สั่งทุกคนคาดเข็มขัดนิรภัย, รื้อระบบบริหารครู ประยุทธ์ซัด ม.44 วันเดียว 4 เรื่องรวด

เมือวันที่ 21 มีนาคม 2560 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 14-17/2560 4 ฉบับรวดภายในวันเดียวกัน ลงนามโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา 2 ฉบับแรกเป็นเรื่องการปฏิรูปการคมนาคม และการขนส่ง ให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งความสงบเรียบร้อยในสังคม ส่วนสองฉบับหลังเป็นเรื่องของการปรับเปลี่ยนบอร์ด ก.ค.ศ. และบอร์ดคุรุสภา 
สรุปสาระสำคัญของทั้ง 4 คำสั่ง
คำสั่งที่ 14/2560 เรื่องมาตรการการเพิ่มประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบก  เป็นการแก้ไข พ.ร.บ. การจราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยเพิ่ม 1) ผู้ได้รับมอบหมายจากเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าหน้าที่ภายใต้การควบคุมดูแลของบุคคลดังกล่าว มีอำนาจในการเคลื่อนย้ายรถที่จอดในที่ห้ามจอด ล็อกล้อ โดยไม่ต้องรับผิดชอบความเสียหายใดๆ หากการกระทำนั้นเป็นการไม่ได้จงใจ 2) บังคับให้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารต้องคาดเข็มขัดนิรภัย และ 3) กรมขนส่งจะไม่ต่อทะเบียนให้รถคันที่ไม่จ่ายค่าปรับหรือจ่ายค่าปรับไม่ครบ 
อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 14/2560 ฉบับเต็ม 
คำสั่งที่ 15/2560 เรื่องมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถตู้สารธารณะ มีคำสั่งให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับรถประจำทางและไม่ประจำทาง คือ 1) รถตู้โดยสารมีที่นั่งไม่เกิน 13 ที่นั่ง 2) ต้องมีการปรับปรุงหรือติดตั้งอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารรถตู้ เช่น การปรับพนักพิงเบาะหลังให้เป็นทางออกฉุกเฉิน 3) การติดตั้งบรรจุก๊าซธรรมชาติ หรือก๊าซปิโตรเลียมต้องไม่ทำให้น้ำหนักรวมเกินสมรรถนะของรถ และกำหนดการเพิกถอนใบอนุญาตหรือพักใบอนุญาต 6 เดือน ถ้าหากรถเกิดอุบติเหตุจากการใช้ความเร็วเกินกำหนด ขับรถเกินชั่วโมงที่กฎหมายกำหนด ขับรถโดยประมาท หรือนำรถไปใช้ในการกระทำผิดกฎหมาย เช่น ขนยาเสพติด เก็บค่าโดยสารเกิน บรรทุกผู้โดยสารเกิน หรือทอดทิ้งผู้โดยสาร 
อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 15/2560 ฉบับเต็ม
คำสั่งที่ 16/2560 เรื่องการบริหารงานบุคคลข้าราชครูและบุคลากรทางการศึกษา มีคำสั่งให้ 1) กรรมการบอร์ด ก.ค.ศ. พ้นจากตำแหน่ง 2) ปรับโครงสร้างบอร์ด ก.ค.ศ. โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระะทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน กรรมการโดยตำแหน่ง มี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดดกระทรวงศึกษาธิการ เลขาธิการ ก.พ. เลขาธิการสภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เลขาธิการคณะกรรมการอุดมศึกษา เลขาธิการกรรมการอาชีวศึกษา และเลขาธิการคุรุสภา กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้รัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งจากบุคคลที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์สูงในด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ด้านการศึกษา และด้านกฎหมาย ด้านละ 1 คน ให้เลขาธิการ ก.ค.ศ. เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการ ก.ค.ศ. แต่งตั้งข้าราชการในสำนัก ก.ค.ศ. จำนวนไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ และถ้าหากจะแต่งตั้งข้าราชการครู พลเรือน หรือบุคลากรทางการศึกษาเป็นกรรมการผู้ทรงวุฒิจะต้องเป็นผู้ที่มีตำแหน่งประเภทผู้บริหารระดับสูงหรือวิทยาฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ 
อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 16/2560 ฉบับเต็ม
คำสั่งที่ 17/2560 เรื่องแก้ไขเพิ่มเติมคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 7/2558 มีคำสั่งแก้ไขให้ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการคุรุสภา โดยถอดเลขาธิการคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคคลากรทางการศึกษาออกจากคณะกรรมการ และปรับเปลี่ยนให้เลขาธิการสำนักบริหารงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนมาเป็นคณะกรรมการแทนผู้อำนวยการสำนักฯ 
อ่านคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 17/2560 ฉบับเต็ม
แก้กฎหมายจราจร ปรับบอร์ด ก.ค.ศ. และคุรุสภา จำเป็นต้องใช้ ม. 44 ?
