การเข้าชื่อเสนอกฎหมายโดยประชาชน เป็นสิทธิของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 เช่นเดียวกับปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ 2560 ก็ระบุ ให้ประชาชนมีสิทธิและมีส่วนร่วมทางการเมืองในการกำหนดอนาคตของตนเองและประเทศ ผ่านการเข้าชื่อเสนอกฎหมายด้วยเช่นกัน กล่าวคือ ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถรวมตัวกันเข้าชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชาวไทยและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐต่อสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้การเข้าชื่อเสนอกฎหมายมีหลักการสำคัญสามประการที่ประชาชนผู้ต้องการเสนอกฎหมายควรรู้
สามหลักการสำคัญประชาชนอยากเสนอกฎหมายต้องทำอย่างไร
หลักการแรก คุณสมบัติและจำนวนของประชาชน ที่ต้องการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 133 คือ ต้องเป็นประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งและต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน สามารถใช้สิทธิเสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ได้ ซึ่งเมื่อเทียบกับรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2540 จะพบว่า จำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมายในรัฐธรรมนูญ 2560 เท่ากับรัฐธรรมนูญ 2550 คือจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน ซึ่งลดลงจำนวนจากรัฐธรรมนูญ 2540 ที่เขียนให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 50,000 คน สำหรับหลักคิดของการลดจำนวนประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ก็เพื่อเป็นการส่งเสริมการใช้สิทธิของประชาชนในการเสนอร่างกฎหมายให้สะดวกขึ้น
หลักการสอง ร่างพ.ร.บ.ที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ ในรัฐธรรมนูญ 2560ตามมาตรา 133 กำหนดว่า ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถเสนอ ร่างพ.ร.บ.เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย หมวด 5 หน้าที่ของรัฐ เท่านั้น ซึ่งหลักการดังกล่าวคล้ายกับรัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550ต่างแต่เพียงรัฐธรรมนูญ 2540และ 2550 เป็นหมวด แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ไม่ใช่หมวดหน้าที่ของรัฐ
หลักการสาม ข้อยกเว้นร่างพ.ร.บ.ที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ ในรัฐธรรมนูญ 2560 ตามมาตรา 133 คือ หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีก่อน ซึ่งข้อยกเว้นร่างพ.ร.บ.ที่ประชาชนมีสิทธิเสนอนั้น รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 ได้บัญญัติไว้เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญ 2560
ตารางเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญ2540-2550-2560 ประเด็นสิทธิ-การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย |
ประเด็น | รัฐธรรมนูญ 2560 | รัฐธรรมนูญ 2550 | รัฐธรรมนูญ 2540 |
คุณสมบัติและจำนวนของผู้มีสิทธิเสนอร่างพ.ร.บ. | มาตรา 133 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า10,000 คน | มาตรา 163 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 10,000 คน | มาตรา 170 ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 50,000 คน |
ร่างพ.ร.บ.ที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ | มาตรา 133 ประชาชนมีสิทธิเสนอ ร่างพ.ร.บ. เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทยหมวด 5หน้าที่ของรัฐ | มาตรา 163 ประชาชนมีสิทธิเสนอ ร่างพ.ร.บ. เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ | มาตรา 170 ประชาชนมีสิทธิเสนอ ร่างพ.ร.บ. เฉพาะตามที่บัญญัติไว้ในหมวด 3สิทธิและเสรีภาพของประชาชนหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ |
ข้อยกเว้น ร่างพ.ร.บ.ที่ประชาชนมีสิทธิเสนอ | มาตรา 133 หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี | มาตรา 163 หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี | มาตรา 171 หากเป็นร่างพ.ร.บ.เกี่ยวกับเงินต้องได้รับคำรับรองจากนายกรัฐมนตรี |