ร่าง พ.ร.บ.ยาสูบฯ ใหม่ คลุมรวมบารากุ-บุหรี่ไฟฟ้า ขยับอายุจากห้ามขายเด็ก 18 เป็น 20 ปี

ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ เป็นหนึ่งในร่างกฎหมายหลายๆ ร่างที่กำลังเข้าคิวต่อแถวรอพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งหลักการและเหตุผลในการออก พ.ร.บ. ฉบับนี้ ตามที่ระบุคือ พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2535 และ พ.ร.บ. คุ้มครองสุขภาพผู้้ไม่สูบบุหรี่ พ.ศ.2535 ใช้มานานแล้วไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน คุ้มครองประชาชนได้ไม่สัมฤทธิ์ผล และประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์อนามัยโลก 
ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ ยกเลิกกฎหมายเก่าทั้งสองฉบับข้างต้นและรวมเอาหลักการมาไว้ด้วยกัน มาไว้ด้วยกัน โดยการปรับปรุงในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการการควบคุมยาสูบ และยกระดับการคุ้มครองสุขภาพอนามัยของประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน และให้สอดคล้องกับกรอบอนุสัญญาข้างต้น 

แก้ไขคำนิยาม ครอบคลุมบารากู่ บุหรี่ไฟฟ้า

ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมยาสูบ ฉบับนี้ได้แก้ไขนิยาม คำว่า “ผลิตภัณฑ์ยาสูบ” จากเดิม คือ “ผลิตภัณฑ์อื่นใดที่มีส่วนประกอบของใบยาสูบหรือพืชนิโคนาทาแบ้กกุ้ม ไม่ว่าจะเสพโดยวิธีสูบ ดูด อม เคี้ยว กิน เป่าหรือพ่นเข้าไปในปากหรือจมูกหรือโดยวิธีใดเพื่อให้ได้ผลเป็นเช่นเดียวกัน” โดยร่างใหม่เพิ่ม “ผลิตภัณฑ์อื่นใดที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ… ทั้งนี้ไม่รวมถึงยาตามกฎหมายว่าด้วยยา” เข้ามา เพื่อให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ 
นอกจากนี้ยังได้เพิ่มคำนิยาม “การสื่อสารการตลาด” เข้ามาไว้ในร่างนี้ เพื่อสกัดกั้นการส่งเสริมการขายยาสูบ 
“การสื่อสารการตลาด หมายความว่า การกระทำในรูปแบบต่างๆ โดยการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การสร้างข่าว การเผยแพร่ข่าวสาร การส่งเสริมการขาย การแสดง ณ จุดขาย การตลาดแบบตรง การขายหรือส่งเสริมการขายโดยใช้บุคคลเป็นการเฉพาะ และการตลาดในเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขายสินค้าหรือบริการ หรือสร้างภาพลักษณ์”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ได้อธิบายถึงวัตถุประสงค์ในการแก้ไขคำทั้งสองนี้ คือ การแก้ไขนิยามคำว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบ นั้นเพื่อให้ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ออกมา เช่น บุหรี่ไฟฟ้า บารากุ เป็นต้น และแก้กฎหมายเกี่ยวกับการตลาด การโฆษณาให้ชัดเจนขึ้น ห้ามเผยแพร่โฆษณาทางอ้อม ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือพริตตี้ 

มาตรการการป้องกันนักสูบหน้าใหม่

สำหรับมาตรการสำคัญในการป้องกันนักสูบหน้าใหม ของร่าง พ.ร.บ.ยาสูบฯ คือ การขยับอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อบุหรี่ จากเดิมห้ามขายยาสูบให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เปลี่ยนเป็นอายุ 20 ปี พร้อมกำหนดว่า หากคนขายสงสัยเรื่องอายุก็ให้เรียกดูบัตรประชาชนของคนซื้อได้ นอกจากนี้ยังห้ามการใช้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ขายยาสูบด้วย 
ข้อกำหนดเหล่านี้ผู้ใดฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากการห้ามขายโดยใช้เครื่องขายแล้ว ร่างกฎหมายใหม่ยังเพิ่มมาตรการห้ามแบ่งขายบุหรี่ ห้ามขายบรรจุซองน้อยกว่า 20 มวน รวมทั้งห้ามขายผ่านทางสื่ออินเทอร์เน็ต 
ส่วนหลักเกณฑ์เรื่องการห้ามโฆษณาบุหรี่ ร่างกฎหมายใหม่กำหนดไว้คล้ายกับกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน คือ ห้ามโฆษณาหรือสื่อสารการตลาด ห้าม ห้ามแสดงชื่อยี่ห้อบุหรี่ในสื่อวิทยุ โทรทัศน์ สื่ออนไลน์ โรงภาพยนตร์ ฯลฯ และสื่ออื่นๆ เพื่อการโฆษณา ห้ามนำชื่อยี่ห้อของบุหรี่ไปไว้บนสินค้าอื่น ห้ามผลิต ขาย และโฆษณา ผลิตภัณฑ์อื่นที่เลียนแบบบุหรี่ รวมทั้งห้ามสนับสนุนกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ด้วย
ความเห็นจาก นพ.หทัย ชิตานนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และประธานรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก (2550-2551) กล่าวถึงร่าง พ.ร.บ.ยาสูบฯ ว่า การที่คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบผ่านร่างกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นข่าวดีและจะส่งผลดีอย่างแน่นอน เนื่องจากจะลดอัตรานักสูบหน้าใหม่ได้ ยิ่งในเรื่องการแบ่งบุหรี่มวนขาย ก็จะลดการสูบของเด็กและเยาวชน เพราะการจะซื้อเป็นซองค่อนข้างมีราคาแพง กฎหมายนี้เป็นการปกป้อง ไม่ให้ลูกหลานเข้าไปอยู่ในวงโคจร 
แต่ในขณะเดียวกัน วราภรณ์ นะมาตร์ ผู้อำนวยการบริหารสมาคมการค้ายาสูบไทย หรือ TTTA กล่าวว่า เห็นด้วยว่าต้องมีกฎหมายควบคุม แต่ต้องควบคุมและใช้ได้ทั้ง 2 ฝ่าย วราภรณ์มองว่า บุหรี่ไม่ผิด ตามกฎหมายขายได้ แต่ต้องทำภายใต้กติกาที่ผู้ขายต้องปฏิบัติได้ด้วย และเธอเห็นด้วยที่ไม่ให้เด็กสูบบุหรี่ สมาชิกสมาคมการค้ายาสูบไทยกว่า 1,300 คน ไม่ขายบุหรี่ให้เด็ก แต่ไม่เห็นด้วยที่ว่า มีการกำหนดไม่ให้ขายบุหรี่ให้คนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีเป็น 20 ปี เพราะอายุ 18 ปีสามารถเลือกตั้งได้แล้ว ตัดสินชีวิตตัวเองได้แล้ว นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้จะสามารถลดผู้สูบบุหรี่ได้จริงหรือไม่ ถ้ามีการขึ้นภาษีจะทำให้มีของเถื่อนเพิ่มมากขึ้นหรือไม่ 
ข้อกำหนดเรื่องการห้ามแสดงผลิตภัณฑ์หน้าร้านขายปลีก ยังคงมีอยู่เช่นเดิม ส่วนข้อกำหนดเกี่ยวกับขนาดของยี่ห้อบุหรี่บนซอง และขนาดของคำเตือน ยังไม่ได้กำหนดไว้ในพ.ร.บ.นี้ แต่จะออกเป็นประกาศกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