การใช้อำนาจมาตรา 44 ในการประกาศ 2 ฉบับแรก ที่เกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.จราจรทางบก โดยอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในปฏิรูประบบการคมนามคมและการขนส่ง เพื่อให้เกิดความสงบเรียบร้อยในการคมนาคม และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน นั้นยังทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ในทางปฏิบัติจะทำได้จริงหรือไม่ เช่น การบังคับให้ทุกคนต้องคาดเข็มขัดนิรภัยขณะโดยสารรถยนต์ หรือการบังคับให้รถตู้ต้องมีที่นั่งผู้โดยสารไม่เกิน 13 ที่นั่ง เพราะตามภาพความเป็นจริง หลังจากคำสั่งออกมา รถตู้หลายคันก็ยังมีจำนวนที่นั่งเกิน 13 ที่นั่ง หรือพฤติกรรมของคนที่ไม่คาดเข็มนิรภัยก็ยังมีอยู่ 
ปัญหาทั้งเรื่องการคาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของพฤติกรรม เมื่อครั้งปี 2538 ที่ออกกฎหมายให้ผู้ขับขี่รถยนต์และผู้โดยสารที่นั่งข้างคนขับ ต้องคาดเข็มขัดนิรภัย ก็ต้องอาศัยการรณรงค์ทางสังคมเพื่อสร้างความตื่นรู้ประโยชน์ของการคาดเข็มขัดนิรภัยกันอย่างมหาศาล ทั้งก่อนและหลังการออกกฎหมาย แต่ในปี 2560 เมื่อหัวหน้า คสช. ต้องการให้กฎหมายนี้คุ้มครองถึงคนนั่งเบาะหลังด้วย กลับใช้วิธีออกคำสั่งง่ายๆ โดยไม่ได้มีส่วนร่วมจากประชาชน และไม่ได้รณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้สังคมทราบแต่อย่างใดเลย
ส่วนเรื่องจำนวนที่นั่งของรถตู้ ยังเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างด้วย การออกคำสั่งในเรื่องดังกล่าว โดยหวังว่าเมื่อออกคำสั่งมาแล้วทุกคนจะเคารพปฏิบัติตาม ย่อมเป็นไปไม่ได้ จึงเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และมีแนวโน้มที่จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้อย่างเช่นที่เคยเกิดขึ้นกับคำสั่งฉบับก่อนหน้า เช่น เรื่องวัดธรรมกาย หรือการแก้ปัญหาเด็กแว้น เป็นต้น 
นอกจากนี้ระบบการออกกฎหมายปกติ โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ยังสามารถทำงานได้อยู่ ซึ่งสมาชิก สนช. ทั้งหมดก็มาจากการแต่งตั้ง โดยมากกว่าครึ่งเป็นทหารและทหารเก่า ไม่เคยลงมติไม่ผ่านกฎหมายฉบับไหนเลย และกฎหมายที่ผ่านก็ลงมติเห็นชอบเกินกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ทุกฉบับ ดังนั้น การจะใช้ สนช. เป็นเครื่องมือแก่ไขพ.ร.บ.จราจรทางบก ตามความต้องการของ คสช. ย่อมทำได้ไม่ยากอยู่แล้ว โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจพิเศษเช่นนี้ก็ได้
