ใครออกกฎหมาย? 4: “The Lucky 7” กับเจ็ดสนช. ที่ขาดประชุมบ่อยจนอาจสิ้นสภาพ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถูกกำหนดให้ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) ที่มาของ สนช. ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งเหมือน ส.ส. และ ส.ว. แต่มาจากการแต่งตั้งของหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนไม่เกิน 250 คน สมาชิก สนช. แต่ละคนได้รับเงินเดือน 113,560 บาท (ประธาน สนช. ได้ 125,590 บาท, รองประธาน สนช. ได้ 115,920 บาท) ยังไม่รวมเบี้ยประชุมกรรมาธิการ และอื่นๆ โดยมีหน้าที่สำคัญ คือ การพิจารณาร่างกฎหมาย นับถึงสิ้นปี 2559 สนช. ออกกฎหมายไปแล้วทั้งสิ้น 214 ฉบับ โดยการลงมติเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายของ สนช. มีสมาชิกมาร่วมมากกว่าครึ่ง หรือ ครบองค์ประชุมทุกครั้ง



แม้การประชุม สนช. จะครบองค์ประชุมทุกครั้ง แต่ยังมีสมาชิก สนช. จำนวนหนึ่ง ที่ขาดประชุมบ่อยเป็นพิเศษ จากการตรวจสอบพบว่า สมาชิกส่วนใหญ่ที่ขาดประชุมมักจะเป็นสมาชิก สนช. ซึ่งยังทำงานมีตำแหน่งเป็นข้าราชการประจำอยู่ด้วย เหตุที่เข้าประชุมน้อยอาจมาจากการที่ต้องทำหน้าที่สองทางไปพร้อมๆ กัน (และรับงานเดือนสองทางพร้อมๆ กัน) หลังจากการแต่งตั้งสมาชิก สนช. ครั้งล่าสุดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2560 สนช. มีสมาชิกทั้งหมด 250 คน ขณะเข้ารับตำแหน่ง มีสมาชิก สนช. ที่นั่งควบตำแหน่งข้าราชการทหาร ตำรวจ และพลเรือน ทั้งหมด 117 คน หรือ คิดเป็นร้อยละ 47 ของสมาชิกทั้งหมด

 

สำหรับการขาดประชุม รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 มาตรา 9 (5) กำหนดว่าถ้าสมาชิก “ไม่มาแสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเกินจํานวนที่กําหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม” ให้สมาชิกภาพการเป็นสนช. สิ้นสุดลง

 

โดยในข้อบังคับการประชุม สนช. กำหนดเพิ่มเติมว่า

 

             “ข้อ 63 ในกรณีที่จะต้องมีมติของสภา ให้ประธานมีสัญญาณให้สมาชิกทราบ เพื่อแสดงตนก่อนลงมติ”

 

             “ข้อ 82 สมาชิกที่ไม่แสดงตนเพื่อลงมติในที่ประชุมสภาตามข้อ 63 เกินกว่าหนึ่งในสามของจํานวนครั้งที่มีการแสดงตนเพื่อลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลาเก้าสิบวัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตามมาตรา 9 (5) ของรัฐธรรมนูญ วันเริ่มต้นและวันสิ้นสุดของแต่ละรอบระยะเวลาให้เป็นไปตามที่ประธานสภากําหนด



             กรณีที่สมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติตามวรรคหนึ่งเนื่องจากได้ลาการประชุม … มิให้ถือว่าสมาชิกผู้นั้นไม่แสดงตนเพื่อลงมติ…”


 

ดังนั้น หมายความว่า “ในรอบระยะเวลา 90 วัน” ถ้าสมาชิก สนช.คนใด “ไม่มาลงมติเกินกว่าหนึ่งในสาม” ของจำนวนการลงมติทั้งหมดในรอบระยะเวลานั้น จะต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพความเป็นสนช. อย่างไรก็ตาม ถ้าสมาชิกมาลงมติไม่ถึงเกณฑ์ที่กำหนด แต่ได้ลาประชุมไว้แล้ว ก็จะไม่ส่งผลให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ

 

จากการศึกษากระบวนการพิจารณากฎหมายของ สนช. โดยไอลอว์ เมื่อสำรวจดูข้อมูลการลงมติผ่านกฎหมาย 22 ฉบับ ที่สังคมถกเถียงและเห็นต่างกันหลากหลาย เช่น พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ, พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก, พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ฯลฯ พบว่า มีสมาชิก สนช. 8 คนที่ไม่ได้มาลงมติบ่อยครั้งจนผิดสังเกต



ไอลอว์จึง ค้นหาข้อมูลต่อ โดยเลือกรอบระยะเวลา 2 รอบ (180 วัน) ของปี 2559 และค้นในรายละเอียดหาจำนวนการแสดงตนเพื่อลงมติของสมาชิก สนช. จำนวน 8 คน ว่าลงมติเกินกว่าหนึ่งในสามของแต่ละรอบระยะเวลาหรือไม่ พบว่า มีถึง 7 คน ที่ลงมติไม่เกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติในแต่ละรอบ

 

ระยะเวลา รอบที่ 1 (1 ม.ค. – 31 มี.ค.59)

ชื่อตำแหน่งอื่นจำนวนการลงมติทั้งหมด จำนวนครั้งที่สมาชิกมาลงมติ
พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์เสนาธิการทหารเรือ250 ครั้ง55 ครั้ง
สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ250 ครั้ง81 ครั้ง
สมคิด เลิศไพฑูรย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์250 ครั้ง116 ครั้ง
ดิสทัต โหตระกิตย์เลขาธิการกฤษฎีกา250 ครั้ง4 ครั้ง
พลเอกปรีชา จันทร์โอชาปลัดกลาโหม250 ครั้ง5 ครั้ง
พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่างผู้บัญชาการทหารอากาศ250 ครั้ง183 ครั้ง
พลเรือเอกณะ อารีนิจผู้บัญชาการทหารเรือ250 ครั้ง40 ครั้ง
สุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรม250 ครั้ง57 ครั้ง

