เนื้อหาเดิม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(1) กลับมาแล้ว ซ้ำซ้อนกฎหมายหมิ่นประมาทแต่โทษหนักกว่า

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ค้นพบว่ามาตรา 14(1) ใน “พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่..) พ.ศ. ….” ซึ่งแอมเนสตี้และประชาชนทั่วไปมีความเป็นห่วงนั้นถูกแก้ไขเนื้อหาให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมอีกครั้งในร่างแก้ไข พ.ร.บ. ดังกล่าวฉบับวันที่ 30 กันยายน 2559 หลังคณะกรรมการพิจารณาร่างฯ อ้างว่าได้แก้ไขให้ได้มาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลและเป็นไปตามเจตนารมณที่แท้จริงของตัว พ.ร.บ. มากขึ้นแล้วตามเอกสารที่แจกในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นที่สนช.จัดขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2559
นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า “ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการพิจารณาร่างฯ ได้เพิ่มความชัดเจนของมาตรา 14(1) เมื่อสิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยการระบุเงื่อนไขพิเศษว่าต้องเป็นการกระทำเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์สินของผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ซึ่งตรงกับเจตนารมณ์ของการบังคับใช้ที่รองรับการกระทำผิดโดยการหลอกลวง ฉ้อโกง และปลอมแปลงข้อมูลไม่ใช่การหมิ่นประมาท และจะทำให้กฎหมายฉบับนี้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากลมากขึ้น เราจึงผิดหวังอย่างมาก ที่สุดท้ายเงื่อนไขพิเศษดังกล่าวถูกตัดทิ้ง”
มาตรา 14(1) ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมามีปัญหาการถูกตีความอย่างกว้างขวางและมักถูกพ่วงเข้ามาในการฟ้องร้องคดีหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่ซ้ำซ้อน ผิดวัตถุประสงค์ของมาตรานี้ที่ร่างขึ้นมาเพื่อปราบปรามการหลอกเอาข้อมูลบนอินเทอร์เน็ตหรือ “ฟิชชิ่ง” (Phishing) อีกทั้งยังเพิ่มภาระโทษให้จำเลยและเพิ่มคดีความในชั้นศาลและสิ้นเปลืองทรัพยากรโดยไม่จำเป็น
นับตั้งแต่บังคับใช้ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ถูกนำมาใช้ควบคู่กับกฎหมายหมิ่นประมาทมากมาย ไม่เว้นแม้แต่ในคดีที่เป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ ยกตัวอย่างเช่น กรณีนายอานดี้ ฮอลล์ นักปกป้องสิทธิแรงงานข้ามชาติชาวอังกฤษ ที่ถูกศาลตัดสินจำคุกสามปีและปรับ 150,000 บาท จากการเผยแพร่รายงานวิจัยเกี่ยวกับการละเมิดมนุษยชนอย่างรุนแรงโดยโรงงานไทย และกรณีของนางสาวนริศราวัลถ์ (เมย์) แก้วนพรัตน์ ที่ถูกสั่งฟ้องกรณีโพสต์เรียกร้องความเป็นธรรมให้กับน้าชายซึ่งเป็นพลทหารที่เสียชีวิตในค่ายทหารที่จังหวัดนราธิวาส เป็นต้น
นอกจากมาตรา 14 (1) ที่กล่าวถึงแล้วยังมีมาตราอื่น ๆ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ. ฉบับนี้ที่ยังมีเนื้อหาคลุมเครือที่ยากต่อการตีความ และอาจส่งผลกระทบโดยตรงต่อพื้นที่ความเป็นส่วนตัวและการแสดงความคิดเห็นของประชาชน
สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุด คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ได้มีมติเลื่อนการพิจารณาออกไปอีก 30 วันจนถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน 2559 โดยแอมเนสตี้ขอเชิญชวนประชาชนให้ร่วมจับตา มองกันต่อไป
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคมที่ผ่านมา แอมเนสตี้ได้ออกแถลงการณ์ร่วมกับ 4 องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ได้แก่ สมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (FIDH) ฟอร์ติฟาย ไรท์ (Fortify Rights) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และลอว์เยอร์ ไรท์ วอทช์ แคนาดา (LRWC) เพื่อเน้นย้ำข้อกังวลต่อเนื้อหาในมาตราต่างๆ ใน พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่อาจนำไปสู่การละเมิดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน พร้อมเรียกร้องให้ สนช. พิจารณากฎหมายดังกล่าวภายใต้พันธกรณีระหว่างประเทศของไทยและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากลในการปกป้องและส่งเสริมสิทธิความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพในการแสดงออกบนโลกออนไลน์ด้วย
นอกจากนี้ แอมเนสตี้ยังได้ออกปฏิบัติการด่วนเชิญชวนผู้สนับสนุนที่มีอยู่มากกว่า 7 ล้านคนทั่วโลกร่วมส่งจดหมายมายังรัฐบาลไทยเพื่อเรียกร้องให้การพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เป็นตามพันธกรณีของไทยและมาตราฐานสิทธิมนุษยชนสากลเช่นกัน