ในส่วนของการปรับบอร์ด ก.ค.ศ. และคุรุสภา นั้นก็สามารถใช้ช่องทางปกติดำเนินการได้อยู่แล้ว แต่หลายครั้ง คสช. ก็จะเลือกใช้มาตรา 44 ในการปรับโยกย้ายข้าราช หรือคณะกรรมการต่างๆ โดยไม่ใช้กระบวนการปกติและไม่มีโอกาสให้ผู้ที่จะถูกโยกย้ายทราบได้ล่วงหน้า จึงอาจทำให้เกิดความรู้สึกไม่เป็นธรรมแก่ข้าราชการ หรือผู้ได้รับผลกระทบได้ 
มาตรา 44 อำนาจวิเศษของ คสช. ใช้แก้ปัญหาครอบจักรวาล 
ที่ผ่านมาหัวหน้า คสช. อาศัยอำนาจของมาตรา 44 ในการออกคำสังต่างๆ ให้มีสถานะเทียบเท่ากับ พระราชบัญญัติมาแล้วอย่างน้อย 144 ฉบับ (นับถึงวันที่ 21 มีนาคม 2560) อาจจะเปรียบได้ว่า มาตรา 44 ของ คสช. เป็นเสมือนเครื่องมือวิเศษในการแก้ไขปัญหาแบบครอบจักรวาล เช่น ปัญหาการทุจริตคอรัปชั่น การโยกย้ายข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริต การแก้ปัญหาเด็กแว้น แก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ควบคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้อำนาจทหารปราบปรามคดีความมั่นคง เป็นต้น 
การประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของ คสช. มีเจตนาเพื่อลดขั้นตอน เพื่ออำนวยความสะดวกให้ หัวหน้า คสช. สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเฉียบขาดทันใจ เพราะเป็นการรวบอำนาจบริหารและตุลาการไว้ที่คนๆ เดียว ในหลายเรื่องก็ใช้ได้ผล แต่หลายเรื่องก็เป็นการใช้อำนาจโดยเสียเปล่า แต่ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการ ที่เห็นได้ชัดเร็วๆ นี้ คือ กรณีของวัดพระธรรมกาย เป็นต้น 
มีทั้งผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการใช้อำนาจมาตรา 44 ในกลุ่มที่เห็นด้วยมองว่า มาตรา 44 เป็นอำนาจที่ช่วยแก้ไขปัญหาแบบเบ็ดเสร็จ แต่ในกลุุ่มที่ไม่เห็นด้วย เช่น อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองว่า มาตรา 44 ไม่สามารถโต้แย้งได้ และในหลายเรื่องเราสามารถใช้กฎหมายปกติได้ ไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44
แต่ถ้าหากมองตามหลักการแล้ว มาตรา 44 เป็นอำนาจที่ไม่มีความชอบธรรมตามหลักการประชาธิปไตยมาตั้งแต่ต้น เพราะ ให้อำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่คนเดียว ไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจได้ ขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน และที่ผ่านมาการใช้ มาตรา 44 ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า เป็นเครื่องมือที่แก้ไขปัญหาจริงได้ทุกกรณี โดยเฉพาะปัญหาทางด้านสังคมที่มีความซับซ้อนหลากหลายมิติที่ต้องทำความเข้าใจปัญหาอย่างรอบด้าน และการใช้อานาจคำสั่งโดยขาดความเข้าใจปัญหาที่แท้จริง ปราศจากการตื่นตัวรับรู้และเห็นชอบร่วมกันของคนในสังคมนั้นๆ ก็เปรียบเสมือนการใช้อำนาจแบบเสียของ และนานวันเข้าก็จะทำให้ความศักดิ์สิทธิ์ของอำนาจนั้นเสื่อมคลายลงไปด้วย