ข้อเสนอเกือบทั้งหมดเป็นนามธรรม เพราะข้อเสนอของสปท. เป็นเพียงการสั่งให้หน่วยงานราชการไปทำงานเพิ่มในส่วนของตัวเอง เช่น การสำรวจกำลังคน หรือจัดทำแผนการจัดอัตรากำลังคน แต่ไม่ได้มีข้อเสนอเป็นรูปธรรมว่า หน่วยงานควรจัดอัตรากำลังคนอย่างไร หรือเสนอแผนการจัดอัตรากำลังคนอย่างไร หรือเรียกได้ว่า เป็นการติดตามการทำงานของหน่วยงานรัฐเสียมากกว่าการพัฒนาข้อเสนอใหม่ๆ เพื่อการก้าวไปข้างหน้า
นอกจากนี้ ข้อเสนอของสปท. จำนวนมากก็ไม่สามารถนำไปปฏิบัติได้ เนื่องจาก บางข้อเสนอยังไม่มีข้อสรุป ว่าควรเลือกใช้วิธีการใดในการปฏิรูป ยกตัวอย่างเช่น รายงานแผนปฏิรูประบบการประกันคุณภาพการศึกษา หน้า 14-15 ไม่มีข้อสรุปว่าจะยึดแนวทางใดในการกำหนดองค์ประกอบมาตรฐานหรือเกณฑ์การประเมินตัวบ่งชี้ เพราะในรายงานกำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัดเป็นคนจัดทำ ขณะเดียวกันก็ให้สถานศึกษาสามารเลือกเอาเกณฑ์คุณภาพการศึกษาที่ได้รับการยอมรับในระดับสากลมาใช้ ซึ่ง สปท. ไม่ได้สรุปว่าแนวทางใดดีที่สุด พร้อมทั้งไม่ได้ให้เหตุผลประกอบว่า แต่ละวิธีการจะเกิดผลลัพธ์ต่างกันอย่างไร
ยิ่งไปกว่านั้น บางข้อเสนอยังมีลักษณะที่ไม่มีงานวิชาการรองรับ  ยกตัวอย่างเช่น ในรายงานการพัฒนาและบรรจุหลักสูตรการเรียนการสอนด้านกีฬา ศิลปะ วัฒนธรรม การศาสนา คุณธรรมและจริยธรรม เพื่อมุ่งเน้นให้เด็กเป็นคนดี ของ สปท. เสนอให้เพิ่มชั่วโมงเรียนในวิชาศาสนา คุณธรรม จริยธรรม หน้าที่พลเมือง และอื่นๆ พร้อมให้กลับมาสอบโอเน็ต (O-net) ในรายวิชาดังกล่าวข้างต้น แต่ทว่าในรายงานไม่มีงานวิชาการรองรับว่า สาเหตุของปัญหาคืออะไร และข้อเสนอของสปท. จะแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้จริงหรือไม่
ข้อเสนอปฏิรูป: ตัดแปะ-ลอกเลียน จากหน่วยงานอื่นที่เคยเสนอหรือดำเนินการไปแล้ว
สิ่งสำคัญของการปฏิรูปที่คาดหวังก็คือ ข้อเสนอดังกล่าวต้องเป็นข้อเสนอที่ใหม่ หรือไม่ก็ต้องเป็นข้อเสนอที่ลึกซึ้งหรือสร้างสรรค์กว่าข้อเสนอที่มีอยู่  แต่ทว่า ข้อเสนอของ สปท. บางส่วน กลับเป็นเรื่องที่มีหน่วยงานราชการ หรือองค์กรต่างๆ ดำเนินการอยู่ก่อนแล้ว บางส่วน สปท. เพียงหยิบยกเนื้อหาบางส่วนมาจากรายงานการปฏิรูปของสปช. ในลักษณะ ‘ลอกข้อสอบ’ เลยเสียด้วยซ้ำ โดยสามารถแบ่งประเภทของการลอกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่
หนึ่ง  "ลอกข้อสอบ" จากสภาปฏิรูปอื่นๆ อาทิ รายงานของสปท. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่อง ความเป็นอิสระในการบริหารงานบุคคลของตำรวจจากการแทรกแซงทางการเมือง ที่เสนอให้ปรับปรุงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) และคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) เสียใหม่ โดยย้ายอำนาจแต่งตั้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจากเดิมที่เป็นของ ก.ต.ช. ให้ไปเป็นของ ก.ตร. แทน และในรายงานของ สปท. ก็ได้เสนอองค์ประกอบของ ก.ตร. ใหม่ 16 คนกับ ก.ต.ช. ใหม่ 11 คน ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวมีข้อความเหมือนรายงานของ สปช. วาระที่ 6: การปฏิรูปตำรวจ แทบจะทุกประการ
