ก่อนเสนอร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อฯ ลองดูบทเรียนเพื่อนบ้านเมื่อสื่อถูกคุมเข้มด้วยระบบใบอนุญาต

ต้นเรื่องจาก Jayshendra Karunakaren,
Proposed Media Licensing laws Looking at Our Neighbours’
Oppressive Licensing Regimes
แปล เรียบเรียงและนำเสนอโดย iLaw
 
ถ้าหาก ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ…. หรือ ร่างพ.ร.บ.จดทะเบียนสื่อฯ ผ่านการพิจารณา นักข่าวทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องมีใบอนุญาต มาตรฐานกลางว่าด้วยจริยธรรมจะถูกเขียนขึ้น สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติก็จะถูกตั้งขึ้นมาเป็นองค์กรอำนาจสั่งลงโทษสื่อมวลชนที่ฝ่าฝืน “มาตรฐานทางจริยธรรม” ร่างกฎหมายนี้ถูกจัดทำและเสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ซึ่งมาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารทั้งหมด
ขณะที่ฟากฝั่งผู้ร่างกฎหมายได้พยายามบอกว่า ร่างกฎหมายนี้มีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาการรายงานข่าวเท็จ จะทำให้สื่อทำงานอย่างมีมาตรฐาน องค์กรวิชาชีพสื่อกว่า 30 แห่ง เช่น สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย, สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์, สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ก็รวมตัวกันคัดค้านว่า ข้อกำหนดเช่นนี้จะทำให้การทำงานของนักข่าวต้องถูกตรวจสอบและเซ็นเซอร์โดยรัฐบาล ซึ่งนี่เป็นช่องทางการแทรกแซงสื่อมวลชนโดยตรงในฐานะที่เป็นฐานันดรที่สี่ที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของภาครัฐ
ตามร่างกฎหมายนี้ คณะกรรมการจริยธรรมสื่อมวลชน จำนวน 15 คนจะถูกตั้งขึ้น โดย 4 คนเป็นตัวแทนมาจากภาครัฐ เช่น สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงวัฒนธรรม เป็นต้น กรรมการชุดนี้มีอำนาจกำหนดมาตรฐานจริยธรรมให้กับสื่อมวลชน และมีอำนาจสั่งปรับ หรือยึดใบอนุญาตการประกอบกิจการหนังสือพิมพ์ หรือกิจการวิทยุโทรทัศน์ได้ หากเห็นว่า ฝ่าฝืนจริยธรรม นอกจากนี้หากนักข่าวหรือสำนักข่าวทำงานโดยไม่มีใบอนุญาต ก็จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 
หลังจากร่างกฎหมายถูกเสนอขึ้น สปท. ก็ยังแก้ไขอีกอย่างน้อย 2 ประเด็น คือ หนึ่ง นักข่าวต้องมีใบรับรองจากบริษัทหรือสำนักข่าวของตัวเองก็เพียงพอ ไม่ต้องได้รับใบอนุญาตจากรัฐบาล สอง ตัวแทนจากภาครัฐจะนั่งอยู่ในคณะกรรมการเฉพาะช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีแรกเท่านั้น แล้วร่างกฎหมายนี้ก็ได้รับการรับรองจาก สปท. ด้วยคะแนนเสียง 141 ต่อ 13 เสียง และงดออกเสียง 17 เสียง
แนวโน้มที่น่าจะเกิดขึ้น ดูตัวอย่างได้จากประเทศเพื่อนบ้าน
พล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร ประธานกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สปท. เคยกล่าวไว้ว่า สปท.ดูตัวอย่างจากสื่อของเวียดนาม มาเลเซียด้วย เท่าที่ศึกษาพบว่า สื่อมวลชนสิงคโปร์ถูกควบคุมใน 3-4 เรื่องคือ การห้ามละเมิดสิทธิมนุษยชนผู้อื่น การห้ามสร้างความแตกแยก การห้ามทำลายเสถียรภาพรัฐให้สั่นคลอน ทำให้ประเทศสิงคโปร์มีเสถียรภาพ เราจึงลอกในส่วนดีของเขามาใช้