ตารางที่ 1

 

จากตารางที่ 1 ระยะเวลารอบที่ 1 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม 2559 มีการลงมติทั้งหมด 250 ครั้ง ดังนั้นจำนวนการลงมติเกินกว่าหนึ่งในสามคือ 84 ครั้ง ซึ่งทุกคนยกเว้น สมคิด เลิศไพฑูรย์ และพลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง มาลงมติไม่เกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมดในรอบ 90 วัน

 

ระยะเวลา รอบที่ 2 (1 เม.ย. – 29 มิ.ย. 59)

ชื่อตำแหน่งอื่นจำนวนการลงมติทั้งหมด จำนวนครั้งที่สมาชิกมาลงมติ
พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์เสนาธิการทหารเรือ203 ครั้ง0 ครั้ง
สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ203 ครั้ง94 ครั้ง
สมคิด เลิศไพฑูรย์อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์203 ครั้ง142 ครั้ง
ดิสทัต โหตระกิตย์เลขาธิการกฤษฎีกา203 ครั้ง49 ครั้ง
พลเอกปรีชา จันทร์โอชาปลัดกลาโหม203 ครั้ง1 ครั้ง
พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่างผู้บัญชาการทหารอากาศ203 ครั้ง62 ครั้ง
พลเรือเอกณะ อารีนิจผู้บัญชาการทหารเรือ203 ครั้ง1 ครั้ง
สุพันธุ์ มงคลสุธีประธานสภาอุตสาหกรรม203 ครั้ง69 ครั้ง

ตารางที่ 2

 

จากตารางที่ 2 ระยะเวลารอบที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน – 29 มิถุนายน 2559 มีการลงมติทั้งหมด 203 ครั้ง ดังนั้นจำนวนการลงมติเกินกว่าหนึ่งในสามคือ 68 ครั้ง ซึ่งทุกคนยกเว้น สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ, สมคิด เลิศไพฑูรย์ และสุพันธุ์ มงคลสุธี มาลงมติไม่เกินกว่าหนึ่งในสามของการลงมติทั้งหมดในรอบ 90 วัน

 

ด้วยเหตุนี้ สมาชิกสนช. 7 คน คือ พลเรือเอกพัลลภ ตมิศานนท์, สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ, ดิสทัต โหตระกิตย์, พลเอกปรีชา จันทร์โอชา, พลอากาศเอกจอม รุ่งสว่าง, พลเรือเอกณะ อารีนิจ และสุพันธุ์ มงคลสุธี จึงมีแนวโน้มที่จะสิ้นสมาชิกภาพความเป็นสนช. ยกเว้น "พวกเขาจะทำหนังสือลาต่อประธานสนช.ก่อนหน้าแล้ว"

 

จากการเลือกช่วงเวลาสองรอบที่ติดต่อกัน ทำให้เห็นว่ามีสมาชิกถึง 4 คน มาลงมติไม่ถึงเกณฑ์สองรอบติดต่อกัน แม้ว่าอาจจะมีการส่งใบลาอย่างเป็นทางการ แต่ก็น่าตั้งคำถามถึงความคุ้มค่าของเงินภาษีประชาชนหลักแสนที่ต้องเสียงให้พวกเขาโดยที่ทำงานโดยไม่ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำที่คาดหวัง

 



ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ เป็นการเจาะรายละเอียดของสมาชิก สนช. เพียง 8 คน จากทั้งหมด 250 คน และเป็นเพียงการเลือกช่วงเวลาสำรวจเพียง 2 รอบ จากอย่างน้อย 9 รอบ จึงอาจมีสมาชิก สนช. อีกหลายคนที่ไม่ได้มาลงมติอย่างสม่ำเสมอตามเกณฑ์หนึ่งในสาม ในแต่ละช่วงเวลา ที่การสำรวจครั้งนี้ยังไม่ได้ครอบคลุมไปถึง ซึ่งรายชื่อสมาชิก สนช. ที่ลงมติในแต่ละมติ สามารถสืบค้นได้จากเว็บไซต์ของ สนช.

 

อย่างไรก็ตาม สมาชิก สนช. หลายคนอาจจะลงมติได้ตามเกณฑ์ขั้นต่ำของแต่ละรอบ แต่ก็น่าตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะสมาชิกที่ควบตำแหน่งและรับเงินเดือนข้าราชการด้วย ว่าทำงานราชการที่ตนมีตำแหน่งได้เต็มที่คุ้มค่ากับภาษีประชาชนแค่ไหนด้วยเช่นกัน

 

หมายเหตุ: เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2560 ไอลอว์โทรศัพท์ติดต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา เพื่อขอดูบันทึกการลาประชุมของ สมาชิก สนช. แต่ละท่าน โดยเจ้าหน้าที่ที่ดูแลเรื่องดังกล่าว แจ้งว่าไม่สามารถเปิดเผยข้อมูล เนื่องจากข้อมูลที่ขอเป็นความลับของทางราชการ พร้อมยืนยันว่า สนช. ทุกท่านยื่นใบลาให้ทางสภาทุกครั้ง ซึ่งการยื่นใบลาทุกครั้งมีผลตามกฎหมายที่ สนช. ไม่สามารถสิ้นสุดสมาชิกภาพได้