ใครออกกฎหมาย? 6: จากรัฐประหาร 49-57 สนช.สืบทอดอำนาจ หน้าเดิมได้แต่งตั้งซ้ำ

ด้วยสถานการณ์พิเศษ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จึงถูกกำหนดขึ้นให้ทำหน้าที่พิจารณาออกกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาของสนช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส.และส.ว. แต่มาจากการแต่งตั้งของหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จำนวนไม่เกิน 250 คน



การรัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย คสช. ถูกมองว่า เป็นความต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ซึ่งกล่าวกันว่าเป็นการรัฐประหารที่ “เสียของ” ในการรัฐประหารครั้งนั้น พลเอกสนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร และได้มีการแต่งตั้ง สนช. ขึ้นมาทำหน้าที่เดียวกันนี้ จำนวนทั้งสิ้น 242 คน ทำหน้าที่อยู่ประมาณ 18 เดือน



หลังสิ้นสุดการทำงานของ สนช. ชุดปี 2549 รัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ คมช. ร่างขึ้น ได้กำหนดให้มีวุฒิสภา (ส.ว.) จำนวน 150 คน โดยมี ส.ว.เลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งคน ผสมกับส.ว.สรรหา อีก 74 คน



ช่วงเวลาสิบปีนับตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 จนถึงรัฐประหาร 2557 มีการแต่งตั้งบุคคลเพื่อทำหน้าที่นิติบัญญัติแทนประชาชนชาวไทย ตามวาระเหตุการณ์สำคัญอย่างน้อย 4 ครั้ง ได้แก่ สนช. ปี 2549 ส.ว. ปี 2551 ส.ว. ปี 2554 และ สนช. ปี 2557



หนึ่งทศวรรษผ่านไป สนช.หน้าเดิมยังได้รับการแต่งตั้งซ้ำ



การแต่งตั้ง สนช. ปี 2549 และปี 2557 เป็นอำนาจของหัวหน้าคณะรัฐประหารทั้งสองครั้ง ขณะที่ ส.ว. ปี 2551 และปี 2554 มาจากข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่ระบุว่า ส.ว. ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 150 คน มาจากการเลือกตั้งในแต่ละจังหวัด 76 คน และจากการสรรหาอีก 74 คน โดย ส.ว.สรรหามาจากการเลือกของคณะกรรมการสรรหา 7 คน ได้แก่ ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประธานกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ประธานกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาศาลฎีกา และตุลาการในศาลปกครองสูงสุด



สมาชิก สนช. ปี 2557 มีอย่างน้อย 36 คน ที่ไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนิติบัญญัติโดยการแต่งตั้งเป็นครั้งแรก แต่เคยได้รับการแต่งตั้งเป็นสนช. ปี 2549, ส.ว. ปี 2551 และ ส.ว. ปี2554 มาก่อนแล้ว



สมาชิก สนช. อย่างน้อย 2 คน ได้รับการแต่งตั้งเข้าสู่สภาทุกครั้งเรื่อยมาตลอดระยะเวลา 11 ปี ได้แก่ ตวง อันทะไชย สนช. คนแรกที่เข้ารายงานตัวที่สภาและเป็นผู้เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และสมชาย แสวงการ อดีตบรรณาธิการข่าว โทรทัศน์ช่อง 3 ซึ่งในเว็บไซต์ของ สนช. เขียนประวัติของเขาว่ามีอาชีพเป็นสมาชิกวุฒิสภา



สมาชิก สนช. อย่างน้อย 10 คน ได้รับแต่งตั้งเข้าสู่สภามาแล้วสามครั้ง เช่น สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (ส.ว. ปี 2551, ส.ว. ปี 2554) รองประธานสนช. ที่เมื่อต้นปี 2560 เขาได้เสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปเป็นช่วงกลางปี 2561, พลอากาศเอกชาลี จันทร์เรือง (สนช. ปี 2549, ส.ว. ปี 2554) ซึ่งเคยอภิปรายเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เห็นด้วยกับวิธีการเลือก ส.ว. จากกลุ่มสาขาอาชีพ และอยากให้ ส.ว.มาจากการสรรหาทั้งหมด ฯลฯ



สมาชิก สนช. อย่างน้อย 24 คน ที่ได้รับแต่งตั้งสองครั้ง เช่น พรเพชร พิชิตชลชัย (สนช. ปี 2549) อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน และประธานสนช.คนปัจจุบัน, ชัชวาล อภิบาลศรี (สนช.  ปี 2549) นักธุรกิจผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้าขายอาวุธ, วัลลภ ตังคณานุรักษ์ (สนช.  ปี 2549) ที่กลับมาเป็นสนช.อีกครั้ง หลังพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ โทรมาหาเพื่อขอประวัติ เพราะเห็นฝีไม้ลายมือตั้งแต่เป็นสนช.ด้วยกันในรอบที่แล้ว