บทความนี้จึงจะนำเสนอข้อเท็จจริงอีกทางหนึ่งว่า กฎหมายจดทะเบียนสื่อของมาเลเซีย และสิงคโปร์ ถูกระบบเผด็จการใช้เป็นเครื่องมือควบคุมสื่อมวลชนอย่างไรบ้าง เพื่อจะให้ภาพที่ชัดเจนขึ้นว่า ร่างพ.ร.บ.จะทะเบียนสื่อฯ ของไทยก็อาจถูกใช้ในทางที่ผิดได้อย่างไร
มาเลเซีย: สื่อโดนคุกคามอยู่ตลอด
กฎหมายที่มาเลเซียใช้เป็นหลักเพื่อบังคับจดทะเบียนสื่อชื่อว่า พ.ร.บ.การพิมพ์และสื่อสิ่งพิมพ์ ปี 2527 (Printing Presses and Publications Act หรือ PPPA of 1984) มาตรา 2 และ 3 ของ PPPA กำหนดว่า สำนักพิมพ์ทั้งในและต่างประเทศต้องขออนุญาตต่อกระทรวงกิจการภายใน (Home Affairs Ministry) เพื่อที่จะพิมพ์ นำเข้า หรือแจกจ่าย หนังสือพิมพ์ และยังต้องขออนุญาตครอบครองแท่นพิมพ์ด้วย และรัฐมนตรีกิจการภายในก็มีอำนาจอย่างเต็มที่ ที่จะออกคำสั่งอนุญาตหรือไม่ก็ได้ การพิมพ์และแจกจ่ายหนังสือพิมพ์โดยไม่ได้รับอนุญาตนั้นอาจถูกลงโทษสูงสุดจำคุก 3 ปี และมีโทษปรับด้วย ที่ผ่านมารัฐบาลมาเลเซียเคยทั้งระงับและเพิกถอนใบอนุญาตเพื่อกดดันนักข่าวให้ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองโดยการเลิกวิจารณ์รัฐบาล
ระบบการบังคับจดทะเบียน ถูกแก้ไขในปีค.ศ. 2012 เมื่อมีการแก้ไขกฎหมายยกเลิกการบังคับให้สื่อมวลชนต้องต่อใบอนุญาตแบบรายปี และยังมีการแก้ไขให้ศาลมีอำนาจตรวจสอบคำสั่งไม่ออกใบอนุญาตของรัฐมนตรีได้ อย่างไรก็ตามการแก้ไขครั้งนี้ก็ยังไม่ได้กำหนดหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนแน่นอนว่า คำสั่งของรัฐมนตรีแบบใดบ้างที่จะถูกตรวจสอบได้
ระบบการจดทะเบียนสื่อของมาเลเซียเป็นรากฐานที่สำคัญของการควบคุมสื่อโดยรัฐบาล ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ โทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ รัฐบาลนำกฎหมายนี้มาใช้ประโยชน์ในทางที่จะปิดกั้นการแสดงออกของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ตัวอย่าง กรณีที่มีชื่อเสียง คือ การปฏิเสธคำขอจดทะเบียนของ มินิดอทคอม (Mini Dotcom) ในปี 2545 และ 2553 ที่จะขอผลิตสื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์ โดยไม่ได้อธิบายเหตุผลให้ชัดเจน 
มาเลเซียเป็นประเทศที่ปกครองแบบเบ็ดเสร็จยาวนานโดยรัฐบาลพรรคเดียวที่มาจากการเลือกตั้ง ภายใต้รัฐบาลพรรคอัมโน (UMNO) มินิดอทคอม ซึ่งเป็นเจ้าของสำนักข่าวออนไลน์มาเลเซียกินี (Malaysiakini) เป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะสื่อที่รายงานข่าวสวนทางกับรัฐบาล ตำรวจเคยบุกค้นสำนักข่าวแห่งนี้หลายครั้ง โดยส่วนใหญ่มาจากการสั่งการของรัฐบาลพรรคอัมโน นอกจากนี้สำนักข่าวยังเคยถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทนักการเมืองอีกหลายคน
เมื่อมินิดอทคอม โต้แย้งคำสั่งปฏิเสธการจดทะเบียนไปยังชั้นศาล ศาลตัดสินว่า รัฐมีอำนาจไม่ออกใบอนุญาตให้กับสื่อมวลชนก็ได้ เพื่อปกป้องความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี นอกจากศาลจะอาศัยเหตุผลนี้ยืนยันการปฏิเสธใบอนุญาตแล้ว รัฐมนตรีกระทรวงภายในยังอ้างต่อศาลว่า สำนักข่าวมาเลเซียกินีนั้น “ไม่เป็นกลาง” และ “มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความขัดแย้ง” 
