เสวนา “คำพิพากศาล” นักวิชาการชี้ รัฐใช้ ม.112 เป็นกลไกสร้างความกลัว – การบังคับใช้กฎหมายขึ้นอยู่กับว่า คุณเป็นใคร?

  
  
วันที่ 19 มีนาคม 2560 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีงานเสวนา "คำพิพากศาล" โดยสาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงคดี 112 ของจตุภัทร์ (ไผ่ ดาวดิน) ว่า ศาลให้เหตุผลในการถอนประกันว่า ผู้ต้องหาไม่ได้ลบข้อความที่ถูกฟ้องบนเฟซบุ๊กและยังแสดงความคิดเห็นในสื่อออนไลน์ จึงอาจเป็นการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน แต่ในเงื่อนไขการประกันตัว ศาลไม่ได้กำหนดว่าไผ่จะต้องลบข้อความ ดังนั้นศาลจึงไม่สามารถบอกได้ว่าไผ่ทำผิดเงื่อนไขการประกันตัวจนต้องถอนประกัน แต่ประเด็นที่ย้อนแย้งและแย่มากๆ คือ ศาลหรือเจ้าพนักงานบอกว่า ไผ่แสดงความเห็นบนเฟซบุ๊กอยู่ตลอด อาจจะยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้
กรณีนี้น่าสนใจว่า ศาลล่วงละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐาน ศาลกำลังบอกว่า เมื่อไหร่ที่คุณตกเป็นผู้ต้องหา คุณห้ามเล่นเฟซบุ๊ก อย่าไปใช้โซเชียลมีเดีย ไม่งั้นวันดีคืนดี ศาลจะถอนประกัน ทั้งที่สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรับรู้ข่าวสารในโลกออนไลน์เป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน แต่เรากำลังถูกขยับแดนสิ่งที่ห้ามทำไปเรื่อยๆ
คำถามต่อไป คือ ทำไมศาลทำแบบนี้? มีเหตุผลอะไร? ทำไมจึงกล้าใช้ดุลพินิจหรือใช้อำนาจนอกกฎหมายที่ตนเองเรียนมา เรื่องนี้ใช้หลักนิติศาสตร์วิเคราะห์ไม่ได้ นอกจากจะบอกว่ามันผิด แต่ถ้าใช้หลักรัฐศาสตร์ อุดมการณ์ ความเชื่อ วัฒนธรรม การเมืองการปกครอง และสถานการณ์ต่างๆ เราน่าจะหาคำตอบได้ จะเห็นว่ามันมีเบื้องหลังเป็นเงาดำทะมึนๆ พาดอยู่หลังกระบวนการยุติธรรม
อาจกล่าวได้ว่ากระบวนการยุติธรรมทางอาญามาตรา 112 เป็นกลไกที่รัฐใช้สร้างความกลัว เป็นกระบวนการยุติธรรมเชิงบีบบังคับให้จนมุม มีทางเลือกเพียงจะสารภาพหรือสู้คดี คำว่า “สู้ติดแน่ แพ้ติดนาน” ของคุณชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ ใช้ได้ดีกับคดี 112 เพราะต่อให้เราแน่ใจว่ายังไงก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่มีความแน่นอนว่าจะชนะหรือไม่ เพราะการตีความถูกขยายออกไป จะฝากความหวังไว้กับพยานหลักฐานก็ไม่ได้ เพราะไม่ได้รับสิทธิประกันตัวให้ออกไปหาพยานหลักฐานข้างนอก เมื่อเป็นแบบนี้ คนจึงเลือกที่จะรับสารภาพ จะได้ออกเร็วๆ หรือได้รับอภัยโทษ ส่วนผู้พิพากษาเองก็ได้อยู่ในพื้นที่ปลอดภัย เมื่อผู้ต้องหาสารภาพ ก็จบ ไม่ต้องตีความ ไม่ต้องเผยว่าตนเองมีอุดมการณ์อย่างไรต่อเรื่อง 112
กระบวนการเหล่านี้คือการบีบบังคับ สร้างความหวาดกลัวเพื่อคงระเบียบสังคมที่ผู้มีอำนาจต้องการ คงความศักดิ์สิทธิ์ของสถาบันฯ ซึ่งเขามีวิธีเลือกเป้าหมายด้วย คนอย่างไผ่ที่ทำกิจกรรมต่อต้านอำนาจรัฐจึงถูกดำเนินคดีคนเดียว ทั้งที่มีคนแชร์บทความเดียวกันสองพันกว่าคน มันทำให้นักกิจกรรมคนอื่นกล้าๆ กลัวๆ ที่จะแชร์หรือไลค์ ด้านบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ อัยการ ก็รีบทำคดี เพราะกลัวว่าหากช้า จะโดนหาว่าไม่จงรักภักดี
การใช้วิธีการแบบนี้บ่อยๆ รัฐมีต้นทุนที่ต้องจ่าย ด้านหนึ่งรัฐก็ปกครองประชาชนได้ แต่อีกด้านหนึ่งก็สะท้อนกระบวนการยุติธรรมที่บิดพลิ้ว สิ่งที่ต้องจ่าย ก็คือ ค่าแห่งความเสื่อมศรัทธา ทุกวันนี้ทั้งศาลและสถาบันฯ ถูกวิจารณ์มาตลอดเพราะกระบวนการยุติธรรมเป็นแบบนี้
การกดปรามพฤติกรรมคนอาจทำได้ แต่กดความคิด คงไม่ได้
  
