“ยกเครื่องใหม่” คณะกรรมสิทธิมนุษยชนตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

ปัจจุบัน ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ภายหลังการให้ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนชุดปัจจุบันมาแล้ว ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวเป็นหนึ่งในกฎหมายลูกที่ต้องร่างขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อกำหนดรายละเอียดที่มา และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ซึ่งเป็นองค์กรอิสระคอยตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของหน่วยงานรัฐ
โดยสาระสำคัญของร่างฉบับปัจจุบัน ได้ “ยกเครื่อง” คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเสียใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มเติมคุณสมบัติของกรรมการสิทธิ แก้ไขเรื่องผู้ทำหน้าที่เป็นคณะกรรมการสรรหา และเพิ่มหน้าที่ชี้แจงเพื่อ “แก้ต่าง” สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ เป็นต้น

จำนวนเก้าอี้ ‘คณะกรรมการสิทธิฯ’ เท่าเดิม เพิ่มเติมคือคุณสมบัติ

ตามร่างกฎหมายลูกว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิฯ ไมได้ปรับเปลี่ยนในเรื่องจำนวนคณะกรรมการที่จากเดิมกำหนดให้มี 7 คน แต่มีการขยายเรื่องคุณสมบัติเฉพาะที่อ้างว่าเทียบเคียงมาจากคุณสมบัติกรรมการสิทธิฯ ของประเทศนิวซีแลนด์ เช่น ต้องมีความรู้และประสบการณ์ในด้านหนึ่งด้านใดต่อไปนี้
  • หลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจ
  • กฎหมายภายใน กฎหมายต่างประเทศ หรือกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน
  • สถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ แนวโน้มสถานการณ์สิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ รวมทั้งผลกระทบของแนวโน้มดังกล่าวที่มีต่อสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศ
  • ความรู้ ความชำนาญ และประสบการณ์ด้านการบริหารงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมคุณสมบัติต้องห้ามของกรรมการสิทธิให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ เช่น ต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน ไม่เป็นหรือเคยเป็นนักการเมืองหรือข้องเกี่ยวกับพรรคการเมืองเป็นเวลาอย่างน้อย 10 ปี ไม่เคยมีความผิดที่ถูกตัดสินให้จำคุกเว้นแต่เป็นความผิดที่กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ และไม่เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดเกี่ยวกับการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการฯ เป็นต้น

เปลี่ยนที่มาของคณะกรรมการสรรหาใหม่ เพิ่มนักวิชาการและตัวแทนองค์กรสิทธิฯ

ตามรัฐธรรมนูญ 2550 กำหนดให้ คณะกรรมการที่มีหน้าที่สรรหากรรมการสิทธิมีจำนวน 7 คนประกอบด้วย ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร บุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน และบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกจำนวนหนึ่งคน
แต่ในร่างกฎหมายลูกกำหนดที่มาของคณะกรรมการสรรหาใหม่ โดยเปลี่ยนตัวแทนจากบุคคลซึ่งที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดคัดเลือกอย่างละหนึ่งคน เป็นตัวแทนจากสถาบันอุดมศึกษาด้านสิทธิมนุษยชน “ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้” และให้คัดเลือกกันเองให้เหลือแค่ 2 คน นอกจากนี้ ยังเพิ่มกรรมการสรรหาที่มาจากผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชนและให้คัดเลือกกันเองจากทุกองค์กรให้เหลือแค่ 2 คน

อำนาจตรวจสอบยังคงอยู่ แต่เพิ่มหน้าที่ “แก้ต่าง” ต่อสาธารณะ กับมาตรช่วยเหลือเร่งด่วน

ในส่วนของอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนนั้น หลายสิ่งยังเหมือนกับอำนาจที่มีอยู่ในปัจจุบัน เช่น ตรวจสอบและรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน รวมถึงการเสนอแนะมาตรการป้องกันหรือแก้ไขเยียวยาให้หน่วยงานของรัฐ รัฐสภา คณะรัฐมนตรีหรือเอกชนที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการแก้ไข หรืออย่าง การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือศาลปกครองวินิจฉัย ในกรณีที่บทบัญญัติแห่งกฎหมาย หรือ กฎ คำสั่ง หรือการกระทำในทางปกครองกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายก็ยังสามารถทำได้เช่นเดิม แต่ส่วนที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็เช่น
  1. อำนาจยื่นคำร้องต่อศาลยุติธรรมหรือศาลทหารเพื่อขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า กฎหมาย คำสั่ง หรือการกระทำใด ต่อสิทธิมนุษยชนและมีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่
  2. เพิ่มหน้าที่ใหม่อีกหนึ่งอย่าง คือ “ช่วยแก้ต่าง” ในกรณีที่มีการรายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ไม่ถูกต้องหรือไม่เป็นธรรม หากคณะกรรมการสิทธิเห็นว่า เป็นเรื่องที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนร่วมของชาติและประชาชน
  3. ในระหว่างการตรวจสอบ หากคณะกรรมการเห็นว่า ผู้ร้องหรือผู้เสียหายต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการแก้ไขอาจะได้รับความเสียหายที่ไม่อาจแก้ไขเยียวยาได้ ก็ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการได้ เช่น จัดให้มีการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การเปลี่ยนสถานที่คุมขัง หรือดำเนินการอื่นๆ ที่จำเป็น

ลดอำนาจตรวจสอบอนุกรรมการ ให้หลีกเลี่ยงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ถูกละเมิดสิทธิ

ที่ผ่านมา ในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิ คณะกรรมการสิทธิฯ มีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อทำหน้าที่สืบสวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงรับฟังคำชี้แจงและพยานหลักฐาน เพื่อเสนอกลับมายังคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ แต่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้ปรับเปลี่ยนสาระสำคัญบางประการอันเป็นการควบคุมอำนาจและการปฏิบัติหน้าที่ของอนุกรรมการขึ้นมา นั่นก็คือ ห้ามอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องร้องเรียนกับบุคคลใดก็ตามที่ถูกเบิกตัวเป็นพยานในคดีที่มีการร้องเรียน หรือเป็นผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์ หรือผู้มีส่วนใดส่วนเสียในเรื่องที่ร้องเรียน หรือมีความเกี่ยวข้องทางใดทางหนึ่งกับผู้ร้องหรือผู้ถูกร้อง หรือมีสาเหตุโกรธเคืองกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมาก่อน เป็นต้น
ไฟล์แนบ