 



ประยุทธ์ ประวิตร วิษณุ สมคิด ฯลฯ จากอดีตสนช.49 สู่อำนาจคณะรัฐมนตรี



กว่าสิบปี นับแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 จนปี 2560 มีสมาชิกสนช.ปี 2549 จำนวนไม่น้อยที่มีบทบาทและสร้างอิทธิพลต่อการเมืองไทยในปัจจุบันอย่างเห็นได้ชัด และมีอย่างน้อยสี่คนที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบัน คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อปี 2549 มียศเป็นพลโท และในสมัยนั้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ควบกับเป็นสมาชิกสนช. โดยปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ เป็นทั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 และเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

 

นอกจากนี้ ยังมีอีกสามคนดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งถูกเรียกขานว่าเป็นพี่ใหญ่ของคณะรัฐประหารชุดนี้, วิษณุ เครืองาม นักกฎหมายที่ช่วยเหลือและสนับสนุนหลายรัฐบาล และสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ มือเศรษฐกิจคนสำคัญในสมัยรัฐบาลทักษิณ นอกจากนี้ประธานสนช.ปี 2549 คือ มีชัย ฤชุพันธุ์ ปัจจุบันยังได้เป็นประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) อีกด้วย



ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านการทำประชามติ ที่มีชัย เป็นคนร่าง ไม่ได้กำหนดให้ สนช. ต้องเว้นวรรคทางการเมือง ภายหลังการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ ก็ยังมีแนวโน้มสูงว่า สนช.หลายคนอาจมีโอกาสจะกลับเข้ามาโลดแล่นในรัฐสภาในสมัยหน้า ด้วยโควต้า ส.ว. แต่งตั้งอีกครั้ง ซึ่งพวกเขาจะอยู่อีก 5 ปีเป็นอย่างน้อยตามวาระที่กำหนดในรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ใครจะได้รับการแต่งตั้งต่อนั้น คงต้องทำผลงานให้เข้าตาคนมีอำนาจตัดสินใจ ซึ่งก็คือ คสช. และมีโควตาให้เพียง 250 คน เท่านั้น

 

รายชื่อ สนช.ปี 2557 จำนวน 36 คน ที่ไม่ได้เข้าสู่ตำแหน่งนิติบัญญัติโดยการแต่งตั้งเป็นครั้งแรก

 

สนช.ปี 2557  ส.ว. ปี 2554 ส.ว. ปี 2551 สนช. ปี 2549
พลเอก คณิต สาพิทักษ์      /
เจตน์ ศิรธรานนท์ / /  
ชัชวาล อภิบาลศรี     /
พลอากาศเอก ชาลี จันทร์เรือง /   /
พลอากาศเอก ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์     /
ตวง อันทะไชย / / /
แถมสิน รัตนพันธุ์     /
พลเอก ธีรเดช มีเพียร /    
ธานี อ่อนละเอียด /    
บุญชัย โชควัฒนา / /  
ปรีชา วัชราภัย     /
ประเสริฐ บุญสัมพันธ์     /
ปรีชา บัววิรัตน์เลิศ     /
พลตํารวจเอก  พัชรวาท วงษ์สุวรรณ     /
พรทิพย์ จาละ     /
พรเพชร วิชิตชลชัย     /
พลอากาศเอก ไพศาล สีตบุตร     /
พลตํารวจเอก พิชิต ควรเดชะคุปต์ /    
มณเฑียร บุญตัน / /  
มหรรณพ เดชวิทักษ์ /    
พลเอก เลิศฤทธิ์ เวชสวรรค์ /    
วัลลภ ตังคณานุรักษ์     /
วิทวัส บุญญสถิตย์ / /  
ศักดิ์ชัย ธนบุญชัย     /
พลเรือเอก ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ /    
พลเอก สมเจตน์ บุญถนอม /   /
สมชาย แสวงการ / / /
สมพล พันธุ์มณี /   /
พลเอก สุนทร ขำคมกุล     /
สมบูรณ์ งามลักษณ์ / /  
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย / /  
สม จาตุศรีพิทักษ์  /    
อรจิต สิงคาลวณิช     /
อําพน กิตติอําพน     /
พลเอก อู้ด เบื้องบน     /
อนุศาสน์ สุวรรณมงคล / /  

*เครื่องหมาย / คือปีที่สมาชิก สนช. ท่านนั้นได้รับการแต่งตั้ง