 
 
สมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในภาวะที่เรียกว่า
1 ระบบ 3 มาตรฐาน คือเรามีระบบกฎหมายปกติ อย่างประมวลกฎหมายแพ่ง ประมวลกฎหมายอาญาทั่วไป แต่พอเกิดการรัฐประหาร เรามีประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อมาหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเราก็มีมาตรา 44 ทั้งหมดนี้ถูกนำมาใช้ในทุกเรื่อง หมายความว่า นอกจากกฎหมายปกติแล้ว เราก็มีกฎหมายอื่นๆ ซ้อนทับกันอยู่ ที่สำคัญคือมันจะดำรงอยู่ต่อไปไม่รู้อีกนานเท่าไหร่ ที่ผ่านมาประกาศคณะปฏิวัติในอดีตฉบับหนึ่งมีอายุ 20-30 ปี แต่ตอนนี้เรามีเป็นร้อยฉบับ การใช้อำนาจของคณะรัฐประหารไม่ได้จำกัดเฉพาะการรักษาความสงบ แต่รวมถึงนโยบายเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อม ปัญหาคือคำสั่ง คสช. และคำสั่งตามมาตรา 44 ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีหลักการและเหตุผล
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายในปัจจุบันมี 3 แบบ ขึ้นอยู่กับว่าใช้กฎหมายกับใคร โดยแบบแรก ถ้าใช้กับประชาชนทั่วไป ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง เช่น ขับรถชนกัน วัยรุ่นตีกัน เราจะใช้กฎหมายตามมาตรฐานสากล ตรงไปตรงมา เพื่อทำให้ดูเหมือนว่าคณะรัฐประหารเป็นธรรมจริงๆ
แบบที่สอง คือ ผู้ต่อต้านอำนาจรัฐ หรือกลุ่มอำนาจดั้งเดิม เช่น ไผ่ ดาวดิน กลุ่มที่รณรงค์เรื่องอุทยานราชภักดิ์ คดีจำนำข้าว กลุ่มโหวตโนประชามติ จะมีการใช้กฎหมายทุกรูปแบบ ตั้งแต่กฎหมายปกติ, คำสั่ง คสช., มาตรา 44 ถ้าหากฎหมายไม่ได้ ก็จะมีอภินิหารทางกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งถือเป็นหายนะของความยุติธรรมเลย
กลุ่มที่สาม คือ เครือข่ายอำนาจรัฐ หรือผู้สนับสนุนอำนาจรัฐ เช่น กลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่ม กปปส. ประเด็นการเข้าประชุมของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) การไปดูงานต่างประเทศ การบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มนี้จะมีความเอื้ออาทร ปกป้องผู้ถูกกล่าวหาทุกรูปแบบ อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญ คือ ศาลที่เป็นอยู่ทำให้ 1 ระบบ 3 มาตรฐาน เกิดขึ้นได้หรือไม่
อ.สมชาย มองว่าบทบาทของศาลไทยมี 2 ด้าน ด้านแรก คือ การยอมรับอำนาจรัฐประหาร เป็นที่รับรู้กันมานานว่าสถาบันตุลาการไทยยอมรับผู้ที่ยึดอำนาจสำเร็จว่าเป็นผู้มีอำนาจ ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกัน คือ กฎหมายที่ออกตามมามีความชอบหรือไม่ และมันขัดกับหลักการหรือเปล่า จากคดีส่วนใหญ่ที่ศาลยุติธรรมตัดสินมีแนวทางยอมรับอำนาจของคณะรัฐประหาร ขณะที่ศาลปกครองมักถูกมองว่ามีความก้าวหน้ากว่า อย่างไรก็ตามจากกรณีคำสั่งศาลปกครองสูงสุดไม่รับฟ้องการเพิกถอนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่4/2559 เรื่องผังเมือง ทำให้เห็นชัดว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่สูงสุด ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญ
อีกด้านหนึ่ง คือ สิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งในการแสดงความคิดเห็น สิทธิประกันตัว การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ถูกจำกัดวงให้เล็กลงมากจนน่าตกใจ ศาลและอำนาจรัฐประหารดำรงตนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน รัฐประหารครั้งนี้ได้ทอนต้นทุนกระบวนการยุติธรรมลงไปมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ผมคิดว่า กระบวนการยุติธรรมไทยไม่เคยถูกตั้งคำถามรุนแรงและกว้างขวางเท่าช่วงนี้มาก่อน ผมว่าระยะเวลาข้างหน้า การพูดถึงการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมของศาลจะกว้างขวางมากขึ้น