ทำไมความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง ผู้หญิงกลับเป็นฝ่ายถูกตั้งคำถาม

จากข่าวข่มขืนนักศึกษาธรรมศาสตร์ นำมาสู่การวิเคราะห์ปัญหาความรุนแรงทางเพศว่า ความรุนแรงเรื่องเพศต่อผู้หญิงถูกล้อมด้วย ‘อคติ’ ทางเพศของสังคม ไม่ใช่ ‘ปัญหาส่วนตัว’  แต่เป็นปัญหา ‘โครงสร้างของรัฐ’ และชวนคิดถึงหญิงที่พิการ หรือหญิงเป็นแรงงานข้ามชาติ ที่จะยิ่งพบอุปสรรคในกระบวนการยุติธรรมของไทย

วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กสากล โดยมี “ริบบิ้นขาว” เป็นสัญลักษณ์ที่ทุกคนสามารถนำมาติดที่เสื้อ แสดงการ ‘ไม่ยอมรับ ไม่นิ่งเฉย ไม่กระทำความรุนแรงต่อสตรี’ ทุกรูปแบบ วันที่ 25 พฤศจิกายน 2559 สภานักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และ ActionAid Thailand จัดงานเสวนา “มหาวิทยาลัยกับการยุติความรุนแรงทางเพศ” ที่ห้องเธียร์เตอร์ หอสมุดป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เวลา 13.30 – 16.30 น.

 

มหาวิทยาลัยไม่ใช่ที่ปลอดภัย ชลิดาภรณ์เสนอให้พกนกหวีด ตั้งกลุ่มเพื่อนเดิน

ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2559 มีแถลงการณ์สภานักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต กรณี นักศึกษาหญิงถูกพาตัวไปโดยไม่สมัครใจและล่วงละเมิดทางเพศ กลางคืนวันที่ 15 พฤศจิกายน 2559 ในขณะที่เจ้าตัวออกมารับประทานอาหาร บริเวณถนนเชียงราก ใกล้ที่พักอาศัยรอบมหาวิทยาลัย โดยความคืบหน้าของรายงานการแจ้งเหตุดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังไม่สามารถนำตัวผู้กระทำความผิดมาลงโทษได้ 

กรณีดังกล่าวเป็นที่ถกเถียงทางเครือข่ายสังคมออนไลน์ทันที บางคนมองว่า เป็นความผิดของผู้หญิง เพราะในช่วงเวลา 5 ทุ่ม ต้อง “อย่าพาตัวเองไปเสี่ยง” บางคนเล่าถึงหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบว่า มหาวิทยาลัยไม่ใช่แค่เรียนเสร็จแล้วกลับบ้าน แต่มีงานมหาศาล และบางคนตั้งคำถามว่า ในมหาวิทยาลัยไม่มีความปลอดภัยเลยใช่ไหม

ชลิดาภรณ์ ส่งสัมพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า คนมากมายอาจจะ เชื่อว่า มหาวิทยาลัยเป็นสถานที่ปลอดภัย จะไม่เกิดอันตราย แต่ที่จริงมหาวิทยาลัยเต็มไปด้วยความรุนแรงได้หลายรูปแบบ ล่าสุด กรณีนักศึกษาหญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศโดยไม่สมัครใจ รูปแบบไม่ได้เข้าข่ายตามที่ความเข้าใจของคนมากมายที่เชื่อว่า ความรุนแรงทางเพศ ต้องมีองค์ประกอบครบชุด โดยเฉพาะเรื่องของการข่มขืน กระทำชำเรา เช่น คนกระทำกับผู้กระทำเป็นคนที่ไม่รู้จักกัน ต้องเกิดในสถานที่เปลี่ยวยามวิกาล และจะต้องมีร่องรอยของการถูกบังคับโดยชัดเจน เช่น เลือดสาด หรือตายไปได้เลย เพื่อชัดเจนว่า นี่คือการบังคับร่วมเพศ 

เมื่อกรณีล่าสุดที่เป็นข่าวนั้น ไม่ได้ครบองค์ประกอบการล่วงละเมิดเช่นนั้น เรื่องจึงเวียนมาหาผู้หญิงที่ถูกกระทำต้องเป็นฝ่ายอธิบาย เป็นฝ่ายพิสูจน์ว่า ‘ฉันถูกบังคับร่วมเพศ ฉันเป็นผู้ถูกกระทำความรุนแรง’ ก็แปลว่า จะเกิดคำถาม ทำไมถึงไปทำกิจกรรมยามค่ำคืน จะถูกตั้งคำถามเรื่องการแต่งกาย เรื่องการสมยอมทางเพศ 

ชลิดาภรณ์ได้เสนอ 2 มาตรการทางออกของปัญหานักศึกษาถูกข่มขืน คือ ให้นักศึกษามีเครื่องมือขอความช่วยเหลือ ในต่างประเทศ นักศึกษาจะได้รับการสนับสนุน โดยการพกนกหวีด อย่างน้อยเสียงมันดัง หากเป็นโทรศัพท์มือถือ จะไม่มีใครรับ และมาตรการเร่งด่วน คือ การทำป้ายเตือน การมีบริการช่วยเหลือเพื่อนๆ ไม่ต้องเดินไปคนเดียว โดยอาจารย์ชลิดาภรณ์และทีมอาสาสมัครได้ตั้ง กลุ่มเพื่อนเดิน ไว้แล้ว 

 

ความรุนแรงทางเพศ ไม่ใช่ ‘ปัญหาส่วนตัว’ แต่เป็นปัญหา ‘โครงสร้างของรัฐ’ ตำรวจยังขาดความเข้าใจ

วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า ‘ความรุนแรง คือ ประเด็นทางการเมือง’ แม้เราจะโหยหาประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ประชาธิปไตยก็จะไม่มีประโยชน์ ถ้าสถานการณ์ของผู้หญิงอยู่ในความไม่ปลอดภัย และมีความหวาดกลัวครอบอยู่

“โรงพักบางแห่ง ตำรวจผู้ชายรุ่นพี่ที่โรงพักสอนว่า ถ้ามีผู้หญิงเดินเข้ามาแจ้งความว่าถูกข่มขืน ให้สันนิษฐานเลยว่าโกหก หรือประสบการณ์ตำรวจหญิงสอบปากคำ ผู้เสียหายทำงานเป็นพริตตี้ มาแจ้งความถูกข่มขืน แต่เขาไม่พูดว่าถูกข่มขืน เพราะตำรวจผู้ชาย 2-3 คนเข้ามารุม แล้วพูดว่า ‘น้องไม่รู้จะเล่ายังไง ให้น้องนึกถึงตอนดูหนังเอ็กซ์ว่าจะเล่ายังไง เล่าแบบนั้นเลย’ และนี่คือความไม่ละเอียดอ่อนต่อความรู้สึกของผู้ประสบเหตุ” วราภรณ์กล่าว

เมื่อมองที่ปัจจุบัน ประเทศไทยเปิดโรงเรียนนักเรียนนายร้อยตำรวจหญิงมาแล้ว 8 ปี  ผลิตนักเรียนออกมาปีละ 60-70 คน แต่การเรียนการสอนก็ไม่มีเนื้อหาการดูแลความรุนแรงทางเพศต่อเด็ก สตรี หากบางรุ่นโชคดีจะมีการอบรมแทรกบ้าง แต่เท่าที่ได้คุยกับตำรวจผู้หญิง ก็ไม่การันตีความเข้าใจในประเด็นนี้ วราภรณ์เสริมประเด็น

 

หญิงพิการ หญิงแรงงานข้ามชาติ ยิ่งเผชิญปัญหาหนักในการถามหาความยุติธรรม

อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลายๆ ครั้งที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงต่อผู้หญิง  ดังกรณีเรียกร้องให้ “ข่มขืนต้องประหารชีวิต” จะกลายเป็นการเน้นย้ำว่า ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อ นั่นคือ ผู้หญิงไม่ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรม ส่วนใหญ่แล้วปัญหาจะจบลงที่ผู้หญิงไม่กล้าออกไปแจ้งความ 

“…โอกาสที่ผู้หญิงจะมาแจ้งความหรือฟ้องร้องคดีไม่ได้เลย จำเป็นอย่างยิ่งต้องถามผู้เสียหายก่อนว่า ต้องการอะไร แต่ส่วนใหญ่ผู้เสียหายจะไม่ไปแจ้งความ เพราะกลัวความอับอาย…” อังคณา นีละไพจิตร อนุกรรมการด้านสิทธิสตรี คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกล่าว

อังคณาเล่าด้วยว่า กรณีผู้หญิงกลุ่มเฉพาะ อย่างเช่น หญิงพิการทางสมอง จะถูกบังคับให้ทำหมัน เพราะครอบครัวกลัวจะเป็นภาระ ต่อมามีรายงานของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิคนพิการแห่งสหประชาชาติ ตั้งคำถามกับรัฐบาลไทยว่า ทำไมรัฐบาลไทยจึงอดทนต่อหญิงพิการที่ถูกข่มขืนได้ แต่กลับไม่อดทนกับการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการ เมื่อเราทำหมัน หญิงพิการถูกข่มขืนก็ไม่รู้สึกอะไร โดยเฉพาะเมื่อเป็นกรณีที่มีความซับซ้อนทางการพิการ เช่น หญิงพิการทั้งทางการได้ยิน หญิงพิการทางสายตา เมื่อหญิงพิการเหล่านี้ไปโรงพัก ก็จะไม่มีล่ามภาษามือให้

กรณีผู้หญิงที่เป็นแรงงานข้ามชาติ ไม่มีใบอนุญาต เมื่อถูกข่มขืน สิ่งแรกที่ผู้หญิงจะได้ยินคำถามจากตำรวจคือ “มีใบอนุญาตทำงานหรือเปล่า” แม้ว่าตามกฎหมายผู้หญิงต้องได้รับการสนับสนุน ฟื้นฟู เยียวยา พัฒนาจิตใจ ให้เข้าสู่ความยุติธรรม แต่ในทางปฏิบัติเรื่องแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้น 

อังคณาเล่าว่า เคยมีกรณีผู้หญิงถูกข่มขืน แล้วศาลทั้งสามศาลยกฟ้อง ศาลยังมองว่า เธอเตรียมการไว้ ที่จะแบล็กเมล องค์กรผู้หญิงทั้งหลายเสียใจและเจ็บปวดมากกับคำพิพากษา ศาลบอกว่า เนื่องจากผู้ชายอายุมาก หากเธอขัดขืนจริงๆ เป็นไปไม่ได้ที่สอดใส่ได้ ศาลสั่งให้ผู้หญิงมีความผิดติดคุกสามปี ไม่รอการลงโทษ 

อังคณาปิดท้ายว่า มีผู้หญิงจำนวนไม่น้อยที่ถูกกระทำซ้ำด้วยความรุนแรงโดยครอบครัว พ.ร.บ.ความรุนแรงในครอบครัวเปิดโอกาสให้ประนีประนอม จะเห็นว่า ผู้หญิงที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำในครอบครัว ทำให้วันหนึ่ง ผู้หญิงเหล่านี้กลายมาเป็นผู้ฆ่าสามี แต่ด้วยข้อจำกัดที่ผู้หญิงไม่มีฐานะทางเศรษฐกิจ สุดท้ายก็จะเกิดโศกนาฏกรรม