ไม่เพียงในแง่เนื้อหา แต่ในแง่รูปแบบการเขียนรายงานก็เห็นได้ชัดว่า การลำดับเนื้อหาและการให้เหตุผลเป็นไปในทิศทางเดียวกัน บางย่อหน้าของรายงานทั้งสองฉบับเขียนเหมือนกันทุกตัวอักษร แทบจะเรียกได้ว่า คนที่เขียนรายงานให้ สปท. นำรายงานเก่าของ สปช. มาเป็นร่าง แล้วตัดทอนกับแต่งเติมถ้อยคำเล็กๆ น้อยๆ เข้าไปบ้าง รวมทั้งการจัดหน้าเอกสารใหม่ เช่น การย่อหน้า รูปแบบการใช้หมายเลขหัวข้อ ขนาดตัวอักษร เพื่อไม่ให้ดูเหมือนกันมากจนเกินไป
สอง "ลอกข้อสอบ" จากฎหมายที่ผ่านไปก่อนแล้ว อาทิ รายงานของ สปท. เรื่อง ระบบงานบริการประชาชนในการรับแจ้งความและสอบสวน ที่เสนอให้นำระบบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว (Electronic Monitoring : EM) มาใช้ ทั้งที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ผ่านกฎหมาย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) เพื่อเปิดช่องให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามตัวผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราวได้มาก่อนหน้าที่ สปท. จะมีข้อเสนอดังกล่าวออกมาเสียอีก
สาม "ลอกข้อสอบ" จากผลงานที่หน่วยงานอื่นทำอยู่ก่อนแล้ว อาทิ รายงานของ สปท. เรื่อง ผลการศึกษาและข้อเสนอแนะการปฏิรูปหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลสื่อออนไลน์ ที่เสนอต่อนายกรัฐมนตรีเมื่อ 22 มกราคม 2559 หน้า 8 เสนอให้กำหนดแนวทางหรือสร้างช่องทางการรับการแจ้งความ แจ้งเบาะแส และให้คำปรึกษาคดีความผิดทางเทคโนโลยีทางออนไลนเพื่อเอื้อประโยชน์และปกป้องผู้เสียหาย ซึ่งเมื่อศึกษาดูก็จะพบว่า ข้อเสนอนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) หน่วยงานของตำรวจที่รับผิดชอบคดีความผิดบนโลกออนไลน์ เปิดช่องทางบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน ให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแสและแจ้งความผ่านทางออนไลน์ได้ ตั้งแต่ปี 2556 แล้ว
ข้อเสนอปฏิรูป: ถูกสังคมคัดค้าน พาประเทศถอยหลัง-ส่อขัดรัฐธรรมนูญ
นอกจากข้อเสนอของสปท. จะเป็นนามธรรมและซ้ำกับข้อเสนอของหน่วยงานอื่น ประเด็นที่ต้องพิจารณาอย่างจริงจังคือ บางข้อเสนอกำลังจะพาประเทศถอยหลังและบางข้อเสนอก็อาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ฉบับที่เพิ่งบังคับใช้กัน อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น การเสนอ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ. … หรือที่เรียกกันสั้นๆ ในชื่อ ร่างพ.ร.บ.ตีทะเบียนสื่อ โดยกฎหมายดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน 30 องค์กร ว่า เปิดทางให้อำนาจรัฐแทรกแซงการรายงานข่าวของสื่อ และมีเจตนาในการปิดปากไม่ให้นำเสนอข้อมูลเพื่อตรวจสอบโครงการต่างๆ ของรัฐที่ไม่ชอบมาพากล ผ่านการขึ้นทะเบียนกับองค์กรที่รัฐจัดตั้ง คือ สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจพิจารณาออกหรือเพิกถอนใบอนุญาตนักข่าวได้ เป็นต้น
