สนช.แก้ไข ป.วิอาญา 2 ฉบับ: คดีที่คนสนใจประธานศาลฎีกาสั่งย้ายศาลได้ ถ้าจำเลยจะอุทธรณ์ฎีกาต้องมายื่นด้วยตัวเอง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา คือ กฎหมายที่บัญญัติขึ้นเพื่อกำหนดกฎเกณฑ์สำหรับยึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติงานคดีของผู้พิพากษาตลอดจนคู่ความ โดยมีจุดประสงค์สำคัญเพื่อให้การดำเนินคดีในศาล เป็นไปอย่างมีระเบียบ เรียบร้อย สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมแก่คู่ความทุกฝ่าย

ที่ผ่านมาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในปี พ.ศ. 2558 คือ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 30) ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ติดตามผู้ที่ถูกปล่อยชั่วคราว หลักเกณฑ์การบังคับคดีผู้ประกัน และการอุทธรณ์คำสั่งศาลที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

ล่าสุด สนช.แก้ไขเพิ่มเติมอีก 2 ฉบับ คือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2559 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 เกี่ยวกับการโอนคดี และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การยื่นอุทธรณ์และฎีกาของจำเลย (มาตรา 198 และมาตรา 216)

 

ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งโอนคดีไปศาลอื่น ตามที่โจทก์หรือจำเลยร้องขอ

เริ่มที่ฉบับแรก คือ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 31) พ.ศ. 2559 หรือพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 เกี่ยวกับการโอนคดี ซึ่งร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559

สาระสำคัญของหลักการในการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 คือ ในกรณีที่ลักษณะของความผิด ฐานะของจำเลย จำนวนจำเลย ความรู้สึกของประชาชนจำนวนมากของท้องที่นั้น หรือเหตุผลอื่น อาจมีการขัดขวางต่อการไต่สวนมูลฟ้องหรือพิจารณาว่าจะเกิดความไม่สงบหรือเหตุร้ายอย่างอื่นขึ้น หรือเกิดผลกระทบต่อประโยชน์ที่สำคัญอื่นของรัฐ กำหนดให้ประธานศาลฎีกามีอำนาจในการที่จะสั่งโอนคดีตามที่โจทก์หรือจำเลยร้องขอ หรือศาลที่คดีนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณาทำความเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกาขอให้โอนไปศาลอื่น ถ้าประธานศาลฎีกาอนุญาตก็สั่งโอนคดีไปยังศาลที่ประธานศาลฎีการะบุไว้

สำหรับการแก้ไขมาตรา 26 นี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงเมื่อครั้งที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2558 ว่า ที่ผ่านมา โจทก์หรือจำเลยถ้าเห็นว่าคดีนั้นๆ มีความเกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ ที่ต้องการความรู้ความสามารถเฉพาะทาง ต้องไปยื่นเรื่องกับอธิบดีศาลฎีกา เพื่อที่จะขอโอนย้ายคดีเหล่านั้นไปสู่การพิจารณาของศาลที่มีความชำนาญพิเศษ แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โจทก์หรือจำเลยสามารถที่จะยื่นเรื่องให้กับศาลที่กำลังพิจารณาเรื่องนั้นอยู่ และศาลที่กำลังพิจารณาเรื่องนั้นอยู่ก็จะทำเรื่องประกอบความคิดเห็นเสนอต่อประธานศาลฎีกา เพื่อที่จะขออนุญาตโอนคดีไปสู่ศาลที่มีผู้ชำนาญพิเศษเฉพาะด้าน ซึ่งปัจจุบันเรามีด้านภาษีอากร ศาลแรงงาน ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา และการค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการล้มละลาย

 

หลักเกณฑ์ยื่นอุทธรณ์ ฎีกาใหม่ จำเลยต้องมายื่นต่อศาลด้วยตัวเอง

อีกฉบับคือ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แก้ไขหลักเกณฑ์การยื่นอุทธรณ์และฎีกาของจำเลย (มาตรา 198 และมาตรา 216) ที่มาของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาจากการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิก สนช. นำโดย มหรรณพ เดชวิทักษ์ ซึ่งวันที่ 15 กันยายน 2559 ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เป็นกฎหมาย

สำหรับสาระสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ คือ ในขั้นตอนของการอุทธรณ์และฎีกานั้น หากตัวจำเลยที่ได้รับโทษจำคุกหรือโทษสถานที่หนักกว่าไม่ได้ถูกคุมขัง หากจำเลยจะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาได้ก็ต่อเมื่อมาแสดงตนต่อเจ้าหน้าที่ศาลในขณะยื่นอุทธรณ์หรือฎีกา ถ้าหากไม่มาแสดงตนให้ศาลมีคำสั่งไม่รับคำร้องนั้น สำหรับข้อกำหนดและเงื่อนไขในการแสดงตนของจำเลยให้เป็นอำนาจของประธานศาลฎีกา

สำหรับการแก้ไขในประเด็นนี้ สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. กล่าวว่า หลังจากที่กฎหมายบังคับใช้ จะทำให้นักโทษที่ศาลตัดสินลงโทษจำคุกแล้ว หรือหลบหนีเที่ยวลอยนวลไปจิบไวน์ต่างประเทศ จะไปจ้างทนายมายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาล โดยที่เจ้าตัวไม่มาแสดงตนไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ การยื่นอุทธรณ์แต่ละครั้งหากจะขอขยายระยะเวลาต้องมีเหตุจำเป็น เช่น ป่วยก็ต้องมีหลักฐานมายืนยัน