ชาวไร่ยาสูบ หวั่น อาจต้องเลิกปลูกยาสูบ หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้ผ่าน

กฤษณ์ ผาทอง นายกสมาคมผู้เพาะปลูก ผู้บ่มและผู้ค้าใบยาสูบจังหวัดเชียงใหม่ เคยกล่าวกับผู้จัดการออนไลน์ว่า  ร่างกฎหมายนี้จะกระทบต่ออาชีพของชาวไร่ยาสูบที่มีอยู่ทั่วประเทศกว่า 43,000 ครัวเรือน และท่านนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์เองก็รับทราบถึงประเด็นปัญหานี้และได้เคยบอกไว้ชัดว่าให้มีการแก้ไขประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งเสียก่อน แต่กลับไม่มีการแก้ไข ร่างกฎหมายฉบับนี้ให้อำนาจดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่ในการออกกฎหมายลูกในภายหลังโดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี และรัฐสภา จำนวนมาก ซึ่งเป็นเรื่องอันตรายมาก
ด้าน วราภรณ์ นะมาตร์ กล่าวว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังมีข้อห้ามอีกมากมายที่จะกระทบกับธุรกิจร้านค้าขนาดเล็กซึ่งมีกว่า 870,000 รายทั่วประเทศ โดยที่ข้อห้ามเหล่านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ เช่น การห้ามใช้เครื่องหมายการค้าบนซองบุหรี่ การไม่ให้ร้านค้าตั้งวางผลิตภัณฑ์ในร้าน การกำหนดการแสดงราคา กำหนดอายุคนขาย การแบ่งขาย โดยเฉพาะการห้ามใช้เครื่องหมายการค้าที่ซอง และให้ทุกยี่ห้อจะมีสีและลักษณะเหมือนกันหมดซึ่งมีประเด็นที่ขัดแย้งกับกฎหมายเครื่องหมายการค้าและการค้าระหว่างประเทศอยู่ 
ชาวไร่ยาสูบต่างมีความกังวลต่อร่าง พ.ร.บ.ควบคุมยาสูบฉบับใหม่ เพราะเกรงกลัวว่าหากร่างฉบับนี้ผ่าน จะทำให้ชาวไร่ยาสูบต้องเลิกปลูกยาสูบ และเลิกอาชีพนี้ไป ซึ่งมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ยืนยันว่า พ.ร.บ. นี้ไม่มีมาตรการใดที่บังคับให้เลิกปลูกยาสูบและขายใบยาสูบแต่ พ.ร.บ. นี้เน้นกการควบคุมอุตสาหกรรม ป้องกันเยาวชนจากการตลาดของอุตสาหกรรมยาสูบ 
นอกจากนี้ชาวไร่ยาสูบมีช่องทางในการขายใบยาสูบได้หลายช่องทาง ทั้งขายในโรงงานยาสูบ การส่งออก และส่วนที่เหลือขายให้กับผู้ประกอบการยาเส้นภายในประเทศ ชาวไร่ยาสูบอาจจะได้รับผลกระทบจากการลดอุปสงค์ไม่มาก และยังมีเวลาในการปรับตัวไปปลูกพืชอื่น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม รัฐบาลควรที่จะตั้งกรรมการพิจารณาช่วยเหลือ ผู้ที่อาจจะได้รับผลกระทบจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้ คืออาจจะมีผู้สูบบุหรี่น้อยลงด้วยการให้ปลูกพืชสนับสนุนแทน 
โดยขณะนี้สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่และภาคีเครือข่าย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ยังเปิดการณรงรค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อทาง Change.org เพื่อสนับสนุนร่างกฎหมายนี้เพื่อช่วยสกัดเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่อีกด้วย
ไฟล์แนบ