อีกไกลแค่ไหนคือใกล้ จาก ‘ผู้พิการ’ ถึง ‘คูหาเลือกตั้ง’

คณะกรรมการการเลือกตั้งจัดเวทีร่วมหารือกับผู้พิการเพื่อวางแนวทางการเข้าถึงหน่วยเลือกตั้ง หลังพบปัญหาสถานที่เลือกตั้งเป็นอุปสรรคและเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งขาดความรู้ความเข้าใจต่อผู้พิการ ทั้งนี้ วงหารือเสนอสร้าง "มาตรฐานกลาง" สำหรับทุกคูหาเลือกตั้งแทนการจัดเขตเลือกตั้งพิเศษเฉพาะกลุ่ม
แม้การเลือกตั้งจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำหรับประชาชนในระบอบประชาธิปไตย แต่ในขณะที่ยังมีคนจำนวนไม่น้อยที่ติดอุปสรรคจากการเดินทางไปยังคูหาเลือกตั้ง เพราะรัฐไม่ได้อำนวยความสะดวกให้คนกลุ่มเหล่านี้เข้าถึงสิทธิได้โดยง่าย โดยเฉพาะกับกลุ่ม "ผู้พิการ"
ในเวทีสัมมนาเพื่อการมีส่วนร่วมทางการเมืองและการเลือกตั้งและแนวทางพัฒนาการจัดที่เลือกตั้งสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุ ซึ่งจัดโดยณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ร่วมกับเครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี หรือ อันเฟรล เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2560 พบว่า ปัญหาการไปใช้สิทธิเลือกตั้งยังมีอยู่มากและซับซ้อน
"สถานที่ไม่อำนวยในการเข้าถึง" เสียงสะท้อนจากคนนั่งวีลแชร์
หนึ่งในกลุ่มผู้พิการที่ต้องใช้รถเข็นหรือวีลแชร์ สะท้อนปัญหาจากการไปหน่วยเลือกตั้งหรือคูหาเลือกตั้งว่า สถานที่ไม่อำนวยในการช่วยเหลือตัวเองได้มากนัก เช่น มีบางหน่วยอยู่ชั้นสองชั้นสามของตึก บางหน่วยมีขั้นบันได และบางแห่งก็ไม่มีที่จอดรถทำให้การรับ-ส่งผู้พิการมีภาระมากขึ้น รวมไปถึงต้องมีคนมาคอยดูแล และยังพบปัญหาอีกว่า ทางเดินไปหน่วยเลือกตั้งมีสิ่งกีดขวาง พื้นต่างระดับ หรือขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ
"ที่จอดรถมันน้อยไม่เพียงพอ เนื่องจากตัวเองมีข้อจำกัดด้านร่างกาย การลงจากรถก็ต้องใช้พื้นที่กว้าง ซึ่งนี่คืออุปสรรคอย่างแรกที่เจอ และถ้าไม่ได้จอดใกล้ๆ ไปจอดไกลๆ สิ่งที่ตามมาอย่างที่สองคืออุบัติเหตุ"
"ถ้ามีการให้ข้อมูลล่วงหน้าด้วยก็จะดี จะได้วางแผนพาคนไปด้วย ไม่อย่างนั้น มันจะเป็นการกีดกันผู้พิการออกจากการใช้สิทธิ พอเขารู้สึกว่ามันลำบาก เขาก็จะไม่อยากออกไปใช้สิทธิ" หนึ่งในผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็นสะท้อนความคิดเห็นในวงพูดคุย
นอกจากนี้ ผู้พิการบางส่วนยังมีข้อสงสัยต่อการใช้สิทธิเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งพิเศษที่ทาง กกต. จะจัดให้ด้วยว่า จะมีเงื่อนไขและเป็นไปในลักษณะหรือรูปแบบใด เพราะแต่เดิมตามระเบียบของกกต. ที่เคยใช้ตอนการออกเสียงประชามติเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กำหนดว่า ถ้าจะจัดหน่วยออกเสียงสำหรับคนพิการหรือผู้สูงอายุนั่น ต้องมีบุคคลมาลงทะเบียนไว้ไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน ซึ่งวิธีการดังกล่าวมีความยุ่งยากและต้องใช้จำนวนคนลงทะเบียนสูงเกินไป
ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งยังมีอยู่น้อย
นอกจากกลุ่มผู้พิการที่ต้องนั่งรถเข็น กลุ่มผู้พิการทางสายตาก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ประสบปัญหาจากการออกไปใช้สิทธิใช้เสียงไม่แพ้กัน และปัญหาที่ถูกนำเสนอเป็นประเด็นแรกก็คือ "ความรู้ความเข้าใจของเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้ง"
ผู้พิการทางสายตารายหนึ่งแสดงความคิดเห็นว่า "หลายครั้งเมื่อไปหน่วยเลือกตั้งแล้วขอใบทาบ (อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการทางสายตาในการกาบัตรเลือกตั้ง) เจ้าหน้าที่ไม่เข้าใจว่าเราต้องการอะไร และต้องใช้เวลาพอสมควรในการตามหา หรือบางทีได้ใบทาบมาแล้วแต่ไม่มีคลิปหนีบ เพราะคนตาบอดไม่รู้ว่ามันตรงช่องหรือไม่ เพราะเราไม่รู้ว่าบัตรเลือกตั้งหรือใบทาบมันเคลื่อนหรือเปล่า"
"การทำความเข้าใจกันหรือการให้ข้อมูลสำหรับเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยเลือกตั้งที่ต้องประสบกับผู้พิการหรือกลุ่มต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญ การให้การศึกษาสำคัญทั้งสองฝ่าย เช่น ตระเตรียมให้คนพิการเข้าใจว่าใบทาบใช้อย่างไร"
นอกจากนี้ มีผู้พิการอีกรายหนึ่งเสนอความคิดเห็นว่า การเข้าถึงหน่วยเลือกตั้ง ไม่ใช่ตอนไปคูหาเลือกตั้งแต่รวมไปถึงกระบวนการก่อนหน้า อาทิ การลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า โดยผู้พิการคนดังกล่าวเสนอให้ใช้วิธีการลงทะเบียนเช่นเดียวกับการลงทะเบียนซิม หรือออกแบบช่องทางอื่นๆ เช่น เว็บไซต์ หรือแอพพลิเคชันให้เป็นมิตรกับผู้พิการทางสายตา หรืออย่างหน่วยเลือกตั้งหรือคูหาก็ต้องเป็นแบบการออบแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) ที่รองรับคนทุกรูปแบบ
"หนึ่งร้อยรายชื่อ" ขอหน่วยเลือกตั้งพิเศษเป็นไปได้ยาก 
ในกลุ่มคนผู้พิการทางการได้ยิน สิ่งที่ช่วยเหลือพวกเขาได้มากที่สุดก็คือสายตา ที่ผ่านมาจะไม่ค่อยมีล่ามภาษามือ ทำให้เราไม่ค่อยรับรู้รายละเอียด ผู้พิการทางการได้ยินท่านหนึ่งจึงเสนอว่า ควรมีล่ามภาษามือหรือตัวอักษรวิ่งเวลามีการประชาสัมพันธ์ รวมถึงมีประจำไว้ยังหน่วยเลือกตั้งเพื่อสอบถามข้อมูล หรือแนะนำเวลาเดินทางไปที่หน่วยเลือกตั้งหรือคูหา
ส่วนกรณีที่กกต. จะจัดหน่วยเลือกตั้งหน่วยพิเศษ ทางกลุ่มผู้พิการทางการได้ยินก็เห็นด้วย หากกกต. จะใช้พื้นที่สมาคมคนหูหนวกเป็นหน่วยเลือกตั้งพิเศษ แต่มีข้อกังวลเรื่องเงื่อนไขในการขอหน่วยเลือกตั้งพิเศษที่ต้องใช้จำนวนหนึ่งร้อยรายชื่อเป็นจำนวนที่ต่ำกว่านั้น เช่น สามสิบคนขึ้นไป หรืออาจจะเลือกหน่วยเลือกตั้งสักจุดที่คนพิการสามารถเดินทางไปมาได้สะดวก