นอกจากนี้ ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ยังเคยทำหนังสือ เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศ 36 ฉบับ เพราะ สปท. เกรงว่า หากดำเนินไปตามขั้นตอนปกติ กฎหมายจะออกมาบังคับใช้ไม่ทันภายในปี 2560 เนื่องจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีภาระงานล้นมือ
จากข้อเสนอดังกล่าวของ สปท. ก็ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้ง โดยคราวนี้มาจากฝั่งนักการเมืองที่นำโดยพรรคประชาธิปัตย์ ว่า  การใช้มาตรา 44 ออกกฎหมายปฏิรูปนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชน และอาจขัดต่อเจตนาของรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงเป็นการออกกฎหมายโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน
สปท. มีวงเงินงบประมาณให้ใช้สำหรับการขับเคลื่อนปฏิรูปถึงพันล้านบาท
เมื่อเห็นผลงานของการปฏิรูปไปแล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่าง คือ การประเมินความคุ้มค่า ตามข้อมูลจาก พ.ร.ฏ.เงินประจําตําแหน่งและประโยชน์ตอบแทนอื่นของผู้ดํารงตําแหน่งตามรัฐธรรมนูญบางตําแหน่ง พ.ศ. 2557 และระเบียบรัฐสภาว่าด้วยการแต่งตั้งผู้ช่วยในการปฏิบัติงานของสมาชิก สปท. พ.ศ. 2558 มีรายละเอียดที่แจกแจงค่าใช้จ่ายสำหรับค่าตอบแทนของ ประธาน สปท. รองประธาน สปท. และสมาชิก สปท. พร้อมผู้ช่วยไว้ดังนี้
  • ค่าตอบแทน ประธาน สปท. (1 คน) 119,920 บาท
  • ค่าตอบแทน รองประธาน สปท. (2 คน) 115,740 บาท
  • ค่าตอบแทน สมาชิก สปท. (197 คน) 113,560 บาท
  • ค่าตอบแทน ที่ปรึกษาประธาน สปท. 72,660 บาท
  • ค่าตอบแทน ที่ปรึกษารองประธาน สปท. (2 คน) 72,660 บาท
  • ค่าตอบแทน เลขานุการประธาน สปท. 49,210 บาท
  • ค่าตอบแทน เลขานุการรองประธาน สปท. (2 คน)  49,210 บาท
  • ค่าตอบแทน ผู้ช่วยเลขานุการประธาน สปท. 43,490 บาท
  • ค่าตอบแทน ผู้ช่วยเลขานุการรองประธาน (2 คน) สปท. 43,490 บาท
  • ค่าตอบแทน ผู้ช่วยในการปฏิบัติงานของสมาชิก สปท (จำนวน 3 อัตรา/1 คน) 59,000 บาท
ซึ่งจากตัวเลขข้างต้น หากนับจากก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2558 จนถึง 31 กรกฎาคม 2560 ที่เป็นวันสิ้นสุดการทำงานของ สปท. จะเท่ากับว่า เงินงบประมาณที่ใช้เป็นค่าตอบแทนการทำงานของสมาชิกและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับ สปท. จะอยู่ราวๆ 770,413,600 บาท และหากนำวงเงินดังกล่าวไปรวมกับเงินงบประมาณที่ตั้งไว้เพื่อการสนับสนุนการทำงาน เช่น ค่ารับรองตำแหน่ง ค่าเบี้ยประชุม และค่าใช้จ่ายในการจัดสัมมนาตามแผนการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 และ พ.ศ. 2560  ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่มีวงเงินอยู่260,860,300 และ 41,565,100 ตามลำดับ จะเท่ากับ วงเงินในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศตลอด 1 ปี 10  เดือน จะอยู่ราวๆ 1,072,845,000 บาท