ซูนาร์ นักวาดการ์ตูนล้อเลียนการเมืองที่มีชื่อเสียงคนหนึ่ง เคยถูกรัฐบาลจับกุมและตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นหลายครั้ง ซูนาร์เล่าว่า เจ้าหน้าที่รัฐใช้กฎหมายการจดทะเบียนสื่อข่มขู่สำนักพิมพ์ทั้งสามแห่งที่ตีพิมพ์หนังสือของเขาว่าจะถูกเพิกถอนใบอนุญาต
อีกตัวอย่างหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ กรณีในเดือนสิงหาคม 2556 ที่ตอนแรกรัฐบาลออกใบอนุญาตให้กับ เอดจ์คอมมิวนิเคชั่น (Edge Communications) เจ้าของสื่อออนไลน์ เอฟซีเดลี่ (FZ Daily) สำหรับการผลิตสื่อในรูปแบบสิ่งพิมพ์ แต่ว่าหนึ่งสัปดาห์ต่อมากลับหน่วงใบอนุญาตเอาไว้ และไม่มีคำสั่งอะไรออกมา เอดจ์คอมมิวนิเคชั่นจึงโต้แย้งไปที่ศาล ศาลรับฟ้องและสั่งว่าการหน่วงใบอนุญาตไว้นั้นไม่ถูกต้อง ต่อมากระทรวงกิจการภายในจึงมีคำสั่งปฏิเสธใบอนุญาต โดย ดาตุก เสรี อาหมัด ซาฮิด ฮามิดี รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน ให้เหตุผลการปฏิเสธใบอนุญาตของเอดจ์คอมมิวนิเคชั่น และมินิดอทคอมว่า สื่ออิสระทั้งสองแห่งจะรายงานข่าวที่ “อ่อนไหวและมีความขัดแย้ง” 
อีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นกับสื่อในเครือเดียวกัน รัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายในขู่ที่จะเพิกถอนใบอนุญาตของหนังสือพิมพ์ เอดจ์วีคลี่ (The Edge Weekly) และเอดจ์ไฟแนนเชี่ยลเดลี่  (The Edge Financial Daily) เพื่อตอบโต้ที่หนังสือพิมพ์เผยแพร่รายงานกล่าวหาว่า รัฐบาลเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในกองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐ ชื่อ วันมาเลเซีย เดเวลลอปเม้นต์ เบอร์ฮาด (1 Malaysia Development Berhad หรือ 1MDB) รัฐบาลส่งคำขู่ถึงเครือเอดจ์ว่าจะเพิกถอนใบอนุญาตหากไม่ระงับการเผยแพร่หนังสือพิมพ์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องนี้ คือ รัฐมนตรีได้สั่งพักใช้ใบอนุญาตของหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับเป็นเวลาสามเดือน
คำสั่งของรัฐบาลครั้งนี้ อ้างอิงเหตุผลสามประการ
          (1) พาดหัวข่าวและรายงานข่าวของหนังสือพิมพ์ทั้งสองแห่ง “ชวนให้เกิดคำถามและสร้างความรับรู้ของสาธารณชนในทางลบต่อกองทุน และพาดพิงรัฐบาลและผู้นำของชาติ”
          (2) รายงานที่เผยแพร่ไปนั้น อาศัย “ข้อมูลที่น่าสงสัยและยังไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งอาจทำให้สาธารณชนตื่นตกใจ และอาจส่งผลเสียต่อความสงบเรียบร้อยและผลประโยชน์ของชาติ”
          (3) ประเด็นการทุจจริตในกองทุน 1MDB ยังอยู่ระหว่างการสอบสวน จึง “ไม่เหมาะสมที่จะรายงานข่าวให้เกิดความรับรู้ในทางลบ” 
การให้เหตุผลมาเช่นนี้ เป็นไปตามถ้อยคำที่เขียนไว้ในมาตรา 7(1) ของ PPPA ซึ่งให้อำนาจกับกระทรวงกิจการภายในที่จะสั่งห้ามเผยแพร่สื่อใดๆ ที่ “ก่อให้เกิดหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดี ความมั่นคง หรือน่าจะทำให้สาธารณชนตื่นตระหนก หรือน่าจะขัดแย้งต่อกฎหมาย หรือก่อให้เกิดความเสียหายหรือน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผลประโยชน์ของส่วนร่วมหรือผลประโยชน์ของชาติ”