กลุ่มผู้พิการ "จิต-ออ-ปัญญา" กำลังถูกกีดกันการใช้สิทธิ
กลุ่มผู้พิการทางจิต ออทิสติกส์ หรือกลุ่มผู้พิการทางสติปัญญา หรือที่เรียกแบบรวมๆ ว่า "จิต-ออ-ปัญญา" ก็เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ถูกกีดกันในการใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ว่าโดยโครงสร้างหรือทัศนคติของสังคม
คุณแม่รายหนึ่งสะท้อนปัญหาในการไปเลือกตั้งของลูกซึ่งเป็นผู้พิการทางสติปัญญาว่า เธอและครอบครัวต้องการให้ลูกได้ฝึกฝนการใช้สิทธิใช้เสียงก่อนจะไปใช้สิทธิที่คูหาของจริง เพราะคนกลุ่มนี้ไม่สามารถเรียนรู้และเข้าใจได้ด้วยรูปภาพต้องมีการฝึนฝนให้ทำได้เอง นอกจากนี้ ตัวเธอเองก็ไม่สามารถพาลูกเข้าไปในคูหาเลือกตั้งเพื่อสอนได้อีกด้วย
ด้านกลุ่มผู้มีความผิดปกติทางจิต หลายครั้งถูกต่อต้านจากสังคม มีการกล่าวหาว่าเป็นคนไม่มีสติสัมปชัญญะ ทำให้ถูกกีดกันจากสังคมออกจากหน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะในกรณีที่ศาลยังไม่ได้สั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ ก็ยังสามารถจะไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ แต่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องนี้ยังมีน้อยอยู่
กฎหมายเอื้อแล้ว แต่ต้องจัดทำ "มาตรฐานกลาง" ควบคู่
ตัวแทนจาก กกต. ให้ความเห็นว่า ปัญหาที่ผ่านมาจะได้รับการแก้ไขอย่างแน่นอน เนื่องจากกฎหมายการเลือกตั้ง (พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร) ฉบับใหม่ ในมาตรา 69 ได้บัญญัติเพื่อรองรับและขยายสิทธิของผู้พิการที่ต้องการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
โดยบทบัญญัติมีใจความสำคัญคือ กำหนดให้ กกต. มีหน้าที่อำนวยความสะดวกการเลือกตั้งให้คนพิการ และในกรณีที่เห็นสมควรก็สามารถจัดหน่วยเลือกตั้งพิเศษให้ได้ นอกจากนี้ ยังเพิ่มเรื่อง การให้ญาติหรือบุคคลที่ไว้วางใจเป็นผู้ทำเครื่องหมายลงในบัตรเลือกตั้งแทนได้อีกด้วย
อย่างไรก็ดี มีผู้พิการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่ามาตรดังกล่าวจะครอบคลุมแต่ยังไม่มีแนวปฏิบัติหรือสภาพบังคับที่ชัดเจน อีกทั้งยังมองว่า การจัดหน่วยเลือกตั้งพิเศษเป็นแค่ทางเลือกหนึ่ง สิ่งสำคัญคือการสร้าง 'มาตรฐานกลาง' โดยให้ดูตัวอย่างในต่างประเทศ เพื่อที่จะทำให้ทุกคูหาเลือกตั้งสามารถรองรับคนทุกรูปแบบไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือผู้สููงอายุก็ได้ เพราะนอกจากจะง่ายกว่าแล้วอาจช่วยผู้พิการให้ไม่รู้สึกถูกกีดกันออกจากสังคมปกติอีกด้วย