โฮ เค ทัท ผู้จัดพิมพ์สื่อในเครือเอดจ์ กล่าวถึงปรากฏการณ์นี้ว่า เขาไม่เข้าใจว่า รายงานข่าวแบบสืบสวนสอบสวนที่สื่อมวลชนจัดทำขึ้นเพื่อเปิดโปงการทุจริตขนาดใหญ่ในภาครัฐ จะถูกมองว่าเป็นการรบกวนความสงบเรียบร้องได้อย่างไร เขายังมองว่า การกระทำเช่นนี้ของรัฐบาลถือเป็นการเซ็นเซอร์สื่ออย่างหนึ่งเท่านั้น
สิงคโปร์ : เต็มไปด้วยการควบคุมโดยระบบราชการ
ไม่ต่างกันนักกับมาเลเซีย สิงคโปร์มีพ.ร.บ.หนังสือพิมพ์และสื่อสิ่งพิม์ พ.ศ.2517 (Newspaper and Printing Presses Act หรือ NPPA 1974) ซึ่งกำหนดให้หนังสือพิมพ์ของสิงคโปร์ต้องต่ออายุใบอนุญาตทุกๆ ปี และก็ให้อำนาจกับรัฐบาลที่จะสั่งห้ามการแจกจ่ายหนังสือพิมพ์ต่างประเทศที่พิจารณาแล้วเห็นว่า แทรกแซงการเมืองภายในประเทศ กฎหมายฉบับนี้ กำหนดให้สิ่งพิมพ์จากต่างประเทศที่พิมพ์มากกว่า 300 ฉบับต่อเล่มขึ้นไป และรายงานเนื้อหาเกี่ยวกับการเมือง หรือเหตุการณ์ปัจจุบันในอาเซียน ต้องจดทะเบียน และวางเงินประกัน 200,000 ดอลล่าห์สิงคโปร์ หรือประมาณ 144,000 ดอลล่าห์สหรัฐ และเปิดเผยตัวแทนทางกฎหมายที่อยู่ในสิงคโปร์ด้วย
ระบอบการบังคับจดทะเบียนสื่อของสิงคโปร์ยังมีชื่อเสียงในการควบคุมสื่อบนอินเทอร์เน็ตด้วย พ.ร.บ.การกระจายเสียง และพ.ร.บ.การจดทะเบียนสื่อออนไลน์ (Broadcasting Act, the Online News Licensing Scheme หรือ ONLS) กำหนดให้ สื่อที่รายงานบนอินเทอร์เน็ตต้องขอใบอนุญาตจากรัฐบาล กติกานี้บังคับใช้กับสื่อออนไลน์ที่เผยแพร่เนื้อหาเฉลี่ยอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งชิ้นเป็นเวลาติดต่อกันนานกว่าสองเดือน ในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องราวในประเทศ และมีคนเข้าชมเว็บไซต์อย่างน้อยเดือนละ 50,000 ครั้งติดต่อกันสองเดือน จากผู้ใช้ที่ลงทะเบียนกับผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตในสิงคโปร์ 
เว็บไซต์ที่จดทะเบียนจะต้องวางเงินประกัน 50,000 ดอลล่าห์สิงคโปร์ หรือประมาณ 36,000 ดอลล่าห์สหรัฐ และยังต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับเพิ่มเติมอีกว่า ต้องลบเนื้อหาที่ต้องห้ามภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน่วยงานข้อมูลการสื่อสาร และการพัฒนาสื่อ (Info-Communications Media Development Authority หรือ IMDA) รัฐบาลยังกำหนดให้สื่อทั้งหลายต้องเปิดเผยว่าไม่ได้รับเงินมาจากกองทุนต่างประเทศ 
กฎระเบียบการจดทะเบียนที่เคร่งครัดเช่นนี้ นำไปสู่การปิดเว็บไซต์ เครือข่ายข่าวเช้าอิสระ (independent Breakfast Network news) หรือ กรณีหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ การที่ IMDA ระงับใบอนุญาตประกอบกิจการของสำนักข่าว เดอะเรียลสิงคโปร์ (The Real Singapore)  และยังตั้งข้อหายุยงปลุกปั่นต่อบรรณาธิการร่วม 7 กระทง จากการเผยแพร่ข่าว ที่เจ้าหน้าที่อ้างว่า “มีแนวโน้มจะสนับสนุนความรู้สึกรังเกียจและความแตกแยกระหว่างประชาชนหลากหลายกลุ่มในสิงคโปร์” รายงานข่าวที่เป็นปัญหา เช่น ข่าวที่อ้างคำสัมภาษณ์ของส.ส.ต่อปัญหาหมอกควัน และถูกส.ส.กล่าวหาว่า อ้างคำพูดผิด หรือการรายงานข่าวที่ วัยรุ่นชาวสิงคโปร์ปลูกกัญชาในบ้าน แต่พาดหัวข่าวผิดเป็นวัยรุ่นชาวอินเดีย
ไฟล์แนบ